รายงานหน้า2 : จับกระแส‘บิ๊กตู่’ ส่งสัญญาณ‘ยุบสภา’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ-นักธุรกิจ กรณีกระแสข่าวร้อนแรงในช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะประกาศยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

สังเกตจากสถานการณ์การเมืองและองคาพยพรัฐบาลตอนนี้ ผมคิดว่าถ้าจะยุบสภามีปัจจัยมาจากการจัดการปัญหาโควิด-19 ถ้าเราจัดการการฉีดวัคซีน หรือสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกของรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลมีการประเมินการยุบสภา เพราะการยุบสภามันคือระบบการเมืองภายใต้ระบบรัฐสภา อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี จะมีการประเมินสถานการณ์ว่า ถ้าอยู่ต่อไปจนครบวาระ 4 ปี ก็อาจจะดีในการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง แต่หากอยู่ต่อไปแล้วต้องเผชิญวิกฤตอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าตัดสินใจยุบสภาในช่วงที่ตัวเองได้เปรียบที่สุดจะทำให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง
แต่เมื่อพูดถึงอำนาจที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาได้เปรียบอีกครั้งหลังยุบสภา จะพบว่ามีเงื่อนไขโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี’60 ที่ฝ่ายค้านแทบจะไม่สามารถแตะต้องอะไรได้ในกระบวนการของฝ่ายค้าน มติที่จะเรียกร้องให้การเอาวุฒิสภาออกมีความเลื่อนลอย แต่อย่างที่เราทราบ ส.ว.ไม่มีทางลดอำนาจตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญ ถ้ามีการแก้ก็ต้องแก้ตามร่างของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่แก้เพื่อให้รัฐบาลกระชับอำนาจให้มากขึ้น
ถ้าเราดูทิศทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย แม้ว่าจะดูเหมือนระหองระแหง สั่นคลอน แต่ท้ายที่สุด การตัดสินใจยกมือโหวต พ.ร.บ.กู้เงิน หรือ พ.ร.บ.งบฯ ปี’65 พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลค่อนข้างมีเสถียรภาพอยู่พอสมควร แต่ที่มีการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์งบเกิดจากการขัดแย้งกันในแง่ผลประโยชน์ส่วนตัว
ประการต่อมาคือ พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเริ่มมีบรรยากาศงูเห่า หรือ ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนเริ่มไม่อภิปรายงบประมาณอย่างเต็มศักยภาพ เสมือนว่ามีนัยยะทางการเมือง หรืออาจจะเป็นการต่อรองในเรื่องของการตั้งคณะกรรมาธิการ ในวาระที่ 2 และอาจจะคิดไปถึงจำนวนงบประมาณที่ได้รับในพื้นที่ของตัวเอง
แต่เมื่อพูดถึงบรรยากาศงูเห่าคงหนีไม่พ้นพรรคที่กระทบหนักสุดคือ พรรคก้าวไกล กล่าวคือ พรรคก้าวไกลสร้างอุดมคติทางการเมือง แต่เวลาทำงานจริงเขาทำงานแบบนักการเมืองยุคเดิม ที่สำคัญคือแกนนำอย่าง คุณพิธา หลายครั้งการลงมติก็มีนัยยะแปลกๆ เช่น ก่อนหน้านี้ก็อ้างว่ากดบัตรเสียที่ไม่ลงมติให้ธรรมนัส หรือล่าสุดก็บอกป่วย ผมเข้าใจว่าอุบัติเหตุก็เกิดได้ แต่การเป็นแกนนำพรรค การส่งสัญญาณแบบนี้มันมีนัยยะบางอย่าง เพราะสมาชิกพรรคหลายคนอาจจะเห็นทิศทางแล้วว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลนั้นผิด เพราะไปเล่นในประเด็นที่สังคมไทยยังไม่พร้อมจะเล่น บรรยากาศเหล่านี้ที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าไปต่อประมาณปีเศษๆ นายกรัฐมนตรีก็ต้องช่วงชิงความได้เปรียบในการ “ยุบสภา” เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐกลับมามีอำนาจในช่วงที่ตัวเองได้เปรียบ
แม้ว่าทางออกของการเมืองช่วงนี้ประชาชนอาจจะเรียกร้องให้ยุบสภา แต่ไม่ได้ช่วยอะไรมากขนาดนั้น เป็นเพียงการฟอกขาว ในฐานะที่ผมทำงานท้องถิ่น ปัจจัยที่อาจทำให้พรรค พปชร.กลับมามีอำนาจ กล่าวคือ คนอาจจะไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ แต่ประชาชนยังรู้สึกไว้วางใจ ส.ส.ในจังหวัดของเขา แต่เผอิญ ส.ส.ที่เขาไว้ใจอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล ปัจจัยนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อได้ ยังมีเรื่องของคนที่ไม่ได้ชอบรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็ไม่ชอบวิธีการล้มรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านเหมือนกัน คนรู้สึกว่ามีวาระซ่อนเร้น
ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลต้องจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนและสื่อสารความจริง เรื่องความเชื่อมั่นต่อวัคซีน เพราะความเชื่อมั่นต่อวัคซีนในตอนนี้กระจัดกระจายมาก และถูกขยายต่อในแง่การต่อรองทางการเมือง ทำให้กระบวนการจัดการโควิดไปต่อไม่ได้ และก็กระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย ถึงแม้จะใช้เงินกู้ 5 แสนล้านมาจัดการ แต่ถ้ายังไม่เกิดความเชื่อมั่น เศรษฐกิจก็ฟื้นฟูต่อไม่ได้
สุดท้ายนี้ ทางออกของปัญหาสังคมไทยตอนนี้ ต้องพูดเรื่องที่มีผลประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ผมค่อนข้าง งง กับพรรคฝ่ายค้านในการยื่นข้อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ทั้งหมดที่พูดคือการสร้างกติกาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองทั้งสิ้น ฝ่ายค้านมอง ส.ว.เป็นอุปสรรค เพราะเห็นว่าถ้าไม่มี ส.ว.ตัวเองก็มีโอกาส พักหลังมานี้ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ได้พูดอะไรที่เป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคม หมกมุ่นอยู่กับการจะมีหรือไม่มี ส.ว. แต่ไม่ได้พูดเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนเลย ส่วนตัวคิดว่าทางออกที่แท้จริง คือการสร้างเศรษฐกิจจากรากฐานของประชาชน และมีกระบวนการการกระจายอำนาจท้องถิ่น อาจจะมองว่ามันเป็นข้อเสนอที่สังคมนิยมไปนิด แต่ก็เป็นรากฐานในการสร้างสังคมที่ดี

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มมร วิทยาเขตล้านนา

Advertisement

แนวโน้มการยุบสภาผู้แทนราษฎรหลังรัฐบาลผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ว่าส่วนตัวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลยังไม่พร้อมและเหลือเวลาบริหารอีก 1 ปี ก่อนครบวาระยังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อยู่ ดังนั้น ต้องวางฐานการเมือง เครือข่ายให้เข้มแข็งกว่าเดิม และยังมีอำนาจอยู่ในมือเพื่อเตรียมเลือกตั้งสมัยหน้าไม่ใช่ยุบสภาทันที เพราะอาจเสียเปรียบฝ่ายค้านได้ที่ประชาชนสนับสนุนมากขึ้น
โอกาสยุบสภาเลือกตั้งใหม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายใน คือพรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งกันมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอำนาจและผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว สังเกตได้จากการจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนกว่า 70 ล้านคน งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ที่อำนาจและการบริหารจัดการอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพียงผู้เดียว ไม่ใช่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกโจมตี และเกิดงูเห่าในสภา การโหวตลงมติพรรคร่วมรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลได้
นอกจากนี้ พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคคือ ภท. ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เสนอยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญปี’60 เพื่อแก้ไขที่มาของ ส.ว. 250 คน เพื่อเรียกคะแนนนิยมก่อนเลือกตั้งใหม่ โดยอาศัยสถานการณ์การเมืองเป็นเครื่องมือชิงมวลชนจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และฝ่ายค้าน
เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังบริหารและครองอำนาจจนครบวาระ 4 ปี ไม่ยุบสภาง่ายๆ จนกว่าจัดการพรรคร่วมรัฐบาลให้กลับมาเข้าแถวไม่นอกลู่นอกทางอีก พร้อมจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์พรรคร่วมให้ลงตัว รวมทั้งทำลายความน่าเชื่อถือ หรือเขี่ยฝ่ายค้านออกจากวงจรการเมืองไปพร้อมกัน ก่อนจัดเลือกตั้งใหม่ เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของเครือข่ายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยคดีที่มีผู้ร้องยุบพรรคเพื่อไทย (พท.) กรณีนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนจดหมายและทำคลิปสนับสนุนนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง เป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ จนนายพิชัยได้รับเลือกเป็นนายกสมัยแรก ถ้า กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบ พท.จะเป็นการส่งสัญญาณให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ทันที เพราะได้กำจัดคู่แข่งแล้ว รัฐบาลและ พปชร.ได้เปรียบทางการเมืองเหนือกว่าทุกพรรคแล้ว โอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจึงมีสูง

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่าล้มเหลวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการในสถานการณ์โควิด หากเป็นการเมืองในสถานการณ์ปกตินั้นย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำมาสู่การยุบสภา แต่เนื่องจากปัญหาของประเทศในปัจจุบัน การยุบสภาขณะนี้
จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง
รัฐบาลควรมุ่งทุ่มเทสรรพกำลังและใช้ความสามารถที่มีบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด เนื่องจากการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งกระบวนการและภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องนำมาใช้ในการจัดการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก แทนที่งบประมาณดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิดและเศรษฐกิจที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องดำเนินการในขณะนี้คือการเดินไปข้างหน้า บริหารรัฐบาลจนครบวาระ แล้วค่อยให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ไม่ควรยุบสภาในขณะนี้ นอกจากนี้ ควรลดการแบ่งฝ่าย ผนึกกำลังตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ส่งเทียบเชิญบุคคลที่มีความรู้
ความสามารถที่สามารถบริหารจัดการประเทศมาร่วมงาน แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะอยู่คนละขั้วตรงข้ามก็ตาม ควรทำเรื่องนี้โดยด่วนเพื่อไม่ให้งบประมาณที่รัฐบาลกู้เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ไปอยู่ในโครงการหรือยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขวิกฤตของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ตกอยู่เพียงในเงาของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ การยุบสภาภายหลังผ่านร่างงบประมาณ 2565 มองว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่สวนทางกับความต้องการของประเทศ งบประมาณพื้นฐานที่ควรเร่งรัดและนำมาดำเนินการเป็นอันดับแรกคืองบประมาณการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่เมื่อมองกลับมายังงบประมาณปี 2565 จะพบว่าอาจเป็นกับดักระเบิดเพื่อรอรัฐบาลใหม่ งบประมาณกลับถูกถ่ายเทไปในจุดที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
ส่วนกระแส “งูเห่า” หรือการเคลื่อนไหวนอกสภานั้น บ้านเมืองยังวิกฤตอยู่ ขณะนี้ประเทศต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วน การตั้งเป้าโจมตีในส่วนของการย้ายพรรค หรือ ส.ส.งูเห่า หรือการออกมาเคลื่อนไหวนั้นอาจจะไม่ใช่สถานการณ์ที่เหมาะสมมากนัก ส่วนตัวยังคงเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้ประชาชนจะจดจำ และการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะเป็นบทพิสูจน์ว่าสมัยหน้าผู้แทนคนนี้ยังสมควรที่จะได้คะแนนเสียงเพื่อเป็นผู้แทนประชาชนอีกหรือไม่

Advertisement

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

กระแสข่าวการยุบสภา หากเกิดขึ้นจริงอาจส่งผลกระทบต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอยู่บ้างต้องดูว่ากระบวนการในการยุบสภาเป็นอย่างไร แต่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองย่อมมีผลกระทบอยู่แล้วหากทุกอย่างไม่ราบรื่น อีกทั้งต้องดูที่ความเข้าใจของประชาชน แต่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะยุบสภาหรือไม่ ในมุมของภาคธุรกิจ สถานการณ์การเมืองในปี 2564 ยังไม่รุนแรงถึงต้องยุบสภา เพราะเรื่องที่สำคัญตอนนี้คือ การเร่งฉีดวัคซีนไม่ให้เกิดการสะดุด เป็นจังหวะที่ต้องกู้วิกฤตโควิด-19 เพราะไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐบาลชุดใดที่จะมีการเปลี่ยนผ่านก็ต้องเน้นเรื่องนี้ก่อนเช่นกัน คาดการณ์ว่าจะยังไม่เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น เพราะต้องเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 ก่อน
ส่วนแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มไปในทิศทางที่เข้าใจความจริงมากขึ้นว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น แต่ยังพูดคำว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ไม่เต็มปาก เพราะยังอยู่ในช่วงของการพยายามกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายอยู่ เนื่องจากการแพร่ระบาดในรอบนี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อหายหมดเลย ส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าใช้เงิน กระทบถึงเศรษฐกิจที่ไม่มีการหมุนเวียน แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็โดนกระทบไปหมด
ดังนั้น แผนในระยะสั้น เมื่อรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว แผนฟื้นฟูต่างๆ ก็ต้องตามมาด้วย โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ได้ตอนนี้ได้หายใจได้คล่องขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเงินต่างๆ ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ทันที ส่วนแผนในระยะกลางต้องมีการสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ ฟื้นตัวและกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และแผนระยะยาว การดึงดูดการลงทุนของต่างประเทศให้เข้ามาเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่งได้
ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกเหนือจากฉีดวัคซีนคือ ภาคการส่งออกจากประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีการสั่งออเดอร์เข้ามา วัดได้จากจำนวนวัตถุดิบต่างๆ ที่เริ่มขาดแคลน เพราะมีความต้องการใช้พร้อมกันในหลายประเทศ อีกสัญญาณหนึ่งที่คาดการณ์ไว้ ในช่วงไตรมาที่ 3/2564 คือเรื่องการสั่งซื้อหรือยอดส่งออกที่อาจจะมีมากขึ้น แต่ละประเทศที่ฉีดวัคซีนไปแล้วเริ่มมองไปถึงช่วงปลายปี หรือช่วงที่มีเทศกาลเฉลิมฉลองแล้ว ซึ่งจะทำให้มีการใช้จ่ายที่มากขึ้น เป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ แต่ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคอยู่คือ เรื่องค่าระวางเรือที่สูง และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
มั่นใจว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ถ้าไม่ได้รุนแรงถึงขั้นปิดท่าเรือหรือปิดสนามบิน แต่เรื่องที่จะได้รับผลกระทบ
การเมืองในประเทศมีความรุนแรงขึ้นคือ เรื่องการลงทุน เพราะจะกระทบต่อการเดินทางเข้าออกประเทศ หากรุนแรงถึงขั้นหลายประเทศประกาศงดให้เดินทางเข้าประเทศไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image