สะท้อนภาพแก้รธน. รัฐสภาคว่ำร่างประชาชน

สะท้อนภาพแก้รธน. รัฐสภาคว่ำร่างปชช.

รายงานหน้า 2 : สะท้อนภาพแก้รธน. รัฐสภาคว่ำร่างประชาชน

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับประชาชน)

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หากครั้งนี้ไม่ผ่านก็คงมีการเสนอใหม่ แต่ก่อนเสนอ ขอแนะนำให้ทุกฝ่ายพูดคุยทำความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ส.ว. เป็นที่รู้กันว่าหาก ส.ว.ไม่ให้ผ่าน ร่างก็ผ่านไม่ได้ ดังนั้นการคุยกับ ส.ว.จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าคุยแล้วไม่รู้เรื่องก็ต้องคุย เพื่อให้หลักการและเหตุผลสะท้อนออกมาให้สาธารณชนรับทราบ ควรฟังจาก ส.ว.ให้ชัดเจนว่าเหตุผลจริงๆ ที่ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงมาจากปัญหาอะไรบ้าง ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป

แต่อย่าลืมว่า ส.ว.ชุดนี้อีก 2 ปีจะต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล จากนั้นก็จะมี ส.ว.ชุดอื่นมาทำหน้าที่ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

Advertisement

เชื่อว่า ส.ว.ที่มาใหม่น่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น ก็คาดหวังว่าข้อเรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลงน่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น และอาจนำไปสู่การแก้ไขใหม่ทั้งฉบับ

แน่นอนว่า ส.ว.ที่เข้ามาใหม่อาจจะหวั่นวิตกและเกรงจะมีผลกระทบกับประโยชน์ส่วนตัวอีก จากข้อเสนอร่างของประชาชนให้มีสภาเดียว ยกเว้นว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขใหม่ เขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ทำหน้าที่ในสถานะจนครบวาระ

แต่ควรจะอยู่ในอำนาจหน้าที่อย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขอาจจะไม่มี ส.ว.อีกต่อไป

ดังนั้นการเจรจาจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขในการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละช่วงเวลาก็จะแตกต่างกัน

ดังนั้นเงื่อนไขทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากนี้เป็นต้นไป ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม แต่จะมาในรูปแบบใดหรือมีท่าทีกดดันอย่างไรต้องดูกันต่อไป

เมื่อถึงเวลาที่ประชาชนรณรงค์ให้เข้ารายชื่อแล้วอาจจะมากันหลายแสนคน หรือถึงล้านคน ก็น่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันมากยิ่งขึ้น

ขณะที่แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยเสนอก็ต้องปรับเปลี่ยน คงไม่เอาสาระสำคัญหรือของเก่าทั้งหมดไปเสนออีก ต้องนำผลจากการอภิปรายในสภามาศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบว่ามีจุดไหนที่ผู้มีอำนาจกลัวจะมีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด แล้วนำมาหาวิธีการแก้ไขเพื่อให้ฝ่ายผู้มีอำนาจพอจะยอมรับได้บ้าง

การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะนำนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจุดขาย ซึ่งบางพรรคมีการประกาศจุดยืนออกมาแล้ว เพราะมีแนวคิดต้องการเสนอให้แก้ไขในโอกาสต่อไป ขณะที่กลุ่มที่เสนอร่าง นอกจากจะต้องคุยกับ ส.ว.แล้วก็ต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย นอกจากนั้นต้องรอจังหวะการกดดันทางการเมือง อาจทำให้พรรคการเมืองเปลี่ยนท่าที หากมีข้อเสนอแก้ไขมีการผ่อนคลายให้ยอมรับได้ เช่น วุฒิสภายังมีได้ แต่ให้มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย หรือทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอีกบางเรื่อง อย่างอื่นไม่ต้องยุ่ง

เพื่อให้ยุติปมความขัดแย้งทางความคิด ขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎร ควรให้ความสนใจแก้ปัญหา ทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของคนทุกฝ่าย เป็นฉันทามติของคนทั้งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ควรมีบทบาทมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้เกิดความปรองดอง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผลพวงจากการทำรัฐประหาร ฝ่ายที่ยึดครองอำนาจได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่ชัด ว่าจะอยู่ในอำนาจนานอย่างน้อย 20 ปี ดังนั้นฝ่ายที่ทำรัฐประหาร จึงออกแบบรัฐธรรมนูญให้เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจของตนเอง เชื่อว่าถึงที่สุดฝ่ายรัฐทหารแทบจะไม่เปิดโอกาส ให้มีการแก้ไขหรือปรับปรุงเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเขาทั้งหมด ส่วนการแก้ไขที่จะเกิดขึ้นได้ ก็มีเพียงรายละเอียดที่ไม่กระทบกับรักษาฐานอำนาจ เช่น การแก้ไขสัดส่วน ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

สำหรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่มีความต่อเนื่องนาน 2 ปี การเสนอร่างแก้ไขมีประชาชนร่วมลงชื่อแสนกว่าคน แต่ทั้ง 2 ร่างถูกโหวตตกไปโดยเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ว.รวมกับพรรคการเมืองที่ทำงานร่วมกับรัฐทหาร

ถ้าถามว่าต่อไปจะผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม และเพิ่มอำนาจของประชาชนตามแนวทางของประชาธิปไตยจะเป็นไปได้หรือไม่ในยุคนี้

คำตอบก็ต้องบอกตามตรงว่าเป็นเรื่องยากอย่างมาก เพราะเจตจำนงของการรัฐประหารมีเป้าหมายครองอำนาจอย่างยาวนานต่อเนื่อง ไม่ทำให้เสียของเหมือนในอดีต

ฝ่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวที่ผ่านมาก็ทราบดีว่าประสบความพ่ายแพ้แล้ว 2 ครั้ง ถามว่าหากมีความเคลื่อนไหวครั้งที่ 3 จะคุ้มค่าหรือไม่ คำตอบคือคุ้มค่ามาก เพราะการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งในการลงชื่อของประชาชนจำนวนมาก เป็นกระบวนการปลุกเร้าจิตใจของประชาชนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ประชาชนจะมีความสุข หรือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญของรัฐทหารที่ต่อเนื่องยาวนาน 8 ปี จะเห็นว่าประเทศตกอยู่ภายใต้ความหม่นหมอง ทำให้ความสุขของประชาชนบางส่วนหายไป ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เฉพาะตัวบทกฎหมายเท่านั้น ยังหมายถึงชีวิตที่ดีขึ้นและความสุขของประชาชน

แต่วันนี้ฝ่ายที่เรียกร้องอาจจะยังไม่สามารถผลักดันให้บรรลุเป้าหมายได้ แต่กระบวนการที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจะถือว่าเป็นการพิทักษ์กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เพราะโอกาสของความเปลี่ยนแปลงในอนาคตย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

สำหรับโอกาสในการเสนอแก้ไขของกลุ่มบุคคลที่เป็นหัวก้าวหน้า หากจะเดินหน้าต่อไป โดยแสวงหาจุดสมดุลร่วมกับฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น เชื่อว่าไม่มีจุดใดที่สามารถประนีประนอมกันได้ เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมรัฐทหารต้องการที่จะยึดครองอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านการมี ส.ว.ที่ทรงพลัง รวมทั้งเครือข่ายของสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ฝ่ายประชาชนหัวก้าวหน้าได้นำเสนอให้มีการตัดอำนาจของรัฐทหารทิ้งอย่างสิ้นเชิง โดยทำลาย ส.ว.ที่เป็นฐานในการสนับสนุนและกำหนดให้มีสภาเดี่ยว ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่เห็นด้วย

นอกจากนั้นฝ่ายประชาชนยังชี้ให้เห็นว่าอะไรคืออุปสรรคหรือเครื่องมือในการทำลายประชาธิปไตยตลอด จึงกำหนดให้มีการลงโทษกลุ่มบุคคลที่ทำรัฐประหาร และให้สถาบันการเมืองต่างๆ ในรัฐธรรมนูญให้กลับไปยึดโยงกับประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจุดสมดุลที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ซึ่งกันและกันจึงไม่มีจริง

ถ้าถามว่าฝ่ายประชาชนจะได้รับชัยชนะหรือไม่ในขณะนี้ ยอมรับว่ายังไม่มีหนทางที่จะไปถึงจุดนั้น แต่ภายใต้การเคลื่อนไหว บวกกับข้อเรียกร้องของการเมืองนอกสภา กลุ่มผู้ชุมนุมบนท้องถนน ก่อให้เกิดการแพร่กระจายอุดมการณ์ประชาธิปไตยใหม่ เพื่อทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่มีเงื่อนไขจะต้องมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

70 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศต้องเจอกับ “กับดัก” ความขัดแย้ง จากการร่างกติกาปกครองประเทศ เพราะมีบางฝ่ายต้องการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารัฐทหารมีบทบาทสำคัญในการถือตนว่าเป็นผู้นำทางการเมืองตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ทำให้กลุ่มเครือข่ายของทหารเติบใหญ่มากกว่าความจำเป็นของประเทศชาติ เติบโตภายใต้ระบบราชการทำให้รัฐทหารมีการขยายอำนาจ บทบาทหน้าที่เกินเลยไปควบคุมมิติทางด้านเศรษฐกิจ และกระทบถึงการใช้ชีวิตของประชาชน เพราะอ้างถึงคำว่าความมั่นคง แต่เป็นความมั่นคงของใครยังตอบไม่ได้

ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาโลกทั้งโลกมุ่งไปสู่ความมั่งคั่งของประเทศและประชาชน แต่รัฐทหารยังยึดติดกับวิถีโบราณในยุคสงครามเย็นเมื่อ 70 ปีก่อนมองเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องของความมั่นคงและคิดว่าตนคือผู้นำของประเทศชาติ

เมื่อมาถึงยุคนี้ จะเห็นได้ว่าผู้นำทหาร จะเป็นผู้นำที่ล้าหลังของโลกใบนี้ ถ้ามองไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตามมาตรา 256 ที่บัญญัติไว้ เสนอได้ 4 ช่องทางคือ 1.คณะรัฐมนตรี 2.ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 และ 3.ส.ส.+ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 และ 4.ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ

จะเห็นได้ว่าการเสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร หรือโดยประชาชนที่เข้าชื่อกันก็ดีนั้น ดำเนินการมาแล้วถึง 3 ครั้ง ได้แก่ ปี 2563 เวลานั้นเสนอ 6 ญัตติ และอีก 1 ร่างของไอลอว์ ในปี 2564/1 ก็มีการเสนอ 13 ญัตติ แต่ผ่านเพียงแค่ญัตติเดียว คือเรื่อง “บัตรเลือกตั้ง” 2 ใบ

ปี 2564/2 เป็นการเสนอโดยประชาชนในนามกลุ่ม Re-Solution ปรากฏว่าตกหมดเช่นเดียวกัน

ตรงนี้สะท้อนภาพว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “โครงสร้างอำนาจทางการเมือง” หรือ “การรื้อถอนอำนาจของ คสช.” จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

โดยเฉพาะกลไกสำคัญที่เป็นอุปสรรค คือเรื่องของการมี ส.ว.ร่วมโหวตด้วย ซึ่งถ้าดูโครงสร้างการลงคะแนนเสียงทั้ง 3 ครั้ง จะออกมาคล้ายๆ กัน

สะท้อนภาพให้เห็นว่า เมื่อไปแตะประเด็นเหล่านี้ก็จะมีการเคลื่อนไหวของ ส.ว.ทุกครั้ง ในทางกลับกัน พอเป็นร่างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงเทคนิค กลับไม่ค่อยเห็นการเคลื่อนไหวของ ส.ว. อย่างกรณีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

แม้การเสนอประเด็นโครงสร้างรื้อถอนอำนาจ คสช. โอกาสผ่านจะเป็นไปได้ยาก แต่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ยังคงมีอยู่ ผู้เสนอเองก็ไม่ได้คาดหวังการได้มาซึ่งกฎหมายในทันทีทันใด สมมุติว่า “ผ่าน” ในการโละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ก็ยังต้องไปทำประชามติอีกชั้นหนึ่ง ยังมีหลายเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 256 แต่สิ่งที่ผู้เสนอต้องการเป็นการขับเคลื่อนวาระทางสังคมที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้มากกว่า

เป็นการตรวจสอบการทำงานทั้ง ส.ส. ส.ว. ท่าทีและจุดยืนของพรรคการเมืองที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความสัมพันธ์กับการเมืองทั้งในและนอกสภา จะเห็นว่าเมื่อร่างของ Re-Solution ไม่ผ่าน ก็มีพรรคการเมืองอย่าง “ก้าวไกล” ที่บอกว่าจะเอาตรงนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรค ในการหาเสียงครั้งหน้าด้วย

ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่าการหวังผลระยะสั้นอาจเป็นไปได้ยาก ในระยะยาวมีโอกาสเป็นไปได้ แต่จะต้องมีฉันทามติของประชาชนอย่างเข้มข้นจริงๆ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ หรือแม้กระทั่งแนวทางของ “พรรคเพื่อไทย” ที่จะยกเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาครั้งหน้า ให้มีการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งต้องดูต่อว่าสามารถทำได้หรือไม่ในเชิงของกฎหมาย หรือในเชิงการทำงานของสภา

ณ วันนี้ “พรรคการเมือง” คือตัวแสดงสำคัญ ที่จะสะท้อนความเข้มแข็งในระบบรัฐสภา ก่อนหน้านี้ก็มีการตั้งคำถามจากกลุ่ม ส.ว. ในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของ Re-Solution ในเรื่องการไปสู่ “สภาเดี่ยว” ว่าจะทำให้เกิดการครอบงำทางการเมืองเกิดเผด็จการรัฐสภา ฝ่ายบริหารแทรกแซง

ซึ่งความจริงต้องบอกว่าการเมืองระบบรัฐสภา อำนาจบริหาร, นิติบัญญัติ, ตุลาการนั้น อำนาจนิติบัญญัติสำคัญที่สุด ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด เพราะมาจากการเลือกตั้ง

ในรัฐธรรมนูญปี 60 ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ตามบทเฉพาะกาล เมื่อครบ 5 ปี ก็ใช้วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะไม่ได้เป็นการเลือกตั้งทางตรง เป็นการเลือกตั้งตามลำดับชั้น เช่นนี้จึงสะท้อนได้ว่าการมี หรือไม่มี ส.ว. ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับภาวะเผด็จการรัฐสภาเหมือนที่กล่าวอ้าง

สิ่งสำคัญคือ ต้องออกแบบระบบตรวจสอบและเฝ้าระวัง (Monitoring System) การใช้อำนาจรัฐ และต้องทำให้ตัวแสดงสำคัญอย่าง “พรรคการเมือง” มีความเป็นสถาบันทางการเมือง และเป็นพรรคที่มีฐานมาจากปวงชน

ครั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อย้อนไปดูโครงสร้างการลงคะแนนเสียง จะพบว่าเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ยังไปได้อยู่ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของ “พลังประชารัฐ” ก่อนหน้านี้ แต่พอพูดถึงประเด็นเชิงอำนาจ ปรากฏว่าทุกพรรคร่วมรัฐบาล เห็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่ยังมีเอกภาพอยู่ ตราบใดที่ยังพูดถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง

ดังนั้น เมื่อการเมืองในสภาไม่ตอบโจทย์ โอกาสที่นอกสภาจะเคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้นนั้น เป็นไปได้สูง เพราะพื้นที่การเมืองในสภาถูกปิดลง ช่องทางที่ประชาชนจะเชื่อมต่อกับระบบรัฐสภาก็แคบลงเรื่อยๆ และอาจถูกหยิบยกไปผนวกกับประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

นั่นจะทำให้ปัญหาภาวะการแบ่งขั้วทางการเมือง (Political Polarization) ในประเทศไทย ยิ่งมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ผมเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เหลืออยู่แค่ปีกว่า คราวนี้ ถ้าดูจากการเสนอร่างของประชาชน ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี ไม่ได้ทำโดยง่าย จากระยะเวลาของสภาที่เหลือปีกว่า การเสนอร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชน อย่างมากที่สุดก็อาจจะได้แค่ 1 ครั้งเท่านั้น

เป็นสิ่งสำคัญ ที่สังคมจะต้องกดดัน เรียกร้องให้พรรคการเมืองมีท่าที มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในทางการเมือง เป็นเครื่องมือกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม ที่ไม่ได้จำกัดแค่รัฐสภา

แต่ยังมีมิติที่กว้างขวาง ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม คำกล่าวที่ว่า “รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนไบเบิลทางการเมือง” คือเรื่องจริง

รัฐธรรมนูญกำหนดกติกาไว้แบบไหน รูปโฉมการเมืองก็ออกมาแบบนั้น คือสิ่งที่สังคมต้อง “กดดันพรรคการเมือง” ในจุดยืน ผนวกกับการย้อนดูประวัติศาสตร์ เรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าแต่ละพรรคมีท่าทีแสดงออกทั้งในและนอกสภาที่ผ่านมาอย่างไรด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image