รายงานหน้า2 : จับกระแส‘ฉีดวัคซีน’ ‘จว.ใหญ่’ปรับแผน-จัดคิว

หมายเหตุผู้ว่าราชการจังหวัดให้สัมภาษณ์ถึงแผนคิกออฟลุยฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค ตามนโยบายศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้ทุกจังหวัดเริ่มฉีดให้ประชาชนพร้อมกันในวันที่ 7 มิถุนายน

เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

การฉีดวัคซีนวันแรกของ จ.เชียงใหม่ เป็นไปอย่างเรียบร้อยในทุกจุด และรู้สึกดีใจที่ประชาชนมีความกระตือรือร้นร่วมกันฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนการสร้างกำแพงเมือง ถ้าพวกเราทุกคนร่วมใจกัน กำแพงเมืองก็จะมีความแข็งแรง และป้องกันภัยจากโควิด-19 ได้ พร้อมกันนี้ได้ยืนยันว่า จ.เชียงใหม่ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก สธ.อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์แน่นอน แต่บางช่วงอาจจะได้รับการจัดสรรมาจำนวนน้อย เพราะต้องเฉลี่ยวัคซีนไปให้พื้นที่ที่จำเป็นก่อน ในส่วนของประชาชนชาวเชียงใหม่พบว่ามีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังมีความลังเลในการฉีดวัคซีน จะเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้มีข้อมูลที่ถูกต้องและเข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด
วันนี้มีประชาชนมารับการฉีดวัคซีนกว่า 2,000 คน โดยเป็นประชาชนที่ลงทะเบียนจองไว้ในระบบหมอพร้อม และกลุ่มอาชีพเสี่ยงซึ่งคงค้างจากการจัดการในห้วงที่ผ่านมา โดยมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค จำนวน 400 โดส ส่วนที่เหลือจะเป็นวัคซีนซิโนแวค และคาดว่าจะทำการฉีดวัคซีนแล้วเสร็จประมาณ 4 โมงเย็น นอกจากนี้ จ.เชียงใหม่ ยังมีจุดฉีดอีกหลายแห่งกระจายอย่างครอบคลุมทั้งจังหวัด และในเขตพื้นที่ อ.เมือง มีประชากรจำนวนมาก ได้กระจายจุดฉีดวัคซีนไปตามที่ต่างๆ เพิ่มเติมคือ ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาล (รพ.) สวนปรุง รพ.ส่งเสริมสุขภาพ หรือ รพ.แม่และเด็ก รพ.นครพิงค์ รพ.ประสาท และ รพ.รัฐในสังกัดสำนักปลัด สธ.ทั้ง 25 อำเภอใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดหายานพาหนะรับ-ส่ง ประชาชนที่เดินทางมารับวัคซีน
จ.เชียงใหม่ มีความพร้อมเต็มศักยภาพ โดยทีมแพทย์ได้ประชุมและวางระบบในการฉีดวัคซีนไว้พร้อมทุกขั้นตอน มั่นใจว่าประชาชนที่เดินทางมาฉีดวัคซีนจะได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการฉีดแน่นอน

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

Advertisement

จ.ลำปาง ทั้ง 13 อำเภอ เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง พร้อมกันทั้งจังหวัด สำหรับที่ผ่านมาตามที่เคยบอกไปว่า อยากได้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 500,000 โดส มาฉีดให้กับประชาชนชาว จ.ลำปาง ประมาณ 70% จากจำนวนประชากรใน จ.ลำปาง ทั้งหมดกว่า 700,000 คน เพื่อให้ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งมีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ใน จ.ลำปาง เป็นผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา เราวางแผนไว้ โดยให้ประชาชนใน จ.ลำปาง ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมและให้ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกเคาะประตูหน้าบ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจในการฉีดวัคซีน และเชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีนกันให้มากๆ จึงทำให้มียอดการจองที่ผ่านมามากถึง 240,000 คน หลายคนจึงยกให้ จ.ลำปาง เป็นลำปางโมเดล ต้นแบบการรณรงค์ฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นยอดการจองมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจาก กทม. ซึ่งความหวังของทางจังหวัดคือ อยากให้ชาวลำปางลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับวัคซีนกันให้มากที่สุด
ตัวเลขประชาชนชาว จ.ลำปาง ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมมีประมาณ 50,000 คน และลงทะเบียนผ่านข้อมูลจังหวัดที่ อสม.ไปเคาะประตูหน้าบ้านเพื่อนำกลับมาลงในระบบอีกประมาณ 180,000 คน จากตัวเลขดังกล่าวจึงเตรียมพร้อมสถานที่ทั้ง 13 อำเภอใน จ.ลำปาง เพื่อรองรับการฉีดได้วันละประมาณ 5,000-6,000 คน โดยใช้ระยะเวลากว่า 20 วัน จะฉีดได้หมด ตามจำนวนผู้ที่ลงทะเบียน แต่เมื่อได้วัคซีนมาน้อย ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หรือไม่ได้ตามจำนวนที่ชาวลำปางประสงค์ลงทะเบียนไว้ ทำให้ จ.ลำปาง ต้องปรับแผนด่วนเพื่อให้การฉีดวัคซีนเดินหน้าไปได้ และเริ่มฉีดพร้อมกันทั้งจังหวัด 13 อำเภอในวันนี้
ถึงแม้จะได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าฯ มาประมาณ 3,600 โดส และจะมีมาสมทบอีกกว่า 8,000 โดส รวมประมาณ 12,000 โดส ซึ่งทางจังหวัดก็ได้จัดสรรวัคซีนที่ได้รับเบื้องต้นกระจายไปยังแต่ละอำเภอทุกแห่งด้วย เพื่อฉีดให้กับคนที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม และได้รับวันนัดฉีดไปพร้อมๆ กัน ภาพรวมการฉีดวัคซีนในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ จ.ลำปาง จะเดินหน้าต่อไปได้

จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

ภาพรวมนั้นบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แต่เรียบร้อยในทุกขั้นตอน และยังไม่พบว่ามีผู้มีอาการข้างเคียงจากวัคซีนแต่อย่างใด โดยยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอสำหรับฉีดให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านทุกช่องทาง โดย จ.สงขลา นั้นกำหนดจุดฉีดวัคซีนเอาไว้ 34 จุด ทุกจุดได้คิกออฟฉีดวัคซีนให้ประชาชนพร้อมกัน และหากจะมีการเลื่อนในบางจุดบางวันก็จะเป็นเพราะในจุดนั้นๆ มีผู้ลงทะเบียนน้อย เพื่อเป็นการลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์
โดยในขณะนี้มีวัคซีนแอสตร้าฯ แล้ว 29,000 โดส และซิโนแวค 26,000 โดส ซึ่งเพียงพอสำหรับการฉีดวัคซีนในสองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน และจะมีวัคซีนทยอยส่งมาสมทบเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์ ขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลและเตรียมตัวให้พร้อมตามคำแนะนำของแพทย์ในการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนมีผู้จองลงทะเบียนฉีดวัคซีน จำนวน 51,152 ราย

Advertisement

กอบชัย บุญอรณะ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

จ.นครราชสีมา ได้จัดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนช่วงเดือนมิถุนายน จำนวน 89,100 โดส แบ่งเป็น วัคซีนแอสตร้าฯ 40,500 โดส ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ระหว่างวันที่ 7-13 มิถุนายน จำนวน 23,600 โดส สัปดาห์ที่ 3 ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน จำนวน 16,900 โดส และวัคซีนซิโนแวค จำนวน 48,600 โดส ได้รับช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ระหว่างวันที่ 7-13 มิถุนายน จำนวน 24,300 โดส และสัปดาห์ที่ 4 ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน จำนวน 24,300 โดส กำหนดจุดบริการฉีดวัคซีนในเขต อ.เมืองนครราชสีมา 5 จุด ได้แก่ ที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา, รพ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา, รพ.ค่ายสุรนารีและโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ซึ่งฉีดให้ผู้ป่วยจิตเวช ส่วนในพื้นที่ต่างอำเภอมีจุดฉีดวัคซีนที่ รพ.ชุมชนในพื้นที่ 32 อำเภอ การฉีดวัคซีนซิโนแวค จำนวน 48,600 โดส จะให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องฉีดเข็มที่ 2 ให้ครบก่อน จากนั้นจะเริ่มวางเป้าหมายกลุ่มใหม่ต่อไป
อ.เมือง ถือเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ได้รับจำนวนวัคซีน 5,960 โดส และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาได้ตั้งเป้าฉีดวัคซีน จำนวน 2,000 ราย ขอทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเมื่อถึงลำดับนัดหมายการฉีดวัคซีนจะมีการแจ้งประสาน ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารอ นอกจากนี้ยังได้รับการจัดสรร “วัคซีนซิโนแวค” จำนวน 24,300 โดส ฉีดให้กับกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป เพิ่มเติมในเข็มที่ 2 อย่างไรก็ตาม ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างพอเพียงแน่นอนแต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และแผนการจัดการของรัฐบาล ซึ่งอาจได้มาน้อยกว่าแผนที่ตั้งไว้ แต่รัฐบาลพยายามทยอยส่งวัคซีนมาให้ทุก 2 สัปดาห์ ได้สอบถาม ผอ.รพ.มหาราช ได้ตั้งเป้าฉีดวันละ 1 พันโดส ทั้งเดือนอาจได้ถึง 5-6 หมื่นโดส
เราได้วัคซีนเยอะและเพียงพอจะสามารถลดผลกระทบได้เร็วขึ้น โควิดจบเร็วเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวเร็ว หากลากยาวอาจต้องฉีดวัคซีนเข็มสามและเชื้อกลายพันธุ์ ประเด็นสำคัญวัคซีนมีไม่เพียงพอ ภาครัฐก็เร่งจัดหาให้ประชาชน มีหลายประเทศก็แสวงหาวัคซีนเช่นกัน การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถจัดหาและนำเข้าวัคซีนได้หลากหลายถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี

สมศักดิ์ จังตระกุล
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

จ.ขอนแก่น ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เรียบร้อย โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน ตลอดจนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ขอนแก่น รพ.ขอนแก่น และเครือข่าย รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะได้มีทีมประเมินผลการให้บริการฉีดวัคซีนและจะเร่งดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไปด้วย ทั้งนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รพ.ขอนแก่น และเครือข่าย เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนในระยะที่ 2 รับผิดชอบโดย รพ.ขอนแก่น จะเป็นการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง และประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม ขณะนี้ จ.ขอนแก่น ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ จำนวน 3,600 โดส และวัคซีนซิโนแวค จำนวน 4,800 โดส และจะได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมเข้ามาอีก มีจุดฉีดวัคซีนหลักในเขตเมือง คือที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น หรือ KICE รับผิดชอบโดย รพ.ขอนแก่น และเครือข่าย และที่ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยความรับผิดชอบของ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจุดบริการนี้ได้นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาให้บริการในการลงทะเบียน บันทึกข้อมูล การแจ้งกำหนดนัดหมาย พร้อมวางระบบการให้บริการเพื่อลดระยะเวลา ลดความแออัด
นอกจากนี้ ในพื้นที่ต่างๆ กำหนดให้มีความพร้อมในการให้บริการวัคซีนเพิ่มเติมอีก 27 จุด จากนั้นจะขยายจุดให้บริการวัคซีนครอบคลุมทั้งจังหวัดรวม 45 จุด โดยจะเร่งทำการฉีดให้กับผู้ที่ลงทะเบียนกับระบบหมอพร้อม และระบบขอนแก่นพร้อม และลงทะเบียนผ่านการลงทะเบียนของหน่วยบริการในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และครอบคลุมมากถึงร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรของ จ.ขอนแก่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image