รายงานหน้า2 : ส่องยุทธศาสตร์พรรค รับ‘บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ’

หมายเหตุความคิดเห็นของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ในวาระสาม ในประเด็นการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ถึงทิศทางการขับเคลื่อนการเมืองและการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 มาแล้วแนวทางกติกาใหม่ของพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีอะไรมากเป็นเพียงการวางแผนรองรับเขตใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น อย่างอื่นก็ทำงานเป็นปกติ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภามาเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมานั้น เป็นการเพิ่มจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 350 เขต เป็น 400 เขต เราก็ต้องเตรียมตัวคัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพิ่มอีก 50 เขต นอกนั้นเราก็ทำงานปกติไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย เรื่องการขับเคลื่อนในพื้นที่ เรื่องเครือข่ายประชาชน ทั้งนี้ ต้องติดตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดอย่างไร

สำหรับวิธีการคำนวณในกติกากฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ทางพรรคเพื่อไทยอยากได้นั้น ก็เป็นสูตรที่เคยคำนวณมาแล้วและเป็นที่เข้าใจกันง่าย ไม่สลับซับซ้อน และสื่อถึงความต้องการของประชาชน คือรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งจะทำให้เกิดการกินรวบหรือไม่นั้น ก็ไม่เพราะเกณฑ์ขั้นต่ำเขาก็ไม่มี ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2540 มีเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 5% คือพรรคใดที่ได้คะแนนไม่ถึง 5% ก็ตัดออก จึงทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยหายไป แต่คราวนี้หากไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำเสียอย่างก็ทำให้คะแนนของทุกพรรคไม่หายไปไหน ไม่ตกน้ำและกระจายไปทั่วเหมือนเดิม

Advertisement

ทั้งนี้ จะมีการเจรจากับพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการหาจุดกึ่งกลางการแก้กฎหมายลูกหรือไม่นั้น นายสุทินกล่าวว่า ก็ยินดีพูดคุยว่าอันไหนดีที่สุด เบื้องต้นที่เห็นพ้องต้องกันกับหลายพรรคซึ่งเคยหารือกันแล้ว เราก็ยืนอยู่จุดนี้ว่ามันดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการพูดคุยกันในสภาอยู่แล้ว เพราะเป็นการเสนอเข้าไปในสภาและในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ก็ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดรวมถึงศึกษาข้อดีและข้อเสียของแต่ละแบบอยู่แล้ว พอกฎหมายลูกเข้าสภามันก็ต้องพิจารณาด้วยกันถึง 3 วาระ ถึงตอนนั้นก็หารือกันได้

ส่วนการเดินทางของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไร จะเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะมีการมุ่งไปที่การเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออาจจะมีการยุบสภา รวมถึงนายกรัฐมนตรีอาจลาออกนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนมองแต่คนก็แยกแยะออกว่าการที่ต้องแข่งขันกันในอนาคตกับการทำงานร่วมกันวันนี้ในสภาต้องแยกแยะ หากแยกแยะไม่ได้ก็ทำงานไม่ได้ ในฐานะวิปฝ่ายค้านขอย้ำว่าจะยังคงทำงานร่วมกันเหมือนเดิม สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าการมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะเป็นการเข้าทางพรรคเพื่อไทยหมดและพรรคเพื่อไทยอาจจะชนะการเลือกตั้งนั้น ในฐานะที่อยู่พรรคเพื่อไทย คงไม่เข้าทางทั้งหมดหรอก ซึ่งเคยพูดมาตลอดว่าพรรคเพื่อไทย บัตรใบเดียวเราก็ได้เปรียบและเคยชนะมาแล้วทั้งที่ตอนนั้นเราส่งน้อยด้วย ส่งแค่ 250 เขต คนไปคิดว่าจะได้มากได้น้อยนี้เป็นการคิดเพียงแค่ระบบเลือกตั้งเท่านั้น เป็นการคิดที่ผิด เพราะมันอยู่ที่ศรัทธาของประชาชน อยู่ที่ประชาชนจะลงคะแนนให้ ลงคะแนนมากก็ได้มาก ลงคะแนนน้อยก็ได้น้อยเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเยอะ แต่ก็ยังมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยถึงแม้จะชนะเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ในส่วนนี้จะเป็นวิกฤตในสภาอีกหรือไม่นั้น หาก ส.ว.ไม่ฟังเสียงประชาชนก็มีโอกาสเกิดวิกฤต อย่างไรก็ตาม หาก ส.ว.และ ส.ส. ยึดเอาเสียงของประชาชนส่วนใหญ่มันก็จะไปได้ แต่หากไปปฏิเสธเสียงของประชาชน ถ้าไม่ยึดถือและไม่ทำตามแนวทางของประชาชนมันก็จะไม่มีวันจบ ปัญหาก็จะเกิดหรือรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้การยอมรับจากประชาชนใช่หรือไม่

Advertisement

หากไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมันก็ไปยาก ฉะนั้น ผมเชื่อว่า ส.ว.เขาก็จะฟังประชาชนและอย่าลืมว่าหากมีพรรคการเมืองเขาได้คะแนนเยอะจริงๆ ได้จำนวนเสียงเกินครึ่งของสภา ส.ว.ไม่เลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไปเลือกคนอื่น และคนอื่นที่ถูกเลือกวันนี้เขาอาจจะชนะแต่ก็ทำงานไม่ได้อยู่ดี เพราะเสียงในสภาเขาน้อยหากผ่านกฎหมายสำคัญๆ ไม่ได้ก็ต้องล้ม ส.ว.ต้องคำนึงถึง 2 ด่าน ด่านแรก คือ ต้องฟังเสียงของประชาชน ด่านสอง คือ หากดันทุรังจะตั้งพรรคที่มีเสียงน้อยก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

จากการลงมติโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ของพรรคก้าวไกล จากนี้เราก็พร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ว่าจะเป็นในระบบเลือกตั้งแบบใด ทั้งนี้ สเต็ปต่อไปคือการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับวิธีการคำนวณคะแนนเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลก็จะเตรียมเสนอวิธีการคำนวณให้กับเพื่อนสมาชิกลองพิจารณาดู ส่วนในรายละเอียดว่าจะเสนอการคำนวณรูปแบบใดก็คงรอการประชุมพรรคก้าวไกลอีกครั้งหนึ่ง

เบื้องต้นเป็นที่ชัดเจนว่าได้แบ่ง ส.ส.เขตเป็น 400 คน จากเดิม 350 คนนั้น ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลก็เตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน โดยได้เตรียมผู้สมัครในเขตต่างๆ ไว้พร้อมทั้งสมาชิก และตัวแทนประจำเขตเลือกตั้งพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อแบ่งเขตใหม่เป็น 400 เขต ก็ต้องดูอีกครั้งว่าเขตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรและตัวแทนประจำเขตเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไรตามกฎหมายลูกที่กำลังแก้ไขอยู่ ผมคิดว่าต่อจากนี้คงจะต้องเข้าสู่โหมดเตรียมการเลือกตั้งคือต้องเร่งหาสมาชิกให้ครบทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง

ส่วนจะเจรจากับพรรคการเมืองอื่นในการปรับสูตรการคำนวณระบบเลือกตั้งหรือไม่นั้น ก็คงต้องคุยกัน หากใช้สูตรการคำนวณที่คล้ายๆ กับแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP หรือระบบแบบเยอรมันก็จะเป็นการคำนวณ ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค โดยใช้คะแนนของบัตรทั้ง 2 ใบ เราคิดว่าระบบการคำนวณแบบนี้น่าจะสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้มากที่สุด แต่หากเจรจากันแล้ว ผมคิดว่าอาจจะเป็นไปได้ที่จะหาสูตรการคำนวณอื่นใดที่อาจจะไม่เคยมีใช้ในประเทศใดก็ได้มาใช้กับระบบการเลือกตั้งของไทยเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน หากเราแก้โดยกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งเหมือนเดิมก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ไม่ใช้โอกาสในช่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขให้ดีกว่าเดิม และได้การคำนวณที่ได้จำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรที่ใกล้เคียงกับคะแนนความนิยมที่ได้จากการเลือกตั้งจริงๆ

การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 400 เขต ก็มีทั้งคุณและโทษกับทุกพรรค อยู่ที่ใครเป็นคนขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่เราก็หวังว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะเป็นไปโดยเป็นเหตุเป็นผล ไม่มีอะไรที่ค้านสายตาเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เช่น ในบางจังหวัดขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งยาวมาก จากเหนือของจังหวัดถึงใต้ของจังหวัด เป็นการแบ่งเขตเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองบางพรรคหรือนักการเมืองบางคนเท่านั้น หากจะแบ่งเขตอย่างเป็นธรรมจริงๆ ก็ไม่น่าจะมีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่สำหรับพรรคก้าวไกลก็พร้อมที่จะแข่งขันในทุกระบบการเลือกตั้ง เพราะเราตั้งใจที่จะมาเป็นพรรคของประชาชนและมวลชน จึงต้องเตรียมพร้อมในทุกสนามและกติกา

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองมีความเห็นต่างกัน โดยเฉพาะการแก้ไขระบบเลือกตั้งไม่น่าจะเป็นปัญหาในการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะสุดท้ายเราทุกคนต้องการทำให้ได้ผลการเลือกตั้งที่สะท้อนคะแนนความนิยมจริงๆ และเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม จึงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่เรื่องที่อาจจะมีปัญหามากกว่าเวลาที่พรรคร่วมฝ่ายค้านทำงานร่วมกัน คือเรื่องการตรวจสอบรัฐบาล เพราะหากย้อนกลับไป 3 เวทีการทำงานร่วมกันคือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่บางพรรคบอกว่าเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ แต่ก็ไม่แน่ใจว่ายุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ถึงวันนี้แล้ว เป็นอย่างที่คาดหวังไว้จริงหรือไม่

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคก้าวไกลจะได้เสียงเท่าไหร่นั้น ผมคิดว่ายังเร็วไปที่จะประเมินเพราะเราต้องดูว่าเมื่อใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งแล้วความนิยมหรือสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะให้ตอบว่าหากยุบสภาวันนี้ แล้วเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ภายใต้ระบบหรือกติกาที่เขียนขึ้นมาใหม่ ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลก็จะได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะความนิยมทางฟากฝ่ายของรัฐบาลค่อนข้างจะลำบาก ประเมินว่าพรรคก้าวไกลอาจจะได้ 80 ถึง 90 เสียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image