สธ.ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมจัดหาวัคซีน

สธ.ตั้งโต๊ะแถลง เคลียร์ปมจัดหาวัคซีน

หมายเหตุนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมแถลงชี้แจงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล การทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เราเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่ยังรอคอยวัคซีนอยู่ แต่ข้อมูลบางอย่างที่มีการสื่อสารกัน อาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น เราไม่มีระบบกลไกที่ดีในการจัดหาวัคซีน ทำงานแบบไม่มีหลักการ หรืออยากจะนำวัคซีนใดมาก็ไปหยิบมา หรือว่าวัคซีนที่เอามาไม่มีคุณภาพ หรือผู้ที่มีอิทธิพลในสื่อโซเชียล (influencer) สื่อสารออกไปก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หลายเรื่องก็ไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ทำงาน

Advertisement

เมื่อสิ่งที่เราดำเนินการ ไม่เป็นไปตามสิ่งที่ท่านคาดหมาย หรือประสงค์จะให้เป็น ท่านจะโยนข้อหาเรื่องการทุจริต เรื่องการเงินทอน เรื่องอะไรทั้งหลายมา ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เราขอยืนยันว่า ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ขณะนี้ สธ.ทั้งกระทรวงตรวจสอบได้ เราไม่มีเรื่องของการทุจริตโดยเด็ดขาด

ตามที่หลายฝ่ายบอกว่า เมื่อมีการเจรจาวัคซีน ทำไมจึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลการเจรจาในทุกนัดให้ประชาชนทราบจะได้โปร่งใส ให้เข้าใจกันทั่วถึง แต่ต้องเรียนว่า ก่อนการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนใดก็ตาม จะต้องมีการทำสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล หรือข้อความการเจรจาร่วมกัน ที่มีผลเรื่องของราคา คุณสมบัติ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถามไถ่ซึ่งกันและกัน ฉะนั้น หากเอาข้อมูลการเจรจาเปิดเผยในทุกนัด ก็จะเกิดผลเสีย และเขาจะเลิกเจรจากับเราได้ ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง ผลร้ายในการเปิดเผยผลการเจรจา เช่น ตอนที่เรามีการระบาด แล้วเราขอให้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นมาให้เราก่อน จากเดิมที่สัญญาจะเริ่มส่งในเดือนมิถุนายน 2564 เขาได้ไปตัดล็อตวัคซีนจากทวีปยุโรป เมื่อมีข่าวออกไป ทางยุโรปก็สั่งห้ามไม่ให้มีการส่งวัคซีนออกมาทันที เราก็ไม่ได้วัคซีนในล็อตนั้นมา

สิ่งเหล่านี้ คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า เราต้องรักษาประโยชน์ประเทศชาติให้ได้สูงสุด กลไกที่กระทรวงใช้ดำเนินการมี 2 ส่วนคือ 1.กลไกทั่วไปตามกฎหมาย ที่เรามีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงด้านวัคซีน ที่มีคณะกรรมการวัคซีน พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดังนั้น ภายใต้กลไกนี้จะเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการพิจารณาในคณะกรรมการที่มีหลายฝ่ายทำงานร่วมกัน ดังนั้น การจัดดำเนินการอะไร ซื้ออะไร เท่าไร จะต้องมีการนำมาชี้แจงพูดคุย เพื่อให้คณะกรรมการฯ เห็นชอบ และ 2.กลไกทางการบริหารราชการแผ่นดิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อดีตปลัด สธ.เป็นประธาน มีคณะทำงานภายใต้มติของคณะกรรมการฯ คือ กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

Advertisement

ขณะนั้น ผมเป็นรองปลัดฯ และก็เป็นรองประธานฯ และมีผู้แทนส่วนต่างๆ ที่เป็นคีย์แมนสำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมีคณะทำงาน 2 คณะ ภายใต้คณะกรรมการชุดดังกล่าวฯ โดยคณะแรกเจรจากับบริษัท แอสตร้าฯ อีกคณะเจรจาโคแวกซ์ (COVAX) ขณะนั้นเราคิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการที่จะเป็นแหล่งของวัคซีนที่จะสนับสนุนให้กับประเทศไทย และขณะนี้ เรายังไม่ได้ทิ้งโคแวกซ์ ยังมีการเจรจากันต่อมา จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน

คณะกรรมการฯ ประชุมกันตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 มากกว่า 10 ครั้ง โดยมีที่ปรึกษา อาทิ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ต่างนำหลักการ ข้อมูลมาหารือกันบนผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังต้องย้ำว่าวัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่ของทั่วไปที่จะหาได้โดยง่าย ตลาดยังเป็นของผู้ขายมีสิทธิกำหนดเรื่องราวต่างๆ การผลิตยังไม่เพียงพอ แม้กระทั่งโคแวกซ์ ก็ยังจัดหาวัคซีนให้ได้ไม่มากเท่าที่วางแผนไว้ พลาดเป้าไปค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการกลายพันธุ์ จะทำให้แผนที่เราวางไว้ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และต้องมีการเจรจากับหลายฝ่ายอยู่ตลอดเวลา กลไกที่มีมีความเข้มแข็งมากพอที่จะดำเนินการเพื่อให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผมคิดว่าการฉีดวัคซีนในประเทศเราขณะนี้ก็ไม่ได้น้อยหน้าในหลายประเทศ เราทำงานกันหนักตลอดเวลา ขอให้เชื่อมั่นในทีมที่ทำงาน เราทำงานบนหลักฐานข้อมูลวิชาการ ข้อแนะนำใดๆ ก็ตาม ที่ท่านมีให้ในทางที่เป็นประโยชน์เราน้อมรับ แต่ข้อแนะนำบางอย่างที่แบบเปิดถ้วยแทง คือ เห็นแล้วว่าเกิดอะไรแล้วมาวิจารณ์ อาจไม่เป็นธรรม จึงต้องนึกถึงวันที่ตัดสินใจล่วงหน้า หลายเรื่องไม่อาจคาดการณ์ได้ในบางเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น การโจมตีวัคซีนซิโนแวค หากเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชนจะเกิดอะไรขึ้น วันนี้พิสูจน์แล้วว่า ซิโนแวค 2 เข็ม ลดการรุนแรง ไม่เสียชีวิต จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาอย่างถ้วนถี่ พวกเราพร้อมทำงานหนักเพื่อให้ได้วัคซีนเข้ามาเท่าที่เป็นไปได้

นพ.นคร เปรมศรี
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

สถาบันวัคซีนฯ ทำหน้าที่เจรจาจะหาวัคซีน โดยการติดต่อผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่มีวัคซีนแล้วและที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย เราได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา และพยายามหาช่องทางจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า จนกระทั่ง สธ.ออกประกาศ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา 18 (4) ที่เปิดให้สถาบันวัคซีนฯ ทำการจองวัคซีนล่วงหน้าที่อยู่ในระหว่างการวิจัยได้ จึงเป็นที่มาในการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส

ก่อนการลงนามในส่วนใด จะมีการส่งปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ ทุกอย่างในการดำเนินงานของภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบระเบียบ จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่ทำให้เกิดความรับรู้ว่า การจัดหาวัคซีนของเราอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่สถาบันวัคซีนฯ แม้ว่าจะได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ในการระบาดโควิด-19 และการกลายพันธุ์ที่เราไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า รวดเร็วกว่าช่วงปีที่แล้ว ต้องกราบขออภัยอีกครั้ง

ระยะต่อจากนี้ สถาบันวัคซีนฯ ได้พยายามจัดหาวัคซีนสำหรับปีนี้ และปี 2565 เพิ่มเติม โดยในปี 2565 จะมีการจัดหาจำนวน 120 ล้านโดส จะพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการดำเนินการผลิตวัคซีนรุ่น 2 ที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2565

เราจะต้องเร่งดำเนินการ เพราะไม่สามารถจะรอเวลาได้จำเป็นต้องจองวัคซีนล่วงหน้า ทั้งนี้ ภายใต้การจัดหาวัคซีน เราก็ยังมีการพูดคุยเรื่องการเข้าโครงการโคแวกซ์ อยู่ระหว่างพูดคุยกับหน่วยงาน องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) ที่จะเจรจาการจัดหาวัคซีนร่วมกับโคแวกซ์ โดยมีเป้าหมายการได้รับวัคซีนปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโดยลำพัง ทั้งนี้ หากมีข้อสรุปเบื้องต้นชัดเจนก็จะนำเสนอผ่านคณะทำงาน คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่อไป

รวมถึงยังให้การสนับสนุนการวิจัยภายในประเทศเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการหาเทคโนโลยีเพื่อมาทำความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศที่ประสงค์จะขยายกำลังการผลิตในการผลิตวัคซีนในแบบฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตาย ชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือโปรตีนซับยูนิต ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการประสานงานที่จะดูทิศทางการดำเนินงานต่างประเทศ

สำหรับการพัฒนาวัคซีนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) วัคซีนของบริษัท ไบโอเนท เอเชีย วัคซีน และของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ทั้ง 4 บริษัทมีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนา ขณะนี้รับทราบข่าวว่าวัคซีนของ อภ.เริ่มทำการทดสอบในคนไปแล้ว รวมถึงวัคซีน mRNA ของจุฬาฯ ก็มีการทดสอบในคนแล้วเช่นกัน ระหว่างการรอผลส่วนนี้ เราก็จะสนับสนุนการวิจัยวัคซีนในประเทศอย่างเต็มที่ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาความรู้อื่นๆ เพื่อจะมาสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศต่อไปข้างหน้า

การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของปี 2564 สถาบันวัคซีนฯ เร่งเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด หรือแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนใด ดำเนินการอยู่ เพียงแต่ว่าจะได้เท่าไร ในเวลานี้ยังตอบไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างการจัดหา แต่ไม่ได้เพิ่งเริ่มจัดหา เราดำเนินการมาโดยตลอด อย่างเช่น กรมควบคุมโรค สามารถจัดหาวัคซีนในส่วนของไฟเซอร์ได้ การดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี และตอนนี้ก็ยังทำอยู่ รวมถึงยังมีการเจรจาในอีกหลายส่วน อยู่ทั้งในรูปแบบวัคซีน mRNA, ซับยูนิตโปรตีน แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปว่าจะได้เท่าไร เมื่อใด ต้องขอเวลาในการทำงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image