รายงานหน้า2 : เปิดเทอมสภา-‘มรสุม’ลูกใหม่ เขย่ารัฐบาล‘บิ๊กตู่’?

หมายเหตุความคิดเห็นนักวิชาการ กรณีปมปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปรากฏภาพ 6 รัฐมนตรีพรรค พปชร. เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อมามีรายงานข่าว คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค พปชร.ได้ทยอยเซ็นใบลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้เกินครึ่ง หรือ 14 คน จาก กก.บห.ทั้งหมด 26 คน เพื่อเปิดทางปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ปรับทัพให้เป็นเอกภาพรับมือเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ รวมถึงมรสุมรุมเร้าจากการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายค้าน

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต
และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เสถียรภาพรัฐบาลขึ้นอยู่กับเสียงสนับสนุนของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าวิเคราะห์ขณะนี้พรรคร่วมอื่นๆ ไม่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กลับกลายเป็นปัญหาว่าไม่สามารถระบุเสียงที่แน่นอนได้ และไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าในการประชุมสภาและการพิจารณาออกกฎหมายสำคัญเสียงลงมติจะแตกออกไปจนทำให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่

โดยปัญหาจะเกิดจากเนื้อในของพรรค พปชร.เองเนื่องจากมีสิ่งที่ไม่ลงรอยกันระหว่างผู้นำรัฐบาลกับฝ่ายที่กุมอำนาจภายในพรรค แม้จะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการเปิดสมัยประชุมสภา วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แต่ดูจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาแล้วมันยังไม่ได้ผลและจะเป็นสิ่งที่จะบานปลายออกไป ดังนั้น ต้องรอดูว่าความพยายามของฝ่ายต่างๆ ที่พยายามประสานไม่ให้เกิดปัญหาจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร

Advertisement

ส่วนกระแสข่าวการปรับโครงสร้างภายใน พปชร. มองว่าเรื่องนี้เป็นการเดินเกมที่ไม่รอบคอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะต้องรู้ตัวเองว่าไม่ใช่สมาชิกพรรค พปชร. ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในพรรค ลักษณะการครอบงำพรรคได้ เมื่อเดินเกมไม่รอบคอบและปรากฏเป็นข่าวออกมาก็ก่อให้เกิดความเสียหาย แม้ว่าทางฝ่ายการเมืองหลายคนพยายามพูดว่าไม่ใช่ ไม่มี แต่ข่าวที่ปรากฏทางสื่อมันเพียงพอที่จะเป็นประเด็นเพื่อนำไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ และทราบว่าขณะนี้มีการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เมื่อมีการยื่นคำร้องแล้ว ทางเลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เริ่มจากผู้สื่อข่าวว่าได้ข่าวมาจากที่ใด ถ้าบอกว่าได้ข่าวจากแหล่งใดก็ต้องสืบสวนต่อไปยังแหล่งข่าวดังกล่าวว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นการสร้างความลำบากใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ พอสมควร เนื่องจากโทษของการเข้าไปแทรกแซง ครอบงำพรรคการเมืองเป็นโทษทางอาญาที่รุนแรง จำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองแสดงออกมาว่ายอมรับการครอบงำของบุคคลที่ไม่อยู่ภายในพรรค มันไปไกลถึงการยุบพรรค เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นทางออกที่ผมมองว่าพรรค พปชร.จะเลือกคือยุติเรื่องการลาออกของกรรมการบริหารพรรค พปชร. ถ้ายุติเรื่องการลาออกแปลว่าพรรคไม่ถูกครอบงำจากคนนอก ทางพรรค พปชร.ต้องคิดแก้เกมลักษณะแบบนี้ หากยังเดินหน้ามาทยอยลาออกจนกระทั่งได้จำนวนเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรค มันก็จะเข้าทางกับข่าวที่ปรากฏออกมาว่ามีการสั่งการ ครอบงำจาก พล.อ.ประยุทธ์ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจะเสียหายสองทาง คือ เสียหายต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และเสียหายต่อพรรค พปชร.ด้วย

ดังนั้น ทางออกคงต้องพยายามกลบข่าวว่าไม่มีใครลาออก หรือการลาออกไม่มีจริง และเดินหน้าต่อไปภายใต้การบริหารงานของกรรมการบริหารชุดปัจจุบันสักระยะหนึ่ง เท่ากับว่าต้องยอมรับภาวะความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่ลงรอยกันระหว่างกันฝ่ายพรรคและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งการรับความเสี่ยงดังกล่าวเป็นการรับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการเดินหน้าผลักดันให้กรรมการบริหารพรรคลาออกเกินกว่ากึ่งหนึ่งเพราะแบบนี้เสียหายมากกว่า

Advertisement

ส่วนการปรับโครงสร้างพรรค พปชร.เป็นการส่งสัญญาณการยุบสภาและเลือกตั้งหรือไม่นั้น มองว่า ถ้ามุมมองของฝ่ายผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ถ้าไม่มีสถานการณ์ที่จำเป็นเขาก็ไม่ยุบสภา เดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินต่อไป แต่ว่าการยุบสภาขณะนี้มีอย่างเดียวคือ คุมเสียงในสภาไม่ได้ แต่ถ้าคุมเสียงได้และเป็นเอกภาพกันอยู่ ไม่มีความจำเป็นต้องยุบสภาเลย เพราะปัญหาโควิดเริ่มคลี่คลาย ปัญหาเศรษฐกิจก็อยู่ในโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เช่นกัน ส่วนปัญหาอื่นๆ หรือการชุมนุมกดดันรัฐบาลก็ยังไม่วิกฤต เพราะฉะนั้น หากจัดการความขัดแย้งภายในพรรคได้ ไม่เกิดการแตกแยกจนทำให้กฏหมายสำคัญของรัฐบาลตกไป การยุบสภาก็จะไม่เกิดขึ้น

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

สถานการณ์มีความสุ่มเสี่ยงจากการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จริงๆ แล้วกระเทือนตั้งแต่รอบที่แล้ว การจัดสรรตำแหน่งเลขาธิการพรรคใหม่ หมายความว่า พปชร.พร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะอาจเกิดขึ้นในปีหน้า แต่ถ้าไม่พร้อมก็ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในการพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน

สำหรับประเด็นการโหวตกฎหมาย ต้องมองในประเด็นการควบคุมเสียงของรัฐบาล ซึ่งสะเทือนตั้งแต่ครั้งที่แล้ว ในกรณีการสร้างความเป็นเอกภาพของรัฐบาลที่จะโหวตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้น

ส่วนตัวมองว่าเมื่อมีการเปิดสภาในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ใช่แกนนำอาจมีพลังการต่อรองมากกว่าพรรคพลังประชารัฐด้วยซ้ำไป สำหรับประเด็นที่อ่อนไหวมากที่สุดคือ หากมีการโหวตร่างพระราชบัญญติอะไรสักอย่าง หรือร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ผ่าน ย่อมเป็นสัญญาณเตือนของการแตกภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่สะท้อนออกมาจากพรรคเอง สุ่มเสี่ยงในการยุบสภาหากไม่สามารถจัดการปัญหาตรงนั้นได้ ลักษณะของวิกฤตที่ผ่านมา เรื่องราวต่างๆ รวมถึงภาพสะท้อนในความเชื่อมั่นมีความเสี่ยงในส่วนของรัฐบาล

สำหรับเรื่ององค์ประชุมนั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน ตอนเคลียร์กันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมีประเด็นอะไรที่สามารถตกลงกันได้ เพราะการไม่เข้าองค์ประชุม หรือไม่เข้าประชุมเพื่อคว่ำร่างต่างๆ เคยถูกใช้มาแล้ว ดังนั้น จึงมองว่าถ้าคุยกันไม่ได้ เครื่องมือสำคัญที่จะถูกใช้ไม่ใช่องค์ประชุมจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเดียว แต่รวมถึงองค์ประชุมภายในพรรคพลังประชารัฐด้วย นี่คือประเด็นสำคัญ

กรณีกระทู้ถาม ถ้าไม่ได้มีการอภิปราย ยกมือโหวต หรือลงมติไม่ไว้วางใจ ก็ไม่ได้สั่นคลอนอะไรมาก ยกเว้นกระทู้นั้นไปเข้าทางความพยายามใช้เครื่องมือในการนับองค์ประชุมก็มีปัญหา แต่ครั้งนี้กระทู้อาจกระทบแค่เรื่องความเชื่อมั่นถ้าตอบไม่ชัดเจน แต่จะนำไปสู่การล้มหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงในองค์ประชุม

เรื่องพรบ.ขยายเพดานเงินกู้ 70 เปอร์เซนต์ จะเป็นประเด็นที่วัดชะตารัฐบาล คราวก่อนเป็นพระราชกำหนดซึ่งจะต้องเข้าสภา จากสถานการณ์โควิด การฟื้นฟูเศรษฐกิจคือหัวใจหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผนเลือกตั้งด้วย ถ้าพรบ.นี้ไม่ผ่าน รัฐบาลทำได้ 2 อย่าง คือลาออก กับยุบสภาเท่านั้น ประเด็นนี้สำคัญมาก พรบ.นี้จะชี้ถึงความเชื่อมั่นหรือไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล

ในความเสี่ยงมีปัจจัยหลักมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลว่าสามารถเคลียร์เสียงพรรคร่วมรัฐบาลในสภาและความเห็นพ้องของครม.ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันคงผ่านความเสี่ยงนี้มาแล้ว เรื่องที่ 2 คือความเสี่ยงใหญ่ ซึ่งอยู่ในพรรคแกนนำรัฐบาลเอง ถ้ามีการใช้ พรบ.นี้เป็นเงื่อนไข ต่อรอง ก็ยุ่งเหมือนกัน

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ผมคิดว่าในภาวะอย่างนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รู้ชะตากรรมตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อาจจะลืมประเมินไปว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง มีความเป็นทหารมากกว่าฝ่ายการเมือง จุดแตกหัก หรือฟางเส้นสุดท้ายที่เกิดขึ้น คือกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัสออกมาเปิดเผยเรื่องโพลสำรวจของพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ส่งผลต่อความเป็นเอกภาพภายในพรรค ทำให้แตกร้าวมากขึ้น นั่นคือ ร.อ.ธรรมนัสไปอ้างชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าเป็นคนที่สั่งให้ดำเนินการ ในมุมมองความเป็นทหาร เป็นการเอาชื่อผู้บังคับบัญชาไปแอบอ้างเพื่อใช้ผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ถือเป็นการผิดข้อวินัยอย่างร้ายแรง

ดังนั้น ในทรรศนะของ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคือ หมดความอดทนอย่างถึงที่สุด นำไปสู่ข้อความสำคัญที่ส่งไปถึง พล.อ.ประวิตร กระนั้น พล.อ.ประวิตรก็ไม่สามารถโอบอุ้มไว้ได้ แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส ยังสามารถทำคุณประโยชน์ให้ พปชร.ได้ต่อไปก็ตาม

เรื่องการจัดทำโพลภาคใต้ ก็เป็นข้ออ้างส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าเขาประเมินไปไกลกว่านั้น คือต้องการจัดระเบียบความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นใน พปชร. เพราะว่าตราบใดที่ ร.อ.ธรรมนัสยังเป็นเลขาธิการพรรค และยังสามารถควบคุมเสียงปีกฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส ที่จะมี ส.ส.ประมาณ 20-30 คน ซึ่งอาจมีผลต่อการโหวตสวน หรืองดออกเสียงในกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ พปชร.ต้องการจะผลักดัน อาจส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายในทางการเมือง มูลค่าทางการเมืองที่ประเมินไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจัดการ ร.อ.ธรรมนัสออกไปได้ จะทำให้ ส.ส.ที่เหลืออยู่ ต้องประเมินทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนเอง ว่าจะมีระยะห่างกับ ร.อ.ธรรมนัสอย่างไร ให้ไม่ส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง ทางที่ดีที่สุด ต้องปลีกตัวออกห่างจาก ร.อ.ธรรมนัสให้ไวที่สุด นั่นคือยุทธวิธี โดดเดี่ยว ร.อ.ธรรมนัส หาก ร.อ.ธรรมนัสจะตัดสินใจดำเนินการทางการเมือง งดออกเสียง ไม่เข้าประชุม มีเพียงคนเดียว เสียงเดียว ย่อมไม่ส่งผลต่อภาพรวมใน พปชร.

ดังนั้น ระยะเวลานี้ ก่อนที่จะเกิดการเปิดสมัยประชุม นั่นคือการเข้าไปจัดระเบียบ ให้ ส.ส.ทุกคน ออกห่างจาก ร.อ.ธรรมนัสให้มากที่สุด แล้วเข้าสู่ อำนาจรวมศูนย์เข้าใกล้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใกล้ พล.อ.ประวิตร มากขึ้น นั่นคือเป้าประสงค์ปลายทางมากกว่า

ดูจากโครงสร้าง พปชร. ผมเห็นว่า ยังจะมีท่าทีในการรอมชอมกับกลุ่มอำนาจเดิม อย่างซีกของ ร.อ.ธรรมนัส ต้องดูว่าสมาชิกที่ใกล้ชิดจะได้รับการแต่งตั้งเข้าไปหรือไม่ ซึ่งถ้าเปลี่ยนแปลง กก.บห.ทั้งหมด จะต้องมีการเยียวยา สมานแผลความรู้สึกตรงนี้ได้อย่างไร

อย่าลืมว่า พปชร.ในมุมมองของคนนอก 2 ปี กว่าที่เข้ามาเป็นแกนนำพรรครัฐบาล เปลี่ยนเลขาธิการพรรคไปแล้ว 3 คน การจะมีเลขาธิการพรรคคนที่ 4 แน่นอนว่า ทำให้คนที่มองเข้าไปเห็นว่า ความเป็นสถาบันพรรคการเมืองนั้นอ่อนแอมาก

ผมคิดว่าในเดือนพฤศจิกายน คนที่จะมาทำหน้าที่ทดแทน ร.อ.ธรรมนัส จะต้องเป็นผู้มีอิทธิพลและมีบารมีไม่ด้อยไปกว่ากัน หรืออย่างน้อย สามารถทำงานทิศทางที่ไม่กระทบจิตใจ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผมไม่กล้าคาดเดา ไม่ว่าโพลจะชู สันติ พร้อมพัฒน์ (รมช.คลัง) หรือสุชาติ ชมกลิ่น (รมว.แรงงาน) ซึ่งภาพแสดงให้เห็นถึงฝ่ายตรงข้าม ร.อ.ธรรมนัส แน่นอนว่าหากเป็นคนใดคนหนึ่ง ใน 2 คนนี้ เท่ากับว่า พปชร.จะมีภาวะที่แต่ละปีกไม่สามารถมองหน้า หรือทำงานร่วมกันได้ในอนาคต

ถ้าเป็นสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (รมว.อุตสาหกรรม) ก็แน่นอน จะถูกฝ่ายตรงข้ามตั้งคำถามในสิ่งที่กล่าวหาหรือพาดพิงทักษิณมาตลอดว่าเคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย แล้วทำไมต้องใช้บริการสุริยะ และหากสุริยะเป็นเลขาธิการพรรค ในอนาคต ตำแหน่งใน ครม., เก้าอี้รัฐมนตรีที่สุริยะหมายปอง คงไม่ใช่แค่กระทรวงอุตสาหกรรม แต่คงมีกระทรวงอื่นที่เคยแสดงเจตจำนงตั้งแต่ต้นในการตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว โจทย์ตรงนี้ ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่อยากเล่นเกมเสี่ยง ตามกระแสหรือแหล่งข้อมูลที่มีการปล่อยข่าว อย่างแน่นอน

ผมคิดว่า เรื่องนี้คงจะจบแค่ในทางพิธีกรรม ให้จบไปอย่างเงียบๆ แต่ความเคลื่อนไหว หรือมรสุมทางการเมือง คงจะมีการปล่อยข่าวโจมตีตามมา

ส่วนจะส่งผลต่อการผ่านร่างกฎหมายในสภาหรือไม่ คงจะไม่ส่งผล ด้วยเสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุน แต่การจัดระเบียบรอบนี้คือเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ พปชร. มีเอกภาพให้เร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image