ตรวจสอบ ‘แอมเนสตี้’ สะท้อนสถานะรัฐบาล

รายงานหน้า 2 : ตรวจสอบ ‘แอมเนสตี้’ สะท้อนสถานะรัฐบาล

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนนักการเมือง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตรวจสอบองค์การนิรโทษกรรมสากล(แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย) ทั้งการจัดตั้งและเส้นทางการเงิน

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน

ต้องกลับไปถามนายกรัฐมนตรีว่าการทำงานของแอมเนสตี้มีปัญหาละเมิดกฎหมายข้อไหน ทั้งที่เป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง ทำงานอย่างเปิดเผย มีกระบวนการสรรหาบุคคล มีกระบวนการทำงาน การบริหารที่ชัดเจน สามารถเปิดเผยที่มาของการใช้งบตามที่ภาครัฐกำหนดวิธีการ จึงขอถามว่ารัฐบาลมีปัญหาข้องใจตรงไหน

Advertisement

สำหรับแอมเนสตี้ประเทศไทยมีภารกิจสำคัญในการรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้การช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกปิดปากไม่ให้แสดงความคิดเห็นโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมาบังคับ หากรัฐบาลคิดว่าจะจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของผู้คนก็สามารถทำได้ ใครพูดไม่ดี ขวางหูขวางตาก็เชิญคนเหล่านั้นออกนอกประเทศก็ได้ แล้วพวกท่านก็อยู่ในประเทศของท่านต่อไป

แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องในระดับสากล เป็นหัวใจสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้ายังเชื่อมั่นในระบอบนี้ คนในสังคมก็ต้องยอมรับฟังความเห็นที่หลากหลาย มีความแตกต่าง ในฐานะที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าไม่ยอมรับก็ถือว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ รัฐบาลสามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ในสถานะแบบไหน แต่ถ้าวันนี้ยังเป็นประชาธิปไตยก็ต้องยอมถูกตรวจสอบ ยอมให้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้ เป็นเรื่องธรรมดาในโลกสากล

สาเหตุที่รัฐมีปัญหากับแอมเนสตี้ก็คงมาจากสาเหตุที่องค์กรนี้เดินหน้าทำงานตามภารกิจปกติ เจ้าหน้าที่องค์กรจะต้องเสียสละ หรือใช้ความอดทนอย่างสูง ขอเรียนว่าองค์กรนี้อยู่ได้ด้วยสมาชิกในประเทศไทยที่ร่วมบริจาค เพื่อให้มีองค์กรสากลระหว่างประเทศในระดับโลกทำหน้าที่คุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน ในไทยตั้งองค์กรมานานกว่า 40 ปี ได้ให้การช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง นักโทษที่แสดงความเห็นแตกต่างจากผู้นำในยุคเผด็จการ บุคคลบางรายที่เคยช่วยเหลือปัจจุบันมีตำแหน่งใหญ่โตได้รับการยอมรับในวงสังคม ใช้ศักยภาพที่มีในการพัฒนาประเทศ ถามว่าในบางยุคหากไม่มีองค์กรสิทธิมนุษยชน คงไม่มีใครทราบว่าคนเหล่านี้จะมีอนาคตไปทางไหน ในระหว่างที่มีรัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศ อะไรจะเกิดขึ้นกับประชาชนก็ได้อย่างง่ายดาย

Advertisement

ส่วนตัวประชาชนควรเชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน หลังรัฐบาลประกาศว่ามีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หากมีองค์กรภาคประชาสังคมที่มาทำงานช่วยให้มีหลักประกันกับสังคม มีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้คนสามารถมีเสรีภาพในการแสดงออก สามารถยืนอยู่บนหลักการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แสดงความเห็นแล้วไม่ได้ถูกกีดกัน หรือมีการเลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้คนในสังคมต้องช่วยกันดูไม่ใช่ว่าผู้มีอำนาจไม่พอใจอะไรก็จะสะบัดให้คนกระเด็นออกไปนอกประเทศได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

การล่ารายชื่อขับไล่แอมเนสตี้ก็เป็นเสรีภาพของบุคคลที่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น ต้องมองว่าการเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา คนที่ทำงานในองค์กรระดับนี้จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หากคนไทยหลายสิบล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้งมีส่วนได้ส่วนเสีย หากคน 30 ล้านคน เห็นว่าแอมเนสตี้ทำงานแบบนี้ไม่ได้ ส่วนตัวก็เชื่อว่าองค์กรนี้จะต้องทบทวนบทบาทหน้าที่ในจุดนี้ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนท่าทีได้

แต่ที่ผ่านมากว่า 40 ปี แอมเนสตี้ได้รับการยอมรับในผลงานมาโดยตลอดทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลไทยก็ควรคำนึงถึงจุดนี้ เนื่องจากแอมเนสตี้เป็นองค์กรสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ถ้าเราฝืนกระแสสังคมโลก ไม่เห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรได้รับการเคารพ องคาพยพของรัฐบาลควรรีบแสดงจุดยืนออกมา เพื่อจะดูปฏิกิริยาว่าสังคมโลกจะมองเรื่องนี้ในไทยอย่างไร

มีบางกลุ่มมองว่าแอมเนสตี้อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงมากกว่า ถ้าประเทศไหนไม่สามารถยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่างได้ ประเทศนั้นจะไร้เสถียรภาพอย่างสิ้นเชิง เพราะโดยธรรมชาติไม่มีทางที่ผู้คนจะคิดอะไรเหมือนกัน หากไม่ปล่อยให้คนคิดเห็นแตกต่าง เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ประเทศก็จะวุ่นวาย มีความแตกแยกไม่มีวันสิ้นสุด แต่ถ้าเปิดพื้นที่เพื่อยอมรับความหลากหลายก็จะเป็นฐานรากที่สังคมจะมีความมั่นคง

หลักสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับว่าเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเคารพเสรีภาพ มีความรับผิดชอบต่อการกระทำหากยอมรับในสิ่งเหล่านี้ผู้คนก็จะอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนสามารถใช้ศักยภาพภาพที่มีอยู่หลากหลายมาช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ทำให้คนต้องคิดเหมือนกัน ใครคิดผิดก็จะต้องถูกกีดกัน และมีเฉพาะประเทศที่เป็นเผด็จการทหารเท่านั้นที่ชอบใช้วิธีคิดแบบนี้

เหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่มีกองทัพออกมาเอาปืนจี้ขับไล่พรรครัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นรัฐล้มเหลวไปแล้ว เพราะใช้วิธีคิดแบบต้องการควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งที่ประเทศกำลังจะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อทหารยึดอำนาจทุกอย่างก็จบ เชื่อว่าคนไทยคงไม่ต้องการมีสถานะเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น ก็ขอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทบทวนวิธีคิด วันนี้เชื่อว่ารัฐบาลยังมีโอกาสคิดทบทวนก่อนที่จะไปไกลกว่านี้

รังสิมันต์ โรม
ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

หากรัฐบาลจะตรวจสอบเอ็นจีโอที่ไม่มีความโปร่งใส หรือเข้าไปใช้บทบาทเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ความจริงเอ็นจีโอแรกที่ควรถูกตรวจสอบที่สุดคือ มูลนิธิป่ารอยต่อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วโลก จึงมีผู้สนับสนุนและสมาชิกจำนวนมาก ที่ผ่านมาองค์กรนี้ก็ได้รายงานความโปร่งใสมาตลอด เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลไทยด้วยซ้ำ เนื่องจากผู้ที่จะมานั่งคณะกรรมการแอมเนสตี้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังทำไม่ใช่การตรวจสอบแอมเนสตี้ตามกฎหมาย แต่เป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกดดัน ทำให้แอมเนสตี้ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่สมาชิกคาดหวังได้อย่างที่ควรจะเป็น พูดง่ายๆ ว่าหากแอมเนสตี้ยังแหลมแบบนี้ก็จะเจอมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ปฏิบัติภารกิจได้ยาก และสุดท้ายอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ตกอยู่ในอันตรายจากการถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐคุกคาม หากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามกฎหมาย เราจะเรียกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในระยะหลัง เจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งคงไม่แตกต่างจากโจรผู้ร้ายที่เราพบเห็น

แอมเนสตี้เป็นองค์กรที่รายงานการดำเนินงาน และถูกตรวจสอบโดยสมาชิกตลอด หากไม่มีความโปร่งใส ผู้บริจาคและผู้สนับสนุนก็จะไม่สนับสนุนต่อ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายกฯ กลับไม่ยื่นรายการบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นอกจากนี้ยังอยู่บ้านพักหลวงในค่ายทหาร ใช้น้ำไฟฟรีจากภาษีประชาชน เทียบกันระหว่างแอมเนสตี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ประชาชนสามารถตัดสินได้ทันทีว่าใครมีความโปร่งใสมากกว่ากัน

ทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามอ้างเรื่องการใช้กฎหมายในลักษณะที่บอกว่าแอมเนสตี้ทำผิดกฎหมาย หรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือไม่นั้น

ผมอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ มองแอมเนสตี้เป็นกระจกส่องตัวเอง ว่าขนาดองค์กรเอกชนยังมีความโปร่งใสและมีมาตรฐานแบบนี้ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และนายกฯ ก็ทำได้ไม่ถึงครึ่งของเขาเลย

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะละอายต่อสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ และถ้ามีความละอายบ้างก็อย่าไปทำอะไรกับแอมเนสตี้ เพราะสิ่งที่แอมเนสตี้ทำได้มากที่สุดคือการรณรงค์ และการสื่อสารอย่างมีเหตุผล ถ้าข้อมูลที่เสนอไม่เป็นไปตามนั้นก็ควรถกเถียงด้วยข้อมูล ไม่ใช่หาวิธีการทางกฎหมายทำให้แอมเนสตี้ทำงานอย่างยากลำบาก

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

กรณีที่รัฐบาลให้ตรวจสอบแอมเนสตี้เนื่องจากองค์กรนี้กำลังรณรงค์ในประเด็นที่รัฐบาลไทยคิดว่าเป็นหลักการด้านความมั่นคงของชาติในบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน

ขณะที่แอมเนสตี้จะมุ่งเน้นเรียกร้องให้มีการประกันตัวคนรุ่นใหม่ที่ถูกจับกุม องค์กรนี้ได้พยายามวางหลักการทำงานบนหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งกว่า 70 ปีประเทศไทยได้ยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ว่าหลักการในการใช้กฎหมายกับประชาชนของตนเองจะต้องเป็นหลักการที่เห็นว่าทุกคนที่ถูกดำเนินคดีถูกมองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ดังนั้น กระบวนการของการประกันตัวจึงเป็นสิทธิความชอบธรรมของประชาชน

หลักการข้อนี้จึงทำให้เกิดการกดดันประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่ให้ทำร้ายข่มเหงประชาชนในประเทศนั้นได้เป็นจำนวนมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาและแอมเนสตี้เคยทำสำเร็จในไทย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่รัฐบาลขวาจัดแบบสุดขั้วได้กระทำกับนิสิตนักศึกษาในรุ่นนั้น จากนั้นด้วยเหตุที่นักศึกษาไม่ยอมรับระบอบการปกครอง จึงหนีเข้าป่าไปจับอาวุธสู้รบกับรัฐบาล หลังจากนั้นต้องใช้เวลาหลายปีกว่าเหตุการณ์จะสงบและทุกฝ่ายให้การยอมรับเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมักจะอยู่ภายใต้กรอบอำนาจของรัฐทหาร ไม่ว่าบางช่วงเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแนวคิดนี้ก็ยังอยู่ ดังนั้น การที่ดูเหมือนว่ารัฐจะถูกล่วงล้ำจากองค์กรสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะเห็นว่าหลายครั้งในอดีตมีผู้นำรัฐบาลไทยจะบอกว่าจะต้องขับไล่ออกนอกประเทศ จะต้องตรวจสอบ การกระทำเหล่านี้เป็นการแสดงออกของความเป็นประเทศที่ขาดความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูง จึงสามารถทำในสิ่งเหล่านี้ให้ประชาชนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

การทำงานของแอมเนสตี้ที่ผ่านมาได้รับการยอมรับในระดับโลก การทำงาน หรือการเคลื่อนไหวจึงทำให้มีแรงกดดันไปยังประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็จะใช้เป็นข้อมูลข่าวสารในการที่จะชี้ชัดได้ว่ารัฐบาลที่มีการเลือกตั้ง แต่ยังขาดความเป็นประชาธิปไตยในหลักการของสิทธิมนุษยชน

ซึ่งประเทศที่เป็นมหาอำนาจก็จะใช้ หรือสร้างแรงกดดันต่อประเทศไทย เหมือนกับการสร้างแรงดันกับการประชุมอาเซียนและประเทศเมียนมา

แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช.จะบอกว่าประเทศมีอธิปไตยอย่างเต็มที่ จะไม่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันขององค์กรระดับนานาชาติ หรือประเทศอื่น

แต่มีคำถามว่าจริงหรือไม่ กรณีที่บอกว่าไม่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน อย่าลืมว่าประเทศไทยต้องไปร่วมงานด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก

ปีนี้ทราบว่าหลายประเทศถามถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในประเด็นที่แอมเนสตี้กำลังขับเคลื่อนปัญหาจากการดำเนินนคดีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ทำให้ตัวแทนทูตในหลายประเทศออกมาแสดงบทบาทกดดันประเทศไทยมากขึ้น

การที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การทำรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำของรัฐบาลมักมีอำนาจเหนือประชาชน ผู้นำจะคิดว่าตัวเองคือตัวแทนของความถูกต้องเสมอ แต่เมื่อตัวแทนของรัฐบาลไทยออกไปโลกภายนอก กลับกลายเป็นว่าถูกแรงกดดันให้ผู้นำรัฐบาลไทย ทั้งนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

สาเหตุที่ผู้มีอำนาจไม่พอใจ เป็นผลจากการกดดันของแอมเนสตี้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาแกนนำมวลชนในคดีการเมืองบางราย ที่รัฐพยายามใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องบางมาตราให้ทรงพลังและมีอำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image