รายงานหน้า2 : เปิด‘มุมมอง-จุดยืน’ คำสั่งคุม‘เฟคนิวส์’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 เรื่องมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในช่วงบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19

แถลงการณ์ 70 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์

นายกรัฐมนตรีได้ออก “ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29)” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นั้น คณาจารย์นิติศาสตร์ในสถาบันต่างๆ รวม 70 คน เห็นว่า ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ก็ไม่สามารถระงับการใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างสิ้นเชิง การจำกัดสิทธิฯต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้หลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญา และเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.การห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 29 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก 1.1 ความดังกล่าวมีลักษณะ “คลุมเครือ ไม่ชัดเจน” วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ในช่วงวิกฤตนี้ความหวาดกลัวย่อมเป็นปฏิกิริยาปกติของประชาชนทั่วไปต่อข่าวสารในทางลบ และการรายงานข่าวตามความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมิให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย (chilling effect) ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด

1.2 การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสองปี จึงเป็นกรณีการกำหนดความผิดและโทษทางอาญา โดยบทบัญญัติที่ “คลุมเครือ” (vagueness) และ “มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง” (indefinite / non specificity) ถึงขนาดที่วิญญูชนไม่อาจรู้และเข้าใจได้ว่า ข้อความใดสามารถเผยแพร่ได้ ข้อความใดไม่อาจเผยแพร่ได้ ขัดต่อหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ” (No crime nor punishment without law) แม้คำว่า “หวาดกลัว” เคยปรากฏในกฎหมายไทย แต่กฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติองค์ประกอบความผิดข้ออื่นไว้อย่างชัดเจน และมีบทยกเว้นความผิดด้วย อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ต้องมีการกระทำที่เป็นความผิด เช่น ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความเสียหายแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน จึงจะเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ที่สำคัญกว่านั้น กฎหมายยังบัญญัติชัดว่า “การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิด”

Advertisement

การลงโทษทางอาญานั้น ดูที่เจตนาเป็นหลัก ผู้กระทำความผิด ต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล การกำหนดโทษที่ตัวข้อความ โดยมิได้พิเคราะห์ถึงเจตนาของผู้ส่งสาร ย่อมขัดต่อหลักดังกล่าว และเป็นการกำหนดความผิดอาญาที่เกินความจำเป็น (overcriminalization)

1.3 เมื่อพิเคราะห์ถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์ที่ได้จากการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว เปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจใช้มาตรการนี้ ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง หรือปกปิดข้อความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล กรณีจึงเห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อหลักความได้สัดส่วนพอสมควรแก่เหตุ

1.4 แม้ข้อกำหนดนี้ คัดลอกถ้อยคำมาจากมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็ตาม แต่เห็นได้ชัดว่าบทบัญญัติมาตรา 9 (3) อันเป็นกฎหมายแม่บท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่นนี้ สมควรให้มีการเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางที่เหมาะสมต่อไป

1.5 แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางท่าน ยืนยันว่าการเสนอข่าวตามความจริง ไม่เป็นความผิด แต่นั่นก็เป็นความเห็นของท่านเพียงลำพัง มิได้ผูกพันเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตำรวจ อัยการ และศาล ข้อกำหนดที่ “คลุมเครือ ไม่ชัดเจน” เช่นนี้ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการตีความและบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจได้

2.การกำหนดให้ สำนักงาน กสทช.แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เน็ตตรวจสอบ IP address และให้แจ้งสำนักงาน กสทช.ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ที่เผยแพร่ข่าวสารซึ่งมีลักษณะต้องห้ามในทันที เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 26 เนื่องจาก

2.1 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจำกัดเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อันได้แก่ เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นมุมกลับของเสรีภาพในการแสดงออกได้นั้นต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือเทียบเท่า ให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ IP address ใด ย่อมกระทบต่อเสรีภาพสองประการดังกล่าว ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรี และ กสทช. ต้องการระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้ด้วย

2.2 เมื่อพิจารณาความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นบทบัญญัติที่นายกรัฐมนตรีใช้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว กลับไม่พบข้อความใดๆ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดหรือประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่ “สั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการ
สื่อสาร”

2.3 เมื่อพิจารณากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 31 และมาตรา 44/5 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 หรือมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ย่อมเห็นได้ว่า กรณีตามข้อกำหนดนี้ ไม่เข้าเงื่อนไขในการใช้อำนาจออกคำสั่งของสำนักงาน กสทช.ต่อผู้รับใบอนุญาต

2.4 ปัจจุบันการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ห้า จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การระงับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยปราศจากเหตุผลที่แน่ชัด จึงเท่ากับเป็นการลงโทษที่เกินสัดส่วน เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ด้วยเหตุนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวทั้งสองข้อ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกหรือแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเสียใหม่ โปรดสังวรด้วยว่า มาตรา 17 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นเท่านั้น

ธีระพล อันมัย
อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

เฟคนิวส์เป็นข้ออ้างที่แปลกประหลาดมาก ทุกวันนี้สิ่งที่ประชาชนต้องการคือข้อมูลที่จริงที่สุด แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลปกปิดข้อมูล เอาแค่เรื่องผลกระทบจากโควิด-19 สิ่งที่ประชาชนกลัวที่สุด คือการเสียชีวิตและการติดเชื้อ ยอดที่ออกมาจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการคาดการณ์ ความพยายามอ้างเฟคนิวส์คือความพยายามปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างที่รัฐบาลล้มเหลว ไม่สามารถบริหารจัดการโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความพยายามปิดปากประชาชน หมายความว่ารัฐบาลเองมีบาดแผลในเรื่องที่ตัวเองไม่สามารถให้ความกระจ่างกับประชาชนได้ ไม่สามารถบริหารข้อเท็จจริง และข้อมูลที่เป็นจริงได้ เมื่อทำหน้าที่คือการควบคุมโรคระบาดไม่สามารถทำได้ จึงพยายามควบคุมความจริงไม่ให้เล็ดลอดออกมา ขณะที่รัฐบาลพูดถึงข่าวปลอมทั้งหลาย แต่สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามให้ข่าวกับประชาชนคืออะไร เอาอย่างง่ายๆ เช่น กรณีรัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่าภาพคนแออัดที่สถานีบางซื่อ เป็นเพราะมุมกล้อง แต่ความจริงเป็นเพราะไม่กระจายจุดให้บริการฉีดวัคซีนหรือไม่ นอกจากนี้ ข้อมูลหลายอย่างรัฐไม่ให้กับประชาชนเอง กรณีได้รับวัคซีนบริจาคจากสหรัฐก็ฉีดล่าช้า เสาร์อาทิตย์ เชื้อโรคไม่หยุดงาน คนด่านหน้าก็ไม่ได้หยุดงาน แต่กำหนดการจะพบว่าต้องรอการรับมอบกว่าจะได้ฉีด ไม่เพียงเท่านั้น มีประเด็นเรื่องการสำรองวัคซีนส่วนหนึ่งไว้ สำหรับการศึกษาวิจัย 5,000 โดส และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์จำนวน 40,000 โดส ส่วนตัวมองว่าไม่มีความกระจ่าง

โดยหลักการสิทธิมนุษยชน ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ตามแนวคิดเสรีนิยม ต่อให้ความคิดเห็นนั้นๆ ผิดพลาด แต่ก็เป็นสิทธิที่จะแสดงความเห็น หากมีความผิดก็สามารถใช้กฎหมายพื้นฐานที่มีอยู่แล้วได้ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท แต่รัฐกลับเลือกใช้กฎหมายแรง เพราะเสพติดการใช้อำนาจแบบเผด็จการจึงออกกฎหมายมาปิดปากประชาชน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ใช้กฎหมายแบบนี้

7 ปีแล้วที่รัฐบาลปกปิดข้อมูลบางอย่างหรือหลายอย่าง แม้แต่สัญญาวัคซีนก็ปกปิด เวลาเผยแพร่สัญญากับแอสตร้าเซนเนก้าก็คาดด้วยสีดำบนข้อความ จนอ่านไม่รู้เรื่องว่าคืออะไร ทั้งที่เป็นประโยชน์สาธารณะที่ทุกคนควรได้รู้ว่ารัฐกำลังทำสัญญากับใคร ด้วยเงื่อนไขอะไร 7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนถูกปิดปากให้ไม่พูดเกินกว่ามนุษย์ที่ต้องมีเสรีภาพจะทนได้ ตัวอย่างง่ายๆ เมื่อกลับไปมองที่องค์กรสื่อซึ่งในประเทศไทย องค์กรวิชาชีพสื่อส่วนใหญ่เป็นหนึ่งเดียวกับคณะรัฐประหาร ตัวแทนของสื่อบางคนไปเป็น ส.ว. ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดในประเทศประชาธิปไตยที่สื่อต้องต่อต้านการยึดอำนาจ การกีดกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แต่ประเทศไทย องค์กรสื่อกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม วันนี้กลายเป็นว่าสื่อที่เคยพินอบพิเทา สยบยอมต่ออำนาจรัฐประหารมา 7 ปี ก็ออกแถลงการณ์ในนาม 6 องค์กรซึ่งสะท้อนว่าจะปิดปากผู้คนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว นี่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าเหลือทนแล้วที่จะยอมให้แก่รัฐบาลที่ใช้อำนาจมาปิดปาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image