บทนำ วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 : คำสั่งศาลแพ่ง

สื่อมวลชนยื่นคำร้อง ขอให้ศาลระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ 29 ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นการควบคุมการทำงานของสื่อ และจำกัดเสรีภาพประชาชน ต่อมาวันที่ 6 ส.ค. ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว มิให้รัฐบาลบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวจนกว่าจะมีคำตัดสิน ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการกฎหมายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปคำสั่งศาลแพ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ศาลแพ่งเห็นว่า ข้อความอันก่อให้เกิดความหวาดกลัว กินความทั้งที่เป็นจริงและเท็จ ไม่มีความชัดเจนที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ข้อความนั้นก่อให้เกิดความหวาดกลัวกับประชาชนแล้วหรือไม่อย่างไร ทำให้ประชาชนและสื่อไม่กล้าใช้เสรีภาพของตนเอง ถือว่าขัดต่อ มาตรา 34 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน, มาตรา 35 เรื่องเสรีภาพสื่อ ของรัฐธรรมนูญ

ผศ.ดร.พรสันต์ระบุต่อไปว่า 2.ศาลแพ่งเห็นว่า ข้อกำหนดนี้ขัดต่อ มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีความชัดเจนในการกำหนดมาตรการของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อป้องกันความเดือดร้อนของประชาชนเกินสมควร และขัดกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเอง และ 3.ศาลแพ่งเห็นว่า การสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ต เป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการโดยไม่มีอำนาจ กล่าวคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มิได้ให้อำนาจสั่งระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ช่องทางนี้สื่อสารระหว่างสถานการณ์โควิด ขัดต่อ มาตรา 36 ของรัธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการสื่อสาร

นั่นคือข้อสรุปสั้นๆ จากคำสั่งศาลแพ่ง รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตั้งแต่ปี 2563 และขยายเวลาอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างความจำเป็นจากโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลได้ถือโอกาสใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย ทั้งห้ามการชุมนุมทางการเมือง และล่าสุด รัฐบาลอ้างว่ามีข่าวเท็จ หรือเฟคนิวส์ แล้วออกข้อกำหนดควบคุมสื่อ ทำให้เกิดปัญหาในการเสนอข่าวสารข้อมูล รวมถึงความคิดเห็นต่างๆ รัฐบาลพึงตระหนักว่า ขณะนี้ประชาชนทั้งประเทศมีความยากลำบากจากผลกระทบจากโควิด สื่อต้องรายงานข้อเท็จจริง สะท้อนปัญหาการบริหารที่มีผลต่อประชาชน เป็นภาพสะท้อนที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ไม่ควรมองเป็นเรื่องการเมือง แล้วหาทางปิดกั้นดังที่กำลังเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image