รายงานหน้า2 : ต่างชาติหนีลงทุน เมืองไทยไร้เสน่ห์?

หมายเหตุความเห็นของภาคเอกชนและนักวิชาการถึงผลวิเคราะห์ Thailand Direct Investment (TDI) ชี้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยโดยตรง (Foreign Direct Investment) หรือ FDI น้อยกว่าเงินที่คนไทยนำไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เฉพาะปี 2563 ติดลบถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จากประเด็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เผยแพร่ผลวิเคราะห์ด้านลงทุน พบว่า เมืองไทยไร้เสน่ห์ไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ติดลบนั้น ไม่ได้มองว่าประเทศไทยไร้เสน่ห์ดึงดูด เพราะถ้าประเมินเช่นนั้นอาจจะร้ายแรงเกินไป ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มสูญเสียเสน่ห์ ซึ่งก่อนช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีเสน่ห์ทั้งในเรื่องของภาคการเกษตร ที่มีสินค้าขายในประเทศและส่งออกที่หลากหลาย ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ที่มีส่วนทำให้สามารถผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกได้จำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันส่งผลให้เกิดความท้าทายขึ้น ในเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเร็ว การที่จะพัฒนาภาคการเกษตรก็ต้องมีการยกระดับเทคโนโลยีต่างๆ แต่ไทยก็ยังพัฒนาไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 40 ล้านคน/ปี ซึ่งในส่วนนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีเสน่ห์ แต่ในอนาคตภาคการท่องเที่ยวจะไม่ได้เน้นปริมาณ แต่จะเน้นในเรื่องของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ

Advertisement

ส่วนเสน่ห์ที่เกิดจากโควิด-19 ที่ไทยมี คือการค้นพบสรรพคุณของพืชบางชนิดที่สามารถช่วยรักษาเชื้อโควิด-19 ได้ อีกทั้งไทยยังสามารถพัฒนาวัคซีนของตนเองได้ ขณะนี้มีหลายบริษัทของไทยพยายามผลิตวัคซีนให้เกิดขึ้นในประเทศอยู่ มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นโอกาสที่ไทยสามารถจับต้องได้ แม้ประเทศไทยจะมีปัจจัยบวกที่ช่วยเสริมเสน่ห์อยู่บ้าง แต่หากต้องประเมินทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ในความจริงคือประเทศไทยไม่ได้อยู่ในขบวนพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะที่เห็นได้ชัดเลย ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แต่เมื่อเข้าไปค้นถึงไส้ในจะเห็นได้ว่า ไทยยังไม่มีสินค้าเป็นยี่ห้อของประเทศเลย ส่วนเรื่องที่ไทยกำลังทำการขับเคลื่อนเข้าสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ความจริงแล้วไทยยังเป็นเพียงประเทศที่พัฒนาเครื่องแบบสันดาปเท่านั้น ลักษณะนี้ต้องกลับมาดูว่าท้ายสุดแล้วประเทศไทยจะสามารถไปต่อได้หรือไม่ หากต้องสรุปว่าประเทศไทยไร้เสน่ห์หรือไม่นั้น มองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เสน่ห์ของประเทศไทยกำลังจะหมดลง โลกกำลังเปลี่ยนไปและเป็นความท้าทายของภาครัฐว่าจะสามารถหาวิธีพลิกขึ้นไปให้เสน่ห์ของไทยมีเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ต่อไป

ส่วนความกังวลจากการที่นักลงทุนต่างชาติเบนเข็มจากประเทศไทยไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะเวียดนามนั้น ปัจจัยหลักของเรื่องนี้ คือ เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว และแรงงานส่วนใหญ่มีอายุมาก จึงเป็นผลทำให้ปรับเปลี่ยนตามโลกที่เปลี่ยนไปได้ยากขึ้น และปัจจัยลบอีกเรื่องหนึ่งคือความคุ้นชินเนื่องจากวัฒนธรรมเวียดนามต้องดิ้นรน แต่เมื่อเทียบกับไทยความสามารถในการดิ้นรนมีต่ำกว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่เวียดนามเป็นประเทศที่เจอพายุเข้าตลอด เนื่องจากมีลักษณะประเทศที่รับพายุเข้าอย่างจัง เพราะฉะนั้นเวียดนามจึงมีทักษะการดิ้นรนเอาตัวรอดมากกว่าไทย

ในเรื่องทักษะการเอาตัวรอดของคนในประเทศเวียดนามโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน จึงเป็นจุดแข็งและเป็นจุดเด่นมากกว่าประเทศไทย ซึ่งปัจจัยนี้เองจึงทำให้แรงงานไทยขยันสู้แรงงานเวียดนามไม่ได้ อีกทั้งในปัจจุบันเวียดนามกำลังพยายามกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุน ถึงแม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนภาคการลงทุนของประเทศเวียดนามจะแซงหน้าไทยไปแล้ว แต่ในตอนนี้อยากให้มองในมุมที่กว้างขึ้น เพราะตลาดการค้าในปัจจุบันใหญ่มาก ไม่จำเป็นว่าไทยจะต้องสู้กับจุดแข็งของเวียดนาม อาจจะพลิกไปสู้ในเรื่องของการส่งออก เนื่องจากตอนนี้ไทยมีจุดที่เชื่อมต่อกับจีน ตรงมณฑลยูนนาน ซึ่งในมณฑลดังกล่าวมีความเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับไทยทั้งประเทศ หากเราสามารถเชื่อมต่อกับตรงนั้นได้ ไทยก็สามารถสู้กับประเทศเวียดนามได้อย่างแน่นอน

Advertisement

ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาของภาครัฐทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ที่ต้องตามโลกยุคปัจจุบันให้ทัน อีกทั้งในเรื่องของการพัฒนาเพิ่มทักษะให้เด็กรุ่นใหม่ หากทำได้เชื่อว่าประเทศไทยยังสามารถเดินหน้าได้อีกเยอะ ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาทักษะแรงงานเรายังนำประเทศเวียดนาม มองว่าอีกหลายปีกว่าเขาจะตามเราทัน ย้ำว่าหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศในยุคนี้คือคนรุ่นใหม่ แม้ว่าในช่วงนี้ไทยจะสูญเสียความสวย ความเซ็กซี่ไปก็จริง แต่ไทยก็ยังมีส่วนประกอบที่ดีอยู่ทั้งก่อนที่เกิดโควิดหรือช่วงที่เกิดโควิด อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน หากไทยยังไม่มีการพัฒนาสุดท้ายก็จะเป็นจริงอย่างที่ซีไอเอ็มบีประเมินไว้ ท้ายที่สุดก็จะไม่มีใครสนใจไทย เพราะไทยจะติดอยู่ในโลกเก่า ซึ่งการที่เราจะไปโลกใหม่ได้ คงหวังพึ่งคนอายุ 40-60 ปี ไม่ได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวน้อย ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะสู้กับประเทศอื่นได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลเลือกที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้เร็ว และตรงกลุ่มเป้าหมายของตลาดโลกหรือไม่ต่อไป

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย จะสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงโมเดลเศรษฐกิจต่างๆ ด้วย อาทิ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อเดินหน้าเปิดประเทศ แต่กลไกที่เป็นตัวแปรหลักและสำคัญมากกว่าในขณะนี้คือ การกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น รวมถึงต้องมีความสามารถในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่า เศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้หรือ โดยมองว่าภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่มีแรงผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ โดยตัวแปรร่วมที่สำคัญคือภาคเอกชน ที่จะสามารถนำเสนอโมเดล หรือทำงานสอดคล้องกับโมเดลที่ภาครัฐมีออกมาได้หรือไม่ อาทิ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะมีมาตรการทางด้านภาษี และมาตรการด้านการเงินการคลังอย่างไร จึงจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ และฟื้นเศรษฐกิจได้มากหรือน้อยเท่าใด

มองในด้านศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของไทย พิจารณาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก ที่เอาเข้าจริงๆ หากมองในด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด แต่การฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น เราไม่สามารถใช้กลไกในการฟื้นตัวจากภายในเพียงอย่างเดียวได้ โดยต้องอาศัยการฟื้นตัวแบบรวมกลุ่มไปด้วยกันทุกประเทศในอาเซียน เนื่องจากหากมองภาพความรุนแรงการระบาดโควิด และกลไกความท้าทายจึงไม่ได้หมายถึงรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่เป็นความท้าทายของทุกประเทศในอาเซียน ที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบโควิดได้อย่างเข้มแข็ง

การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วที่สุด และเป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอีกครั้ง มองในแง่กลไกของรัฐบาล ควรต้องมองตลาดภายในประเทศ และผู้ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตกงาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ รวมถึงใช้มาตรการลดภาษีต่างๆ เพราะมองว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศแบบระยะยาวได้ ส่วนการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หากประเทศไทยสามารถกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ขณะเดียวกันก็กระจายการลงทุนไปในประเทศอื่นของอาเซียนได้ จะเป็นการสร้างเครือข่ายที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้เช่นกัน

หากเทียบความน่าสนใจระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม ที่ระยะหลังเห็นการย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนามมากขึ้น โดยเปรียบเทียบในด้านการทำงานคือ ลักษณะการแก้ไขปัญหาวิกฤตของรัฐบาลเวียดนาม ความร่วมมือกันในประเทศ การกระจายฉีดวัคซีนและมาตรการในการควบคุมการเดินทาง ถือว่าสามารถทำได้ค่อนข้างเสมอต้นเสมอปลาย แม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่รัฐบาลเวียดนามก็สามารถควบคุมได้ บวกกับลักษณะเศรษฐกิจของเวียดนาม ที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบในแง่การฟื้นตัว แต่ประเทศไทยมีวิกฤตในหลายรูปแบบ ทำให้เราอาจเป็นผู้ป่วยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเจอวิกฤตด้านเศรษฐกิจเข้าไปเพิ่ม การฟื้นตัวต้องใช้เครือข่ายในกลุ่มอาเซียนช่วยเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม และกลไกของภาคเอกชน แม้ไม่ได้ฟื้นตัวเร็วเท่าเวียดนาม แต่ก็บรรเทาความสูญเสียในระยะสั้นได้

ปัญหาที่เจอในปัจจุบัน เกี่ยวกับการจัดการวิกฤตของภาครัฐ ทั้งในแง่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการระบาดโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกัน แต่ประเด็นที่เกี่ยวพันกันโดยตรงเป็นเรื่องความเชื่อมั่นและความชอบธรรม ในการใช้มาตรการและการขอความร่วมมือจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เนื่องจากอะไรที่ออกมาแล้วทำให้คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามขึ้น หรือให้ความร่วมมือจากประชาชน แนวโน้มในการจัดการวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพก็ลดน้อยลงไปด้วย โดยสิ่งที่จะช่วยได้จริงๆ คือ การอธิบายข้อเท็จจริงอย่างเป็นเหตุและเป็นผล สิ่งที่จะได้รับคือความน่าเชื่อถือ และสิ่งที่จะตามมาคือ การให้ความร่วมมือจะเกิดขึ้น ส่วนนี้เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ความชอบธรรมจะต้องมาพร้อมกับข้อเท็จจริงด้วย

จากกระแสการเรียกร้องให้เปลี่ยนคณะการทำงานของรัฐบาล มองในแง่โครงสร้าง คนที่จะชงข้อมูลให้รัฐบาล ต้องมีประสิทธิภาพทั้งตัวมาตรการ และการตัดสินใจร่วมด้วย ซึ่งจะต้องมาพร้อมกัน แต่ในระยะยาว เรื่องการบริหารงานในภาวะวิกฤตที่ผิดพลาด และความโปร่งใสของรัฐบาล ถือเป็น 2 ประเด็นหลักที่ท้าทายว่ารัฐบาลจะอยู่หรือจะไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image