ส่องรอยร้าว ‘พปชร.’ เกมใหม่ล้างไพ่-ดีดธรรมนัส

ส่องรอยร้าว‘พปชร.’ เกมใหม่ล้างไพ่-ดีดธรรมนัส หมายเหตุ - ความเห็น

รายงานหน้า 2 : ส่องรอยร้าว ‘พปชร.’ เกมใหม่ล้างไพ่-ดีดธรรมนัส

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการปมทีม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ชงปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคยื่่นลาออกเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อเปิดทางจัดประชุมเลือก กก.บห.ชุดใหม่ เปลี่ยนตัว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

มีคำถามสำคัญจากประชาชนส่วนใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ และต้องการทราบเหตุผลที่แท้จริงในการปลด ร.อ.ธรรมนัส มีการบริหารผิดพลาดอย่างไรในทางการเมือง ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมยังมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่มีกระแสข่าวนี้ขึ้นมา โดยอาจจะมีเหตุผลประกอบ เช่น มีความพยายามจากกลุ่มการเมืองในพรรคที่ไม่พอใจการทำงานของ ร.อ.ธรรมนัสในรอบก่อนหน้านี้ เพราะหากเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค ก็จะกระทบถึงหัวหน้าพรรค แล้วอาจจะเป็นละครภาคต่อจากกรณีที่พรรคมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นของหัวหน้าพรรคกับ ร.อ.ธรรมนัสที่มี ส.ส.กลุ่มใหญ่ อีกกลุ่มเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความพยายามเข้ามาทำงานการเมืองในพรรคมากขึ้น

Advertisement

มีความเป็นไปได้ว่า ส.ส.ในกลุ่ม พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะรู้สึกว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาทำงานมากขึ้นก็พยายามเขย่าเพื่อเอา ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่ง แต่ต้องดูความสัมพันธ์ทางอำนาจของกรรมการบริหารพรรคขณะนี้จะอยู่ฝ่ายไหน ในลักษณะอย่างไร หากไปดูตัวละครที่มีชื่ออย่าง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เดิมเคยอยู่ในกลุ่มของ พล.อ.ประวิตร แต่วันนี้โยกมาอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ หากเป็นจริงก็สอดคล้องกับการประเมินว่า ส.ส.ในปีกของ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะต้องการกำจัดโครงสร้างเดิมออกไป แม้ว่าจะกระทบกับ พล.อ.ประวิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการต่อมาเชื่อว่าการทำโพลเล็กๆ ก่อนหน้านี้มีการประเมิน ส.ส.หลายราย มีการตั้งคำถามว่าทำ ส.ส.ของพรรคมีคะแนนนิยมตกต่ำลง จะตกต่ำเพราะตัว ส.ส.เอง หรือเพราะประชาชนที่ถูกทำโพลเหล่านั้นอิงแอบอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ โดยเฉพาะ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ ก่อนหน้านี้มีกระแสว่าประชาชนไม่ได้เลือกตัวบุคคล แต่เลือกเพราะชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นเมื่อมีการทำโพล โดยมีตัวชี้วัดที่ตัว ส.ส.เขตคะแนนจึงต่ำ เป็นเหตุให้ ส.ส.ซีก พล.อ.ประยุทธ์ชี้ให้เห็นว่านี่อาจจะเป็นสิ่งที่ไร้ความสามารถของ ร.อ.ธรรมนัส ดังนั้นจึงต้องการสร้างคะแนนนิยมแบบใหม่ว่าประชาชนต้องเลือก ส.ส.เหล่านี้เพื่อให้ยกมือหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนั้น กระแสข่าวที่หลุดออกมา หากเป็นข้อเท็จจริงตามหน้าสื่อ สาระสำคัญน่าจะมาจากผู้มีบารมีทางการเมืองตัวจริงอาจจะไม่ต้องการให้ ร.อ.ธรรมนัสไปต่อทางการเมือง จึงออกมาสร้างกระแสเพื่อโยนหินถามทาง เพราะการเมืองไทยจากประสบการณ์ในอดีตจะเห็นว่านักการเมืองคนไหนก็ตามจะโดดเด่น มีบารมีมากเกินไปไม่ได้ อาจจะมีผลเสียกับตัวเองในเวลาต่อมา

Advertisement

ถึงที่สุดแล้ว หากพรรคจะปรับโครงสร้าง ก็ต้องดูสัญญาณให้ชัดเจนว่ามาจากคนในพรรคเห็นการทำงานที่บกพร่องของ ร.อ.ธรรมนัส แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นว่ามีข้อผิดพลาด เพราะมีความพยายามสร้างเอกภาพภายในพรรค หรือการปรับเพราะมีรอยร้าวจาก ส.ส.กลุ่มใหม่ที่ต้องการเข้ามามีบทบาททางการเมืองในฐานะกรรมการบริหารพรรค และต้องดูด้วยว่าหัวหน้าพรรคให้สัญญาณพิเศษว่าจำเป็นต้องปรับหรือไม่ เพราะหากจะปรับจริง หัวหน้าพรรคลาออกคนเดียวทุกอย่างก็เรียบร้อยทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัสมีท่าทีสงบ แม้ว่าโดนปลดจากรัฐมนตรีช่วย แต่การปรับออกจากเลขาธิการพรรค ก็ยังไม่ออกมาแสดงจุดยืน ขณะที่มีความพยายามของ ส.ส.ในกลุ่มที่แตกออกมาจากกลุ่มของ พล.อ.ประวิตรเดิมต้องการให้ ส.ส.ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสออกไปอยู่ในความดูแลของ ส.ส.กลุ่มใหม่ ถ้าถามว่าระหว่าง 3 ป.กับ ร.อ.ธรรมนัส จะจบจริง เจ็บจริง หรือไม่ จะต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะ แต่ทุกอย่างจะต้องจบก่อนเปิดสมัยประชุมสภา เพื่อให้การยกมือโหวตเป็นเอกภาพ หรือมีการประเมินว่าการปรับโครงสร้างพรรคเป็นการปล่อยข่าว เพื่อให้มีการต่อรองในคณะกรรมการบริหารพรรค หรือโควต้ารัฐมนตรีที่เหลืออยู่และรอการปรับ

สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส เป็นแกนนำคนสำคัญที่ทำงานให้พรรคมาอย่างยาวนาน อนาคตทางการเมืองนับจากนี้ไปก็คงต้องชี้วัดจากผู้มีบารมีตัวจริงที่ส่งสัญญาณร้อนแรงทำให้ 3 ป.จำเป็นต้องทิ้ง ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงของคนแดนไกล

——————-

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส หลังโดนปลดออกจากรัฐมนตรี น่าจะถอดใจอยากย้ายออกจากพรรค ต่อมาดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตรยังให้โอกาสทำงาน เพราะเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ภักดีกับนายใหญ่ แต่ล่าสุดสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หากเป็นจริงถ้าไม่เร่งชำระสะสางให้จบก็จะมีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์จะนั่งทำงานไม่สบายใจ หลังจากเปิดสภา ส่วนสาเหตุที่ต้องเดินเกมแรงแบบนี้เพราะถึงที่สุดแล้ววันนี้ยังหาใครมาแทน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ พล.อ.ประวิตรก็ต้องยอมผ่อนปรนเพื่อให้ 3 ป.ยังเหนียวแน่นต่อไป

มากกว่าจะเห็นดีเห็นงามกับพรรคพวกอย่าง ร.อ.ธรรมนัส เพราะล่าสุดเมื่อมีคนถามว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ มีคำตอบว่าเป็นเรื่องของพรรค ก็แสดงว่าในความคิดของตนเองก็คงไม่เหลืออะไรแล้ว ล่าสุดมีการแสดงผลโพล ส.ส.เขตก็ดูเหมือนไปตีชิ่งกระทบ พล.อ.ประยุทธ์

จุดนี้จึงเห็นชัดว่า ถ้าจะอยู่กันไปแบบนี้ต่อไปก็มีเกมอื่นออกมาอีก หากจะมานั่งแก้เกมของ ร.อ.ธรรมนัส อีกก็คงตามไม่ทัน ที่สุดหากเผลออาจจะมีความผิดพลาดเกิดความเสียหายขึ้นได้ จากนั้นมีการชั่งน้ำหนักระหว่างคู่ขัดแย้ง เพื่อรักษาฐานอำนาจจากการเป็นรัฐบาลต่อไป ทุกอย่างก็ต้องจบที่ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนเดิม

ส่วนใครจะมาทำหน้าที่เลขาธิการพรรคคนใหม่เพื่อวางยุทธศาสตร์พรรคเสริมแกร่งในระยะยาว ก็รอดูว่าคราวนี้จะเอาขุนทหารมาทำหน้าที่หรือไม่ เพื่อปฏิรูปแนวทางการทำงานของพรรค ให้มีความน่าเชื่อถือว่าทุกองคาพยพต้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่กว่าจะลงตัวก็ปล่อยให้กระเพื่อมมานานพอสมควร แต่โชคดีของพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหาช่วงสภาปิดสมัยประชุม

หลังจัดการกับ ร.อ.ธรรมนัส การปรับ ครม.ใหม่ที่ว่าง 2 ตำแหน่งก็จะตามมา จากนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาก็ต้องดูว่ากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสจะออกมาแผลงฤทธิ์อีกหรือไม่แต่ถ้ามองว่าดูแล้วกลุ่มที่สังกัด ร.อ.ธรรมนัส ยังต้องพึ่งพาอาศัยร่มเงาของพรรคพลังประชารัฐอยู่พอสมควร หากต่อไปนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคเล่นบทเด็ดขาดใครกระด้างกระเดื่องก็จะโดนแบบนี้ ก็คงจะทำให้ใครที่คิดจะป่วนต้องคิดให้ดี

เหตุปัจจัยที่ ร.อ.ธรรมนัส แตกหักสิ้นสภาพแนะนำว่าอย่าไปคิดไกลถึงเรื่องอื่น แต่ขอให้ดูธรรมเนียมทหาร ลูกน้องจะมาตีเสมอลูกพี่ได้อย่างไร ที่ผ่านมามีข่าวว่าไปขอโทษแล้วควรจะจบ แต่เราไม่รู้ว่าขอโทษแบบไหน ขอโทษเพื่อให้ผ่านๆ ไปหรือไม่ แล้วต้องการอยู่ต่อ แต่เมื่อถึงเวลาก็ยังทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกว่าคอนโทรลไม่ได้ก็ทำให้มีปัญหา

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้ติดตามเนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส จะไม่หยุดทำงานการเมือง เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่มีบารมีพอสมควร ทำงานการเมืองมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน อยู่พรรคไหนพรรคนั้นก็ชนะเลือกตั้ง ดังนั้นการที่พรรคพลังประชารัฐจะนำคนทำงานระดับเพลย์เมกเกอร์ออกจากพรรคก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้ว บางเรื่องคนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป เพราะวงในคิดว่า ร.อ.ธรรมนัส อาจจะมีเป้าหมายต้องการไปนั่งเก้าอี้ มท.1 จึงทำให้แตกหักเร็วและหลังจากสถานการณ์ในพรรคสงบแล้วไม่ต้องพูดถึงการยุบสภา วันนี้รัฐบาลมีอำนาจตามปกติอยู่แล้ว จะหาเรื่องลำบากยุบเพื่อเลือกตั้งใหม่ไปทำไม

————————————————–

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การเมืองภายในเป็นเรื่องของกลุ่มก้อน ขึ้นอยู่กับว่า ถึงเวลากลุ่มก้อนไหนจะจับมือกันหรือไม่จับมือกัน ในขณะเดียวกันเราอาจต้องมองว่า นอกจากการเมืองภายในแล้ว ในเรื่องของ 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของพรรคพลังประชารัฐด้วย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ตั้งแต่หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจต้องเกิดอะไรขึ้น พล.อ.ประวิตรอาจบอกว่า ทุกอย่างไม่มีปัญหา ร.อ.ธรรมนัสเองก็ยังอยู่ในพรรค แต่มาถึงวันนี้ ถ้าเป็นตามข่าวจริงอาจเป็นข้อยืนยันว่า ในที่สุด 3 ป.ที่บอกว่า รักกัน ก็คือรักกัน แต่เราอาจจะมองอีกมุมหนึ่งก็ได้ ก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่องของการปรับ ครม. ซึ่งไม่มีการปรับอะไรทั้งสิ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าแค่เป็นเรื่องภายใน หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจำนวนที่นั่งรัฐมนตรีด้วย ในพรรคอาจจะมีการต่อรองกันในส่วนนี้ เพราะเราจะเห็นภาพคนที่ปรากฏในข่าวว่าไปร่วมพูดคุยกับนายกฯ ยกเว้นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวโดยสรุป คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 1.เป็นเรื่องการเมืองภายใน 2.การปรับคณะรัฐมนตรีที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้

สำหรับสัญญาณการยุบสภา ถ้าเราไปถามนักการเมืองว่าพร้อมเลือกตั้งไหม ทุกคนต้องตอบว่าพร้อม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถามว่าทุกคนอยากเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ก็ไม่น่าตอบว่าอยาก ทุกคนคงอยากอยู่ครบ 4 ปี อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลเก่าๆ ในประวัติศาสตร์การเมือง มีไม่เยอะที่รัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปี โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ จะเกิดแรงกระเพื่อมได้เยอะ คำถามคือวันนี้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐแล้ว และกำลังจะเปิดสภาในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งจะมีการพิจารณากฎหมายมากมาย คนก็มองว่าการเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นการจัดการเพื่อไม่ให้มีปัญหาในการโหวตร่างกฎหมายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหน้า หรือความพลาดพลั้งในฝ่ายรัฐบาล เพื่อไม่ให้มีปัญหาการเมืองในสภาในการโหวตกฎหมาย หรือมองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะยิ่งทำให้การโหวตกฎหมายมีปัญหา แต่ส่วนตัวมองว่าน่าจะทำให้อย่างน้อยกฎหมายอีกหลายฉบับที่มีความสำคัญต้องผ่านให้ได้ในสมัยประชุมนี้

ดังนั้น มองอย่างเดียวว่า ถ้าจะเกิดการยุบสภา ต้องเกิดปัญหากับการโหวตกฎหมายในสภาในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ถามว่าจะมีการยุบสภาไหม ดูอย่างเดียวจะว่าเกิดปัญหาตอนโหวตหรือไม่ ถ้ามีปัญหาองค์ประชุมตั้งแต่เริ่มแรกก็อาจเป็นสัญญาณว่านับถอยหลังสู่การยุบสภาได้ นั่นจะเป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้รัฐบาลต้องยุบสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image