รายงานหน้า2 : ‘ชัยธวัช’มองเกมแก้รธน. กำให้ถูกก้อน-งัดไม้ตายสู้

หมายเหตุนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวทางและการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ก.ก.และพรรคร่วมฝ่ายค้าน

•การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ร่างเดียวที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เซ็นร่วมคือประเด็นการปิดสวิตช์ ส.ว. หรือยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเราไม่อยากเสนอหลายมาตราหลายประเด็นมากเกินไป เราเห็นเจตนาของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่พยายามเสนอแก้หลายมาตราหลายประเด็น เพื่อทำให้เกิดความสับสน และเบี่ยงเบนประเด็นสำคัญออกไป เรื่องการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหญ่ของประชาชน ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพียงแต่เราเห็นต่างกันในเชิงกระบวนการ และเชิงเนื้อหา ในเชิงกระบวนการ การเสนอ หากเสนอมาตรา 256 ไปเลยตอนนี้ สุดท้ายจะต้องถูกตีให้กลับมาทำประชามติก่อนอยู่ดี ดังนั้นไม่ว่าจะเสนอร่างแก้ไข มาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปก่อนเลยก็ดี สุดท้ายก็ต้องวนกลับมาทำประชามติ ซึ่งรัฐสภากำลังพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็คิดว่าถ้าไม่มีปัญหา หรือเกิดการตีรวน เตะถ่วงจริงๆ ก็จะจบในวันที่ 22 มิถุนายนนี้
เมื่อกฎหมายผ่านและประกาศใช้ เราสามารถเสนอให้ทำประชามติได้
ในเชิงกระบวนการไม่ใช่เรื่องสำคัญมาก แต่เป็นเรื่องของเนื้อหา เพราะเมื่อปีที่แล้วพรรค ก.ก. เคยแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ไม่เห็นด้วยที่จะไปออกแบบอำนาจของ ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน ว่าห้ามแก้ไขหมวดนั้น หมวดนี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เราต้องการหรือไม่ต้องการให้แก้หมวดใดหมวดหนึ่ง แต่โดยหลักการที่สำคัญ เมื่อประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงที่สุดของประเทศนี้ จึงควรจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ถูกจำกัดว่าห้ามแตะตรงนั้น ห้ามแตะตรงนี้
หลายคนอาจจะบอกว่าการแตะหมวด 1 และหมวด 2 จะทำให้ยากต่อการผลักดันให้มี ส.ส.ร. หรือจะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ความจริงเรามองต่าง หากไม่ยกมันมาเป็นประเด็น ถ้าไม่เปิดประเด็นก่อนด้วยการเสนอให้ห้ามแก้หมวดนั้น หมวดนี้ โดยหวังว่าการเสนอแบบนี้จะทำให้การเกิดขึ้นของ ส.ส.ร.ง่ายขึ้น เราคิดว่าวิธีคิดแบบนี้มีปัญหา การแก้ไขรัฐรรมนูญที่ผ่านมาก็ไม่มีการจำกัดแบบนี้มาก่อน ข้อเสนอแบบนี้จึงเป็นการสร้างเพดาน และบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ว่า ต่อไปนี้หากจะให้ประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 ทั้งที่เพดานทางการเมืองนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต

•พรรค ก.ก. เชื่อว่าการทำประชามติถามประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน ที่จะเป็นทางออกที่ยั่งยืนหรือไม่
มันมีหนหางเดียว หากคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเต็มไปหมด ทั้งในเชิงโครงสร้าง และวิธีคิด ที่ไม่สามารถปะผุประเด็น และใช้ต่อได้โดยไม่เกิดปัญหาอีก ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ามีประเด็นที่ต้องแก้ไขเต็มไปหมด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการเริ่มสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาเลย ส่วนจะนำไปสู่ทางออกปัญหาทางการเมืองทั้งหมดนั้น ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน ประเด็นอยู่ที่ว่า ส.ส.ร. และประชามติสำคัญ เพราะสุดท้ายมีแต่ฉันทามติของประชาชนเท่านั้น ที่จะสร้างการยอมรับได้
เราต้องยอมรับว่าตอนนี้สังคมไทยไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะติดหล่มทางการเมืองอยู่มาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 เป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ ที่สังคมไทยตกลงกันไม่ได้ว่าระบบการเมืองแบบใดที่พอจะยอมรับกันได้ และพร้อมจะใช้กติกานี้เดินหน้าร่วมกัน ถ้าหาตรงนี้ไม่ได้ ก็จะไปต่อไม่ได้ จะไม่มีสมาธิมาคุยกันเรื่องอนาคต การหายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย จะมีแต่การทะเลาะกันทางการเมืองอย่างไม่จบสิ้น เพราะกติกาไม่ลงตัวสักที แต่อาจจะยากที่จะได้กติกาที่ลงตัวในครั้งเดียว ดีที่สุดคือการทำแบบนี้
ดังนั้นจุดเริ่มต้นประตูบานแรก คือการทำประชามติ ที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายต่างบอกว่าต้องฟังเสียงประชาชน ฝ่ายที่อยากจะปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 ก็บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการลงประชามติ และเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ขณะที่ฝ่ายที่ต้องการยกเลิกก็บอกว่าประชามติครั้งที่ผ่านมาไม่เสรี ไม่เป็นเป็นธรรม และประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ดังนั้น จึงต้องกลับไปถามประชาชน ใช้ประชาชนเป็นหลังพิง และหาข้อยุติร่วมกัน ถ้าทำประชามติแล้วประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ทำเวที ส.ส.ร.เป็นพื้นที่ปลอดภัย และเสรีสำหรับความคิดทางการเมืองทุกแบบ และยึดโยงกับประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด เชื่อว่ากระบวนการนี้จะหาจุดลงตัว และฉันทามติทางการเมืองได้

•ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในสภามี 10 กว่าร่าง มีความสะเปะสะปะและประเด็นมากเกินไปหรือไม่
ล่าสุดมี 15 ร่าง และหลายประเด็นมาก พรรค ก.ก.มองว่าเป็นความจงใจ ที่จะชวนมาแก้รัฐธรรมนูญกันหลายประเด็น จนจัดลำดับความสำคัญไม่ได้ว่าหัวใจสำคัญคืออะไร อาจจะแก้ประเด็นเล็กๆ ได้ เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ และปากท้องของประชาชน แล้วทำให้คนรู้สึกว่าได้แก้ แต่ยิ่งเบี่ยงเบนปัญหา และไม่แก้วิกฤตรัฐธรรมนูญ 2560 ท่ามกลางประเด็นที่เสนอเต็มไปหมด หัวใจของแต่ละฝ่ายต้องการจริงๆ มีอยู่ ส่วนที่เหลือเป็นเพียงไม้ประดับ และการสับขาหลอก อย่างพรรค พปชร. ต้องการคงอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เอาไว้ ส่วนบางมาตราที่มีนัยสำคัญรองลงมาคือ การเสนอแก้ มาตรา 144 และมาตรา 185 เปิดช่องให้ ส.ว. และ ส.ส. สามารถใช้อำนาจแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณได้ง่ายขึ้น ที่มีส่วนเอื้อนำไปสู่การชนะการเลือกตั้งในอนาคตของพรรค พปชร. ส่วนพรรคอื่นๆ จะมีหัวใจที่ตัวเองคาดหวังและต้องการ เราต้องการจะบอกว่าหัวใจสำคัญคือ ต้องหยุดการต่ออายุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประเด็นที่สำคัญต่อเนื่องคือ อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ดังนั้นประเด็นการปิดสวิตช์ ส.ว. จึงสำคัญที่สุด ต่อให้แก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งได้ นั่นจะเข้าเกณฑ์ของพรรค พปชร.ที่มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาแน่

Advertisement

•หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลว จะนำไปสู่ทางตันและความความวุ่นวายทางการเมืองหรือไม่
ความไม่สงบและความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ถ้าหลุมดำทางการเมือง และการสะสมมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ยังไม่ยุติ เป็นธรรมดาที่สังคมที่ไม่สามารถหาข้อยุติว่าจะอยู่ในระบบการเมืองแบบไหนร่วมกันได้ จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองไปตลอด

•ความร่วมมือของพรรค ก.ก.กับกลุ่มรี-โซลูชั่น ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการทำประกันการทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
การร่วมมือกันของพรรค ก.ก. คณะก้าวหน้า และภาคประชาสังคม เป็นการเสนอเพื่อทำงานทางความคิดไว้ล่วงหน้า หากสังคมไทยสามารถตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาเป็นเวทีร่วมระดมความเห็นและเสนอความคิดว่าอยากออกแบบรัฐธรรมนูญ และระบบการเมืองอย่างไร แต่ก็คาดหวังว่าทาง รี-โซลูชั่น จะล่ารายชื่อได้ครบ 5 หมื่นรายชื่อ และเสนอแนวคิดไปพูดและอภิปรายต่อสังคมไทยผ่านเวทีรัฐสภาได้ หลายเรื่องที่เป็นข้อเสนอไปไกล เช่น สภาเดี่ยว เหตุผลเพราะเราหาคำตอบไม่ได้ว่า ส.ว. มีไว้ทำไม ส่วนหลายประเทศที่ยังมี ส.ว. เพราะมีประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่ยาวนาน เช่น สภาขุนนาง ในอังกฤษ ที่ไม่มีอำนาจแล้ว สำหรับ ส.ว. ไทยไม่ได้มีประวัติศาสตร์สืบทอดยาวนาน แต่เกิดขึ้นครั้งแรก สืบเนื่องจากการทำรัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย คือ การทำรัฐประหาร 2490 หลังจากนั้นก็มีการสร้าง ส.ว.ขึ้นมา เพื่อทานอำนาจ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน บางช่วงเวลาฝ่ายอนุรักษนิยมก็ใช้ ส.ว. ควบคุมอำนาจทางการเมือง บางช่วงเผด็จการทหารและข้าราชการ ก็ใช้ ส.ว.ควบคุมอำนาจของประชาชน
จากนั้น ส.ว.ได้ถูกดีไซน์จนมาเป็นแบบปัจจุบัน ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอะไร ดังนั้น ไม่มี ส.ว. ดีกว่า ประหยัดงบประมาณ และระบบรัฐสภามีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสามารถออกแบบสภาเดี่ยว ให้มีกลไกการตรวจสอบเต็มไปหมด ที่สอดคล้อง และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กลุ่ม รี-โซลูชั่น ยังได้เสนอให้รื้อองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ให้กลายมาเป็นองค์กรที่ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐได้อย่างแท้จริง มีความรับผิดชอบ และยึดโยงกับประชาชน และยังถูกตรวจสอบได้ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของคนกลุ่มหนึ่ง และยังมีกลไกที่ต่อต้านรัฐประหารด้วย เราหวังว่าจะเสนอร่างนี้เข้ามาสู่การพิจารณาของสภาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

•ข้อเสนอที่สุดโต่งจะถูกกระแสต้านจากฝ่ายที่ถูกลดทอนอำนาจหรือได้รับผลกระทบหรือไม่
การมองว่าข้อเสนอเหล่านี้ก้าวหน้ามากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหานั้น เป็นการคิดมุมเดียวเกินไป เพราะปัญหาของการเมืองไทยปัจจุบันคือ เราถูกกดด้วยความคิดที่ว่าความเปลี่ยนแปลง ที่ก้าวหน้าเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายก็ยอมอยู่ภายใต้ระบบสังคมแบบนี้ หรือไม่ก็เลือกหนีออกจากสังคมนี้ไปอยู่ต่างประเทศ ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ข้อเสนอที่ก้าวหน้ามากเกินไป แต่เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์เพดานทางความคิด ที่ว่าเราไม่ควรที่จะทำอะไรที่ก้าวหน้า การเกิดขึ้นของอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรค ก.ก. และกลุ่มรี-โซลูชั่น เป็นการทำงานทางความคิด สร้างจินตนาการทางการเมืองแบบใหม่ๆ ให้คนเห็นว่าสังคมและการเมืองที่ควรจะเป็น ควรจะเป็นแบบนี้ เอาชนะทางความคิด และเอาชนะทางการเมืองที่เป็นจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ การเสนอทางความคิดลอยๆ ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องปฏิบัติไปควบคู่กับปฏิบัติการทางการเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา ไม่เช่นนั้นเราจะตกอยู่ในเพดานอย่าเพิ่งกล้าคิดอย่าเพิ่งเปลี่ยนแปลง

•พรรคก.ก.อาจถูกมองเป็น เด็กดื้อในทางการเมือง
ผมว่าเป็นการปะทะกันระหว่างการเมืองแบบใหม่กับการเมืองแบบเก่า ทั้งแง่ความคิด วัฒนธรรม และการปฏิบัติ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเด็กดื้อ หรือคิดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกยุคสมัย จะเกิดสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งเก่า ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีพลวัตมาเปลี่ยนแปลงสังคม การเกิดขึ้นของพรรค ก.ก. คือการที่เรารู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องมีสิ่งใหม่ และความคิดทางการเมืองแบบใหม่ ไม่เช่นนั้นเราจะจมปลักอยู่แบบนี้ ไม่สามารถออกจากวังวนทางการเมืองแบบเดิมๆ ได้ ถ้ายังทำและคิดเหมือนเดิม ผมคิดว่าเราคงต้องเลิกคิดที่อยากจะเห็นอะไรดีขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นความจำเป็นของสังคมไทย ที่จะต้องมีสิ่งใหม่เข้ามา เราจะออกจากวังวนการรัฐประหารได้อย่างไร ไม่ใช่แค่การไล่กองทัพกลับกรมกอง หรือลดอำนาจกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน แต่ต้องแก้ปัญหาคนที่เบื่อหน่ายกับพรรคการเมือง และนักการเมืองแบบเก่า ที่ทำงานและคิดแบบเดิมๆ ด้วย ไม่เช่นนั้น สุดท้ายคนจะหันไปสนับสนุนรัฐประหาร และระบบคนดี เพราะเบื่อและไม่เชื่อมั่นในระบบพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำให้ชีวิตดีขึ้นได้

•ความพยายามปิดสวิตช์ ส.ว.เป็นแบบซุปเปอร์ล็อก
ต้องยอมรับว่าการยกเลิก ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และการยกเลิก ส.ว.ในระบบรัฐสภาเป็นเรื่องยากแน่ ขณะที่บางฝ่ายอาจจะเห็นว่ากำขี้ดีกว่ากำตด แก้ระบบเลือกตั้งไปก่อนก็ได้ ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แต่อยากจะบอกว่าอย่าเพิ่งไปคิดแค่มุมเดียวว่ากำขี้ดีกว่ากำตด เพราะหากพรรค พปชร. ตั้งใจจะผลักดันเรื่องนี้ หมายความว่าเขาประเมินแล้วว่าจะได้เปรียบที่จะกลับมาสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่าไปหลงว่าพรรค พปชร.จะเสนอสิ่งที่เข้าทางฝ่ายเรา และเล็งว่าจะชนะในเกมนี้ ที่บอกว่ากำขี้ดีกว่ากำตดนั้น ขี้ก้อนนี้พรรค พปชร.กำไว้แล้ว พรรคร่วมฝ่ายค้านแทบไม่มีความจำเป็นถกเถียงกันว่าระบบเลือกตั้งควรจะเป็นอย่างไร แต่ขี้อีกก้อนเขาไม่ได้กำ เป็นหัวใจสำคัญและเราต้องกำให้มั่นคือ อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ
เมื่อ ส.ว.และพรรค พปชร. ประกาศล่วงหน้าว่าจะคว่ำร่างที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ โดยเฉพาะมาตรา 272 ผมจึงเสนอว่า ต้องประกาศให้ชัดเหมือนกันว่าถ้าคว่ำร่างแก้ไข มาตรา 272 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่ง จะคว่ำร่างของพรรค พปชร. เช่นเดียวกัน อย่าลืมว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านยังมีอาวุธอยู่อีกหนึ่งอย่าง คือ ในการพิจารณาวาระที่ 3 ถ้าไม่ได้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน 20% ข้อเสนอของพรรค พปชร. ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นเรามีแค่ขี้ก้อนนี้ก้อนเดียวที่ทำได้ ถ้าไม่มีมาตรา 272 ก็ไม่มีความหมาย ถ้าคุณคว่ำเราตั้งแต่วาระที่ 1 เราจะคว่ำของคุณในวาระที่ 3 ด้วย ยืนยันว่าเราต้องกำขี้ให้ถูกก้อน

สุนันทา บวบมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image