รายงานหน้า2 : ‘ทางออก’ของอปท. จัดหาวัคซีนโควิด-19

หมายเหตุความคิดเห็นผู้บริหาร อปท.ถึงวิธีการป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ภายหลังกระทรวงมหาดไทยอ้างการจัดซื้อวัคซีนของ อปท.สามารถกระทำได้ แต่ห่วงเรื่องความเหลื่อมล้ำ และมีคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินที่ระบุว่า ในระยะแรกนี้ภาครัฐเท่านั้นที่จะจัดซื้อวัคซีนได้เท่านั้น

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
นายกเทศมนตรีนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)

ในเรื่องของการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นสามารถจัดซื้อได้อยู่แล้ว เพียงแต่มีคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มี 2 ประเด็น ที่ผมคิดว่าเป็นข้อห้าม 1.ในระยะแรกขอให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดหาซื้อวัคซีนก่อนในช่วงที่ยังคงขาดแคลน และ 2.ไม่สามารถจัดซื้อจากผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง
ผมอยากตั้งประเด็นให้ชัดเจนก่อนว่า การจัดหาวัคซีนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง แต่ท้องถิ่นเข้ามาเพื่อช่วยรัฐบาลกลางทำให้เกิดความคล่องตัวและทั่วถึงกับประชาชนมากขึ้น เพราะเวลาซื้อวัคซีนเข้ามาเก็บในตู้แช่ต่างๆ ท้องถิ่นไม่มีอุปกรณ์ขนาดนั้น ต้องไปพึ่งโรงพยาบาล ต่อมาเป็นบุคลากรฉีดวัคซีนต้องให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ฉีด และตัววัคซีนพาสปอร์ตที่ใช้เดินทางไปต่างประเทศ จะให้ท้องถิ่นออกกันเองก็ไม่ได้ เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ ต้องเป็นกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออก
หากท้องถิ่นซื้อวัคซีนมาต้องเอาไปอยู่ในตะกร้ารวมของจังหวัด มีคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดเป็นผู้ดูแล ความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน สามารถนำส่วนที่มีไปชดเชยส่วนที่ขาดได้ ความเหลื่อมล้ำจะไม่เกิดด้วย
ส่วนที่ 2 ไม่สามารถจัดซื้อกับผู้ผลิตได้โดยตรง สิ่งที่ท้องถิ่นพยายามแสดงออก คือการซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานของรัฐ ซื้อมาแบบจีทูจี เพราะฉะนั้น เราตัดปัญหาด้านความไม่โปร่งใสไปได้เลย ราชวิทยาลัยฯยังเป็นสถาบันทำเรื่องไบโอเทคโนโลยีมายาวนานมาก เพราะฉะนั้น ความน่าเชื่อถือในส่วนของราชวิทยาลัยฯสร้างความมั่นใจกับผู้ซื้อได้ จึงเป็นสองเหตุผลที่ท้องถิ่นอยากจะซื้อ ส่วนรัฐก็มีทางออกให้เราไปซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมก็ได้ เราไปช่วยเสริมมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงแรก
ส่วนความเหลื่อมล้ำมาดูในทางวิชาการ มินิมั่มของการฉีดวัคซีนเกิดภูมิคุ้มกัน 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร จริงๆ เป็นหน้าที่หลักของรัฐโดยตรง เพียงแต่วันนี้ท้องถิ่นเองมาช่วยทำให้เร็วและทั่วถึงมากขึ้น แต่ถ้าช่วยกันฉีดแล้วเกิดภูมิคุ้มกันมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ก็จะยิ่งดี หลายประเทศจึงสั่งวัคซีนมากกว่าจำนวนประชากร ยิ่งฉีดมากยิ่งดีขึ้น อบจ.ก็อยากซื้อวัคซีนในแต่ละจังหวัดเป็นล้านโดสมาเติมเต็มได้ในเรื่องความเหลื่อมล้ำควบคู่กับรัฐบาล จะยิ่งสมบูรณ์มากขึ้น
เราต้องยอมรับในประเด็นการระบาดจะอยู่ในย่านชุมชน เพราะฉะนั้น จะอยู่ในเทศบาลเมืองและนครเป็นหลัก และในแต่ละจังหวัดศูนย์กลางเศรษฐกิจจะอยู่ในเมือง ถ้าเราป้องกันในเมืองที่เป็นไข่แดง ก็ช่วยเศรษฐกิจของจังหวัด ส่วนเทศบาลตำบลก็ซื้อตามสัดส่วนตามความสามารถของงบที่มี แต่ละเทศบาลจะมีเงินสำรองของเงินสะสม ถ้ากระทรวงมหาดไทยปลดล็อกเอาเงินสะสมมาซื้อวัคซีนได้บางส่วนก็สามารถทำได้
ผมคิดว่าเทศบาลขนาดใหญ่ก็มีการรวบรวมข้อมูลกัน ผมยังตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสจะขอโควต้ามาสัก 10 ล้านโดส มา กระจายในเฟสแรก ช่วยกันทำงานเพื่อฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ให้เร็วที่สุด
วันนี้เราต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะยิ่งช้าการแพร่ระบาดเร็วขึ้น และการแปลงสายพันธุ์มีตลอดเวลา วัคซีนวันนี้แต่ในวันหน้าอาจใช้ไม่ได้ ความล่มสลายทางเศรษฐกิจจะตามมา วันนี้จึงต้องทำให้เร็วที่สุด ฉีดให้เร็ว ไวรัสมีวิวัฒนาการที่จะสู้กับวัคซีนเหมือนกัน
ผมอยากบอกว่าวิกฤตครั้งนี้ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน รัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาชนต้องช่วยกัน วันนี้มันเป็นวิกฤตทั่วโลก หวังไว้ว่าต้องช่วยกัน คือการแบ่งเบากัน อะไรที่ช่วยกันก็ช่วยกันทำ

นพ.เพทาย เตโชฬาร
รองนายก อบจ.เชียงใหม่

Advertisement

อบจ.เชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและประสานงานโควิด เพื่อบูรณาการร่วมกับจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดหาวัคซีนฉีดให้ชาวเชียงใหม่ ล่าสุด รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนให้เชียงใหม่เพิ่ม 50,000 โดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 25 อำเภอ ใน 42 เขตเลือกตั้ง แต่มีประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมเพื่อขอรับฉีดวัคซีนถึง 60,000 ราย เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป
ปัญหาจัดซื้อวัคซีนของ อปท.คือ กระทรวงมหาดไทยยังไม่ปลดล็อกให้ใช้เงินสะสมจัดซื้อ เนื่องจาก อปท.มีหลายระดับและมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทำให้ อปท.บางแห่งที่มีรายได้มากสามารถจัดซื้อได้เท่านั้น ซึ่งนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายก อบจ.เชียงใหม่ ได้เตรียมงบประมาณจัดซื้อ 100 ล้านบาท หากไม่สามารถใช้เงินสะสมได้อาจกู้เงินจากกองทุนกระทรวงมหาดไทย หรือธนาคารพาณิชย์ มาซื้อวัคซีนแทน
โดยตั้งเป็นเงินอุดหนุนให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเพื่อจัดซื้อวัคซีนผ่านจังหวัด และ สสจ.เพราะ อปท.ไม่สามารถจัดซื้อโดยตรงได้ เนื่องจากผิดระเบียบหรือไม่มีระเบียบรองรับ ดังนั้น รัฐบาลต้องปลดล็อกให้ อปท.จัดซื้อได้ ที่สำคัญช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง
อบจ.เป็นพี่ใหญ่ของ อปท. 211 แห่งใน จ.เชียงใหม่ จำเป็นต้องช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด คือจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ชาวเชียงใหม่อย่างน้อย 70% จากประชากรกว่า 1.6 ล้านคน เพื่อสร้างความมั่นใจและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ท่องเที่ยวจังหวัด ให้คืนกลับสู่ปกติเร็วที่สุด ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายก่อนเปิดฤดูท่องเที่ยวจังหวัด หรือไฮซีซั่น วันที่ 1 ตุลาคมนี้
ส่วนสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดมีผู้ติดเชื้อกว่า 5,000 ราย แต่รักษาหายแล้วกว่า 4,000 ราย มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย แนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ การแก้ปัญหามีเพียง 2 ปัจจัยคือ วัคซีนฉีดเพียงพอ และมีผู้เข้ารับการฉีดได้ตามเป้าหมาย
ส่วนแนวทางบริหารจัดการหรือจัดซื้อวัคซีนขึ้นอยู่กับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเป็นหลัก เป็นยี่ห้อไหนก็ได้ แต่ต้องผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและยา (อย.) มีผลกระทบข้างเคียงน้อยมาก และไม่ต้องห่วงการจัดซื้อ มีราคากลางตามมาตรฐานสาธารณสุขเป็นตัวกำหนด เชื่อไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์หรือผลประโยชน์แอบแฝง เพราะเป็นเรื่องสุขภาพอนามัยประชาชน หากฉีดได้ตามเป้าหมาย มั่นใจเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวจังหวัดฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม

มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์
นายก อบจ.พิษณุโลก

หากรัฐบาลให้ความชัดเจน ท้องถิ่นก็มีความพร้อมด้านงบประมาณ นำงบประมาณรายปีมาบริหารจัดการ ส่วนที่เกรงว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นก็สามารถมาคุยกันปรับข้อมูลเข้าหากัน จริงอยู่ อบจ.แต่ละจังหวัดมีงบประมาณไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับการระบาดการ กระจายของโควิด-19 ก็มีความรุนแรงแตกต่างกัน อบจ.ที่มีงบมากก็จัดซื้อมาก ส่วนพื้นที่ อบจ.ที่มีงบน้อยก็จัดซื้อน้อย ตามฉีดวัคซีนให้ประชาชนตามสัดส่วนเพื่อควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่ไม่ว่าจะจัดซื้อมากหรือน้อย เน้นกลุ่มเสี่ยงเป้าหมายก่อน จะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ
อย่างแน่นอน
แม้ว่า อบจ.พิษณุโลกจะมีความพร้อมแต่ยังติดขัดระเบียบ ก็ต้องรอ โดยมีแผนในการจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ 1 ล้านคน รวมประชากรแฝงด้วย ต้องใช้วัคซีนประมาณ 2 ล้านโดส หากวัคซีนโดสละ 1,000 บาท อบจ.จะต้องจัดสรรงบประมาณถึง 200 ล้านบาท ถามว่าคุ้มไหม หากวัคซีนได้รับทั่วถึงก็นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ประชาชนมีรายได้มากขึ้น มีความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย
ช่วงการระบาดโควิดที่ผ่านมา อบจ.พิษณุโลกมีส่วนร่วมในการดูแลประชาชน จัดงบซื้ออุปกรณ์ในการวัดไข้ เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัย ชุดพีพีอี สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ยังจัดหาโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย ที่ผ่านมาใช้งบไปเกือบ 10 ล้านบาทแล้ว
มองว่าในเมื่อ อปท.สามารถซื้อวัคซีนให้ประชาชนตนเองได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องเหนื่อย วันนี้ อบจ.พิษณุโลกมีความพร้อมรองรับการบริการที่จะหาวัคซีนมาดูแลพี่น้องประชาชน หวังว่าแนวคิดตรงนี้ทางรัฐบาลจะได้นำไปพิจารณาหาวิธีการให้ประชาชนได้รับโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

Advertisement

ประเสริฐ บุญชัยสุข
นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เทศบาลนครนครราชสีมาได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ดูแลอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมาเทศบาลได้ให้การสนับสนุนจังหวัดและสาธารณสุขจัดหาเตียงโรงพยาบาลสนาม จำนวน 100 เตียง รวมทั้งฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคในสถานศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน และสถานที่ต่างๆ ที่ร้องขอเข้ามา
เรื่องการจัดซื้อวัคซีนที่ท้องถิ่นยังติดขัดไม่สามารถใช้งบจัดเองได้นั้น เชื่อว่าทุกท้องถิ่นต่างเล็งเห็นความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะท้องถิ่นที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านการคลัง ยินดีสนับสนุนให้ประชาชนได้ฉีดป้องกันโควิดโดยเร็ว แต่ต้องรอความชัดเจนจาก ศบค.ว่าจะมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร จะวางกรอบให้ท้องถิ่นปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน
กรณีการอ้างการจัดซื้อวัคซีนของท้องถิ่นอาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำได้นั้น อาจจะมองแบบนั้นได้ เพราะท้องถิ่นแต่ละแห่งมีศักยภาพความพร้อมไม่เท่ากัน แต่ปัญหาขณะนี้คือไม่มีวัคซีนเพียงพอให้จัดซื้อมากกว่า ต้องผ่านการอนุมัติจาก อย. และติดขัดการสั่งซื้อผ่านองค์กรรัฐ ฉะนั้น การที่รัฐบาลยืนยันว่าคนไทยทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน มีการเตรียบงบจัดซื้อเอาไว้แล้วทำให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งเบาใจลงได้ จะได้เอางบของท้องถิ่นไปบริหารพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ได้ ต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผลคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อยากฝากถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบจัดหาวัคซีนมาให้ได้มากที่สุดกระจายไปทุกพื้นที่จังหวัดอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ยิ่งกระจายได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะเกิดขึ้น วัคซีนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
นายก อบจ.ปทุมธานี

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้ ปทุมธานีขึ้นมาอันดับสอง สำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกัน ทางผมกับรองนายก อบจ.ปทุมธานี ได้ไปหาวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง คือแรพิดเทสต์ เพราะที่กระทรวงสาธารณสุขใช้สวอบอย่างเดียวถือว่าเดินตามไวรัสโควิดที่ตรวจตรงเนื้อเยื่อใต้โพรงจมูก รอผลตรวจจากแล็บ 24 ชั่วโมง จึงจะรู้ผลว่าเลือดมีผลเป็นบวกหรือลบ หากติดเชื้อค่อยไปตามคุณกลับมา ก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ พอตามตัวกลับมาแล้วต้องมาทำไทม์ไลน์อีก แล้วเราจะรู้ไหมว่า 24 ชั่วโมงนั้นไปไหนมา ถ้าตามไทม์ไลน์แล้วเจอก็ต้องสวอบแล้วสวอบอีกก็ไม่ทันไวรัส
ผมถึงได้หาซื้อแรพิดเทสต์เอามาตรวจ 3 นาทีก็รู้ผล คนที่ถูกหากตรวจผลเป็นบวกขึ้นมาก็ให้อยู่บ้านแล้วจะสวอบจมูก ไม่ให้ออกไปแพร่กระจายเชื้อที่ไหน ก่อนส่งทีมฉีดพ่นน้ำยาป้องกันโรคโควิดเข้าจัดการทั้งในอาคารและนอกอาคาร คนติดเชื้อโควิดอยู่แต่ในบ้านก็จะปลอดภัยทั้งหมู่บ้าน เพราะไม่ได้ออกมาแพร่เชื้อให้คนอื่น จากนั้นส่งตัวไปรักษาต่อ
ส่วนการหาทางหลังจากเกิดข้อวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตอนนี้รัฐบาลก็คงจะเปิดกว้างแล้วจากการที่โดนกระแส เพียงแต่ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเปิดให้ซื้อสิ มันจะได้จบ แล้วต้องเร็วด้วย จ.ปทุมธานี ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 60-70% ต่อพี่น้องประชาชน ตอนนี้ฉีดแค่นิดเดียว ยังไม่เพียงพอ
ส่วนที่บอกว่าหากมีการจัดซื้อวัคซีนของแต่ละท้องถิ่นจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผมว่าไม่เหลื่อมล้ำหรอก ผมใช้เงินสะสมก็ให้ทางกระทรวงมหาดไทยอนุมัติมาสิ นี่เป็นภาวะฉุกเฉิน ประชากรแต่ละจังหวัดแต่ละท้องที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่ละ อบจ.ก็สั่งซื้อหมด ต่างก็จะรู้ว่าปริมาณความต้องการเท่าไร อย่าง จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงสีแดง ผมอยากจอง 500,000 โดส แต่ไม่ได้ทีเดียวทั้งหมด ต้องทยอยฉีดกันไป อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น มันจะไม่มีการเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image