รายงานหน้า2 : ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ ผลักดันเมดอินไทยแลนด์ หนุน‘รัฐ-คมนาคม’ลงทุน

หมายเหตุหนังสือพิมพ์มติชน มีกำหนดจัดสัมมนา “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” วันที่ 23 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00-12.00 น. อาคาร บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) สามารถรับชมได้ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ มติชนออนไลน์ และยูทูบ matichon tv โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หนึ่งในวิทยากรในงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “ลงทุนไทย เคลื่อนประเทศไทย” ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงมุมมองด้านการลงทุนขององค์กรภาคเอกชน ต่อภาคการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน อีกกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยจะมีการเปิดประเทศช่วงปลายปี ตามนโยบายรัฐบาล หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

⦁การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะเวลาข้างหน้า ต้องให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อหยุดโรคระบาดให้เร็วที่สุด ลดจำนวนการแพร่กระจาย ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องควบคุมการระบาดของโควิด-19 ป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกต่อๆ ไป ต่อมาคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ผ่านมาตรการทางการเงิน ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย การทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ ทั้งระบบโลจิสติกส์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า ภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ อัตราดอกเบี้ย เหล่านี้ล้วนเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ต่อมาคือการช่วยให้ธุรกิจขายสินค้า บริการได้

รัฐบาลต้องกระตุ้นภาคการบริโภค ทำให้เกิดกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาได้ การเปิดตลาดต่างประเทศ การกระตุ้นตลาดอีคอมเมิร์ซ สร้างความสะดวก รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยากให้ใช้ยุทธวิธีปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเปิดประเทศ รับการท่องเที่ยวอีกครั้ง ทั้งด้านสถานที่ปรับกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ให้ดี ตัดตอนพวกแสวงหาผลประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยว มาเฟียต่างๆ จัดระเบียบกลุ่มนี้ การเตรียมพร้อมนี้จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยเกิดความมั่นคงขึ้น

นอกจากนี้ เคยเสนอเรื่องแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวที่เป็นของคนไทย คล้าย อโกด้า เพื่อกระตุ้นให้คนไทยใช้บริการด้านการจองงที่พัก โดยจะมีการหารือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้สอดรับกับภาคการท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมาหลังเปิดประเทศช่วงสิ้นปีนี้

Advertisement

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือเอส-เคิร์ฟ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ และสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศรายใหม่ได้เพิ่มขึ้น โดย ส.อ.ท.มองว่าหลังโควิดคลี่คลาย ประเทศไทยจะยังคงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนสำหรับอุตสาหกรรมสนับสนุน และอีอีซีจะดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ)

⦁การลงทุนภาครัฐมีความจำเป็นแค่ไหนหลังการระบาดของโควิด-19
จำเป็นแน่นอน ล่าสุดจากตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานตัวเลขการเบิกจ่ายภายใต้งบประมาณ 2564 คาดว่าปีนี้จะเบิกจ่าย 92.5% จำนวนนี้เป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุน 70% คาดว่าจะมีการใช้งบประมาณประมาณ 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 คิดเป็น 3.2% ขณะที่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคาดว่าจะมีการเบิกจ่าย 70% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 65%

นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนเอกชนจากภาครัฐก็จำเป็นเช่นกัน อยากให้ภาครัฐเร่งรัดผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง รวมทั้งแก้ปัญหาที่นักลงทุน ผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของไทยเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และดึงดูดการลงทุน อาทิ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ การแก้ปัญหาข้อจำกัดและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว นอกจากนี้ อยากให้ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน

Advertisement

ทั้งนี้ จะเห็นว่า การระบาดของโควิดทำให้เกิดการจำกัดของการเดินทางและกิจกรรมการท่องเที่ยว และการหยุดชะงักของซัพพลายเชนภาคการผลิต เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนไทยชะลอการลงทุน ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ควรเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา เพราะมีหลายงานศึกษาชี้ว่า การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นการรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจึงเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยตัวเลขการลงทุนของภาครัฐในปี 2563 อยู่ที่ 7%

⦁แรงสนับสนุนจากเอกชนในการขับเคลื่อนประเทศไทย
ในมุมของ ส.อ.ท.อยากให้ประเทศไทย ภาครัฐ ให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านนวัตกรรม เพราะเวลานี้ต้องยอมรับว่าประเทศที่ขับเคลื่อนไปได้ดี พัฒนา เกิดการสนับสนุนด้านนวัตกรรมเป็นหลัก ดังนั้นประเทศไทยต้องชูนวัตกรรม ตั้งให้ได้ โดยควรสนับสนุนมาตรการด้านภาษีให้ผู้ประกอบการทุกขนาด สนับสนุนนวัตกรรมในผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะมุมธุรกิจ
ผู้ประกอบการมีหัวการค้าอยู่แล้ว เมื่อคิดอะไรได้ต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่วิจัย พัฒนา มีห้องทดสอบ มีเงินทุน และดึงมหาวิทยาลัยร่วมสนับสนุน โดยเฉพาะรายเล็ก รัฐบาลต้องสนับสนุน ยกตัวอย่างประเทศจีน ปัจจุบันมีนวัตกรรมจำนวนมาก ทำให้ประเทศแข็งแรง จากก่อนหน้าใช้วิธีเลียนแบบประเทศตะวันตก เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจแข็งแรงอื่นๆ ใช้วิธีเดียวกัน จากนั้นไม่นานก็มี นวัตกรรมของตัวเอง

สำหรับ ส.อ.ท.ปัจจุบันอยู่ระหว่างขับเคลื่อนกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ดำเนินการในรูปมูลนิธิ เป็นแนวคิดในการนำเงินกองทุนมาจากภาคเอกชนรายใหญ่ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยเอกชนรายใหญ่จะเป็นผู้สมทบทุน 1 ส่วน และรัฐจะสมทบทุนอีก 1 ส่วน แต่วงเงินของกองทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี เอกชนลง 500 ล้านบาท รัฐลง 500 ล้านบาท คาดว่าภายในปีแรกเอกชนจะลงเงินทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท รวมแล้วกองทุนนี้น่าจะมีเงินทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเอกชนจะสมทบทุนต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดกองทุนนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นชอบและพร้อมสนับสนุนเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกรมสรรพากร ขอให้ส่งเสริมภาคเอกชนที่ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนให้นำเงินไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 เท่า คาดว่ากองทุนนี้จะดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยเป้าหมายกองทุนนวัตกรรมฯจะเอาเงินสนับสนุนเอสเอ็มอีในเรื่องการทำนวัตกรรม ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา ประสานมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยด้านความรู้ ซึ่งทุกวันนี้ไทยมีงานวิจัยจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเป็นเชิงพาณิชย์ได้ เพราะไม่ได้เอาโจทย์ของผู้ประกอบการเป็นตัวตั้ง แต่เอาโจทย์ของผู้นำนวัตกรรมเป็นตัวตั้ง จึงทำเป็นเชิงพาณิชย์ลำบาก

⦁เมดอินไทยแลนด์หนุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ
อีกแนวทางที่ ส.อ.ท.กำลังขับเคลื่อนคือ โครงการเมดอินไทยแลนด์ โจทย์คือทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ซื้อสินค้าไทย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีงบประมาณจำนวนมหาศาล การอุดหนุนสินค้าไทยจะทำให้อุตสาหกรรมไทยแข็งแรง เศรษฐกิจไทยแข็งแรงปัจจุบันโครงการเมดอินไทยแลนด์ ได้รับการสนับสนุนจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ออกกฎกระทรวงออกมารองรับ กำหนดให้สินค้าไทยอยู่ในบัญชีการจัดซื้อจัดจ้าง โดย ส.อ.ท.มั่นใจว่าโครงการนี้จะเข้าสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม

ล่าสุดคณะทำงานของ ส.อ.ท.ได้ประสานกับกระทรวงคมนาคมในการนำเสนอรายการสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย อาทิ เหล็ก ปูน อุปกรณ์ เครื่องมือที่เกี่ยวข้อง อยากให้พิจารณาสินค้าไทยก่อน อย่างกรณีโครงการรถไฟ ตู้ เบาะ อุปกรณ์ต่างๆ คนไทยผลิตได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ส.อ.ท.เตรียมหารือกับกระทรวงต่างๆ เพื่อนำเสนอสินค้าไทยในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งผู้ผลิตไทยจำนวนมากผลิตได้ตามมาตรฐาน ทั้งกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าครุภัณฑ์ สินค้าเทคโนโลยี สินค้ายุทธภัณฑ์ อาทิ เสื้อเกราะ คนไทยผลิตได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าเครื่องมือการแพทย์ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องมือการแพทย์คนไทยผลิตได้หลากหลาย แต่โรงพยาบาลอาจไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพ แต่หากตรวจสอบอย่างละเอียดสินค้าเหล่านี้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วจากหน่วยงานของไทย อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

⦁มุมมองต่อนโยบายรัฐในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน
กรณีการเปิดประเทศภายใน 120 วัน เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายนี้ เพียงแต่ผู้ที่เข้ามาในประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนให้เรียบร้อย และเบื้องต้นอาจใช้วิธีทยอยเปิดสถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่ลงทุน จากนั้นก็ทยอยเปิดให้ครบวงจร และให้ทุกคนป้องกัน ซีเรียสกับการดูแลสุขภาพตนเอง นอกจากนี้ ในช่วงนับถอยหลังการเปิดประเทศ สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยเร็ว หากเป็นไปได้อยากให้เป้าหมายการฉีด 50% เกิดขึ้นภายในไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) รวมทั้งเพิ่มวัคซีนทางเลือกให้มากขึ้น พร้อมกับทำให้การแพร่ระบาดลดลง โดยการฉีดวัคซีนที่มาก และเร็วขึ้นจะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเข้มแข็งเร็วขึ้นได้

หากรัฐสามารถฉีดวัคซีน 50% ภายในไตรมาส 3 จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ซึ่งเวลานี้องค์ประกอบด้านการฉีด สถานที่ค่อนข้างพร้อม เหลือเพียงด้านวัคซีน อยู่ที่รัฐว่าจะบริหารจัดการได้เพียงพอหรือไม่ อีกสิ่งสำคัญที่รัฐควรดำเนินการ คือการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ภาคเอกชน ประชาชน เป็นข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน บูรณาการข้อมูล จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ในการประกาศนโยบายต่างๆ นอกจากนี้ ต้องจัดการให้ตัวเลขการแพร่ระบาดลดลงด้วย เพราะตอนนี้ถือว่าระดับสูง ยังควบคุมไม่ได้ ไม่ดีเท่าที่ควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image