‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ เปิดใจ ‘ภารกิจใหม่’ ตั้งพรรคเสนอทางออกประเทศ

หมายเหตุ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย (กตป.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงความพร้อมในการตั้งพรรคการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้งครั้งต่อไป และวิเคราะห์ความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจากผ่านความเห็นชอบในวาระ 2 ของที่ประชุมรัฐสภา

⦁ พรรคที่จะเดินหน้าใหม่วางทิศทางและแนวทางอย่างไร ? 

คุยกับเพื่อนๆ มาระยะหนึ่งแล้ว ความจริงก็คือตั้งแต่หลังเลือกตั้งว่าจะร่วมกันตั้งพรรคการเมือง ก็เตรียมการด้านต่างๆ กันมา แต่ที่ชะลอ เพราะช่วงเวลายังห่างจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลนี้อาจจะอยู่ครบเทอมก็ได้ แล้วถ้าลองย้อนคิดไปเมื่อ 2 ปีก่อน การจะชวนคนมาร่วมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาต้องทำมาหากิน ก็เลยต้องรอเวลา ช่วงหลังมาติดเรื่องโควิดอีก

แต่พอมาดูสถานการณ์ขณะนี้แล้วปัญหาบ้านเมืองมันมากและหนักหนา การจะมีพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วดำเนินการในแบบพรรคการเมืองก็น่าจะทำประโยชน์ได้มากกว่าการรอต่อไป ดังนั้น เราเลยกำลังคิดวิธีการและขั้นตอนในการเปิดตัวพรรคการเมืองเพื่อที่จะดำเนินการทางการเมืองต่อไป

Advertisement

คงจะไม่ใช่การเปิดตัวแบบเป็นงานใหญ่หรืออะไร แต่คงเน้นเรื่องการเข้าไปเป็นสมาชิก มีตำแหน่งหน้าที่ให้ชัดเจน หลังจากนั้นก็มาทำกิจกรรม เช่น การแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงบทบาทต่างๆ ในฐานะพรรคการเมือง ที่สำคัญคือจะร่วมกับองค์การต่างๆ และประชาชนผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย นี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศมาตลอด ทุกวันนี้ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

อีกอย่างที่ต้องทำคือต้องรวบรวมปัญหา แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นนโยบายในการแก้ปัญหาประเทศ เพราะก่อนโควิดเราก็คิดว่าปัญหาของประเทศหนักหนา เพราะเศรษฐกิจไทยแย่ พอมาเจอโควิดยิ่งหนักขึ้นไปอีก และผลกระทบรุนแรง เรามีความเชื่อว่าการทำนโยบาย การเสนอนโยบาย และการแข่งขันกันทางนโยบายของพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

Advertisement

จากนี้ไปการแข่งขันทางนโยบายจะมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราต้องเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเป็นจุดหักเห หรือเป็นจุดเปลี่ยนได้เหมือนอย่างในหลายประเทศ ที่ทำได้ดีก็ได้รับชัยชนะท่วมท้น แต่ถ้าทำไม่ดีแล้วคู่แข่งเสนอแนวทางแก้ไขได้ดีกว่าก็ชนะได้นี่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีขึ้น เราก็คาดหวังว่าจะเกิดแบบเดียวกันกับประเทศไทย เพียงแต่เรายากกว่า เพราะกติกาเราเอื้อต่อผู้มีอำนาจในปัจจุบัน โดยเฉพาะ ส.ว. 250 คน

⦁ เรื่องที่พรรคจะชูขึ้นมานำเสนอในอนาคต อยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ?

เรื่องความเป็นประชาธิปไตยนี้แน่นอน เพราะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่เนื่องจากบ้านเมืองถูกจัดระบบและโครงสร้างไว้ในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งต้องมีกระบวนการที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ไขว้เขวไป

อย่างตอนนี้ การแก้รัฐธรรมนูญกำลังทำให้เกิดความไขว้เขว คนกำลังไปหลงประเด็นว่า ถ้าแก้แบบนั้นแบบนี้จะได้ดีหรือไม่ดี แต่นี่ทำให้เสียเวลา และหลงประเด็นไป แทนที่จะคิดว่าจะทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร กลับมาคิดกันแค่เรื่องระบบเลือกตั้ง ส่วนปัญหาของประเทศ เศรษฐกิจไทยแย่มาก่อนหน้านี้แล้ว ความเหลื่อมล้ำสูง มีการผูกขาด พอมาเกิดโควิดเราดูแลโควิดได้ดีอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปมากในการล็อกดาวน์ พอจะฟื้นก็ฟื้นช้า พอมาเจอระลอก 3 นี้ยิ่งหนัก มีปัญหาว่าจะฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องแข่งกันนำเสนอ เพราะยิ่งนานวันก็จะยิ่งเห็นว่ารัฐบาลเดินผิดทิศผิดทาง แต่จะทำอย่างไรให้ฟื้นขึ้นมา นี่คือโจทย์ใหญ่

โจทย์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นแบบหนึ่ง แต่ 2-3 ปีมานี้อีกแบบหนึ่ง ขณะที่ 3-5 ปีข้างหน้า โจทย์ก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว แต่เรายังมาต๊อกแต๊กพูดกันอยู่ที่เรื่องว่าจะไฟเซอร์ หรือซิโนแวค ก็เลยกลายเป็นว่าเราตามไม่ทัน ยิ่งในระบบการศึกษาของเราที่เสียเวลาไปเปล่าๆ เป็นปีๆเรียนออนไลน์ไม่ได้ทั้งหมด และไม่ได้คิดจะเปิดเรียนให้เร็ว ซึ่งควรเปิดเรียนให้เร็ว เพื่อมาซ่อมเวลาที่เสียไปและคิดจัดหลักสูตรใหม่ทั้งหมดเพื่อตามให้ทัน นี่เป็นเรื่องของขีดความสามารถ

เวลานี้เราตกขบวนในเวทีโลก จะค้าขายร่วมกัน หรือจะเชิญเขามาลงทุนไม่ได้เลย เพราะเรายังไม่พร้อม แล้วถ้าเขาไปที่อื่น เราจะแก้อย่างไร เป็นต้น และยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมาก

บอกได้ว่า โควิดคราวนี้ทำให้สังคมไทยได้มองเห็นปัญหาของตัวเองในด้านต่างๆ การใช้อภิสิทธิ์ การใช้เส้นสาย การทุจริต การรวบอำนาจ การปล่อยให้คนถูกทอดทิ้งไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน ยา และการรักษา และเมื่อคนต้องหยุดงานก็ไม่ได้รับการดูแล โควิดเปิดเผยปัญหาให้แสดงออกมาอย่างมาก เราก็ต้องมาคิดกันอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นเรื่องเป็นราว

⦁ ปัญหาที่พูดมาค่อนข้างเป็นเรื่องมหภาคแปลว่าต้องเข้าไปเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบาย คือการเป็นพรรคใหญ่เข้าไปเป็นรัฐบาล ? 

การแก้ปัญหาประเทศต้องดูปัญหาที่เป็นมหภาค หรือที่เป็นภาพรวม ถ้าไม่แก้ในภาพรวมยังไงก็แก้ไม่ได้แต่การให้ความสนใจกับอาชีพต่างๆ ก็ต้องทำ การทำนโยบายต้องไปคุยกับแต่ละกลุ่มอาชีพ แต่ละส่วน

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองจะแก้ปัญหาประเทศก็ต้องหวัง และพยายามเป็นรัฐบาล นี่เป็นธรรมดา เพราะต้องเอานโยบายไปนำเสนอ แล้วนโยบายที่ประชาชนสนับสนุนมาก ได้เสียงมาก ก็มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศได้มากขึ้น จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประชาชน

ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล การให้ความสนใจกับเรื่องนโยบายก็ยังเป็นประโยชน์ เพราะเป็นสิ่งที่ยังต้องเสนอควบคู่ไปกับการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกันไป และเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

⦁แปลว่าลึกๆ แล้วเชื่อว่าฝ่ายที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ?

จะได้เลยไหมยังต้องใช้ความพยายามกันอีกมาก เพราะถ้ากติกายังเป็นอย่างนี้ ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์กับพวก หรือพรรคที่สนับสนุนเขาอยู่ได้เปรียบกว่า แต่ผมคิดว่าคนคงเห็นความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้มาก

ดังนั้น คะแนนนิยมของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์น่าจะตกลงกว่านี้อีกมาก ทุกคนจะรู้สึกกับตัวเองกันหมด เมื่อคะแนนตกลงไปอีกแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า ส.ว.จะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ง่ายที่พรรคในฝ่ายที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์จะชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพยายาม และความสามารถที่จะทำให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเป็นรัฐบาลแล้วจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลปัจจุบันอย่างไร ถ้าประชาชนเห็นด้วยกันมากๆ ก็เป็นไปได้ที่จะสามารถเป็นรัฐบาลได้

วันนี้มีหลายพรรค แต่ยังเดินหน้าตั้งพรรค แปลว่าต้องมองเห็นความสำเร็จบางอย่างในพรรคที่จะตั้ง ทีมงาน สมาชิกที่จะร่วมตั้งพรรค และขนาดของพรรครวมถึงจำนวนของ ส.ส.ที่จะส่งลงรับสมัครรับเลือกตั้งวางเป้าหมายอย่างไร ? 

ตอนนี้ผมยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค จะพูดแทนพรรคเลยทีเดียว ยังไม่ถนัด แต่เท่าที่คิดๆ กันมาจะสำเร็จแค่ไหนต้องดูกันไปว่ามีคนสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน แต่ผมเห็นช่องอยู่ว่าในการเมืองปัจจุบันนี้ยังมีช่องทางให้พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาแล้วจะสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้

ส่วนคนจะสนับสนุนแค่ไหนก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะทำได้ดีแค่ไหน เราคิดว่า สังคมไทยยังต้องการพรรคการเมืองที่จะเป็นกำลัง และมีบทบาทในการผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย โดยที่อาจจะต้องพยายามหลุดออกมาจากวังวนแบบเผชิญหน้า ทำอย่างไรจะให้เกิดการพูดจาหารือกัน ให้คนที่ต่างสี ต่างความคิดมาคิดแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะตอนนี้รัฐบาลที่เป็นผลผลิตของการยึดอำนาจทำให้ประเทศเสียหายมาก สิ่งนี้เห็นร่วมกันหลายฝ่าย และอาจจะเป็นโอกาสดีที่จะมาช่วยกันแก้กติกา ต้องอาศัยความแน่วแน่ของพรรคการเมืองในการที่จะผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

ขณะที่การแก้ปัญหาประเทศเรายังต้องการการคิดนโยบายที่ดีจากพรรคการเมือง ต้องดูกันไปว่า พรรคไหนใครจะคิดได้ตรงกับความต้องการของประชาชนมากกว่ากัน

ส่วนจะส่งสมัครยังไง อันนี้ต้องดูรัฐธรรมนูญว่าใช้บัตรใบเดียว หรือบัตร 2 ใบก่อน เพราะต่างกันมาก เมื่อมีความชัดเจนแล้ว จึงจะมาคิดกลยุทธ์ และวิธีการรับมือ เพราะบัตร 2 ใบก็จะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบมากการส่งสมัครก็จะต้องเป็นแบบหนึ่ง ถ้าเป็นบัตรใบเดียว การส่งสมัครก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะหากไม่ส่งทุกเขตก็ไม่มีสิทธิได้รับคะแนนจากเขตที่ไม่ส่ง แต่บัตร 2 ใบ ไม่ต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลยก็ยังมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน เราก็พร้อมทำพรรคการเมือง ได้ตัดสินใจแล้ว ผมพูดเปิดตัวพรรคการเมืองขึ้นมาในระหว่างที่ยังไม่ชัดเจนนี้ เพราะตั้งใจจะบอกว่ายังไงเราก็ตัดสินใจทำพรรคการเมือง พร้อมรับมือกับกติกาที่จะเปลี่ยน หรือไม่เปลี่ยนก็ตาม

⦁ เราในที่นี้พอจะบอกได้หรือไม่ว่ามีใครบ้าง หรือคีย์แมนคนสำคัญของพรรคเป็นใครบ้าง ?

ขออนุญาตเปิดตัวพร้อมๆ กัน จะพยายามให้เร็วที่สุดในการเปิดตัว เพียงแต่มีวิธี หรือขั้นตอนมาก ทั้งการสมัครสมาชิก การประชุมใหญ่ การตั้งบุคคลในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้น แต่ต้องบอกตรงๆ ว่า เปิดตัวมาอาจจะยังไม่ใช่ดรีมทีมอะไร เพราะตอนนี้บางคนบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะอยู่ครบวาระ ถ้าเป็นแบบนี้ คนที่มีหน้าที่การงานอยู่จะบอกให้มาเป็นคณะกรรมการพรรคก็ยังไม่สะดวก

คงต้องมีบางคนขึ้นมาก่อน แล้วเน้นกลไกการทำงานแบบมีเครือข่าย มีคนร่วมงานในพื้นที่ต่างๆ ประสานกับกลุ่มต่างๆ และหาคนทำงานในจังหวัดต่างๆ เพื่อหาผู้สมัครต่อไป เรารีบทำเพื่อให้รอบคอบ กลัวจะไปฉุกละหุกตอนท้ายแล้วไม่มีโอกาสคัดเลือกคนเท่าที่ควร ถ้ารัฐบาลจะอยู่ยาวก็ช่วยให้เรามีเวลาได้ทำเรื่องเหล่านี้

⦁ หลายคนมองว่าการตั้งพรรคขึ้นมาสุดท้ายจะกลายเป็นพรรคย่อยของพรรคใดหรือไม่ ?

ถ้าอย่างพรรคเพื่อไทย เขาประกาศมาระยะหนึ่งแล้วว่า จะใช้วิธีชวนคนที่แยกย้ายกันไปให้กลับมา แล้วทำเป็นพรรคเดียว จะไม่มีพรรคสาขา หรือพรรคที่มาช่วยเก็บคะแนนตกน้ำ อะไรแล้ว ขณะที่พวกผมที่จะทำพรรคการเมืองนั้น เราเป็นอิสระจากพรรคการเมืองอื่นทุกพรรค 100% ตั้งใจทำพรรคการเมืองของเราเองมีระบบการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นอิสระชัดเจน รวมถึงไม่ต้องการไปแก้ปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างที่พรรคไทยรักษาชาติ ที่หวังแก้คะแนนตกน้ำ

แต่จากนี้ไปเป็นคนละวัตถุประสงค์กันอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคการเมือง และนักการเมืองยังมีอยู่ อย่างผมออกจากพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้ทะเลาะกับใครมา หลังๆ ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหลายคน เพียงแต่ว่าเมื่อตัดสินใจไม่กลับไป ตัดสินใจว่าจะทำพรรคการเมืองก็คิดว่าจะพยายามทำพรรคการเมืองที่ทำประโยชน์ได้ให้มากที่สุด

⦁ พรรคฝั่งประชาธิปไตยมีจำนวนหนึ่ง ด้วยฐานเสียงที่สนับสนุนจะเกิดปัญหาความทับซ้อนกันหรือไม่ ?

จะมีการทับซ้อน และแบ่งกันเอง มีทั้งการเอื้อมไปยื่นมือออกไปดึงคะแนนเสียงส่วนอื่น ในที่นี้หมายถึงเช่น คนที่ไม่ได้นิยมชมชอบเผด็จการ หรือ พล.อ.ประยุทธ์แต่ไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์ด้วยเหตุอื่น เช่น เรื่องความสงบ หรือชื่นชอบในโครงการประชารัฐ ฯลฯ คนส่วนนี้มีอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจะไปใช้เส้นแบ่งเรื่องประชาธิปไตย หรือเผด็จการเลยทีเดียวก็ไม่เชิง จะสืบทอดอำนาจหรือไม่สืบทอดอำนาจก็ไม่เชิง แต่เป็นส่วนที่พรรคการเมืองยังสามารถหาผู้สนับสนุนที่ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ยังมีคะแนนส่วนใหม่ที่ยังไม่เคยลงคะแนนด้วย

ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน เป็นธรรมดา เพราะกติกาของรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้นทำให้ต้องแข่งกัน ในการเลือกตั้งต้องแข่งกันโดยอัตโนมัติ เว้นเสียแต่ว่าจะสับหลีกกัน ผมได้บอกไปแล้วว่า ผมจะไม่สับหลีกกับใคร การแข่งขันระหว่างกันจะเกิดขึ้นทันที

แต่หากมองในมุมหนึ่ง คือเราจะทำอย่างไรให้คนที่สนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลในปัจุบันนี้เปลี่ยนใจมาเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนใจไม่ได้นะ ถ้าเขาเห็นความล้มเหลวของพรรคการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันมากๆ อาจจะหาพรรคการเมืองใหม่ที่เขาไม่เคยเลือกมาก่อนเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาก็ได้

ส่วนความร่วมมือกันในฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังมีได้ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันกฎหมาย ร่วมกันทำงานเพื่อประชาชน ทุกอย่างมี 2 มิติเสมอ แต่อย่างไรผมยังมองว่า การตั้งพรรคขึ้นมาเป็นบวกต่อฝ่ายประชาธิปไตยในแง่ของทิศทางการขยายฐานผู้สนับสนุน

⦁ มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะความเห็นแย้งกับ ส.ว.และความเห็นแย้งเรื่องบัตรใบเดียว หรือบัตรสองใบอาจนำไปสู่การไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ?

การแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่ทำกันอยู่ไม่ตรงจุด ไม่แก้ปัญหาประเทศ ทำให้คนสับสนไขว้เขว เราลืมประเด็นใหญ่ที่ต้องแก้ทั้งฉบับ เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยไป ก่อนหน้านี้คอการเมืองคงมองว่าโอกาสสำเร็จน่าจะมีสัก 80-90% แต่หลังๆ ดูเหมือนชักจะแกว่งๆ แต่จะสำเร็จหรือไม่ ผมคงทายล่วงหน้าไม่ได้

ที่แปลกคือ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้สำเร็จได้ แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับพวกแท้ๆ ของเขา พร้อมรับกับสภาพที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคใหญ่ขึ้น และจะใหญ่กว่าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกอยู่ ถ้ายินดีแบบนั้นแปลว่า พล.อ.ประยุทธ์กับพวกยินดีไปเป็นฝ่ายค้านเหรอ หรือว่าจะเอาแบบไหน

ผมไม่ได้ไปลุ้นฝ่ายไหนให้แพ้ให้ชนะ เพราะไม่ต้องการส่งสัญญาณที่ผิดให้สังคมว่าแบบนั้น หรือแบบนี้ดีกว่ากัน แต่ต้องการจะบอกว่า จริงๆ แล้ว ถ้าต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต้องรีบหยุดอันนี้ แล้วพูดกันเรื่องแก้ทั้งฉบับเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย และถ้าจะแก้มาตราเดียว มีเรื่องเดียวที่ควรแก้ก่อน คือตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ เรายืนยันหลักการของเราแบบนี้

⦁ เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้มีอำนาจคิดว่า หากแก้รัฐธรรมนูญแบบที่เสนอนี้แล้ว พรรคพลังประชารัฐจะใหญ่ขึ้น ? 

เดิมก็คิดกันว่าพรรคพลังประชารัฐเขาอาจจะไปดึงงูเห่ามาไว้ได้เยอะ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตคงจะได้ใหญ่ขึ้น ปาร์ตี้ลิสต์จะได้ด้วย เพราะเลือกตั้งซ่อมมาก็ชนะทุกครั้ง เขาอาจจะคิดอย่างนั้น แต่พอเวลาผ่านมาสถานการณ์แย่ลง การแก้ปัญหาล้มเหลว โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะได้เสียงมากๆ คงลดลงไปเยอะ ถ้ากลับมา 2 ใบ จะกลายเป็นให้คะแนนกับพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ทันที ประมาณ 30-40 เสียง

ที่น่าสนใจตรงที่การลงมติรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะน่วมเลย แล้วพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำคงจะอาการหนัก แล้วยังจะมีความมั่นใจอยู่ไหมว่าจะได้เสียงมาก แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะยินดีให้พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคอันดับ 1 ทิ้งห่างพรรคพลังประชารัฐ ให้พรรคพลังประชารัฐลองเป็นฝ่ายค้านดูบ้างอย่างนั้นหรือ คิดตามแล้วก็เข้าใจยาก

เพียงแต่ผมไม่ค่อยได้พูดเรื่องนี้ เพราะเป็นคนยืนยันมาตลอดว่าไม่ควรไปร่วมสังฆกรรมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ตั้งแต่ต้น ควรให้การแก้รัฐธรรมนูญแบบนี้ตกไปตั้งแต่แรก แล้วจะได้มารีบพูดกันใหม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างไร เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้มากกว่า ทั้งนี้ จะแก้ได้ต้องอาศัยกระแสสังคมในการผลักดันให้มีการแก้ไข ตอนนั้นมีมาบ้างแล้ว แต่ก็คว่ำไป วันนี้มาติดที่ระบบเลือกตั้งทำให้ความสนใจไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้

⦁ คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาอยู่นี้จะผ่านวาระ 3 หรือไม่ ? 

อย่างที่ว่า ก่อนหน้านี้คิดว่า 80-90% คิดว่าผ่านได้ แต่ตอนนี้คิดว่าโอกาสน้อยลง เพราะจะผ่านได้ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และพวกยินดีที่จะให้พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคอันดับ 1 และทิ้งห่าง พรรคพลังประชารัฐ ผมก็เกินกว่าจะคิดแทน พล.อ.ประยุทธ์ กับพวกได้ ยิ่งหลังการอภิปรายไปแล้ว คนจะยิ่งรู้สึกต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image