ทรรศนะ‘สลายม็อบ’ เกินกว่าเหตุ-ตัดไฟรุนแรง?

ทรรศนะ‘สลายม็อบ’ เกินกว่าเหตุ-ตัดไฟรุนแรง?

ทรรศนะ‘สลายม็อบ’
เกินกว่าเหตุ-ตัดไฟรุนแรง?

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีตำรวจควบคุมฝูงชนถูกวิจารณ์ถึงการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ยิงกระสุนยาง ระเบิดแก๊สน้ำตา และใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ในหลายเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นมา ขณะที่ บช.น.แถลงอ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามใช้ความรุนแรง ด้วยอาวุธต่างๆ ขว้างปาด้วยก้อนหิน และพลุไฟประทัดยักษ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
นักวิชาการด้านสันติวิธี

เวลาคนออกมาชุมนุมประท้วง มีเหตุที่มาที่ไปอย่างไร หากอยู่บ้านกันสบายๆ มีงานทำ สังคมมีความยุติธรรมในระดับหนึ่ง คนก็สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนได้รับการปกป้อง ผมว่าคงไม่มีใครอยากออกมาประท้วง เพราะไม่รู้จะประท้วงเรื่องอะไร แต่ว่าบางสังคมที่มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นเยอะ เห็นระบบการใช้กฎเกณฑ์ในสังคมไปในทางที่เอื้ออำนวยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีอภิสิทธิ์เหนือคนกลุ่มอื่น มีการข่มขู่คุกคาม การปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเห็นว่าระบบอำนาจของรัฐไม่มีความยุติธรรมทางสังคม คนจึงออกมาชุมนุม ประท้วง ทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพของสังคมที่เกิดขึ้น

Advertisement

หลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา จะเห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจจัดการกลุ่มผู้เห็นต่างมาโดยตลอด ข่มขู่คุกคาม มีตำรวจไปตามผู้ที่ออกมาประท้วงมากมาย และอีกหลายกรณีที่ไม่ได้มีพยานหลักฐานทางสาธารณะ สร้างความฉงนของคนในสังคมอยู่จนทุกวันนี้ สิ่งเหล่านั้นได้ก่อร่างสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ และการใช้อำนาจแบบนี้ไม่เคยจบตั้งแต่ปี 2557 สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปไหน

แม้หลายครั้งสังคมมีโอกาสเปลี่ยนแปลง เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดตั้งองค์กรอิสระ ก็มีการพยายามใช้ความอยุติธรรมมาโดยตลอด แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม ท้ายที่สุดแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลก็ปฏิเสธแนวทางออกเหล่านี้ ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ในระบบรัฐสภา รัฐบาลก็ปิดกั้นทางออกเหล่านี้มาเสมอ

เป็นธรรมดาที่ผู้อยู่ใต้การกดขี่มาเป็นระยะเวลานาน ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมเหล่านี้ นี่คือที่มาว่าทำไมคนถึงออกมาชุมนุม

Advertisement

เวลามีการชุมนุมเกิดขึ้น ความสมดุลทางอำนาจต่างกันมาก คนหนึ่งถืออาวุธ มีทั้งกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายความมั่นคง มีองคาพยพถืออยู่ แต่กลุ่มเยาวชนนักศึกษาประชาชน ไม่ได้มีองคาพยพอะไรที่จะไปช่วยหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระบบและบนถนนได้เกิดเป็นความอัดอั้นตันใจว่าอะไรกัน เราพูดมา 2 ปีแล้ว ข้อเรียกร้องก็มีแล้ว

ถ้าเราไม่ลืม 3 ข้อเรียกร้องแรก ของ เยาวชนปลดแอก คือ 1.หยุดข่มขู่คุกคามผู้เรียกร้องประชาธิปไตย 2.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน 3.ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ถามว่า 3 ข้อเรียกร้องนั้น ยากหรือง่ายที่จะทำ

1.คุณหยุดจับผู้คนโดยที่ไม่ได้มีพยานหลักฐาน เลิกการฟ้องปิดปาก ก็จบแล้ว 1 ข้อ 2.ปล่อยให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และเมื่อร่างเสร็จ ก็เลือกตั้งใหม่

ผมคิดว่าตอนนั้นมีทางออกให้มากมาย แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ พอถูกกดดันมากขึ้น ข้อเรียกร้องก็เปลี่ยน เพิ่มเติมขึ้นไปอีก เพราะไม่มีอะไรได้รับการตอบสนอง ในทางกลับกัน รัฐสภาก็ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งไม่ได้ตอบสนองความต้องการใดๆ ทั้งสิ้น ข้อเรียกร้องมีอยู่แล้ว เริ่มจากตรงนั้นไม่ดีกว่าหรือ ผมหวังว่าจะไม่สายเกินไปที่จะกลับไปดูเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ความไม่พอใจของผู้ชุมนุมจึงมีมากขึ้น แต่ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่ออกไปชุมนุม ไม่ว่าครั้งไหนในประเทศไทย ต้องการไปเรียกร้องโดย ไม่ใช้ความรุนแรง สงบ สันติ แต่ก็มีเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้เสมอ จึงต้องลดการเผชิญหน้าขณะอยู่ในพื้นที่ จะลดดีกรีความรุนแรงไปได้

แต่ที่สำคัญจริงๆ เราไม่สามารถกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ชุมนุมได้ทั้งหมด เพราะแน่นอน เป็นประชาชนทั่วไปที่มาร่วม ไม่ว่าจะมีแกนนำหรือไม่ ดังนั้น รัฐจะไปบอกว่าแกนนำควบคุมมวลชนไม่ได้ โทษที มวลชนไม่ใช่ลูกน้องของแกนนำ มวลชนมาเป็นผู้สนับสนุนแกนนำ ซึ่งต่างกันกับอำนาจรัฐ ที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการลูกน้องได้อย่างเป็นระบบ มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ถ้ารัฐจะมาอ้างเหตุของการใช้ความรุนแรง ว่าไม่สามารถควบคุมพวกเดียวกันได้ นั้นเป็นไม่ได้ง่ายมาก ถ้าควบคุมองคาพยพของรัฐไม่ได้ ก็ลาออกไป นี่คือความแตกต่างระหว่างผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกับผู้ดูแลความสงบ
ความแตกต่างตรงนี้ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของผู้ชุมนุมได้ทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่รัฐ คุณควบคุมองคาพยพของผู้ที่มาดูแลความสงบได้ และต้องไม่ใช่ผู้ก่อความไม่สงบเองหากมีผู้ชุมนุมทำอะไรผิดกฎหมาย เช่น เผารถ มีอาวุธปืน ตำรวจจับกุมดำเนินคดีไป ทำได้ เป็นหน้าที่ แต่ไม่มีกฎหมายข้อไหนที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐไปรุมกระทืบประชาชน

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น 1.คุณไม่ได้ทำหน้าที่ 2.คุณกำลังใช้อำนาจเกินขอบเขต คุณมีอำนาจเพื่อรักษากฎหมาย ไม่ได้มีอำนาจเพื่อให้ทำเกินกฎหมายพฤติกรรมไม่ได้ทำตามวัตถุประสงค์ของการมาทำให้เกิดความสงบ จากปีที่ผ่านมา หลายครั้งที่เลิกชุมนุมแล้ว ก็ไปฉีดน้ำ เป็นความไร้สติอย่างมาก หรือหลายครั้ง คุณกั้นถนนเสียจนไม่มีทางออก แล้วบอกว่าประชาชนโวยวายม็อบ ก็คุณไปปิดถนน ไม่มีทางกลับ จะไปโทษผู้ชุมนุมอย่างเดียวไม่ได้ ด้วยความที่ผู้ชุมนุมมีหลากหลาย ขณะเดียวกัน ตำรวจกำลังทำเกินกฎหมายกำหนด และอ้างเสมอว่านายสั่ง แต่คำสั่งของ
เจ้านายไม่ใช่กฎหมาย สักวันหนึ่งสิ่งที่คุณไม่ได้ทำตามกฎหมาย ก็จะกลับมาหลอกหลอนพวกคุณ เพราะไม่ได้มีกฎหมาย หลักการใดๆ คุ้มครอง ผมถึงพยายามบอกเจ้าหน้าที่ว่า แม้จะอยู่ในระบบสั่งการ แต่คำสั่งที่ไม่เป็นธรรมคุณไม่ต้องทำก็ได้ เจ้านายจะทำอะไรได้ เมื่อคุณไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

ทำหน้าที่จริงๆ ให้เกิดความสงบ ทำไปในกรอบของกฎหมาย ตามหลักการสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมอยู่พยายามอย่าไปใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมายกำหนด ก็จะช่วยเลี่ยงการเผชิญหน้าได้

ส่วนผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ยืนอยู่ไกลๆ โดยปกติ อาจจะต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน หรือควรหาพันธมิตรมาร่วมเยอะๆ ส่งข้อความถึงผู้ที่กำลังสนับสนุน ให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นอย่างไร ให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศ ในสังคม แม้เขาจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็คงไม่ไปสนับสนุนเผด็จการ

ท้ายที่สุด การเข้าใจหลักการการเคารพสิทธิมนุษยชน ตามกติกา ก็จะทำให้คุณไม่กล้าทำสิ่งที่คุณทำอยู่ในเวลานี้

ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างเป็นศัตรู ผู้ชุมนุมก็จะมีความคิดว่ารัฐเป็นศัตรู ซึ่งไม่ใช่ ประชาชนเขาต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และเป็นศัตรูกับระบบที่ไม่ชอบธรรม

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

กรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการใช้การฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนลูกยางยิงใส่ หรือระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ในขณะที่ศาลแพ่งเพิ่งยกคำร้องขอห้ามตำรวจใช้กระสุนยาง เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้วพร้อมทั้งให้ใช้ความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งประชาชนและสื่อระหว่างที่มีการควบคุมการชุมนุม หรือสลายชุมนุมนั้น ประการแรก ผมมองว่าเจ้าหน้าที่มากันเยอะ และประการที่สอง ยังไม่มีการกระทำที่เป็นการคุกคาม หรือเข้าไปในพื้นที่ต้องห้าม หรือไม่มีเหตุอะไรในสิ่งที่ควรระงับโดยพลัน เมื่อไม่มีเหตุแล้วกระทำการก็บอกว่าเป็นการกระทำตามกฎการใช้กําลัง (Rules of Engagement) หรืออาร์โอเอ (ROE)

เข้าใจว่าเขาต้องการสลายการชุมนุมเขาก็ใช้ทุกอย่าง ฉะนั้นการใช้กระสุนยางนั้นไม่ถูก เนื่องจากกติกาการใช้กระสุนยางต้องเลี่ยง เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้ หากไปสัมผัสกับบางส่วนที่เปราะบางของร่างกาย นอกจากนี้ เขาบอกว่ากรณีต้องมีการเจาะจง เช่น คนกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องเล็งไปที่เหตุการณ์นั้นเพื่อระงับการกระทำของคนคนนั้น

แต่ที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ผมไม่ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะยิงหนังสติ๊กมาหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยิงกระสุนยางไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม ผมคิดว่าไม่น่าจะใช้วิธีการยิงกระสุนยาง แค่การใช้รถฉีดน้ำก็สามารถสลายฝูงชนได้ แต่มีรายงานข่าวว่าเป็นรถฉีดน้ำที่มีการผสมสารเคมีที่ระคายเคือง ซึ่งส่วนนี้ต้องมีความชัดเจนว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ขอตั้งคำถามว่า วิธีการที่ตำรวจใช้เป็นสัดส่วนกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ การสลายจำเป็นหรือไม่ และวิธีการสลายเป็นวิธีที่ไม่ดุเดือด หรือดุเดือดน้อยกว่านี้ได้หรือไม่ เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอในการควบคุมม็อบที่ถูกต้องตามหลักสากลสำหรับการชุมนุมในประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไรนั้น ควรจะต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนเสนอ หากจะพูดง่ายๆ คือใช้เท่าที่จำเป็นให้ได้สัดส่วนเท่าที่จำเป็นและระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หรือล้มตายซึ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ในประเด็นที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนล้ำเส้นเกินหรือไม่นั้น ผมก็ไม่อยากจะไปต่อว่าต่อขานถึงขณะนั้น แต่เหตุครั้งที่มีการเข้าไปสลายการชุมนุมอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต้องดูว่าคนสั่งให้สลายการชุมนุมนั้นล้ำเส้นหรือไม่ ผมไม่ได้จะไปว่าเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงาน ก็เข้าใจว่าเขาจะปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องถามว่าคนที่รับผิดชอบเป็นใคร

สำหรับทางออกที่จะแนะให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลการชุมนุมบ้างหรือไม่นั้น หากจะพูดแบบกำปั้นทุบดินคือ เขารู้แล้ว ก็อยากจะให้เคารพกฎการใช้กำลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมวลชนให้ดีกว่านี้ อยากจะฝากถึงฝ่ายชุมนุมก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะคุณจะชุมนุมคุณก็มีส่วนรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บของคนที่ไปร่วมชุมนุมด้วย หากยุทธวิธีใดไม่ได้ผลก็ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีการไปชุมนุม เช่น หากเราไปชุมนุม 100 คน แต่ตำรวจมีอยู่ 200 คน จะทำอย่างไรได้ก็ต้องเปลี่ยนยุทธวิธี หรือเปลี่ยนวิธีการแสดงออกไปในลักษณะสื่อสารกับสังคมให้ดี ถนอมพละกำลังต่างๆ ไว้รวมถึงสุขภาพด้วย และอย่าให้ถูกวิจารณ์ว่าไม่เห็นกลัวโควิด-19 เลยทั้งที่ก็กลัวเรื่องโควิด-19 กันทุกคน อย่าให้มีการเสี่ยงมากนักในเรื่องโควิด-19

สุริชัย หวันแก้ว
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การชุมนุมระยะหลังนี้ พบว่ามีปรากฏการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น บางฉากก็เหมือนกับรบกัน ตอนเดิน ตอนทำกิจกรรมก็อย่างหนึ่ง แต่หลังประกาศเลิกชุมนุม ก็มักจะมีกลุ่มคนที่ทำความรุนแรง จากหลายส่วน

ในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่นั้น บ้านเมืองเราในตอนหลัง เน้นคุยเรื่องการสลายชุมนุม แต่ไม่ได้ดูว่าชุมนุมไปเพื่ออะไร สังคมที่อยากจะเป็นประชาธิปไตย ถือว่าการแสดงออกเป็นสิทธิเสรีภาพที่ต้องช่วยกันดูแล ไม่ให้คนดูถูกดูแคลน

แต่ที่ประหลาดคือ มีแต่คิดว่าจะสลายเมื่อไหร่ดี มีอาการผิดปกติมาก สังคมไทยมีวัฒนธรรมดูแลการชุมนุมอย่างไร ในตอนหลังเอียงไปในทางที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการชุมนุมโดยสงบ สันติ และไม่เอื้อต่อการสื่อสารที่จะคุยให้รู้ ให้ได้ความกัน

บ้านเมืองเรา มีผู้ใหญ่ ผู้น้อย คนที่มีตำแหน่งอำนาจหน้าที่ ซึ่งผู้ใหญ่หลายส่วนก็อาจไม่แคร์ที่จะฟัง ไม่ได้ช่วยทำให้บรรยากาศในสังคมที่เป็นอยู่ มีที่ปลอดภัย สบายใจ และมั่นใจว่าจะพูดกันได้ จึงเป็นความรู้สึกที่สั่งสม

สังเกตดูว่า มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และมีหลายอาชีพเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลัง ไม่เฉพาะการชุมนุม 3 วันที่ผ่านมา แต่ประมาณปีกว่าที่แสดงถึงความไม่ปกติและพิกลพิการ ผู้ที่มีอำนาจทำให้การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งของการสื่อสารในสังคม กลายเป็นกิจกรรมของอาชญากร ทำให้มองเป็นการชุมนุมของคนไม่ดีหรือไม่ วัฒนธรรมการปกครองของเราในตอนหลัง ต้องการความสงบภายใต้การบริหารแบบราชการ

มีปัญหาร้องทุกข์ที่ศูนย์…ได้ ซึ่งการร้องทุกข์ได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง คนหลายส่วนจึงแสดงออกด้วยการชุมนุมเช่นนี้ เพราะอาการนี้สั่งสมมาหลายช่วง ดังนั้นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบก็ต้องช่วยดูแลในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่เพียงความเหลื่อมล้ำด้านเงินทอง แต่รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านอารมณ์ความรู้สึกที่ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งถูกดูดาย ถูกมองข้ามความทุกข์ยาก จนต้องใช้วิธีการอื่น ความเหลื่อมล้ำลึกเข้าไป ทั้งมิติอารมณ์ และสังคม เป็นที่มาที่ไปของความโกรธและท้อแท้สิ้นหวัง ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่องใต้โควิด สถานการณ์ฉุกเฉิน ระบบการศึกษาที่ไม่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีที่มีทาง พ่อแม่ของเขาก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ความหวั่นไหวพวกนี้ลึกเข้าไปในหลายส่วนตัว

การแสดงความไม่ใส่ใจ และใช้มาตรการที่รุนแรง จะทำให้สงบฝ่ายที่มีความคิดเห็นที่ตนเองไม่ชอบได้ เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อำนาจที่จะช่วยให้สังคมไทยแข็งแรงขึ้น ยามทุกข์ยาก ไม่ใช่อำนาจชนิดที่เอาไว้คอยสลายชุมนุม

เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหน้าที่ช่วยทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพ อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยให้การทำสิ่งเหล่านี้สะดวกและโปร่งใสไม่ใช่การคุกคาม ตอนนี้กลายเป็นวิธีการที่ตำรวจใช้หลายอย่างเกินสัดส่วน และไม่ได้เอื้อกับบรรยากาศในการประกันสิทธิ แต่กลายเป็นใครทำพลาดผิดก็น่าดู

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้คนตั้งคำถามต่อสถาบันตํารวจ ว่ามีไว้แค่ปราบการชุมนุม หรือต้องเป็นที่พึ่งในยามที่บ้านเมืองเดือดร้อนหลายเรื่อง ตอนนี้ข้อต่อความเชื่อมั่นของประชาชนถูกกระทบกระเทือน ด้วยการปฏิบัติการที่เกินสัดส่วน ผิดบทบาท ถามว่า บช.น.มีไว้ทำอะไร ถ้ามองอย่างเป็นธรรม ตำรวจก็ตกที่นั่งลำบาก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือจากการดูแลการชุมนุม เป็นเรื่องทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image