จุดยืน มุมมอง ต่อ เลือกตั้ง ‘ท้องถิ่น’ กรณี ‘ก้าวหน้า’

คอลัมน์หน้า 3 : จุดยืน มุมมอง ต่อ เลือกตั้ง ‘ท้องถิ่น’ กรณี ‘ก้าวหน้า’

มุมมองและท่าทีต่อความสำเร็จและความล้มเหลวจากการเลือกตั้งระดับ “ท้องถิ่น” ของ “คณะก้าวหน้า” มากด้วยความละเอียดอ่อน

แยกจำแนก “ทรรศนะ” และ “วิธีการ”

หากเป็นเครือข่ายของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หากเป็นเครือข่ายของมวลมหาประชาชน “กปปส.” ก็แจ่มชัด

มองเห็นเป็น “ความล้มเหลว” ไร้เดียงสา

Advertisement

หากเป็นเครือข่ายที่เรียกตนเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็มองอย่างเข้าใจ มากด้วยความเห็นอกเห็นใจ

ให้กำลังใจ ปลอบโยน นุ่มนวล

ท่าทีและท่วงทำนองจาก 2 ฝ่ายนี้แยกจำแนก 1 จุดยืน 1 ทรรศนะ และ 1 วิธีการในการสำแดงชัดเจน อ่านไม่ยาก

Advertisement

ทำไมจึงมองเห็นว่าเป็น “ความล้มเหลว”

คําตอบอย่างง่ายที่สุดก็จากรูปธรรมและความเป็นจริงที่ปรากฏตั้งแต่การเลือกตั้งระดับ อบจ. การเลือกตั้งระดับเทศบาล และระดับ อบต.

ไม่ว่าจะมองจาก “ทั้งหมด” ไม่ว่าจะมอง “เฉพาะส่วน”

นั่นก็คือ ระดับนายก อบจ.ไม่ได้รับเลือกเลย ได้แต่เพียงสมาชิกสภา อบจ. นั่นก็คือ ระดับเทศบาล ได้เพียง 17 แห่ง และสมาชิกสภาตำบลจำนวนหนึ่ง

นั่นก็คือ ระดับ อบต.ได้นายก อบต. 38 แห่ง สมาชิกสภา อบต.จำนวนหนึ่ง

หากมอง 38 จาก 5,300 แห่ง ก็เป็นจำนวนน้อยนิด ยิ่งหากมองไปยัง 17 นายกเทศมนตรีของเทศบาล และการไม่มีนายก อบจ.แม้แต่คนเดียว

ก็ต้องยอมรับว่า “คณะก้าวหน้า” ได้มาน้อยอย่างยิ่ง

จึงไม่แปลกที่จะมีการเทียบร้อยละ จึงไม่แปลกที่จะมีการระบุว่าคณะก้าวหน้าไม่เข้าใจสังคมไทยอย่างเพียงพอ อ่อนหัด ไร้เดียงสา

และในที่สุด “ก้าวไกล” ก็หนีชะตากรรมนี้ไม่พ้น

กระนั้น กล่าวสำหรับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เรียกตนเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็มองปัญหาจาก อบจ. เทศบาลและ อบต.อย่างสังเคราะห์

สังเคราะห์ “ความจริง” ที่ดำรงอยู่

ไม่ว่าจะเป็นความเป็นจริงภายใต้ “รัฐราชการรวมศูนย์” ไม่ว่าจะเป็นความเป็นจริงแห่งการก่อรูปขึ้นมาของ “คณะก้าวหน้า” ต่อเนื่องจากพรรคอนาคตใหม่

“คณะก้าวหน้า” ก็เหมือนกับ “พรรคอนาคตใหม่”

นั่นก็คือ พรรคอนาคตใหม่ไม่มีบทเรียนในเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. คณะก้าวหน้าก็ไม่มีบทเรียนในเรื่องการเลือกตั้ง “ท้องถิ่น”

การไม่ได้นายก อบจ.เลยเป็นที่เข้าใจได้

กระนั้น การได้นายกเทศมนตรีจาก 17 เทศบาล และการได้นายก อบต.จาก 38 อบต.ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นจาก 0

จำนวนที่ได้มาย่อมถือว่าเป็น “กำไร”

บทสรุปไม่ว่าจะมาจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะมาจาก น.ส.พรรณิการ์ วานิช จึงเท่ากับเป็นการวิจารณ์ระบบ วิจารณ์ตนเองได้อย่างดียิ่ง

เป็นบทสรุป “ชัยชนะ” ที่ได้มาว่าเป็นอย่างไร

นั่นก็คือ เป็นชัยชนะที่ได้มาโดยการชู “นโยบาย” เป็นอาวุธในการต่อสู้ เป็นชัยชนะที่ได้มาโดยไม่ต้องใช้เงินทุ่มไปในการซื้อเสียง

แสดงว่ายังมี “คนจริง” ดำรงอยู่ในสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image