รายงานหน้า2 : กฎ-กติกา-มารยาท แบ่งงาน‘รองนายกฯ’

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการมองความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ดึงงาน 4 กรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ จากเดิมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นผู้ดูแล

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

สะท้อนว่าต้องการรักษาความสัมพันธ์ไว้เฉพาะหน้าก่อน เพราะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นในช่วงการประชุมสภาที่ผ่านมาอย่างที่ทราบกันดี แต่ครั้งนี้จะเป็นการยื่นความรับผิดชอบให้ดูแล 4 ส่วนที่ว่านี้ก็อาจจะข้ามหน้าข้ามตาพรรคร่วมรัฐบาล อย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. ไปหรือไม่ คืออีกความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้น แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านคงเลือกแล้วว่ารักษาตรงนี้ไว้ก่อน ส่วนตรงนั้นค่อยไปคุยกัน แต่ขอตรงนี้ก่อน กล่าวคือ เป็นการรักษาความสัมพันธ์กับพี่ป้อมไว้ก่อน เอาใจท่านสักหน่อยหนึ่งเพื่อกู้วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 3 ป.

โดยปกติแล้วตามมารยาทของการแบ่งงาน ก็ต้องให้เจ้ากระทรวงที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้จัดการ-ดูแล ซึ่งเดิมที ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดูแลตรงนี้อยู่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อให้พ้นจากตำแหน่งไป พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์กับพี่ป้อมไว้ รู้สึกว่าเราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน การยกให้ พล.อ.ประวิตรดูแล 4 ส่วนนี้ ผมก็ยังแปลกใจ แต่คิดว่าอย่าไปแปลกใจเลย เพราะโจทย์มีคำตอบอยู่แล้วว่าต้องรักษาความสัมพันธ์กับพี่ป้อมไว้ หลักเสถียรภาพ (ของพี่น้องในพรรคเดียวกัน) มาก่อน จึงเกิดปรากฏการณ์อย่างที่เห็น ไม่แปลกใจในการเดินเกมที่จะต้องแสดงออกซึ่งกันและกัน แต่ถามว่าจะยั่งยืนหรือไม่ ต้องติดตามต่อไปเพียงแต่แก้วร้าวแล้ว

Advertisement

การให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เป็นวิถีทางที่ควรจะต้องคำนึงถึงหรือไม่ ในการทำงานภาพรวมพรรคการเมือง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด ยึดประโยชน์ของพรรคและกลุ่มแนวร่วมของตนเองเป็นตัวตั้งก่อน จึงเห็นปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งครั้งนี้ถือว่าแปลกในระดับหนึ่ง

จากคำกล่าวของนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนว่า หากมีจังหวะ หรือสถานการณ์เมื่อไหร่ จะเกิดการแตกหักได้ เพียงแต่ ณ วันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เราเห็นความระหองระแหง ความไม่ลงรอยของ 2 พรรคใหญ่ อย่างพรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ อยู่เสมอ เพียงแต่ยังไม่ถึงจุดที่จะต้องแยกทางกันเดิน ตอนนี้อยู่ร่วมกันไปก่อนรักษาผลประโยชน์ร่วมกันไปก่อน

พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผอ.หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ม.ราชพฤกษ์

Advertisement

นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์ความตึงเครียดมากขึ้นไปกว่าเดิมในความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 3 ป. ด้วยกัน ลดความระแวงสงสัยที่เกิดขึ้นในสายเลือดบูรพาพยัคฆ์จากการเสี้ยมของคนรอบข้าง กล่าวคือภารกิจงานใดที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทีมงานคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร นายกรัฐมนตรี ก็แสดงนัยให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าจะไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องด้วย แต่การโอนอำนาจให้กำกับดูแลดังกล่าว ไม่มีทางลุกลามไปถึงขั้นปรับรัฐมนตรีผู้ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแน่ เพราะจะทำให้ปัญหาขยายวงกว้างเกินขอบเขตมากเกินไป ประกอบกับนายกรัฐมนตรีเองก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไว้ เพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเสียงผ่านกฎหมายที่สำคัญและการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งสมัยถัดไป นอกจากนี้ ยังมองได้ว่าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ถ้ายังคงมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ ก็หมายถึงว่า นายกรัฐมนตรีคงให้ พล.อ.ประวิตรพิจารณาคนที่เหมาะสมที่จะมารับผิดชอบภารกิจงานของ 4 กรมนี้ตามเดิมด้วยตัวของท่านเอง แต่หากแม้ไม่มีผู้มาดำรงตำแหน่งใหม่แทนแล้วซึ่งน่าจะเป็นไปในแนวทางนี้มากกว่า นโยบายหรือเครือข่ายบุคคลที่ ร.อ.ธรรมนัสวางไว้ก็ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยทีมงานของพี่ใหญ่อยู่เช่นเดิม

ฉะนั้น มติ ครม.ครั้งนี้จึงไม่มีอะไรมากไปกว่า “คนเมื่อเปลี่ยนได้สมใจ งานก็ให้ไว้เช่นเคย อะไรที่ปริไปแล้วแต่อย่าให้ร้าวมากไปกว่าเดิม เกมนี้ต้องจับให้ได้ไล่ตามให้ทัน มิฉะนั้นนั่งนับวันล่มจมอับปาง”

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

โดยมารยาททางการเมืองและทางกฎหมาย การทำงานข้ามกระทรวงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะอาจทำให้เป็นปัญหาในภายหลังในเชิงอำนาจหน้าที่ ส่วนมารยาททางการเมืองก็มีการแทรกแซงมากว่าหน้าที่ของตนเอง เพราะการทำงานของคณะรัฐมนตรีจะถือว่ามีหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น จุดนี้ก็ควรให้ความเคารพซึ่งกันและกันในการทำงาน

แต่ถ้าหากหยิบประเด็นปัญหาทางการเมืองมาเป็นตัวตั้ง จากความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐหรือประเด็นความขัดแย้งของตัวบุคคลที่ พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์มองต่างกัน จะทำให้หลักการเหล่านี้ได้รับผลกระทบและทำให้จุดนี้เป็นปัญหากับการบริหารราชการแผ่นดิน และปัญหาในพรรคพลังประชารัฐรวมทั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายควรรอให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีก่อนจะเหมาะสมกว่า

อย่าลืมว่า พล.อ.ประวิตรเป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรียังไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซง หรือก้าวก่ายข้ามหน่วยงาน เพราะการทำงานรูปแบบคณะรัฐมนตรีถือว่าทุกคนมีสถานะเท่ากัน นายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นหัวหน้าของรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่มีอำนาจจะเข้าไปแทรกแซงได้ทั้งหมดทุกเรื่อง

4 กรมในกระทรวงเกษตรฯสุดท้ายไม่ว่า พล.อ.ประวิตรจะเอาไปดูเองหรือให้ ร.อ.ธรรมนัสเข้ามามีส่วนร่วม ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการต่อรอง ในการปรับคณะรัฐมนตรีหลังจากนี้ เพราะว่าการปรับนอกจากมีความสำคัญในแง่การแบ่งโควต้าให้กับแต่กลุ่มการเมืองแล้ว อีกด้านยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง จุดนี้อาจมีผลบานปลายไปสู่ความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯเป็นโควต้าของพรรคประชาธิปัตย์มีเลขาธิการพรรคทำหน้าที่รัฐมนตรี การทำงานที่ล้ำเส้นน่าจะมีปัญหาพอสมควร ขณะที่ข้อกฎหมายก็ไม่เปิดช่อง เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส ไม่สามารถมีสถานะ บทบาทหน้าที่ตามกฎหมายไปควบคุมกำกับหน่วยงานต่างๆ ขณะที่ พล.อ.ประวิตรเป็นรองนายกรัฐมนตรี ต้องทำตามหน้าที่ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์พรรคการเมืองเก่าแก่ ที่ผ่านมาพยายามโชว์ตัวเองอยู่ตลอด ว่ายึดมั่นในระบอบรัฐสภา การเมืองในระบอบรัฐสภา คณะรัฐมนตรีต้องอยู่บนหลักการของความรับผิดชอบร่วมกัน หากรักษาหลักการนี้ไม่ได้พรรคประชาธิปัตย์คงต้องมีการแสดงออกที่มากกว่าการพูดของหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคบางคน และในสถานะรัฐบาลผสมมีการรวมกันเป็นความหลากหลายของพรรคการเมือง หรืออุดมการณ์ความคิด ในทางปฏิบัติก็ควรแสดงออกทางการเมืองที่มากกว่านี้ เพื่อทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนอยู่บนหลักการที่ตัวเองพยายามนำเสนอต่อสังคมมาโดยตลอด และหากมีแค่การพูดแต่ยังร่วมรัฐบาลต่อไป ทั้งที่ปัญหาหลายอย่างรุมเร้าก็ไม่อาจเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าต่อไปพรรคประชาธิปัตย์ยังคงยึดถือแนวทางแบบเดิมหรือไม่

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นการเคลียร์ใจระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร เพื่อการประสานรอยร้าว ไม่ทำให้เห็นว่ามีการตัดญาติขาดมิตร ที่สำคัญหลังปมความขัดแย้งครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรยังให้ราคา ร.อ.ธรรมนัสค่อนข้างมาก เพื่อวางกลไกในการต่อสู้ทางการเมืองในระยะยาว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะเล่นเกมหลายหน้า ด้านหนึ่งก็ผ่อนปรนให้พี่ใหญ่ เพื่อให้ ร.อ.ธรรมนัสคุมงานต่อ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รัฐมนตรีช่วย เพื่อหวังผลถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปเพราะถึงจุดหนึ่ง ก็อาจกลับมารวมกันอีก จากการวางแผนตั้งพรรคการเมืองใหม่รองรับการสืบทอดอำนาจ และจะเห็นว่าการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ในหัวเมืองต่างจังหวัดมีการเชื่อมสายสัมพันธ์กับนักการเมืองเก่าหลายกลุ่ม

ในเวลาเดียวกันยังมีการปล่อยข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ยื่นเงื่อนไขให้ พล.อ.ประวิตรเอางาน 4 กองไปคุมเอง โดยไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลบางคน ก็คงเหมือนการแก้เกี้ยว เพราะเพิ่งสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัสออกไปไม่นาน สุดท้ายแล้วไม่ต้องการให้ใครคิดว่าต้องขอให้กลับมาทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า โดยไม่รอช่วงที่มีการปรับ ครม.

ในมุมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกลบเหลี่ยมในกระทรวงสำคัญ คงไม่ต้องการเปิดเกมต่อรองกับพรรคแกนนำ เพราะเป็นพรรคขนาดกลาง ที่มีปัญหาขัดแย้งภายในค่อนข้างมาก แกนนำพรรคก็คงวิตกว่าไม่ต้องการมีปัญหาความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน และมองว่าในปีหน้าคงมีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนการเลือกตั้ง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์หากมองจากพื้นที่ทางการเมืองถือว่าถดถอยต่อเนื่อง พื้นที่ภาคใต้ฐานที่มั่นใหญ่ก็มีการแบ่งเก้าอี้ให้พรรคการเมืองอื่นมากพอสมควร สนามเลือกตั้งใน กทม.ที่เคยรุ่งเรืองก็น่าเป็นห่วง เพราะยังไม่มีจุดขายกับคนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image