ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ แนะเคล็ดลับส่งออกทวีคูณทุกปี

ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ แนะเคล็ดลับส่งออกทวีคูณทุกปี

หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชน จัดงานสัมมนา ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทยŽ วันที่ 22 กันยายน 2564 รูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง โดย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทย หนึ่งในภาคเอกชนเข้าร่วมเสวนาเรื่อง มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทยŽ เนื้อหาบางส่วนในงานสัมมนาครั้งสำคัญจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

การส่งออก ถ้าตามตัวเลขที่หลายหน่วยงานโดยเฉพาะฝั่งของภาครัฐและกระทรวงพาณิชย์ คงหวังว่าปีนี้จะโตสูงขึ้นได้อย่างน้อย 6-7% มาดูถึงความเป็นไปได้การส่งออกทั้งปี 2564 จะขยายด้วยตัวเลขระดับสูงระดับนี้ได้ ขณะนี้มาถึงไตรมาสที่ 3 ของปีแล้ว เหลือเวลาอีกแค่ไตรมาสเดียวปี 2564 ถือว่าการส่งออกทำได้ดี ทำตัวเลขได้สูง แต่อย่าลืมว่าตัวเลขโตสูงส่วนหนึ่งจากส่งออกปีก่อนติดลบ ฐานจึงต่ำ แต่หากเทียบปี 2562 ยังไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตัวเลขมูลค่าก็ยังไม่ได้กลับมาได้เท่าเดิม คาดว่าปีนี้ไทยจะทำตัวเลขส่งออกได้อย่างน้อยเกิน 10% ถ้าเทียบกับปี 2562 ยังติดลบอยู่ 2-5% ต้องดูด้านนำเข้าด้วย จากไตรมาส 3 เริ่มสูง คาดว่าไตรมาส 4 ยังจะสูงต่อเนื่อง ต้องดูว่าสินค้านำเข้ามา สั่งมาเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตและส่งออกไปอีกครั้ง หรือเป็นสินค้าภาคธุรกิจนำเข้ามาเพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวธุรกิจในประเทศ หลังการฟื้นตัว

ถ้าเจาะลงไป 3 หมวดแรกของสินค้าส่งออกมากที่สุดของไทยเป็นหมวดที่มีความเป็นวัตถุดิบ หรือต้นทุนภายในประเทศ (Local Content) น้อย ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการและโรงงานของต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำตัวเลขแบ่งว่าเป็นผู้ประกอบการต่างชาติส่งออกไปสัดส่วนเท่าไหร่ การผลิตในไทยส่วนใหญ่มีลักษณะของผู้ผลิตรับจ้างผลิตสินค้าให้บริษัทว่าจ้างไปขายในยี่ห้อการค้าของตัวเอง (โออีเอ็ม) ผลตอบแทนที่ได้คือการใช้แรงงาน ค่าแรง และการว่าจ้างให้ผลิต ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบางส่วนใช้แรงงานต่างด้าวด้วย จึงอยากเสนอให้ภาครัฐวิเคราะห์หรือวิจัยเชิงลึก จะยกมาวิเคราะห์แค่กลุ่มสินค้าส่งออกเพียง 3 หรือ 5 อันดับแรกก็ได้ หลักๆ คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ หมวดยานยนต์ หมวดอาหาร มาวิเคราะห์ว่าเป็นสัดส่วนของคนในประเทศกับต่างชาติเท่าไร หากต่างชาติเป็นผู้ส่งออกมาก ก็เป็นการใช้ทรัพยากรของไทยเพื่อประเทศอื่นๆ

Advertisement

แต่ต่างชาติมาลงทุนก็มีประโยชน์ ช่วยพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี ความสามารถในการแข่งขัน การบริหารจัดการ เป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายการพัฒนาประเทศในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี น่าจะมีแผนการส่งออกอยู่ด้วย แต่อาจจะไม่ชัดเจนว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ใช้วิทยาศาสตร์นำการใช้แรงงาน การใช้ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการหุ่นยนต์ต่างๆ และพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้เร็วขึ้น จะช่วยเปลี่ยนให้การส่งออกไทยเป็นการผลิตให้มีผลประโยชน์อยู่ภายในประเทศเราได้มากกว่านี้

สิ่งที่อยากจะเห็นใน 5-10 ปีข้างหน้าคือ ไทยควรเปลี่ยนตัวเลขส่งออกให้เป็นตัวเลขเป็นผลประโยชน์อยู่ในประเทศให้ชัดเจน ทุกครั้งที่รัฐบาลประกาศตัวเลขส่งออกว่าเพิ่มขึ้น ควรจะบอกสัดส่วนจากผู้ประกอบการในประเทศด้วยว่ามีสัดส่วนเติบโตด้วยหรือเปล่า มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) มากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญคือภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวและบริการ และภาคการเกษตร เชิงลึกของเครื่องจักรเหล่านี้ควรพิจารณาผลิตผล หรือคุณค่าตกอยู่กับคนไทยให้มากขึ้น ผูกโยงไปกับการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ชั้นสูงในอนาคตให้ได้ ไม่เช่นนั้นไทยจะไม่หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง หนึ่งในปัญหาสำคัญ ไทยติดมานานเกินไป รวมทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยน้อยลงไปอีก

Advertisement

อีกเรื่องที่สำคัญคือ เศรษฐกิจไทยถูกผลักดันด้วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีมาโดยตลอด แน่นอนว่ามีผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ทำตัวเลขส่งออกให้กับประเทศพอสมควร แต่กว่า 70% ของจำนวนบริษัททั้งหมดของประเทศคือผู้ระกอบการเอสเอ็มอี ถ้าทำข้อมูลในเชิงลึกจะช่วยให้ผลักดันและพัฒนาเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างแข็งแรง ควรจะแยกตัวเลขการส่งออกจากเอสเอ็มอีกับผู้ประกอบการรายใหญ่ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ ในส่วนกรมการค้าต่างประเทศน่าจะดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ว่าถ้ามุ่งเน้นและพัฒนาให้ตรงจุดได้ จะทำให้การสร้างความแข็งแรงให้ประเทศต้องพึ่งพาเอสเอ็มอี มีแนวทางและกลยุทธ์ชัดเจนกว่านี้ได้

เพราะปัจจุบันกลยุทธ์ที่ออกไปมีประโยชน์กับแค่บางกลุ่มบางราย โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ แต่กลับไปไม่ถึงเอสเอ็มอี ดังนั้น แผนในระยะกลางหรือยาวจะต้องหาแนวว่าจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีอยู่รอด และแข็งแรงได้มากกว่านี้ ช่วยอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีให้พัฒนา เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งแอพพลิเคชั่น เครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติหรืออัตโนมัติ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการให้มากขึ้น

รวมทั้งการสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการก็มีความสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยลดภาระเรื่องค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า หรือการชดเชยประกันสังคม เป็นแค่การพยุงผู้ประกอบการช่วงสั้นๆ เท่านั้น ระยะถัดจากนี้ประกอบกับการเตรียมเปิดประเทศในปี 2565 รัฐควรนำตัวกระตุ้นมากกว่าการลดต้นทุนมาใช้ ช่วยยกระดับมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ช่วยให้อยู่รอด แต่ต้องให้พัฒนามากขึ้น ใส่เทคโนโลยีเข้าไป ยกระดับจากสินค้าพื้นฐานทั่วไปเป็นสินค้ามีมูลค่าสูงขึ้นอีก นำไปสู่ขั้นการส่งออกได้

การขยายมูลค่าการส่งออกนั้นทำได้โดยขยายฐานลูกค้า ช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ผลักดันด้านนี้มาตลอด แต่ว่าอีกสิ่งที่ช่วยคือการสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้านั้นยังไม่ได้สนับสนุนสักเท่าไหร่ เช่น เมื่อย้อนไป 20 ปีที่แล้ว ไทยผลิตเสื้อยืดคอกลมได้เก่งมาก และตอนนั้นประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ไทยขายและส่งออกเสื้อคอกลมได้เยอะมาก แต่ปัจจุบันไทยกลับสู้ประเทศอื่นไม่ได้เพราะว่าราคาต่ำลงจากฐานราคาถูกกด แข่งกับประเทศใหม่ๆ ถ้าไทยยังแข่งแบบนี้อยู่มีแต่จะต้องลดราคาเสื้อลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมูลค่าก็จะไม่เหลือ และค่าแรงของไทยถือว่าถูกเมื่อเทียบในภูมิภาค ดังนั้น ถ้าจะแข่งขันเรื่องค่าแรงไทยแข่งกับเขาไม่ได้ ไทยก็ต้องปรับตัว จากผลิตเสื้อคอกลมแบบเดิมเปลี่ยนไปผลิตเสื้อยืดที่มีฟังก์ชั่นมากขึ้น เช่น ระบายเหงื่อได้ดี ทำให้จากขายเสื้อตัวละ 50-60 บาท กลายเป็นขายตัวละ 200 บาทแทน ไทยควรหันมาผลิตสินค้าแบบนี้ ช่วยสร้างกำไรได้

การพัฒนาแบบนี้ไม่ได้มองแค่อุตสาหกรรมเสื้อผ้า แต่รัฐบาลควรจะมองทุกอุตสาหกรรม เพราะถ้ายังคงขายสินค้าแบบเดิมพื้นฐานทั่วไป ใช้การขยายตลาดใหม่ไปเรื่อยๆ มูลค่าสินค้าจะต่ำลง นอกจากขยายตลาดแล้วต้องผลักดันพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย แต่ขายให้กับตลาดเดิมได้ ลูกค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน มีการส่งออกถึง 30-40% อันดับสองคือสหรัฐอเมริกา อันดับสามยุโรป ต้องดูว่าลูกค้าคือใคร ลูกค้าต้องการอะไร ตั้งเป้าผลิตตามตลาดต้องการและพัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อไปสู่จุดหนึ่งเราจะผลิตสินค้าที่มีคู่แข่งน้อยลง และขยับไปแข่งกับประเทศใหญ่ๆ ได้

รัฐบาลผลักดันกลุ่มสินค้าประเภทใหม่ๆ เช่น สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม สินค้าสีเขียว หรือบีซีจี ลงทุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หากนำบีซีจี อีอีซี รวมทั้งการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 และการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงผนวกรวมกันให้เป็นภาพเดียวกันจะช่วยพัฒนาและมีแนวทางชัดเจนขึ้น เช่น จากการระบาดของโควิด-19 เดิมหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันพีพีอี และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ นั้นเป็นสินค้าไทยต้องนำเข้า และประเทศผลิตเพื่อส่งออกก็ไม่ยอมส่งออก เพราะเขาก็ขาดแคลน ไทยจึงถึงจุดไม่มีความมั่นคงด้านสาธารณสุข เนื่องจากไม่มีสินค้ากลุ่มนี้เองเลย เมื่อตั้งตัวได้จึงเกิดเป็นโรงงานใหม่ๆ ผลิตสินค้าเหล่านี้ กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญของไทย
แต่เมื่อมองลึกลงไปอีกแม้ว่าเราจะผลิตหน้ากากอนามัยเองได้แล้วแต่วัตถุดิบยังต้องนำเข้าอยู่ ดังนั้น ลำดับถัดไปต้องลงทุนผลิตวัตถุดิบเอง หากผลิตได้จะกลายเป็นการสร้างต้นทุนและผลประโยชน์จะตกอยู่ในประเทศมากขึ้น ต้องสร้างห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่สินค้าต้นน้ำจนถึงผลิตหรือประกอบเอง และเมื่อผลิตใช้เพียงพอแล้วก็จะกลายเป็นสินค้าส่งออกในที่สุด

นอกจากนี้ รัฐบาลควรลงทุน ศูนย์เพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้า หรือแล็บอาร์แอนด์ดีด้วย เพราะที่ผ่านมาไทยต้องเสียเงินและเวลาไปกับการส่งสินค้า เช่น หน้ากากอนามัยไปทดสอบต่างประเทศ ทำให้การพัฒนาเกิดยาก แต่ถ้ารัฐบาลลงทุนด้านนี้เพียงหลักสิบล้านบาท แต่กลับช่วยให้เพิ่มมูลค่าได้อีกเป็นหมื่นๆ ล้านบาทถือว่าเหมาะมาก เชื่อว่าถ้ามีศูนย์วิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะช่วยให้หลายอุตสาหกรรมเติบโตได้แน่นอน

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าไทยส่งออกไปมีมูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี และผลิตเพื่อใช้ในประเทศอีก 2 แสนล้านบาทต่อปี ถ้ารัฐลงทุนศูนย์เพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าขึ้นมา คาดว่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ส่งออกขยายตัวเป็น 3-4 แสนล้านได้ไม่ยาก รวมทั้งสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างมาก ให้เข้าถึงการทดสอบและพัฒนาอาจจะไม่สามารถลงทุนทำเองได้ ทำให้เสริมสร้างองค์ความรู้มาพัฒนาธุรกิจได้ ดังนั้น มูลค่าที่ได้กลับมาจะมหาศาลมาก เป็นจุดสำคัญทำให้การส่งออกในอนาคตจะโตได้อย่างทวีคูณได้ทุกปี ช่วยขยายจีดีพีอีกด้วย

ต้องคำนึงด้วยว่าการส่งออกนั้นเติบโตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพราะโลกนี้กว้างใหญ่ ยังส่งออกได้อีกเยอะ การส่งออกของไทยนั้นคิดแล้วมีสัดส่วนเพียง 5% ของโลกเท่านั้น ขณะที่การท่องเที่ยวจะขยายตัวได้แต่ละปีไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกประเทศต่างแย่งนักท่องเที่ยวกัน แม้ผลประโยชน์จะตกในประเทศสูง แต่การท่องเที่ยวก็เติบโตจำกัด ต้องคอยรักษาสมดุลการดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรของประเทศควบคู่ไปด้วย

ส่วนด้านการเกษตรเป็นอีกด้านที่สำคัญ ต้องพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมเกษตรแนวใหม่ ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการเกษตร ต้องมีเป้าหมายผลผลิตต่อคนต่อไร่ชัดเจน ไทยมีสำนักงานเกษตรกระจายจำนวนมากอยู่ทั่วประเทศ ควรทำงานไม่ใช่แค่เพียงแจกเมล็ดพันธุ์แล้วจบ แต่ต้องดูแลเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย เพื่อให้เสริมและสนับสนุนกันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้ เพราะรากฐานของไทยมาจากการเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ขาดความรู้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจับมือกัน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งภาคเอกชนเกษตร อุตสาหกรรม และการค้าต่างๆ มาหารือกัน ที่ผ่านมาการรวมกลุ่มร่วมกันของสามกลุ่มนี้เกิดขึ้นน้อยมาก มีแต่แยกกัน ต่างคนต่างพัฒนา ทำให้เติบโตช้า เมื่อเทียบไปสิบปีหลัง ไทยเติบโตช้ากว่าการเติบโตของโลก หมายความว่าไทยเราอยู่ในภาวะถอยหลัง

การที่ไทยพัฒนาช้ามากส่งผลให้คนรุ่นใหม่อยู่รอดในประเทศได้ยาก จึงจะเห็นได้ว่ามีคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากย้ายไปอยู่ประเทศอื่น การออกไปศึกษาหรือทำงานต่างประเทศมากขึ้นทำให้ไทยเสียกำลังคนหรือสมอง ทรัพยากรสำคัญไป

ดังนั้น 1.ภาครัฐและภาคเอกชนต้องมองภาพการเติบโตของประเทศให้ชัด 2.สร้างต้นทุนและผลประโยชน์ในตกอยู่ในประเทศ นอกเหนือจากการขยายตลาดใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว 3.การแยกการวิเคราะห์กลุ่มเอสเอ็มอีออกจากรายใหญ่ ทำให้สนับสนุนไปถึงเอสเอ็มอีโดยตรงมากขึ้น 4.การลงทุนของภาครัฐต้องไปให้ถูกจุด ลงทุนการวิจัยและพัฒนาที่มีการลงทุนน้อย แต่ช่วยขยายการเติบโตไปจำนวนมาก 5.การระดมสมองระหว่างภาคส่วนต่างๆ รวมถึง 6.การผลักดันโครงการใหญ่ของภาครัฐที่ชัดเจน ถ้าทำได้ตามนี้ และด้วยพลังความร่วมมือของทุกฝ่าย เชื่อว่าการส่งออกของไทยสามารถเติบโตได้เกิน 10% แน่นอน และจะช่วยพัฒนาระยะยาว รัฐบาลไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้จนมีหนี้สาธารณะสูงเกือบชนเพดาน และหนี้ครัวเรือนก็จะไม่สูงแบบปัจจุบัน เพราะมุ่งเน้นอยู่ด้านเดียว ดังนั้น ทุกเรื่องต้องทำควบคู่กันไป

สามารถรับฟังรายละเอียดได้แบบครบถ้วนเต็มๆ ได้ในงานสัมมนา ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทยŽ จัดโดยมติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิดŽ จากนั้นเปิดมุมมองบอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ ในวงเสวนา 2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทยŽ โดยนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญพลาดไม่ได้! กับวงเสวนา มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทยŽ ตัวแทนภาคเอกชนจะมาร่วมถอดบทเรียนครั้งนี้ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด วันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ถ่ายทอดสดในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ที่เฟซบุ๊ก : Matichon Online – มติชนออนไลน์, เฟซบุ๊ก : Khaosod – ข่าวสด, เฟซบุ๊ก : Prachachat – ประชาชาติธุรกิจ, ยูทูบ : matichon tv – มติชน ทีวี #มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image