ทรรศนะ ‘นักวิชาการ-เอกชน’ ไทยร่วม ‘CPTPP’ ได้-เสีย ผลต่อ ‘การค้า-ลงทุน’

ทรรศนะ ‘นักวิชาการ-เอกชน’ ไทยร่วม ‘CPTPP’ ได้-เสีย ผลต่อ ‘การค้า-ลงทุน’

หมายเหตุ – ความเห็นจากนักวิชาการและภาคเอกชนถึงกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ “ซีพีทีพีพี” ที่กลับมาเป็นที่สนใจและสร้างความกังวลให้กับการค้าระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังประเทศจีนและอังกฤษ ประกาศจะเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี จนรัฐบาลไทยต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

เมื่อประเทศจีน ไต้หวัน และอังกฤษ แสดงความต้องการเข้าร่วมโครงการซีพีทีพีพีอย่างชัดเจนนั้น ทำให้ความจำเป็นของเราในการเข้าร่วมซีพีทีพีพีมีมากขึ้น

Advertisement

ขณะนี้แม้ทั้ง 3 ประเทศยังไม่ได้เข้าร่วม แต่เราเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่เป็นสมาชิกซีพีทีพีพีอยู่แล้ว จาก 11 ประเทศ โดยสินค้าของประเทศที่เข้าร่วมซีพีทีพีพี หากส่งไปทั้ง 11 ประเทศนี้ เราจะเสียเปรียบเพราะไม่มีเขตการค้าเสรีร่วมกัน ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก เปรู และชิลี ที่อยู่ในซีพีทีพีพี ขณะที่อาเซียนทั้ง 4 ประเทศจะได้เปรียบเพราะเป็นสมาชิกอยู่แล้ว สามารถส่งสินค้าเสียภาษีนำเข้าเท่ากับศูนย์ และไม่มีโควต้านำเข้าด้วย

ความเสียเปรียบอีกข้อ คือ เรามีข้อตกลงการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) 15 ประเทศ ที่มีอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งทั้ง 4 ประเทศที่เราเสียเปรียบเขาอยู่แล้วในตอนนี้ก็เป็นสมาชิกในอาร์เซ็ปและซีพีทีพีพีด้วย ทำให้ประเทศไทยที่อยู่ในอาร์เซ็ป แต่ไม่ได้อยู่ในซีพีทีพีพี ส่งผลให้สินค้าที่เราส่งไปในอาร์เซ็ป สามารถส่งได้ในข้อตกลงที่เท่ากับ 4 ประเทศ แต่เนื่องจากประเทศที่อยู่ในซีพีทีพีพีใช้มาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานของอาร์เซ็ป ทำให้การส่งสินค้าขายกับประเทศในซีพีทีพีพี อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในอนาคตประเทศเหล่านี้อาจไม่รับ เพราะใช้มาตรฐานสินค้าของซีพีทีพีพีที่สูงกว่าอาร์เซ็ป ประเทศไทยจะถูกกีดกันทางการค้าได้

หากจีน ไต้หวัน และอังกฤษ เข้าร่วมซีพีทีพีพีได้ ไทยจะยิ่งเสียเปรียบมากกว่าเดิม เพราะสินค้าที่ส่งออกจากเวียดนาม หรือมาเลเซีย สามารถส่งไปอังกฤษ หรืออื่นๆ ได้ ส่วนสินค้าไทยที่ส่งไปจีนไม่มีปัญหา เพราะมีข้อตกลงการค้าทวิภาคีอยู่แล้ว แต่การส่งไปไต้หวันที่ไม่มีข้อตกลง ทำให้เราเสียเปรียบ และการส่งไปประเทศสมาชิกซีพีทีพีพีอื่นๆ ทั้ง 4 ประเทศเขาไม่ต้องเสียภาษี แต่เราต้องเสียภาษีนำเข้า

Advertisement

รวมถึงหากจีนเข้าร่วมซีพีทีพีพีได้แล้ว จีนจะต้องผลิตสินค้าให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงของซีพีทีพีพี ซึ่งสินค้าไทยจะต้องผลิตให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเช่นกัน เพื่อส่งสินค้าขายให้จีนได้ ทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น แถมยังเสียภาษีนำเข้าด้วย หากทั้ง 3 ประเทศเข้าซีพีทีพีพีได้ ความเสียเปรียบของประเทศไทยต่อเวียดนามจะมีสูงมากขึ้น

นอกจากการเสียเปรียบทางการค้าแล้ว ในด้านการลงทุน จะเริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติจะหันไปเลือกลงทุนในเวียดนาม หรือมาเลเซีย เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษี และสามารถส่งออกสินค้าได้ตามมาตรฐานซีพีทีพีพีอยู่แล้ว จึงไม่ถูกกีดกันทางการค้า แต่สินค้าไทยที่มีมาตรฐานน้อยกว่า จะถูกกีดกันทางการค้า ยกเว้นว่าประเทศไทยจะมีข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี แต่เมื่อยังไม่มี ก็ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในที่อื่นมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มา เพียงแต่จะคิดถึงความได้เปรียบของประเทศอื่นมากกว่า ตรงนี้ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะขนาดประเทศไทยเองถึงจุดหนึ่งก็ต้องย้ายฐานการผลิต เพราะหากไม่ย้ายฐานการผลิต จะเสียเปรียบคู่แข่ง

ดังนั้น การเข้าร่วมซีพีทีพีพีไม่ได้มีผลกับการค้าเท่านั้น แต่ส่งผลกับการลงทุนด้วย ซึ่งเวียดนามจะได้ประโยชน์ 2 ต่อ เพราะการลงทุนจะถูกย้ายฐานการผลิตเข้าไปมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งกำเนิดสินค้า ทำให้ไทยเสียเปรียบทั้งการส่งออกและการดึงนักลงทุนต่างชาติ

กรณีของจีน อังกฤษ และไต้หวัน ถึงจุดหนึ่งก็คงจะเข้าได้ แต่คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปี เนื่องจากทั้ง 11 ประเทศสมาชิกต้องเห็นด้วย เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันสูง โดยเฉพาะประเทศจีน ที่จะเจอปัญหายากกว่าประเทศอื่น เพราะติดเรื่องมาตรฐานสินค้าและเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงจีนเป็นสังคมนิยม ทำให้ต้องคุยกันนาน แต่มองว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจ เมื่อถึงเวลาก็จะเข้าได้ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมตัว เพราะหลายประเทศในอาเซียนอื่นๆ ก็อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะเข้าร่วมโครงการซีพีทีพีพีเช่นกัน เช่น อินโดนีเซีย

ในทุกการเจรจามีต้นทุนทั้งนั้น แต่ขณะนี้หลายเรื่องมีปัญหาลดลง ทำให้แม้การเข้าร่วมจะมีต้นทุน แต่เมื่อบวกลบแล้ว ผลได้มีมากกว่าเสีย ไม่อย่างนั้นประเทศต่างๆ คงไม่เข้าร่วม

ทางแก้ปัญหาของผลเสียที่เราต้องเสียเปรียบนั้น คือ 1.เราสามารถเจรจาขอสงวนสินค้าตัวที่เราเสียไม่ได้ อาทิ กาแฟ ไม้ดอก 2.หากขอสงวนไม่ได้ ก็ขอเวลาสักระยะในการขายระหว่างกัน และ 3.การปรับเงื่อนไขให้เหมาะสม อาทิ การจัดซื้อโดยรัฐบาลที่เราแพ้หลายประเทศ เหมือนเวียดนามที่ปรับเงื่อนไขและตั้งกลไกให้เข้ามาได้ยากขึ้น พูดง่ายๆ คือ เราจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดก่อนเข้าร่วม

ข้อสำคัญ คือ มีหลายสินค้าไทยที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลต้องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ทั้งด้านมาตรฐานสินค้า ที่ต้นทุนจะสูงขึ้น เพื่อสู้หลายๆ ประเทศได้ ส่วนสินค้าที่ไม่สามารถสู้ได้จริงๆ รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยคนเหล่านี้ เพื่อให้อยู่ได้ หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้ขายสินค้าและทำธุรกิจได้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมตัวและเจรจาให้ชัดเจน เพราะต้นทุนในการเข้าร่วม
ซีพีทีพีพี มีมากพอสมควร

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานหอการค้าไทย

ซีพีทีพีพีถือเป็นเรื่องสำคัญในเวทีการค้าโลก ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เห็นชอบให้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อเร่งรัดการเดินหน้าประเทศไทยเข้าเจรจาซีพีทีพีพี เพราะไม่แค่ปัจจุบันทางจีน อังกฤษ และไต้หวัน ยื่นเจตจำนงเข้าร่วมเจรจากับซีพีทีพีพีแล้ว หากไทยล่าช้าไปกว่านี้ อาจต้องเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศทั้ง 3 เพิ่มเติม จากเดิมที่ต้องเจรจากับ 11 ประเทศที่เป็นสมาชิกซีพีทีพีพี ในปัจจุบัน และจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ กกร.เคยทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ถึงจุดยืนของภาคเอกชนและผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของภาครัฐไปแล้ว พร้อมยื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ โดยให้ กนศ.จัดประชุมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมโดยเร็ว โดยภาคเอกชนจะนำเสนอผล การศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวมของการเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพี คาดหวังว่าจะมีการจัดประชุมภายในปีนี้

ภาคเอกชนต้องเร่งรัดรัฐบาลให้ตัดสินใจเข้าเจรจาจะเข้าร่วมซีพีทีพีพี หรือไม่ เพราะหากรัฐบาลเห็นชอบก็ต้องใช้เวลากว่า 4 ปี จึงจะได้ข้อยุติ ซึ่งระหว่างนี้หากไทยยังไม่ได้ถูกรับรองจากทุกประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี หากมีประเทศใดถูกรับรองเป็นสมาชิกเพิ่ม ไทยก็ต้องเจรจาให้ประเทศนั้นรับรองไทยด้วย จะยิ่งเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น

3 ประเด็นหลักจากผลการศึกษาของภาคเอกชน ที่ไทยจะได้ประโยชน์ คือ เรื่องแรก ด้านนำเข้าและ
ส่งออก โดยเฉพาะตลาดแคนาดา และเม็กซิโก ไทยจะ
มีทางเลือกนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่มีราคาถูกลงและเป็นต้นทุนที่แข่งขันได้มากขึ้น ซึ่งแวลูเชนต่อการผลิตและส่งออก จะแข่งขันได้ดีต้องคำนวณจากวัตถุดิบที่ได้แหล่งในกลุ่มประเทศสมาชิกในแต่ละกรอบความร่วมมือด้วย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีเมื่อเป็นสมาชิกภาคีนั้นแล้วจะได้มากกว่าประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก

เรื่องที่สอง คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตอนนี้เสน่ห์ประเทศไทยถอยหลังทุกที ก่อนหน้านี้ไทยถอยหลังจากค่าแรงงานแพงและขาดแคลนแรงงาน แต่ไทยแก้ไขผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยชูเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ทดแทนการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนค่าแรงที่ขยับต่อเนื่อง แต่ตอนนี้หลายประเทศอัดเพิ่มสิทธิประโยชน์มากมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ

ดังนั้น หากไทยไม่ชัดเจนว่าจะเข้ากรอบการค้าเสรีใด หรือไม่มีการสิทธิประโยชน์ที่จูงใจเพียงพอ ประเทศที่กำลังตัดสินใจลงทุนนอกประเทศอาจไม่มีไทยในนั้น อีกทั้งวิตกถึงนักลงทุนต่างชาติเดิมในไทย อาจย้ายฐานการผลิต หรือเพิ่มลงทุนในประเทศอื่นแทน รวมทั้งนักลงทุนคนไทยเองก็อาจเลือกลงทุนในประเทศที่ได้สิทธิประโยชน์มากกว่าด้วย ซึ่งเป็นธรรมชาติของการลงทุน ประเทศใดสดใสกว่า มีองค์ประกอบพื้นฐานที่เอื้อการผลิตได้ดีกว่า จะถูกเลือก หากดูเงินสะพัดจากลงทุนมาไทยจะเห็นว่าลดลงต่อเนื่องแล้ว

เรื่องที่สาม คือ ความร่วมมือระหว่างประเทศ จะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้ยั่งยืนมากขึ้น บังคับให้ต้องปฏิบัติตามกติกาโลก เหมือนที่ไทยเป็นสมาชิกในอาเซียนและอาร์เซ็ป ที่จะมีผลบังคับใช้ปีหน้าแล้ว หากประเทศใดไม่พร้อมเปิดเสรีได้ทันที ประเทศสมาชิกอื่นก็ให้การผ่อนปรนในการปรับตัวจากปกติภายใน 5 ปีหลังเปิดเสรี เป็น 10-20 ปี
ในผลการศึกษากับการเข้าซีพีทีพีพี ที่ตอนนั้นประเมินจากสมาชิกตั้งต้น 11 ประเทศ หากไทยเข้าเป็นสมาชิกได้จะช่วยเพิ่มจีดีพีอีก 0.12% ต่อปี แต่หากไทยไม่เข้าเป็นสมาชิกจะกระทบต่อจีดีพี 0.25% และมีโอกาสที่จะได้เพิ่ม หรือเสียหายมาก แบบก้าวกระโดดได้ทั้งนั้น

สำหรับข้อกังวลกับการเข้าซีพีทีพีพีที่มี 3-4 ประเด็นอ่อนไหว อาทิ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา การจัดซื้อโดยรัฐนั้น ไทยต้องปรับตัว ทุกเรื่องรัฐบาลสามารถเร่งแก้ไขได้ เช่น เร่งขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชดั้งเดิมและสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อให้แข่งขันได้มากขึ้น
เรื่องการเข้าถึงยา หากเป็นยาจำเป็น เช่นตอนนี้โควิดระบาด ยารักษาโควิดที่เป็นวิกฤตของผู้ป่วย รัฐบาลก็จะมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว และมักเป็นเรื่องที่มีการยกเว้นให้ระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกันไทย ตอนนี้ไทยกำลังสูญเสียความได้เปรียบจากที่เคยได้รับสิทธิความช่วยเหลือด้านต่างๆ กับนานาประเทศ เช่น จีเอสพีจากสหรัฐ หรือสิทธิภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆ จะหมดลงเรื่อยๆ ต่อไปสินค้าที่ส่งออกต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่ม ราคาสินค้าจะแพงขึ้น

อีกเรื่องคือความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ไม่อาจคาดเดาได้ แต่แน่นอนว่า หากการเมืองเปลี่ยนหรือการผลักดันให้ไทยยื่นจำนงเข้าเจรจากับ ซีพีทีพีพีได้ทันรัฐบาลปัจจุบัน ก็ต้องรออีกหลายปีกว่าจะได้ข้อสรุป ทำให้โอกาสการแข่งขันของไทยจะถอยหลังไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ความสามารถแข่งขันทางการค้า แต่จะสูญเสียความสามารถแข่งขันด้านลงทุนให้กับประเทศคู่แข่งด้วย

ไทยจะอยู่ใน Comfort Zone หรือพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้แล้ว หากวันนี้ไม่ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และยุคหลังโควิดหมดลง หากประเทศไทยเราอยู่นิ่งก็ถือเป็นภาวะอันตรายที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image