หวั่นเปิดประเทศ120วัน โควิดกลายพันธุ์-วัคซีนไม่พอ

หมายเหตุความเห็นแพทย์และภาคเอกชน กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ จะเปิดประเทศไทยในเวลา 120 วันนั้น

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ประธานชมรมแพทย์ชนบท

การเปิดเมือง 120 วัน ต้องทยอยเปิด ต้องทดลองในการเปิดเกาะ เป็นบางแห่ง เช่น ภูเก็ต สมุย ลันตา จะบริหารจัดการได้ง่ายที่สุด หากเปิดแล้วสามารถจัดการทุกอย่างได้ไม่มีการระบาด ก็จะไปใช้เป็นแนวทางในการเปิดพื้นที่ที่ไม่ใช่เกาะ เช่น บุรีรัมย์ หรือเชียงใหม่ ในโอกาสต่อไป ที่สำคัญเรื่องนี้ต้องทยอยเปิด เพราะเป็นบทเรียนใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน เพื่อดูว่าเปิดแล้วสามารถทำได้จริง และประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะการเปิดเมืองไม่ได้เป็นภาระของหน่วยงานเฉพาะด้านสาธารณสุข ในการควบคุมโรค

Advertisement

แต่เป็นการจัดการโดยรวมของทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง โดยเฉพาะการจัดการแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญมาก เนื่องจากยังมีการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง การเคลื่อนย้ายแรงงานแบบผิดกฎหมายก็จะเป็นปัญหาได้เช่นกัน หากควบคุมไม่ดีจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคหนักขึ้น

ขณะที่หลายฝ่ายห่วงเรื่องวัคซีน หากมีน้อยจะมีปัญหาในการเปิดเมืองอย่างแน่นอน แต่ส่วนตัวยังแปลกใจ เพราะ 120 วันไม่ทราบว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ทั้งที่ควรบอกให้ชัดเจน ทำให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของอนาคต ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายพอสมควร ดังนั้นมีความจำเป็นต้องทำให้สำเร็จ

โดยขอให้วัคซีนที่สั่งซื้อไว้มาจริงๆ ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวค หากมาจริงแล้วกระจายวัคซีนได้ดีก็ช่วยได้

Advertisement

แต่ถ้ามาน้อยทำให้แผนเปิดประเทศอาจไม่ประสบความสำเร็จ และล่าสุดมีแนวโน้มว่าวัคซีนจะมาน้อย หลังจากมีการสั่งซื้อซิโนแวคอีก 28 ล้านโดส ก็คงจะหมายความว่าแอสตร้าฯที่ผลิตในประเทศอาจผลิตได้น้อยกว่าแผนที่กำหนดหรือไม่

เดือนกรกฎาคม 2564 ก็คงพอจะทราบว่า แอสตร้าฯมีปัญหาจริงหรือไม่

การเปิดเมือง 120 วัน ต้องชื่นชมทีมงานกุนซือของนายกฯประยุทธ์ที่สามารถแก้เกมทางการเมืองได้ดี เบี่ยงประเด็นจากที่คนนับวัคซีนว่าวันนี้วัคซีนจะมากี่โดส เป็นการสร้างความหวังเตรียมเปิดประเทศ

จากเดิมทุกคนเข้าใจเอง โดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศว่า น่าจะเปิดประเทศได้ช่วงหลังปีใหม่ 2565 เพราะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่ทีมงานนายกฯขยับเวลาแห่งความหวังให้เร็วขึ้น 2 เดือน ด้วยชุดความคิดในการพยุงภาวะเศรษฐกิจ และเห็นว่าช่วงตุลาคมนั้นตามแผนเดิมของรัฐบาล คนส่วนใหญ่ราว 60% จะได้วัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว แล้วบางส่วนก็ได้ 2 เข็มไปบ้างแล้ว

ข่าววงในสุดสุดบอกว่า การแถลงข่าวของนายกฯประยุทธ์เรื่องการเปิดประเทศ 120 วัน กุนซือที่ชงเรื่องมาจากสายเศรษฐกิจ ที่มีสภาพัฒน์เป็นเลขาฯใหญ่

ที่น่าสนใจคือ การตัดสินใจครั้งนี้ของนายกฯประยุทธ์ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสายสาธารณสุขเองก็ทราบพร้อมประชาชน เพราะนายกฯอาจจะคิดว่า ถ้าปรึกษาแพทย์แล้ว คงไม่ได้เปิดประเทศเดือนตุลาคม

คำถามใหญ่ที่สำคัญคือ 120 วันเปิดประเทศเป็นเป้าหมาย แต่แผนปฏิบัติการไปสู่เป้าหมายนี้เป็นอย่างไร?

คงต้องให้เวลารัฐบาลอีกระยะ และตามหลักวิชาการ การเปิดประเทศจะล้ม หรือรุ่ง ปัจจัยสำคัญคือสามารถควบคุมโรค จนไม่มีการระบาดใหญ่ในรอบเดือนตุลาคมเป็นต้นไปได้หรือไม่

เนื่องจากการระบาดใหญ่จะมาจาก 2 เหตุ คือ วัคซีนมีไม่มากพอ และมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์

สองปัจจัยสำคัญด้านระบาดวิทยา!

เกวลิน หวังพิชญสุข
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

เข้าใจว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดออกมา เป็นการสร้างหมุดหมายว่าจะเปิดประเทศในไตรมาสที่ 4แม้ว่าคนรอบตัวท่านหลายคนจะออกมาแก้ตัวนับวันเริ่มใหม่ แต่โดยใจความสำคัญคือ การมุ่งเป้าฟื้นฟูทางเศรษฐกิจดูแลภาคการท่องเที่ยว ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) พอดี

ถ้าไม่มีการตั้งเป้าหมายตรงนี้ไว้ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวจะพลาดช่วงสำคัญในปีนี้ไป อาจจะต้องรออีกทีปลายปีหน้าแทน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ดำเนินการตามเป้าหมาย120 วัน คงจะต้องมีแผนที่วางไว้พอสมควร เหมือนกับที่ภูเก็ตที่มีแผนการต่างๆ รองรับไว้เพียงแต่ว่าแผนปฏิบัติจริงต้องคำนึงทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสาธารณสุขควบคู่กันไป

ถ้าวางแผนเปิดประเทศ 120 วัน ก็จะเปิดได้อยู่ช่วงกลางเดือนตุลาคม ควรจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมภายในเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นการให้เวลาผู้ประกอบการได้ทำการตลาด โปรโมตการท่องเที่ยวในพื้นที่ ถ้าไปดูพื้นที่ที่จะเปิดตามมา ในกรุงเทพฯ ฉีดเข็มแรกไป 20% เกาะสมุย ฉีดเข็มแรกไปได้แล้ว 45% ก็ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับประชากรให้ทันภายในเดือนสิงหาคม

อีกทั้งต้องมีการคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างเข้มงวด ต้องตรวจเชื้อ ไม่ให้เกิดโอกาสการแพร่เชื้อใหม่ ต้องมีแผนมาตรการรองรับตลอดเวลา

ปัจจัยเสี่ยงที่ตามมา คือ เรื่องเชื้อสายพันธุ์เบต้า โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค มีความไม่แน่ใจว่าจะรองรับสายพันธุ์เบต้าได้มากน้อยแค่ไหน จากการติดตามเฟซบุ๊กของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 3ตามเข้าไป

การฉีดครบโดสเข้าไปในช่วงแรกจะเป็นการลดความรุนแรงจากอาการเจ็บป่วย แต่มีประสิทธิภาพลดลงกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ๆ หรือแพทย์แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 เลื่อนขึ้นมาให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจังหวะการเข้ามาของวัคซีนด้วย

การบังคับต้องอยู่ภายในเกาะภูเก็ต 14 วัน ถือว่ายังจำเป็นอยู่ เพราะเป็นช่วงของการทดลอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ในมุมของนักท่องเที่ยวคงไม่สะดวกที่จะอยู่ครบ 14 วัน หลังจากนี้ต้องดูไปซักระยะหนึ่ง ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยง ทางรัฐบาลคงจะยืดหยุ่นปรับลดวันที่อยู่บนเกาะลง ทยอยลดลงจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน สิ่งที่ทุกคนหวังคือ คงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น และสามารถเดินไปข้างหน้าได้

การเปิดเกาะภูเก็ตในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) เป็นการสร้างความเชื่อมั่นก่อนที่จะไปถึงไฮซีซั่น ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งในเวลานั้นคงจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นจังหวะที่นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจมากขึ้นด้วยที่จะมา ช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะเปิดก็คงเป็นช่วงที่ต้องเข้มงวดมาตรการทางสาธารณสุขไปก่อน ทุกคนน่าจะเข้าใจดี

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โตอยู่ที่ 1.8% ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้อยู่ระหว่าง 2.5 แสนคน ถึง 1.2 ล้านคน ซึ่งตัวเลขจีดีพีที่ประเมินไว้ได้รวมตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 5.5 แสนคน

โดยนับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งในพื้นที่ภูเก็ต และพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม แต่ถ้าประเทศไทยมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จะเป็นตัวหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 4 มากกว่าที่ประเมินไว้

ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ มีกำหนดในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้รูปแบบการจำกัดพื้นที่ (แซนด์บ็อกซ์)

ซึ่งถือเป็นการทดลองเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยอย่างแท้จริง หลังจากภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2563 มากนัก เพราะที่ผ่านมายังไม่สามารถเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยได้

โดยโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีเงื่อนไขและข้อปฏิบัติเข้มงวดมาก แต่จะสามารถบริหารจัดการและควบคุมตามที่คาดไว้หรือไม่

การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนในจังหวัดภูเก็ต ต้องติดตามและประเมินผลว่า วัคซีนที่ฉีดให้คนภูเก็ตนั้น จะต้านทานเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบได้หรือไม่ อาทิ สายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า เมื่อเปิดภูเก็ตรับต่างชาติแล้ว ผลสรุปจะเป็นไปในทิศทางใด

หากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ดำเนินการไปได้และเห็นผลดี ไม่เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้น จะทยอยขยายการเปิดรับต่างชาติไปในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เพิ่มได้ มีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นได้บ้าง แต่ทั้งปีนี้คาดว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยยังไม่ได้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาเป็นจำนวนมากพอที่จะส่งผลเชิงบวกกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ต้องรอปี 2565 มากกว่า

สถานการณ์การระบาดโควิดในประเทศไทยขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งยังเป็นพื้นที่สีแดงเข้มอยู่ ทำให้หากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เปิดแล้วติดเชื้อกระเพื่อมกลับมาซ้ำเป็นระลอกใหม่ คงดูไม่จืดแน่นอน

ทำให้ประเทศไทยอาจต้องถอยหลังกลับไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบได้ ซึ่งส่วนนี้ขัดกับการกำหนดเปิดประเทศรับต่างชาติใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี

สิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับการระบาดโควิด การควบคุมเชื้อ และผลกระทบที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น 4 เรื่องหลัก ที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมเพิ่มเติมคือ 1.การตรวจหาเชื้อโควิดแบบสุ่มตรวจให้ได้มากที่สุด ผ่านการตรวจแบบ Rapid Test เป็นการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว ซึ่งรู้ผลได้ภายใน 15 นาที เพื่อให้รู้ต้นตอของเชื้อ และสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด รวมถึงกลุ่มคนทั่วไป และผู้ประกอบการ

2.กรณีผู้เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อโควิด ต้องกักตัวดูอาการ 3.การขยายระบบสาธารณสุข เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ได้ และ 4.หากมีการระบาดโควิดในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือแหล่งประกอบการขนาดใหญ่ จนต้องปิดโรงงานเพื่อควบคุมเชื้อ ถามว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรอบข้างโรงงานที่ถูกปิดนั้น มีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ภาครัฐจะมีกลไกอัตโนมัติช่วยเหลือหรือไม่ โดยส่วนนี้ยังไม่มีการพูดถึง และเตรียมพร้อมไว้เลย

เราพยายามเปิดประเทศ ทั้งๆ ที่การฉีดวัคซีนให้กับคนไทยยังอยู่ในระดับน้อย และการฉีดวัคซีนบางยี่ห้อยังมีความกังวลว่า ความสามารถในการต้านทานไวรัสกลายพันธุ์ไม่สูง และมีความเสี่ยงมากในการเกิดการระบาดขึ้นมาใหม่ รวมถึงหากไม่มีระบบอื่นๆ ที่ต้องเตรียมพร้อมให้สอดคล้องกันด้วย จะกลายเป็นประเทศไทยต้องถอยหลังได้

โดยหากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการระบาดโควิดในประเทศยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ ต้องถามว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโควิดควรอยู่ในระดับเท่าใด จึงจะเป็นระดับที่สามารถรับได้ และหากได้จำนวนดังกล่าวแล้วนั้น

คุณจะต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ประเทศอย่างไร ให้สามารถควบคุมไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจากโควิดมีมากเกินกว่าจำนวนที่รับได้

ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีใครพูดถึง ทั้งที่ความจริงแล้วจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image