ลุ้นร่างแก้ไขรธน.ฉบับกมธ. ดันบัตรเลือกตั้ง2ใบฉลุย?

ลุ้นร่างแก้ไขรธน.ฉบับกมธ. ดันบัตรเลือกตั้ง2ใบฉลุย?

ลุ้นร่างแก้ไขรธน.ฉบับกมธ.
ดันบัตรเลือกตั้ง2ใบฉลุย?

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการถึงการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 24-25 สิงหาคม ที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่. … พ.ศ. … ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการแล้ว โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ส.ส.เขต 400 เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ


สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต

จากการติดตาม คาดว่าไม่น่าจะมีติดขัดอะไร เนื่องจากกรรมาธิการที่แปรญัตติได้สกัดเอาสาระสำคัญเขียนกฎหมายเชื่อมโยงเท่าที่จำเป็น ไม่ได้เกินเลยอะไรไปมาก และขณะนี้มีเพียง 2 จุด ที่อาจจะเป็นประเด็นต้องถกเถียง จุดแรกเรื่องของการกำหนดว่าหากรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว แต่การเขียนกฎหมายลูก คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่สามารถทำเสร็จก่อนการยุบสภา โดยให้ดำเนินการภายใน 120 วัน หากยุบสภาก่อนก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.จะออกคำสั่งประกาศที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความสำเร็จภายใต้การเลือกตั้งระบบใหม่

Advertisement

เรื่องนี้บางฝ่ายอาจมีความกังวลว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กกต.หรือไม่ ในจุดนี้ส่วนตัวไม่กังวล เพราะจะเห็นได้ว่า กกต.คงไม่กล้าทำอะไรที่แปลกหรือพิสดาร และการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ กกต.ทำมาตลอดไม่น่าจะมีข้อขัดข้องหรือเกรงว่าจะมีความผิดพลาด น่าจะไว้วางใจได้ เพราะการเขียนแบบนี้ก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว เพื่อรองรับอุบัติเหตุทางการเมือง เขียนในเชิงป้องกัน หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนก็กลายเป็นว่าการเลือกตั้งจะต้องกลับไปใช้ระบบบัตรใบเดียวอีก

สำหรับจุดที่ 2 ที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 95% ภายใน 30 วัน ประเด็นนี้เป็นหลักการที่ดี เนื่องจากเดิม กกต.ในยุคที่มีรัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับ 2550 กกต.ก็ประกาศผลภายใน 30 วัน แต่มาเปลี่ยนเป็น 60 วันในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เจตนารมณ์ต้องการให้ กกต.มีเวลามากขึ้นเพื่อพิจารณาโทษ กลั่นกรองนักการเมืองที่ทุจริตออกจากระบบ แต่พิสูจน์แล้วว่าเมื่อให้เวลา 60 วัน กกต.ไม่ได้ทำงานแตกต่างจากเดิม ไม่สามารถให้ใบเหลือง ใบแดง ใครได้ แต่มีใบส้มให้ ส.ส.เชียงใหม่ใบเดียว

ส่วนอื่นที่มีการแก้ไขไปมาตราอื่นนอกเหนือมาตรา 83 และมาตรา 91 ก็แก้ไขเท่าที่จำเป็น ทำให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีความสอดคล้องกัน ขณะที่การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็อยู่ที่มุมมองของฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

Advertisement

การเลือกตั้งด้วยบัตรกี่ใบก็ตาม พรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็ได้เปรียบมาตลอด แต่การเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ทำให้การได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ไม่ต้องผูกกับจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี 2 ส่วนนี้ถือว่าแยกจากกัน ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่บอกว่าพรรคที่ชนะในเขตจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลงหรือไม่ได้เลย สิ่งดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น

แต่พรรคเล็กก็สามารถสร้างความได้เปรียบจากบัตร 2 ใบได้ เพราะไม่จำเป็นต้องส่ง ส.ส.ลงครบทุกเขต เพียงแต่เสนอนโยบาย แนวทางการบริหารงานหรือความมุ่งมั่นทางการเมืองที่ชัดเจนประชาชนก็สามารถตัดสินใจเลือกได้ใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แม้ว่าพรรคดังกล่าวจะไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตก็ตาม เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายก็สามารถใช้ประโยชน์จากบัตร 2 ใบได้

ท่าทีของ ส.ว.ที่ผ่านมาเคยแสดงออกเรื่องการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ โดยบอกชัดเจนว่าเห็นด้วย ก็ถือว่าเข้าทางพรรครัฐบาลเพราะเป็นฝ่ายเสนอเรื่องนี้และต้องการทำให้เสร็จโดยเร็ว ดังนั้น ส.ว.ก็ไม่น่าจะมีอะไรติดขัดในการโหวตสนับสนุน หากแก้ได้สำเร็จก็เป็นตามที่รัฐบาลเคยประกาศนโยบายเอาไว้ แต่ไม่ได้แก้ไขบนฐานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเท่าที่ควร แต่แก้ไขเพื่อประโยชน์ของฐานการเมือง หากมีการเลือกตั้งแล้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะไม่เสียเปรียบ

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนตัวไม่มั่นใจว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะขาดความมั่นใจตั้งแต่การเสนอรายชื่อผู้ที่ไปทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการ สำหรับร่างที่นำเข้ามาแก้ไขเป็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ให้พรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบ เพราะมีการเสนอชื่อนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานการแก้ไข หากจำกันได้ เคยอยู่ในกลุ่มที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าให้ประเมินว่าการแก้ไขจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ให้สัดส่วนที่ 50% แบ่งไปครึ่งๆ แม้รัฐบาลจะออกมายืนยัน แต่ยังไม่ได้ยินเสียงนายกรัฐมนตรีพูดถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นายกรัฐมนตรีเคยชม ส.ว.เมื่อการโหวตคว่ำร่างครั้งก่อนว่าตัดสินใจได้ดี และขณะนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องเงี่ยหูฟังว่านายกรัฐมนตรีจะส่งสัญญาณอะไร ทั้งที่โดยหลักการนายกรัฐมนตรีไม่ควรลอยตัวอยู่เหนือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ต้องดูด้วยว่า ส.ว.จะไปทิศทางไหน ต้องดูกระแสกลุ่มอนุรักษนิยมประเภทรัฐธรรมนูญข้าใครอย่าแตะจะมีการแสดงความเห็นอย่างไร จะยอมให้แก้ได้ระดับไหน หรือถึงที่สุดอาจจะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัยก่อนอีกหรือไม่ เพื่อดูว่าจะมีการแปรญัตติเกินจากหลักการที่ยื่นแก้ไขใน 2 มาตราหรือไม่ เพราะ ส.ว.โหวตให้ผ่านก็ยอมรับเพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากผ่านไปได้ สำหรับพรรคใหญ่พรรคเล็กก็ได้ประโยชน์พอกัน ขอเรียนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ไม่ใช่หัวใจหลักเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ไม่ว่าจะเลือกตั้งด้วยบัตรกี่ใบก็ตาม หากอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรสามารถควบคุมความเป็นไปทางการเมืองได้ก็ไม่มีปัญหา

แต่ถ้าหากให้เลือกด้วยบัตร 2 ใบได้แล้ว แต่อำนาจ 250 ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังอยู่ได้ปกติ ขณะที่อำนาจ ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา ก็ไม่สามารถจัดการทางการเมืองได้จะมีประโยชน์อะไร ถามว่า ส.ส.ควรจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีได้เองหรือไม่ เพราะฉะนั้นประชาชนที่ติดตามก็คงไม่หยุดเพราะถือเป็นการเรียกร้องในหลักสากล และจะต้องมีคำถามต่อเนื่องว่าเมื่อไหร่จะมีการตั้ง ส.ส.ร.ที่มีอิสระจากตัวแทนประชาชนโดยตรงเพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และเพิ่มมาตราเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีอยู่ 276 เสียง และ ส.ว. 250 คน สนับสนุนร่างดังกล่าว ขณะที่ฝ่ายค้าน 7 พรรค มีเสียงรวมกันเพียง 212 เสียงเท่านั้น ดังนั้น โอกาสพรรคร่วมรัฐบาลผ่านร่างดังกล่าวสูง เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองให้มากที่สุด ถ้าพรรคร่วมไม่สนับสนุนหรือแพ้โหวตในสภา อาจทำให้เสียหน้าและเกิดความไม่ไว้วางใจในพรรคร่วมรัฐบาลอีก ส่งผลต่อการบริหารของรัฐบาลได้

ส่วนตัวเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญน่าไปตลอดรอดฝั่ง ไม่มีสะดุดเพราะพรรคร่วมรัฐบาล ยังต้องการเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งในรัฐบาลอยู่ เพื่ออำนาจและผลประโยชน์พวกพ้อง แม้สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ มีการชุมนุมเพื่อต่อต้าน และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข เชื่อไม่ส่งผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะรัฐบาลกุมความได้เปรียบทั้งในสภาและนอกสภา ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันไม่ลาออกตามข้อเรียกร้อง เพราะมั่นใจเสียงสนับสนุน ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ จนนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และมวลชนดังกล่าวบ่อยครั้ง

กรณีมีผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น มองว่าเป็นหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ แต่การเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบนั้น เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่อำนาจศาลที่เป็นฝ่ายตุลาการอย่างใด ถ้าสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ไม่เกิดประโยชน์อย่างใด

หากเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ มองว่าพรรคใหญ่ได้เปรียบกว่าพรรคเล็ก เนื่องจากมีความนิยม ฐานเสียง เครือข่าย และทรัพยากรมากกว่า ถ้านับคะแนนทุกเสียง พรรคใหญ่ได้ประโยชน์โอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม ตามสัดส่วนผู้ลงคะแนนให้ ส่วนพรรคเล็กโอกาสน้อยลง หากลง ส.ส.เขต โอกาสยิ่งน้อยลงตามลำดับ เพราะผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นเกรดซี-เกรดดีเท่านั้น ไม่ใช่ผู้สมัครเกรดเอ หรือเกรดบี ที่พรรคใหญ่สนับสนุนเต็มกำลัง ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางการเมือง พรรคไหนพร้อมและมีทรัพยากรมาก ย่อมได้เปรียบและมีโอกาสมากกว่า ส่วนรัฐธรรมนูญเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image