บทนำวันจันทร์ที่21มิถุนายน2564 : ผิดตรงไหน

สถานีคิดเลขที่ 12 ทางออกประเทศ! ในบรรดาข้อเรียกร้องหลัก ม็อบ นิสิต นักศึกษา ข้อเสนอของนักวิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

พรรคฝ่ายค้านและ 3 พรรครัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นที่ตรงกัน ได้แก่ การปิดสวิตช์ ส.ว. และมีสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.คนหนึ่งออกมาตั้งคำถามว่า ส.ว.ทำผิดอะไร ที่จะมาปิดสวิตช์อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านประชามติมาแล้ว และกล่าวด้วยว่าการปิดสวิตช์ ส.ว.มี 2 ประเด็น ได้แก่ การให้เหลือเพียงสภาเดียว โดยยุบวุฒิสภา ส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยยังเหมาะกับระบบ 2 สภาเหมือนอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่ที่มาของ ส.ว.จะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่หากจะให้ยุบเหลือสภาเดียวคงเป็นไปไม่ได้

ในเรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ส.ว.ดังกล่าว รัฐธรรมนูญให้มีอำนาจในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ไม่ได้มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ มีสิทธิเพียงร่วมโหวตเท่านั้น ดังนั้น ถ้าสภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกใครเป็นนายกฯ ส.ว.ก็แค่เห็นชอบตาม วันนี้ไม่จำเป็นต้องปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะถ้ามีการยุบสภาขึ้นมา และมีการเลือกตั้งใหม่ หาก ส.ส.ลงคะแนนด้วยเสียงมากพอ จะโหวตใครเป็นนายกฯ ได้ ส.ว.ก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร และจากการที่ดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่มีการเสนอมา ไม่มั่นใจว่าเสนอมาเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงหรือไม่ หรือเป็นการเสนอมาหลายมาตราเพื่อบังหน้าใช่หรือไม่ เพราะจริงๆ อยากแก้เพียง 3 ประเด็น คือเรื่องบัตรเลือกตั้ง ปิดสวิตช์ ส.ว.และเรื่องงบประมาณ

การปิดสวิตช์ ส.ว.ตามข่าวเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว. 250 คนที่มาจาก คสช.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แทนที่จะให้สภาผู้แทนฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นผู้เลือกตามหลักการประชาธิปไตย ผลก็คือ เสียง 250 ส.ว.กลายเป็นคะแนนเสียงกำหนดนายกรัฐมนตรี ข้อกำหนดดังกล่าวผ่านการทำประชามติก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่าประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น เกิดขึ้นในบรรยากาศเช่นไร ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลายจุดในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image