บทนำวันพุธที่9มิถุนายน2564 : การศึกษาไทย

ประเทศไทยในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความถดถอยในเรื่องเศรษฐกิจและอื่นๆ แล้ว ยังเกิดความห่วงใยในเรื่องการศึกษาว่านักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากโรงเรียนต้องปิด หันไปเรียนออนไลน์ ซึ่งยังไม่มีความพร้อมอย่างเพียงพอ ทั้งครูอาจารย์และนักเรียน ขณะที่ระบบการเรียนการสอนที่ผ่านมา ก็มีปัญหาในตัวเอง จนเกิดกลุ่มพลังนักเรียนออกมาเคลื่อนไหว สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยเฉพาะประชาธิปไตย การเคารพในสิทธิของนักเรียน

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เผยว่า งานวิจัยศึกษา ประวัติการบริหารการศึกษา ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พบว่าไม่ส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในเชิงคุณภาพ ไม่ส่งผลในทางบวก ทั้งที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก จำนวนเด็กลดลงปีละกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียงปีละ 4-5 แสนคน แต่กลับไม่สัมพันธ์กับคุณภาพ คำถามที่ตามมาคือ การบริหารการศึกษาผ่านระบบราชการไทย ให้ผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเป็นศูนย์ การนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้ ไม่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น งบส่วนใหญ่ของ ศธ.ไม่ได้ใช้พัฒนาการศึกษา เป็นงบเงินเดือนและค่าตอบแทน เมื่อการศึกษาขั้นพื้นฐานมีปัญหา จะเชื่อมถึงอุดมศึกษา อนาคตมหาวิทยาลัยจะหดตัวต้องยุบรวม ควบรวม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เน้นรับเด็กจำนวนมาก ภาพความโกลาหลจะชัดเจนขึ้น เอกชนและต่างชาติจะซื้อกิจการโรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งจะเติบโตเพราะคนไม่ไว้ใจการศึกษาที่บริหารโดยภาครัฐ ทางแก้ปัญหา ภาครัฐต้องลงทุนกับการศึกษาระดับปฐมวัยให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการ เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ หากการศึกษาขั้นพื้นฐานยังงุ่มง่าม จะพากันลงเหวแน่ โดยเฉพาะ 2-3 ปีนี้ที่มีการระบาดของโควิด-19

ยิ่งมีข่าวสารว่า โรงเรียนให้นักเรียนสวมเครื่องแบบเรียนออนไลน์ที่บ้าน หรือให้นักเรียนยืนเคารพธงชาติเวลา 08.00 น. ที่บ้าน ทำให้น่าสงสัยในคุณภาพของการศึกษาไทยว่ายังติดรูปแบบเดิมๆ มุ่งรูปแบบพิธีกรรมมากกว่าการพัฒนาความรู้ ประเด็นสำคัญคือ กระทรวงศึกษาธิการเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาหรือไม่ หากไม่เห็นว่าเป็นปัญหา การศึกษาไทยจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอคอยคำตอบโดยยังไม่มีความหวังว่าจะมีการแก้ไขหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image