รายงานหน้า2 : ส่องคะแนน‘บิ๊กตู่’ จับตา‘เกมอำนาจ’ภายใน

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ ต่อผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม และ 5 รัฐมนตรี ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความไว้วางใจ 264 เสียง ไม่ไว้วางใจ 208 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ถือว่าคะแนนไว้วางใจน้อยกว่าอีก 4 รัฐมนตรี โดยมากกว่านายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ได้น้อยสุด 263 เสียง เพียงคนเดียว ส่วนคะแนนไม่ไว้วางใจ 208 คะแนนนั้น มากกว่าอีก 5 รัฐมนตรี

วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

เบื้องต้นไม่เกินความคาดหมาย อันเนื่องมาจากเราอยู่ในระบบรัฐสภา ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลย่อมมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงของการลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือระบบสภา แต่คือการเขย่า 2 เรื่องหลัก

หากเป็นเรื่องเล็ก คือ การปรับ ครม. ถ้าเป็นเรื่องใหญ่หน่อย คือ นายกฯลาออก หรือยุบสภา ฉะนั้น ในเรื่องการโหวต ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลก็ได้เสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่เราได้เห็นสัญญาณจากการโหวต เพื่อมองไปให้เห็นถึงภาพการปรับ ครม. มองไปไกลอีกนิด อาจจะเป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา

Advertisement

จากปรากฏการณ์ที่เห็น แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ในระดับพรรคการเมือง เนื่องมาจากแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) การโหวตครั้งนี้เราเห็นความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แต่อยากให้มองภาพ พปชร. ในลักษณะของแม่น้ำหลายสายที่มีการมารวมกันของเสือ (ส.ส.พปชร.) ถ้าคุณจะคุมเสือให้ได้ ต้องให้อาหาร ปัญหาคือ ถ้าวันไหนเราไม่ให้อาหารหรือให้ไม่พอ เสือก็จะมากินคนเลี้ยง

ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส จึงอาจจะไม่ได้ขัดแย้งจริงๆ แต่เป็นการขัดแย้งเพื่อขยายเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น เป็นการชิงพื้นที่ทางอำนาจ ให้ท่านนายกฯหันมามองคนในพรรค มากกว่าการที่จะไปดูแลพรรคร่วมรัฐบาล นี่คือสิ่งที่คนใน พปชร.บ่นมาตลอดว่าดูแลแต่ ส.ส.พรรคการเมืองอื่น ปรากฏการณ์นี้จึงไม่เรียกว่าเป็นความขัดแย้งเพื่อล้ม พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นการที่เสือพยายามบอกว่า ฉันหิวแล้วนะ เริ่มขู่ว่าจะกินเจ้านายแล้ว แต่ความจริงแค่ขออาหารเพิ่ม

นี่คือเรื่องปกติในการเมืองระบบรัฐสภาที่ต้องมีการปรับ ครม.อยู่ตลอด ซึ่งทุกครั้งที่มีการปรับ ครม.แม่น้ำหลายสายของ พปชร.ก็จะชิงอำนาจกันเสมอ ไม่ว่ากรณีสามมิตร แย่งชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรค นี่คือเป้าจริงๆ ของการอภิปราย และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน พปชร. ซึ่งดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ สั่นคลอนต่อการเปลี่ยนแปลงได้สูงกว่าการอภิปรายของฝ่ายค้าน สะท้อนผ่านผลโหวตไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ รองอันดับท้ายสุด

Advertisement

แต่คนเลี้ยงเสือย่อมต้องทิ้งระยะห่างจากเสือ ไม่อย่างนั้นจะถูกเสือกิน เช่นเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยธรรมชาติ จึงต้องทิ้งระยะห่าง นี่คือปรากฏการณ์ที่เสือกลุ่มต่างๆ พยายามลุกขึ้นมาท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะคนเลี้ยงหรือคนดูแลพรรค

จุดที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงใน พปชร. และการขึ้นมาครองอำนาจที่แท้จริงของ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ พปชร.เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ระลอกด้วยกัน ตั้งแต่หลังรัฐประหารและมีการเลือกตั้ง กลุ่มสี่กุมารเป็นคนดูแล จากนั้นเป็นกลุ่มเสี่ยเฮ้ง-เสี่ยแฮงค์ ที่เข้าถึงบิ๊กป้อมและเขี่ยกลุ่มสี่กุมาร หลังจากนี้เราจะพบว่ากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสสามารถดึงหลายกลุ่มใน พปชร. รวมไปถึงพรรคเล็กพรรคน้อย เพื่อคุมทิศทางของ พปชร. และคุมทิศทางการเมืองไทยได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด ก็คุมทิศทางในรัฐบาลได้

ต้องบอกก่อนว่า ใครที่คาดหวังให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจล้มรัฐบาล โดยหลักการเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเสียงรัฐบาลอย่างไรก็เกินครึ่ง แต่สามารถสร้างแรงสะเทือนในอนาคตได้ ตอนนี้เราทราบแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แข็งแกร่ง ไม่ได้ขลังเหมือนเดิม ถูกท้าทายด้วย ส.ส.จำนวนมาก เริ่มเห็นขาลง ไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่รวมถึง 3 ป. ที่เคยเป็นคนค้ำยันอำนาจตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เริ่มถูกเขย่าด้วยนักการเมือง

ผมมองว่า แม้จะเป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสก็ตาม นี่คือแง่มุมที่ดีต่อประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุด กลุ่มของ ส.ส.พปชร. ก็ยังมีความยึดโยงกับประชาชน แน่นอนว่าอาจจะมาจากการเลือกตั้ง หรือจากหลายๆ เหตุผล แต่ถ้าสามารถเขย่ากลุ่ม 3 ป. ได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับการเมืองไทย ช่วยให้นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เห็นไหม นี่ไงคนที่เคยเป็นทหาร ขึ้นมา…” เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และหลังจากนี้เราจะได้เห็นกลุ่มนักการเมืองที่จะเข้ามาต่อสู้-ต่อรองกัน

อีกประมาณปีกว่าคงจะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ ณ ตอนนี้ปรากฏการณ์จากการอภิปราย ทำให้ทราบแล้วว่า เดี๋ยวดราม่าต่อไปคือแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อไหร่ที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มสุดท้ายที่สำคัญสุดกับการเลือกตั้งทั่วไป คือ การเลือกตั้ง อบต. กลุ่มนี้จะเป็นจักรกลการเมืองที่สนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปให้กับเหล่า ส.ส.

นี่คือสเต็ปการเมืองหลังจากนี้ แก้รัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง อบต.-เลือกตั้งทั่วไป ซึ่งนั่นจะเกิดการยุบสภา แน่ๆ ถ้าการเมืองเดินไปในเส้นนี้ แต่ยังมีอีกหลายตัวแปร เช่น ม็อบ

อย่างไรก็ดี จะมีการยุบสภา ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ เว้นแต่ ส.ว.เลือกที่จะไม่แก้และล้มวาระ 3 ณ จุดนั้น ล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ ปัจจัยจะไม่ใช่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่จะไปอยู่บนท้องถนน เพราะเป็นประเด็นหลัก เป็นจุดร่วมของม็อบทุกกลุ่ม ตอนนี้ไม่ใช่ม็อบเด็ก แต่เป็นม็อบมืออาชีพ อย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เสื้อแดงเก่า ที่ไม่เพียงชุมนุมแฟลชม็อบ แต่มีข้อเรียกร้องที่เป็นมืออาชีพ สามารถล็อบบี้อิทธิพลทางการเมืองได้สูงกว่า

จาตุรนต์ ฉายแสง
แกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย (กตป.)

สะท้อนถึงความขัดแย้งกันภายในรัฐบาล โดยเฉพาะที่มีความเคลื่อนไหวกันในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ต้องการจะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อทำไปแล้วก็ไม่สำเร็จแต่ก็จะมีเสียงบางส่วนที่ต้องการแสดงให้เห็นไม่พอใจต่อนายกรัฐมนตรี ความจริงแล้วที่ผลออกมาเช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าเหนือความคาดคิด คือการที่ ส.ส.ในพรรคแกนนำรัฐบาลจะเคลื่อนไหวเพื่อล้มนายกรัฐมนตรีกลางสภาเป็นเรื่องยากและไม่เคยเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ส.ส.ที่ไปลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องแหกมติพรรคและต้องพร้อมเผชิญหน้าความขัดแย้งกับสมาชิกคนอื่นภายในพรรคตัวเอง

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 3 ป. ที่เขาร่วมเป็นร่วมตายกันมาตั้งแต่การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร การจัดการประชาชนรวมทั้งการทำรัฐประหารและการสร้างระบบต่างๆ เครือข่ายอำนาจต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้น เขาจะแตกกันเองถึงขั้นยอมให้มีการล้ม พล.อ.ประยุทธ์กลางสภาจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ความพยายามนี้ก็อาจจะมีทีเด็ดของดีอะไรมาจึงคิดจะทำ แต่สุดท้ายก็ต้องเจอ 3 ป.ด้วยกันร่วมกันเบรก ซึ่งคาดการณ์ได้ไม่ยากคงจะต้องมีการต่อรองเรื่องเก้าอี้ การเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อให้นักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐมีอำนาจมากขึ้น เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งในอนาคต ทั้งนี้ การจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) กันมากน้อยแค่ไหนก็คงจะต้องดูกันต่อไป และต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ลำเรื่องนี้กันอย่างไร หลังจากที่ต้องอยู่ระหว่างหน้าสิ่วหน้าขวานกันมาหลายวัน

การที่คะแนนน้อย อย่างน้อยก็เป็นการฝากแผลไว้และแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ว่ายอมไปเสียหมดเลยทีเดียว ส่วนการอภิปรายเช่นนี้ ความจริงแล้วฝ่ายค้านได้ให้ข้อมูลที่ทำให้เห็นชัดว่ารัฐบาลบริหารล้มเหลวทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีอีกบางคนที่ทำความเสียหายให้กับประเทศอย่างมาก

ซึ่งการจะให้ล้มกลางสภาเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหากเทียบกับในอดีตเมื่ออยู่ในสภาพเช่นนี้ประชาชนรับไม่ได้ก็อาจจะมีการไปแสดงออกในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคงดออกเสียงหรือถอนตัวในเวลาต่อมา การอภิปรายในครั้งนี้ก็ไม่มีแนวโน้มว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่งจะถอนตัว เพราะมีแผลไปด้วยกัน ถูกอภิปรายจนเสียหายไปด้วยกัน และเขาคงคำนึงถึงอำนาจและผลประโยชน์ในการที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะคุ้มกว่า โดยเฉพาะการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา อำนาจและเงินสามารถมีบทบาทได้มาก ฉะนั้น ยังไม่เห็นว่าจะเกิดมีการเปลี่ยนแปลงได้มากๆ ในรัฐบาล นอกจากการปรับ ครม.แล้วก็ยังไม่เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ถึงหากมีการปรับ ครม.แล้วก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังไม่เห็นความเป็นไปได้ คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะต้องผิดหวังอะไร ซึ่งหากการเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ทำได้ถึงขั้นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ไปได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีอะไร เพราะเกิดจากความพยายามกระบวนการของการต่อรองแย่งอำนาจของฝ่ายผู้มีอำนาจด้วยกัน หมายความว่าหากสามารถล้ม พล.อ.ประยุทธ์ได้ก็น่าจะมีบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาแทน เพราะอย่างไรการเลือกนายกรัฐมนตรีอำนาจสำคัญก็ยังอยู่ที่ ส.ว. และที่สำคัญคือกระบวนการในการล้ม พล.อ.ประยุทธ์ เป็นกระบวนการในเรื่องของการแย่งอำนาจกันเองภายใน

สิ่งที่จะยังเป็นปัญหาต่อไปคือ เราก็จะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล คณะรัฐมนตรีที่บริหารล้มเหลวอย่างร้ายแรงสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติอย่างมหาศาลทำงานต่อไป ประเทศก็จะเสียหายเพราะเราจะอยู่กับวิกฤตโควิดนาน และที่แย่ไปกว่านั้นคือเศรษฐกิจจะทรุดลงไปกว่านี้อีกและประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นช้ากว่าประเทศอื่นในประเทศอาเซียน

ต้องคิดกันต่อว่าประชาชนหรือนักการเมือง พรรคการเมือง ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราได้รัฐบาลที่สามารถแก้ไขประเทศได้ ตอบสนองความต้องการของประเทศได้ ภายใต้กฎกติกาที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่ประชาชนจะกำหนดอะไรได้มากนัก และต้องมาคิดถึงเรื่องที่ต้องพยายามทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลแบบนี้อยู่ต่อไปก็จะทำให้เกิดความเสียหายและมีเรื่องที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แม้จะเป็นไปได้ยากแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำให้เกิดขึ้น หากต้องการจะให้บ้านเมืองพ้นจากวิกฤตและสามารถพัฒนาต่อไปได้

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ถึงความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กับ พล.อ.ประยุทธ์ มีผลต่อคะแนนมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็มีผลอยู่บ้างไม่กี่คะแนน เพราะเป็นเรื่องระหว่าง 1 กับ 0 หากสำเร็จก็ 1 เลย สามารถล้มได้ แต่ไม่สำเร็จก็ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจะได้ 20 30 40 50 เสียง มันเป็นเรื่องที่บอกว่าจะได้ 50 เสียง หรือ 0 เสียง เมื่อ 3 ป.เขาคุยกัน ก็ร่วมมือกันระงับเหตุ สิ่งที่ฝ่ายพยายามจะล้มก็ต้องล้มเหลวไป แต่ก็ฝากรอยแผล รอยแตกแยกเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะสามารถสมานแผลได้ง่ายและเร็ว ซึ่งก็น่าติดตามกันว่าความขัดแย้งนี้จะพัฒนาไปอย่างไรและรอยแผลนี้คงไม่หายไปง่ายๆ และจะยิ่งทำให้การบริหารประเทศจะยิ่งยากมากขึ้น นายกรัฐมนตรีจะยิ่งขาดความเป็นผู้นำ ที่แย่อยู่แล้วก็จะยิ่งแย่มากขึ้น

พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

สถานการณ์ต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจใน 2 ประเด็น กล่าวคือ การแบ่งหน้าที่กันทำอย่างลงตัวของกลุ่มผู้มีอำนาจ ภาพการทำงานจะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ดูแลงานฝ่ายบริหาร ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูแลงานนิติบัญญัติและพรรคการเมือง ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะน้องรองทำหน้าที่ดูแลงานข้าราชการเพื่อต่อยอดและขยายฐานอำนาจในอนาคต

ซึ่งการทำงานในลักษณะเป็นทีมในทางการเมืองดังกล่าวต้องอาศัยความเชื่อใจระหว่างบุคคลและความร่วมใจกันอย่างสูงอันเป็นการหาได้ยากยิ่งนักในการทำงานทางการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร โดยผลลัพธ์ที่ได้จากลักษณะการทำงานดังกล่าวก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคุ้มค่ายิ่งนัก เพราะแม้ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาวะผู้นำในการบริหารงานประเทศของนายกรัฐมนตรีจะตกต่ำอยู่ในขั้นวิกฤตนับตั้งแต่เข้ามาบริหารงาน

แต่ความเสื่อมศรัทธาก็ไม่สามารถสั่นคลอนหรือทำลายความมั่นคงในการบริหารงานรัฐนาวานี้ลงได้ ดังนั้น ลักษณะการทำงานแบบหมู่คณะของกลุ่ม 3 ป. จะเป็นแนวทางใหม่อีกแนวทางหนึ่งที่ชนรุ่นหลังที่ต้องการเข้ามายึดครองอำนาจในการปกครองประเทศจำเป็นต้องเรียนรู้แทนที่แนวทางการบริหารแบบเดิมที่อาศัยความโดดเด่นเฉพาะตัวบุคคลเพียงคนเดียวเป็นตัวชูโรง

ประเด็นถัดมาคือ การกระชับอำนาจ คงต้องยอมรับกันว่าในช่วงระยะเวลาศึกซักฟอกมีกระแสข่าวการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อันบ่งบอกถึงนัยยะที่สำคัญว่า ระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้แนบแน่นดังเดิมจะเนื่องด้วยความแข็งข้อของผู้นำกลุ่มที่เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในสถานการณ์ควบคุมสมาชิกในสังกัด หรือบทบาทของนายกรัฐมนตรีเองที่ต้องการมีระยะห่างจากสมาชิกสภาผู้แทนฯเพื่อรักษาภาพทางการเมืองประกอบกับความมั่นใจในกฎ กติกาที่ใช้ในการเลือกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สามารถกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แต่ภายหลังจากเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่ากระบวนการจัดทัพใหม่ภายในพรรคพลังประชารัฐต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผ่านการปรับคณะรัฐมนตรี นอกจากจะเป็นการตอบแทนฝ่ายสนับสนุนทุกกลุ่มที่เข้ามาช่วยคานอำนาจการต่อรองแล้ว ยังเป็นการบอนไซผู้ริเริ่มก่อการไม่ให้มีอำนาจต่อรองมากเกินไปในคราวเดียวกัน

ผลจากการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จะนำไปสู่บทประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมืองไทยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดเท่าที่การเมืองไทยเคยมีมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image