รายงานหน้า2 : ‘เยียวยา’4.2หมื่นล. ตอบโจทย์ล็อกดาวน์?

หมายเหตุความเห็นของภาคเอกชนกรณีที่ประชุม ครม. เมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด เป็นการจ่ายเงินเติมเพิ่มให้ผู้ประกอบการและแรงงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท และอีก 12,000 ล้านบาท เป็นมาตรการลดภาระประชาชนด้านค่าไฟฟ้าและค่าประปา เป็นเวลา 2 เดือน

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด รวม 9 กิจการ อีกทั้งได้ออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องลดค่าน้ำ ค่าไฟ 2 เดือน หรือระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้นั้น มาตรการที่ออกมาโดยรวมถือว่าเป็นมาตรการที่ดี แม้งบประมาณในส่วนนี้จะน้อยไปหน่อย แต่ก็สามารถช่วยประชาชนในยามที่เดือดร้อน

ในเรื่องของการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ถือว่าตอบโจทย์ แม้จะช่วยเพียง 200-300 บาท แต่ก็ช่วยในครัวเรือนนั้นๆ นำไปซื้อของใช้ที่จำเป็นอย่างอื่นได้ มาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นการช่วยเหลือแบบครอบคลุมทั้งประเทศ ถ้าคิดมูลค่าการช่วยเหลือคร่าวๆ ก็ประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการช่วยเหลือได้จริง

Advertisement

ส่วนมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ยังติดในเรื่องของเงื่อนไขที่ยังไม่ชัดเจน แต่การช่วยเหลือในภาพรวมรอบนี้ถือว่าดี เพราะช่วยเหลือทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในระบบและนอกระบบ ขณะนี้ในประเทศมีสถานประกอบการ 7.81 แสนกิจการ ที่จดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งในจำนวนดังกล่าวพบว่ามีกิจการที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด กว่า 58-60% เป็นกิจการที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 40% ส่วน 4 จังหวัดภาคใต้ มีกิจการแค่ 1.9% ส่วนแรงงานในประกันสังคม ของทั้ง 9 กิจการที่รัฐจะเยียวยา มีจำนวนประมาณ 21.72 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด ประมาณ 13 ล้านคน

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือในระยะสั้นที่ให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ได้รับการช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน และลูกจ้างที่ได้รับชดเชยจะได้รับเงินเดือน 50% ของค่าจ้าง รวมไม่เกิน 10,000 บาท/คน ขณะที่ผู้ประกอบการจะได้รับรายละ 3,000 บาท/ลูกจ้าง 1 คน จำกัดไม่เกิน 200 คน ส่วนผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน โดยภาพรวมเห็นด้วยกับรูปแบบการช่วยเหลือดังกล่าว เพราะเป็นการช่วยเหลือทั้งลูกจ้างและนายจ้างได้ เบื้องต้นได้มีการสอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคม แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าการที่รัฐออกมาตรการที่ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบใช้หลักเกณฑ์ใดเป็นตัวชี้วัด ธุรกิจที่จะได้รับความช่วยเหลือต้องถึงขั้นปิดกิจการเลยหรือไม่ แล้วถ้าเป็นธุรกิจประเภทโลจิสติกส์ที่ต้องหยุดวิ่ง 1-2 คัน รูปแบบนี้ถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหรือไม่

รวมถึงผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยหรือร้านอาหารที่ไม่ได้ปิดร้านแต่ยอดขายน้อยลงจะได้รับการช่วยเหลือด้วยหรือไม่ และจะจ่ายจริงทั้งหมด 9 กิจการเลยหรือไม่ แล้วในส่วนของลูกจ้างจะมีการจ่ายชดเชยให้ทั้งหมดเลย หรือต้องวัดจากผลกระทบของแต่ละกิจการ แล้วใช้วิธีวัดแบบใด

จากข้อสงสัยดังกล่าวทางภาคธุรกิจยังอยากได้ความชัดเจนจากภาครัฐโดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน หากอยู่ในเกณฑ์ก็จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือเพิ่มสูงสุดประมาณ 6 แสนบาท จึงอยากได้ความชัดเจนในเรื่องของเงื่อนไขการช่วยเหลือ รวมถึงในเรื่องของการแบ่งกลุ่มกิจการทั้ง 9 กิจการ ที่รัฐบาลนำข้อมูลมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ มองว่าข้อมูลดังกล่าวใช้ไม่ได้กับการเยียวในครั้งนี้ อาทิ กลุ่มกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน และกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ เป็นต้น

กลุ่มที่กล่าวมานั้น ในบางกิจการอาจไม่ได้รับความเดือดร้อน รัฐควรมีการตรวจสอบความเป็นจริงว่ามีกลุ่มใดได้รับผลกระทบบ้าง เพราะ 9 หมวดกิจการที่ออกมาครอบคลุมไปถึงธุรกิจรายใหญ่ อาทิ แม็คโคร และโลตัส เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบแต่ยังเทียบไม่ได้กับผลกระทบของผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น รัฐต้องมีความชัดเจนว่ามีเงื่อนไขในการช่วยเหลือครั้งนี้ มีรายละเอียดและขอบเขตในการช่วยเหลืออย่างไรบ้างต่อไป และต้องรับดำเนินการ หากยังกำกวมอยู่แบบนี้ อาจส่งผลให้การช่วยเหลือล่าช้าออกไปอีกได้

ส่วนเรื่องข้อเสนอแนะอื่นๆ ความจริงแล้วหากสามารถช่วยเหลือเรื่องค่าจ้าง ทำให้เกิดการประคองการจ้างงานได้สำเร็จก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่อีกเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือภาคธุรกิจคือ ในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือการเติมสภาพคล่อง เพราะตอนนี้หลายธนาคารเริ่มกอดอกไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีความเสี่ยงเลย จึงอยากให้ภาครัฐเปิดหน้าคุยกับแต่ละธนาคารตามจริงว่าที่ธนาคารไม่สามารถปล่อยเงินให้ผู้ประกอบการกู้เพราะอะไร และต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่าผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เงินต้องไม่ติดต่อทางธนาคารก่อน หากธนาคารจะปล่อยสินเชื่อ ทางธนาคารจะเป็นผู้ติดต่อให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันเอง ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการไปติดต่อกับ บสย.ก่อนทำเรื่องขอสินเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วต่อไป

ฐนิวรรณ กุลมงคล
นายกสมาคมภัตตาคารไทย

การเยียวยารอบนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเยียวยา ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ เนื่องจากรัฐบาลสั่งปิดจากการระบาดของโรค โควิด-19 ก็ได้รับการชดเชยจากประกันสังคมส่วนหนึ่ง และรัฐบาลใช้เงินกู้มาเยียวยาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้พึงพอใจทีเดียว แต่ยังดีที่รอบนี้เยียวยาให้กับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ได้ด้วย ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องเยียวยากับทางรัฐบาลมาแล้ว 4 ด้าน คือ ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ เงินเดือน และภาษี

เรื่องมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับประโยชน์ ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ยังไม่ได้รับการเยียวยาตรงนี้ ยกตัวอย่าง ร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า มีการประกาศห้ามนั่งทานในร้าน มีการคิดค่าไฟรวมของห้าง ไม่ได้มีการลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ จะต้องไปหารือกับสมาชิกของสมาคมภัตตาคารอีกครั้ง ส่วนมาตรการพักชำระหนี้ ทางสถาบันการเงินของรัฐ ได้ออกมาแล้วจนถึงสิ้นปี 2564

ส่วนสถาบันการเงินเอกชนยังอยู่ระหว่างการคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ ว่าให้มีมาตรการพักชำระหนี้ออกมาเหมือนกัน เพราะตอนนี้ไม่มีรายได้เข้ามาเท่าไหร่

สมาคมได้เรียกร้องให้ออกมาตรการเพิ่มเติม โดยขอให้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งกับร้านอาหารที่เป็นนิติบุคคล และใช้จ่ายคนละครึ่งผ่านดิลิเวอรีได้ ทางรัฐบาลได้หารือในต้นสัปดาห์นี้แล้ว รวมทั้งมาตรการสินเชื่อที่ได้ออกมา “สินเชื่ออิ่มใจ” ของธนาคารออมสิน วงเงิน 2,000 ล้านบาท กู้ไม่เงินรายละ 100,000 บาท รวมถึงได้พูดคุยกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพิ่มเติม ขอให้ปล่อยสินเชื่อไม่เกินรายละ 500,000 บาท ที่กำลังรออยู่ ก็มีความเข้าใจในภาครัฐว่ามีกระบวนการในการอนุมัตินโยบายค่อนข้างนาน เพราะมีการใช้เงินของภาครัฐ

ในเรื่องความเป็นอยู่รายวัน อย่างการแจกข้าวกล่องให้กับแคมป์คนงานก่อสร้างได้พูดคุยกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอให้จัดซื้อจัดจ้าง แล้วเริ่มแจกได้จริงวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับความร่วมมือที่ดีกับข้าราชการ ทำงานถึงเวลา 21.00 น. หลายมาตรการที่ได้ขอเยียวยาไปต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ถึงจะดันมาตรการออกมา

ขณะเดียวกันอีกทางหนึ่งสมาคมได้พูดคุยกับภาคเอกชนผู้ให้บริการดิลิเวอรี อย่าง แอพพลิเคชั่น “โรบินฮู้ด” ไม่กี่วันก็ออกแคมเปญ โดยออกค่าส่งอาหารให้ขึ้นมาซึ่งมีความรวดเร็วมาก

ตอนนี้ร้านอาหารที่ส่วนใหญ่ทำสินเชื่ออยู่กับสถาบันการเงินเอกชน อยากให้ทางรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดคุยร่วมกันออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก ไม่อย่างนั้นทางร้านอาหารจะลำบากมากขึ้น เพราะไม่มีรายได้จากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้เหมือนปกติ แม้จะขยายการค้าผ่านบริการดิลิเวอรีแต่สร้างรายได้แค่ 10-20% ของรายได้ทั้งหมด ก็ยังทดแทนที่ห้ามนั่งทานในร้านไม่ได้หมด แต่บางส่วนเท่านั้น และบางพื้นที่ขายออนไลน์ก็ไม่ได้ยอดซื้อแยะมาก เรื่องนี้เพื่อลดความเดือดร้อน

สมาคมได้พูดคุยกับทางสภากรุงเทพมหานคร เพื่อออกมาตรการ “ร้านอาหารแซนด์บ็อกซ์” เหมือนกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าร้านอาหารมีความปลอดภัย สามารถเข้าไปนั่งทานภายในร้านได้ โดยใช้มาตรฐาน SHA+ ที่ตัวร้านมีองค์ประกอบความสะอาดปลอดภัย พนักงานได้ฉีดวัคซีนครบทุกคน ส่วนผู้บริโภคจะให้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เพื่อสามารถเข้ามานั่งทานที่ร้านได้ คิดว่าเป็นข้อจำกัดเกินไปหรือไม่ หรือจะหาวิธีการอื่น เพราะรัฐบาลไม่ได้มีเงินมาเยียวยาตลอดไป การนั่งกินอาหารในร้านไม่ใช่ว่าเป็นแค่การสังสรรค์อย่างเดียว หากเรามีความจำเป็นที่ต้องออกไปทำธุระ ทำงานนอกบ้าน ก็ต้องมีการรับประทานอาหารที่ร้านอยู่แล้ว

ตอนนี้แรงงานในภาคร้านอาหารที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม เพียงแค่ 200,000 คน จากแรงงานทั้งหมดที่มีประมาณ 1 ล้านคน ก็ได้บอกกล่าวกับเจ้าของร้านอาหารว่าต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้กับแรงงานทุกคน เพราะรัฐบาลยึดข้อมูลตัวเลขในระบบเป็นหลัก เมื่อได้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา ต้องยึดตัวเลขตามที่มีการบันทึกในระบบไว้ เจ้าของหลายร้านอยากส่งประกันสังคม แต่ว่าลูกจ้างไม่อยากถูกหักเงินเข้าประกันสังคม แต่ตามกฎหมายนายจ้างต้องให้ลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่คิดว่าจ่ายเงินประกันสังคมไป แต่ผลตอบแทนกลับไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ หลังจากนี้รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว แล้วเกิดเหตุวิกฤตจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาออกมาเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image