บทนำวันจันทร์ที่4ตุลาคม2564 : กทม.สั่งเตรียมพร้อม

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีแผนปรับเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาใน อัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) รวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจำนวนมาก ต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในอัตรา 900-1,200 ลบ.ม./วินาที น้ำดังกล่าวต้องไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในช่วงวันที่ 1-5 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่ จ.ชัยนาท ลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม.เผยว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จึงมีหนังสือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ เตรียมวัสดุ อุปกรณ์และเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวกระสอบทราย การทำสะพานทางเดินชั่วคราว การช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมทราบเป็นระยะตามตารางน้ำขึ้น-น้ำลง ของกรมอุทกศาสตร์

และเผยด้วยว่า สำนักการระบายน้ำ กทม.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาว 78.93 กิโลเมตร เรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ ตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 97 สถานี บ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพร้อมช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง

ทุกหน่วยงานยืนยันว่าปีนี้น้ำน้อยกว่าปี 2554 จะไม่มีน้ำท่วมใหญ่ใน กทม.แน่นอน อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังไม่วางใจ เพราะไม่แน่ใจว่า กทม. จัดการเรื่องการระบายน้ำ ในท่อน้ำ ทางน้ำ ไว้ล่วงหน้าหรือไม่ และมีศักยภาพที่จะรับน้ำที่ระบายจากต้นทางมากน้อยเพียงไร ในขณะที่ กทม. เสียหายอย่างมากมาแล้วจากการระบาดของโควิด-19 หากเกิดน้ำท่วมซ้ำ ความเสียหายจะยิ่งมากขึ้นไปอีก ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าจะต้องมีตัวแทนจากประชาชนไปบริหารท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างคล่องตัวและเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image