บทนำวันจันทร์ที่13กันยายน2564 : อนาคต‘บิ๊กตู่’

แวดวงการเมือง ลงความเห็นว่า การปลด 2 รมต. ของพรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร. ทำให้กลุ่ม 3 ป. อันเป็นแกนนำอำนาจทางการเมืองสำคัญเกิดความแตกร้าว เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่พอใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ดำเนินการโดยไม่ปรึกษาหารือก่อน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ความแตกร้าวในเรื่องตำแหน่งและอำนาจ โดยทั่วไปค่อนข้างยากที่จะสมานให้กลับมาเหมือนเดิม และง่ายต่อการขยายผล ประกอบกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกปลด มีตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร.มีกลุ่ม ส.ส.ในสังกัดจำนวนกว่า 20 คน จึงคาดหมายว่า ความขัดแย้งนี้ ทำให้เกิดการนับถอยหลัง มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอมในปี 2566 ปัจจัยสำคัญ ยังได้แก่ การทำงานของรัฐบาลมีปัญหาในตัวเอง คะแนนนิยมมีปัญหาในเกือบทุกพื้นที่ ทำให้ขณะนี้ พรรคการเมืองต่างๆ พากันเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง

เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐสภา ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การเลือกตั้งใช้บัตรสองใบคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยคะแนน 472 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 187 คะแนน และพรรคการเมืองต่างๆ ประกาศว่าจะไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ยังมีพรรคเล็กพยายามขอเสียง ส.ว.มาสนับสนุน ซึ่งต้องใช้เสียง 1 ใน 10 หรือ 75 เสียง หากสุดท้ายไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และมีการประกาศใช้ ก็จะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เป็นแบบใช้บัตรสองใบ ทำให้โอกาสของพรรคเล็กพรรคน้อยที่จะเข้าสภา เลือนลางลงไป

ขณะที่นอกสภา มีการชุมนุมของประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและหนทางใหม่ๆ ทางการเมือง เป็นแรงกดดันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ความแข็งแกร่งลดลงจากความขัดแย้ง และจะยิ่งอ่อนกำลังมากขึ้น หากจัดการความขัดแย้งในพรรค พปชร. ไม่ได้ การเมืองในห้วงเวลาต่อไปนี้ จึงน่าจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้เปรียบจากบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว. 250 เสียง มีสิทธิลงมติกำหนดตัวนายกฯ แต่ดูเหมือนว่าความไม่แน่นอนกำลังก่อตัว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image