รายงานหน้า2 : ถกงบฯ65-1.6หมื่นล. เดือดยันวาระท้าย

หมายเหตุส่วนหนึ่งการอภิปราย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท จำนวน 42 มาตรา วาระ 2-3 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขอสงวนคำแปรญัตติ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ

การพิจารณา กมธ.ให้ความสำคัญสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นโยบายแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

กมธ.มีข้อเสนอในภาพรวมที่สำคัญเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ ตัวชี้วัดที่มีความสอดคล้องที่เชื่อมโยงระดับหน่วยงาน และระดับประเทศ การประเมินความคุ้มค่าต่อทรัพยากรที่จัดสรร ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ มุ่งเน้นการลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการใช้งบประมาณมีความคุ้มค่า รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวในวงกว้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กมธ. ได้ปรับลดงบประมาณลงจำนวน 16,362,010,100 บาทถ้วน

Advertisement

นอกจากจะได้พิจารณาจากความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผนระดับต่างๆ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลแล้ว ยังได้คำนึงถึงแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตลอดจนเป้าหมายและผลการดำเนินงานจริง ความคุ้มค่า และขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณ หรือรายได้ที่จัดเก็บเอง การนำผลการใช้จ่ายจริงในปีงบประมาณที่ผ่านมา และความพร้อมในการดำเนินงานเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา อาทิ รายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รายการที่ปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้เกิดความประหยัด เช่น การฝึกอบรม สัมมนา การจ้างเหมาบริการ การจ้างที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ เป็นต้น รวมทั้งรายการที่มีผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และคาดว่าใช้จ่ายไม่ทันปีงบประมาณ 65 หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิม ที่มีผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่เสนอไว้ และรายการที่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากงบประมาณได้ เช่น เงินนอกงบประมาณ หรือรายได้ที่จัดเก็บเอง และเงินสะสมคงเหลือในหน่วยงานหรือกองทุน

สำหรับการเพิ่มงบนั้น กมธ.ได้พิจารณาเพิ่มให้กับงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จำนวนทั้งสิ้น 16,362,010,100 บาทถ้วน ตามจำนวนที่ปรับลดงบประมาณได้ เพื่อสำรองไว้บรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผล กระทบจากโควิด ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้นยังอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงงบประมาณส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 38,893,400 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 20

การพิจารณารายละเอียดงบประมาณทั้งการปรับลดและเพิ่มงบประมาณให้ความสำคัญต่อความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อนเป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจที่สำคัญเพื่อรองรับแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รายการจำเป็นเร่งด่วน เป็นประโยชน์กับประชาชน เพื่อให้ดำเนินการตามกรอบวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ตามที่สภาได้รับหลักการวาระแรก

Advertisement

ศิริกัญญา ตันสกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ

ขอสงวนคำแปรญัตติ มาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง ขอตัดงบกลางลง 20,000 ล้านบาท เหลือ 551,047,000,000 บาท เพราะในปีนี้ได้มีการเพิ่มรายการตามมาตรา 6 เป็นรายการที่ 3/1 คือ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 16,362,010,100 บาท ทั้งที่ปีนี้ได้มีการตั้งเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นอยู่แล้ว 8.9 หมื่นล้านบาท คิดว่าก็จำเป็นมากจนเกินพอ แต่เมื่อ กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ ก็ได้มีการโอนเพิ่มมาที่รายการใหม่นี้ ซึ่งมีปัญหาในหลายเรื่อง

ประเด็นแรกคือ การใช้งบกลางเป็นการให้อำนาจในการเห็นชอบโดยสมบูรณ์แก่นายกรัฐมนตรี ทำให้กระบวนการตรวจสอบต่างๆ เป็นไปได้อย่างยากลำบากมาก ประเด็นที่สองคือ สภาเพิ่งจะอนุมัติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไปอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ดังนั้นประเด็นงบประมาณไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาโควิด-19 จึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาสำคัญคือการใช้จ่ายงบประมาณไม่เกิดประสิทธิภาพ น่าจะเป็นประเด็นมากกว่า

ยกตัวอย่างการตรวจสอบที่ยากมาก เช่น การขอข้อมูลจากสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา เพื่อจะตรวจสอบการเบิกจ่ายงบกลางก็พบว่าสามารถหาข้อมูลการเบิกจ่ายงบกลางได้ถึงเดือนมิถุนายนเท่านั้น โดยระยะเวลา 9 เดือน ใช้งบกลางเพื่อบรรเทาแก้ไขปัญหาโควิด-19 เบิกจ่ายไปเพียงแค่ 23% ส่วนงบกลางในรายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ระยะเวลา 9 เดือนเช่นกัน เพิ่งเบิกจ่ายไปได้แค่ 3% หรือ 2,743 ล้านบาทเท่านั้น

จากการสืบค้นข้อมูลในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่างบกลาง ในส่วนค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาโควิด-19 นั้นถูกใช้ไปในโครงการ เช่น งบอนุมัติให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการตั้งด่านและซื้อหีบลวดหนามเพื่อใช้กันชายแดน และตรวจโควิด-19 จำนวน 393 ล้านบาท การอนุมัติงบให้กับกรมราชทัณฑ์เพื่อแก้ไขโควิด-19 ในเรือนจำ เช่น การซื้อชุดตรวจและอุปกรณ์ทำโรงพยาบาลสนาม 312 ล้านบาท ส่วนนี้ก็พอเข้าใจได้ นอกจากนี้ยังมีค่าจัดทำ State Quarantine ของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม 1,613 ล้านบาท ส่วนนี้หากวัดความเชี่ยวชาญและความเกี่ยวข้อง ไม่น่าจะเป็น กระทรวงกลาโหมหรือไม่ ที่มาทำหน้าที่นี้ แต่เมื่อเป็นงบกลางที่เป็นอำนาจเต็มของนายกรัฐมนตรีอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ที่สงสัยเป็นอย่างมากเมื่อเริ่มมีโครงการที่อ่านชื่อแล้วไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน สู่ Oleochemical 22 ล้านบาท โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงแหล่งน้ำชุมชนสำนักงานประมง จังหวัดนครราชสีมา 1.147 ล้านบาท ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเนินทรายงามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามเส้นทางท่องเที่ยว Scenic Route 19.12 ล้านบาท แบบนี้เป็นการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้อย่างไร

ด้วยความข้องใจ จึงสืบค้นมติ ครม.ต่อไปว่ามีที่มาอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โครงการเหล่านี้ที่พูดถึงไป ถูกอนุมัติผ่านการนำเสนอโครงการให้กับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยกรณีของวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้มีมติเห็นชอบโครงการเหล่านี้ แต่เมื่อแทงเรื่องเข้าสู่ ครม.ได้มีความเห็นของสำนักงบประมาณให้ใช้แหล่งเงินจากแหล่งอื่นคืองบกลาง ในรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีโครงการที่เป็นโครงการระดับจังหวัดที่แต่ละจังหวัดเข้ามาขอ 50 จังหวัด 86 โครงการ นอกจากนั้นการประชุมในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ก็ได้เคยอนุมัติโครงการที่คล้ายกัน ที่เป็นโครงการที่อนุมัติผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ แต่สำนักงบประมาณก็ให้ความเห็นว่า ให้นำแหล่งเงินจากงบกลางแทน แบบนี้จะยิ่งไม่สับสนหรือ ทั้งที่บอกว่าจะไม่ใช้เงินกู้ซ้ำซ้อนกับงบประมาณแผ่นดิน

การอนุมัติเช่นนี้ ทำอย่างถูกต้องแล้วหรือยัง เพราะระเบียบที่ออกมารองรับการใช้งบกลาง ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ถูกออกมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 เท่ากับว่าการอนุมัติโครงการเงินกู้ที่ผ่าน ครม.ไปนั้น อนุมัติการใช้เงินโดยที่ยังไม่มีระเบียบรองรับ จึงอยากฝากไปที่สำนักงบประมาณให้ช่วยชี้แจงด้วย

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือเรื่องเงินสำรองใช้จ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะชื่อบอกไว้ว่านำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ แต่เราก็ยังเจอกรณีที่มีโครงการซ่อมสร้างถนนมากถึง 180 โครงการ โครงการทำแหล่งน้ำประปา 250 โครงการ อยากถามว่าโครงการเหล่านี้มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร และการที่เรายิ่งเพิ่มงบกลางในส่วนนี้เข้าไปให้มากขึ้นก็เท่ากับว่าในส่วนของเงินสำรองฉุกเฉินฯ ก็จะมีมากพอที่จะนำไปใช้กับโครงการอะไรก็ได้ที่อยู่ในอำนาจความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ แบบนี้คือการเซ็นเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนจากรัฐสภาใช่หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ขอตัดลดงบประมาณลง 2 หมื่นล้านบาท ในส่วนของรายการ 3/1 และรายการที่ 11 หรือรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในมาตรา 6 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image