ท่าที ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

รายงาน : ท่าที ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการและนักการเมือง ต่อท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับภาพสะท้อนและทิศทางของรัฐบาล

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)

ส่วนตัวประเมินว่าเบื้องลึกจริงๆ พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เคลียร์กันไม่ได้ ปัจจัยเนื่องจากตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เอารัฐมนตรีออก 2 คน คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งโดยมารยาททางการเมือง นายกฯจะเอารัฐมนตรีในโควต้าของพรรคใดออก จะต้องแจ้งหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของโควต้ารัฐมนตรีนั้นๆ แต่นายกฯกลับไม่แจ้งล่วงหน้า ปลดรัฐมนตรี 2 คน ออกเลย แบบนี้ถือว่าไม่ให้เกียรติ แม้ว่าตอนเรียน จปร.จะรักกันอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเข้ามาสู่สนามการเมืองแล้วทุกคนต่างมีภารกิจที่ต้องทำแตกต่างกันไป พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค นายกฯปลดคนในพรรคเขาออกก็ถือว่าเป็นเรื่องที่รับยากเหมือนกัน

Advertisement

ส่วนกรณีการเอา 4 กรมคืนกลับไปให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รวมถึงกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าจะส่งผลเป็นรอยร้าวในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาที่จะมาถึงนี้ด้วยอย่างแน่นอน เพราะแม้จะตัดสินในดึงกลับคืนให้ ปชป.แล้ว แต่สิ่งที่แสดงออกมาคือการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดหลักที่ควรจะเป็น แม้ว่าโควต้ารัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ตำแหน่งจะเป็นโควต้าของ พปชร.ก็ตาม แต่เมื่อนายกฯไม่ตั้งคนเข้ามา หลักการบริหารราชการแผ่นดินก็ควรเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การเอาคืนไปคืนมาแบบนี้ผมประเมินว่าจะกลายเป็นรอยร้าวในการทำงานในรัฐบาล ทั้งนี้ ผมขอให้จับตากฎหมายสำคัญๆ ที่จำเป็นต้องใช้เสียงในการผ่านร่างกฎหมาย บวกกับท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล

ผมคิดว่า หากในพรรครัฐบาลยังมีปัญหาแบบนี้อยู่เชื่อว่าเปิดสมัยประชุมมารัฐบาลก็คงจะไปได้ลำบาก

—————————-

Advertisement

รังสิมันต์ โรม
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีรักใคร่ สนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร ด้านหนึ่งคือการพยายามบอกว่าไม่มีเรื่องอะไร แต่ลับหลังเราก็เห็นกันอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ยอมให้ พล.อ.ประวิตร ในแบบที่เคยเป็นมา จึงเป็นความขัดแย้งที่มีอยู่ และทั้งสองฝ่ายก็คงจะพยายามช่วงชิงกันต่อไป ดังนั้น การแสดงท่าทีรักใครต่างๆ เป็นเพียงการลดภาพความแตกร้าว อีกด้านคือเราไม่สามารถมองแค่เรื่องท่าทางการโอบกอดไหล่กัน เพราะคู่รักที่เลิกกัน ภาพสุดท้ายที่มีให้เห็นคือการแสดงความรักใคร่กัน ดังนั้น เราจะต้องดูจากการกระทำในส่วนอื่นๆ ซึ่งก็เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์คือคนที่เขี่ย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทุกคนรู้ว่า ร.อ.ธรรมนัส มีความสำคัญอย่างไรต่อ พล.อ.ประวิตร ดังนั้น จึงเป็นการสั่นสะเทือนอำนาจของ พล.อ.ประวิตร ที่มีต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังนำอำนาจการกำกับดูแล 4 กรมภายในกระทรวงเกษตรฯไปคืนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ยิ่งเป็นการชัดเจนว่านี่คือการบ่อนทำลาย พล.อ.ประวิตรมากขึ้น ผมคิดว่าหาก พล.อ.ประวิตรยังอยู่ในการตั้งรับเช่นนี้ ในท้ายที่สุด อำนาจของ พล.อ.ประวิตร จะค่อยๆ ลดลง หรืออาจจะไม่มีอำนาจเหลืออยู่เลยในระยะยาว ซึ่งจะยิ่งทำให้พรรค พปชร. ซึ่งมีหัวหน้าชื่อว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ประโยชน์จากการเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะทำให้ส.ส.พรรค พปชร. ตัดสินใจทิ้ง พล.อ.ประวิตรไป พูดง่ายๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการถีบส่งพล.อ.ประวิตร ให้ออกจากเรือ หากใครยังสนับสนุน พล.อ.ประวิตร ต่อไปก็จะถูกถีบตกไปด้วย

ส่วนการดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้าเป็นเรื่องปกติก็ควรจะดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทำไมถึงมาเกิดขึ้นในช่วงนี้ที่เกิดความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลไกขององค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมต่างๆ อยู่ภายใต้การบงการและควบคุม ในสถานการณ์ที่รัฐบาลไม่เกิดความขัดแย้ง กลไกนี้ก็จะไม่ทำงาน เพราะทุกฝ่ายจะแพคกันแน่น แต่เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น องค์กรเหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อห้ำหั่นกันเอง

แต่ก็จะเป็นคำถามต่อไปว่าการเกิดคดีความขึ้นกับน้องชายพล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นแค่การต่อรองให้คืนตำแหน่งให้คนของพล.อ.ประวิตร หรือไม่ ผมจึงยังไม่มั่นใจว่าจะถึงขนาดเอากันให้ติดคุกหรือไม่ เพราะต้องดูระดับความขัดแย้ง และผลประโยชน์จะมีการแบ่งสรรได้ลงตัวแค่ไหน ตอนนี้ต้องยอมรับว่าการสมานบาดแผลของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เกิดขึ้นได้ยากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทั้งสองคนคงจะไม่กลับไปรักกันเหมือนเดิม ดีที่สุดคือการอยู่แบบทรงๆ กันไป อยู่เพื่อผลประโยชน์

ทั้งนี้ หากดูท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะเอาจริงเอาจังมากกับการกระชับอำนาจของตัวเองให้มั่นคงถาวรมากยิ่งขึ้น เพราะได้เรียนรู้แล้วว่า หากตัวเองไม่มีเพาเวอร์ในพรรค พปชร. เลย จะทำให้ในท้ายที่สุดจะเกิดความยากลำบากในการรักษาเก้าอี้นายกฯ เอาไว้

————————–

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร กับพล.อ. ประยุทธ์ที่แยกกันเดินยังคงมีอยู่ แม้จะบอกว่าเป็นการแบ่งงานกันทำ แต่ภาพของ ส.ส.หรือบรรดาทีมงานที่แบ่งฝ่ายไปร่วมสนับสนุนการลงพื้นที่ เป็นภาพที่เห็นได้ชัดว่าในพรรคกำลังมีการแบ่งค่าย แบ่งมุ้งทางการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น

สำหรับกลุ่มที่ไม่มีความใกล้ชิดกับพล.อ. ประวิตรก็จะมาอยู่กับนายกรัฐมนตรี หรือกลุ่มที่กำลังต่อรองอะไรต่างๆ ในพรรค อย่างเช่น ล่าสุดการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่ จ.นครศรีธรรมราชเป็นกลุ่ม ส.ส.ของพรรคในภาคใต้หรือกลุ่มด้ามขวานจะไปติดตาม พล.อ.ประยุทธ์

เพราะฉะนั้นพรรคต้องคิดว่าทำอย่างให้เห็นว่ายังมีเสถียรภาพ เพราะเป็นปัญหาสำคัญของพรรค จึงมีการตั้งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคดึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เข้ามาทำงานเพราะมีภาพการทำงานที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี ขณะที่เดิมนายพีระพันธุ์ เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นมีโอกาสทำหน้าที่ที่ปรึกษาในฐานสายตรงของนายกรัฐมนตรี ล่าสุด เมื่อมีชื่อเป็นที่ปรึกษาให้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เห็นภาพของความสมัครสมานภายในพรรค ส่วนแกนนำกลุ่ม
สามมิตรระยะหลังไม่ได้ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตรมากนักเพราะว่ามีกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ใกล้ชิดมากกว่า

แต่ถึงที่สุดหลายฝ่ายคงไม่เชื่อว่านักการเมืองในพรรคจะไปได้ราบรื่น เนื่องจากธรรมชาติของพรรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากฐานทางอุดมการณ์จะมีลักษณะแบบนี้

สำหรับสถานะของพี่น้อง 3 ป.ไม่ได้มีบารมีทางการเมืองที่เท่าเทียมกันจริง แม้ระยะหลังพล.อ.ประยุทธ์จะออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีฐานในพรรค ไม่มีพรรคพวกกว้างขวางในหลายวงการเท่ากับ พล.อ.ประวิตร โดยเฉพาะในกลุ่มทหาร ทำให้พล.อ.ประวิตรดูเหมือนจะมีกลยุทธ์ทางการเมือง มีบารมีมากที่สุดใน 3 ป. เหมาะสำหรับการเป็นนักการเมืองมากกว่า ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ชอบสัมผัสนักการเมือง เพราะไม่มีตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่เข้าสู่วงจรการเมืองตั้งแต่ปี 2557 แต่ชอบบอกกับสังคมว่าตัวเองยังเป็นทหาร ดังนั้นวิธีคิดหรือการมองนักการเมืองในเชิงลบน่าจะมีมากกว่า พล.อ.ประวิตร

แต่หลังจากเปิดประชุมสภาในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลจะมีผลกระทบจากพรรคการเมืองที่จะต่อรองทั้งปัจจัยภายในและภายนอก สำหรับการต่อรองภายใน จะเห็นว่าในพรรคพลังประชารัฐมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาทุกครั้งที่มีประเด็นทางการเมือง ทั้งการพิจารณากฎหมาย การเข้าสู่ตำแหน่งก่อนปรับ ครม.

ขณะที่พรรคร่วมก็มีเกมการเมืองโดยตลอด ล่าสุด มีการคืน 4 กรมในกระทรวงเกษตรฯที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้นเมื่อเปิดสภาจะมีเกมต่อรอง หรืออาจลุกลามไปเกมแจกกล้วย เพื่อให้การขับเคลื่อนอำนาจสงบนิ่งมากที่สุด ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในระบบคู่ขนาน เพราะทำให้การบริการจัดการในพรรคร่วมทำได้ง่ายขึ้นไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองมากมายที่เต็มไปด้วยการ
ต่อรอง และขณะนี้โครงสร้างการเมืองใหญ่ยังไม่แก้ไข เช่น ยังมี 250 ส.ว.จาก คสช.ยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

สุดท้ายทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นประโยชน์กับพรรคพลังประชารัฐมากกว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า

—————————–

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการภาควิชาการรัฐศาสตร์

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรีความพยายามจากหลายปัจจัยที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐสงบเงียบ ถือว่าเป็นการทำการเมืองซ้อนการเมือง การเมืองแรกในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลต้องการมีชัยชนะเหนือคู่แข่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกชัดเจนว่าจะขอเวลาอีก 5 ปี แต่วันนี้มีการเมืองซ้อนอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ เพราะก่อนหน้านี้คงเห็นร่องรอยความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส ทำให้พรรคถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ดังนั้นการแต่งตั้ง นายสมศักดิ์ นายพีระพันธุ์ เป็นเรื่องของการเมือง ต้องการกระชับพื้นที่ แม้พล.อ.ประวิตรบอกว่าจะมาช่วยงาน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแกนนำทั้ง 2 คนที่ดึงมาเป็นขุนพลทางการเมืองที่มีประสบการณ์สูงในคอนเนคชั่นที่กว้างขวาง โดยเฉพาะนายพีระพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มเซนคาเบรียลคอนเนคชั่น มีภูมิหลังใกล้ชิดพล.อ.ประวิตรมานาน จึงถูกดึงเข้ามาเพื่อสร้างความเชื่อมั่น หากต้องการไปผนึกกำลังกับนักการเมืองกลุ่มใดก็ตามที่ต้องการร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่กำลังของ พล.อ.ประยุทธ์ภายในพรรคเบาบางลงเรื่อยๆ เพราะขุนพลคนสำคัญถูกกระชับพื้นที่เข้ามาใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรมากขึ้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องประเมินว่าสถานการณ์ขณะนี้จะไปทางไหน
พรรคเศรษฐกิจใหม่ของ พ.อ.สุชาติจะไปต่อได้หรือไม่ แต่ถ้ามองอีกมุม มองให้ลึกทั้ง 3 ป. อาจเล่นเกมแยกกันตี รวมกันเดิน เพราะถึงที่สุดทั้ง พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องประสานรอยร้าว แต่ใน
ระหว่างกลางยังมีปัญหาจาก ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเชื่อว่าวันนี้ต่างฝ่าย ต่างทำหน้าที่ แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง

ที่สำคัญที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่หงายหน้าไพ่ตัดสินใจปรับ ครม.เพราะอาจมีใจกับพรรคการเมืองใหม่ ดูได้จากการลงพื้นที่ภาคใต้ พ.อ.สุชาติบอกว่าจะเอา 15 ส.ส.ภาคใต้ไปด้วย และการไปภาคใต้ไม่มั่นใจว่าอาจจะไปต่อรองโควต้ารัฐมนตรีให้กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ด้วยหรือไม่ นอกจากนั้นทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจประเมินท่าทีว่าเมื่อนายสมศักดิ์ไปเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคแล้วยังมีกลุ่มอื่นไหลไปอีกหรือไม่ ทำให้ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนจะลดความแข็งกร้าว มีท่าทีผ่อนปรน ยินยอมตามอำนาจการต่อรองของ พล.อ.ประวิตร

ดังนั้นต้องติดตามว่าการปรับ ครม.อาจจะไม่ปรับเพียง 2 รัฐมนตรีที่ถูกปรับออก แต่อาจมีการปรับใหญ่ เพื่อดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเดิมเกมอย่างไรในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้ลงตัว ส่วนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะไม่ปรับคงไม่ได้เพราะมีภารกิจสำคัญที่จะต้องบริหารจัดการ

มีการประเมินว่า ร.อ.ธรรมนัสในฐานะเลขาธิการพรรค อาจต้องขาลอย เพราะถ้าได้ตำแหน่งรัฐมนตรีก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เสียหน้าเป็นอย่างมาก ภาพลักษณ์ของรัฐบาลคงตกต่ำมากกว่านี้ นอกจากให้ พล.อ.ประวิตร เป็น มท.1 ก็อาจจะพ่วง ร.อ. ธรรมนัสเข้าไปเป็นเลขาฯตามที่มีกระแสข่าว แล้วให้ทำงานบางเรื่องแทน พล.อ.ประวิตร โดยนายกรัฐมนตรีอาจยอมถอยบ้างเพื่อเดินไปข้างหน้าเพื่อเป้าหมายในการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image