บทนำวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564 : เฟคนิวส์

โซเชียลมีเดียแชร์คลิปชายนอนชักเกร็งบริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ขาออก ก่อนถึงแยกเกษตร 300 เมตร และวิจารณ์กันว่าเป็นผู้ป่วยโควิดนอนเสียชีวิตบนถนน ซึ่งสถานีตำรวจนครบาลวิภาวดี ชี้แจงว่า เป็นเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ 3 วัน ตรวจสอบพบว่าเมาสุราไม่ได้สติ ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และไม่ได้เสียชีวิต ภาครัฐระบุว่า พบกลุ่มไม่หวังดี จัดฉากสร้างภาพให้เห็นว่าชายในคลิปเสียชีวิตริมถนนเพราะโควิด สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน ฝากประชาชนผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อย่าตกเป็นเครื่องมือให้กับคนบางกลุ่ม ด้วยการแชร์ข่าวปลอม หรือ fake news เพราะคนที่นำคลิปนี้ไปแชร์ต่อ สร้างความตื่นตระหนก โจมตีกล่าวหาว่ารัฐบาลปล่อยคนตายกลางถนนเพราะโควิดนั้น อาจเข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมายได้

แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้หนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่า มีคนแชร์กันว่ามีทีมจัดฉากแกล้งตายตามถนน ผมโกรธคนเริ่มสร้างเรื่องนี้ และคนแชร์เรื่องนี้ต่อโดยไม่คิดเพราะทำให้ดูเหมือนว่าเคสคนตายกลางถนน หรือตายในบ้านไม่มีจริง ทำให้คลิปหรือรูปที่เป็นคนตายจริงๆ กลายเป็นเท็จไปได้ แพทย์คนเดียวกันระบุว่า เคสที่ตายจากโควิดแบบนี้มีเยอะจริง มากกว่าที่ออกข่าว แค่เขตหนึ่งที่โรงพยาบาลผมดูแลใน กทม. ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ก็มี 40 กว่าเคส ที่หมอนิติเวชใน รพ.ไปตรวจแล้วพบว่าตายจากโควิดคาบ้านหรือตามท้องถนน ถ้าจับขบวนการจัดฉากแบบนี้ได้ แจ้งมาเลย ผมลบโพสต์แน่แต่ก็ลบความจริงที่มีการตายในบ้านกับตายตามถนนจำนวนมากใน กทม.ไม่ได้

ข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ฉบับที่ 27 และ 29 กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า มุ่งกำจัดเฟคนิวส์ แต่ขยายความหมายไปกระทบถึงข่าวสารที่สื่อนำเสนอต่อประชาชน ด้วยเงื่อนไขว่าหากให้เกิดความหวาดกลัว ข้อความจริงบางอย่างน่าหวาดกลัว เช่นประชาชนที่ถูกทอดทิ้งให้เสียชีวิต การแก้ปัญหาไม่ใช่การตีตราว่าเป็นข่าวปลอม แต่จะต้องจัดระบบไปรองรับดูแลให้ได้ ท่าทีของรัฐบาลจากประกาศ 2 ฉบับ กำลังทำให้เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งที่ต้องรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างหนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image