ยื้อเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่วางใจคนกรุง-พปชร.ไม่พร้อม?

รายงานหน้า 2 : ยื้อเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่วางใจคนกรุง-พปชร.ไม่พร้อม?

หมายเหตุนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องดู 2 ปัจจัย คือ สถานการณ์การชุมนุม 2.การระบาดของโควิด-19 ขณะที่หลายฝ่ายเรียกร้องจัดเลือกตั้งโดยเร็ว

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีปัญหาในเชิงภาพใหญ่และภาพย่อย ขณะที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในข้อเท็จจริงอาจจะไม่มีอำนาจหน้าที่ไปทำอะไรได้มากนัก ทั้งที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับมหานคร แต่ต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างการกระจายอำนาจที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภา กทม. หรือ ส.ก.จะเป็นภาพสะท้อนไปสู่การเมืองใหญ่ได้ โดยเฉพาะประเทศไทยมีโครงสร้างรัฐที่มีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจ ทำให้มีคำกล่าวว่า กทม.ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ท้ายที่สุดประเทศไทยก็คือ กทม.

Advertisement

ดังนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงมีความเกี่ยวพันกับกระแสการเมืองระดับชาติ และเป็นฐานสำคัญในการชี้วัดกับการเมืองระดับชาติหลังจากนี้ หากมีการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.จึงเป็นส่วนสำคัญกับฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐ โดยเฉพาะพรรคแกนหลักของรัฐบาลคือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องให้ความสำคัญในการวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในสนามนี้ค่อนข้างมาก จึงเห็นได้ว่าเวทีเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่ อบจ. เทศบาล และล่าสุด อบต. ขณะนี้มาถึงคิวของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการวางแผนการเลือกตั้งไว้แบบนี้ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น จึงเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติอย่างแน่นอน ขณะที่สนาม กทม.พรรค พปชร.มี ส.ส.เขตจำนวนไม่น้อย การเลือกตั้งในสนามนี้จึงสะท้อนไปถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

สำหรับภาพการเมืองในระดับย่อยสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เดิมพรรค พปชร.จะส่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ลงแข่งขัน มีการเปิดตัวอย่างชัดเจน หลังได้รับการทาบทามจากหัวหน้าพรรค พปชร. ต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้ปฏิเสธสมัครในนามพรรค จะเห็นได้ว่าจากนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เหมือนจะถูกเลื่อนออกไป สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมในตัวผู้สมัครของพรรค พปชร.เรื่องนี้จะถูกมองว่าเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจเพื่อเปิดพื้นที่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. หรือไม่ เพราะจะส่งผลไปสู่การเมืองระดับชาติเพราะหลายพรรคการเมืองต้องการวางรากฐานในสนาม กทม. จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

เมื่อพรรค พปชร.ยังไม่พร้อมทำให้ไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่หลังจากนี้อีกไม่นานต้องดูว่าพรรคพร้อมจะส่งผู้สมัครในนามพรรคอีกหรือไม่ หรือจะสนับสนุนทางอ้อมกับผู้สมัครรายใด หรือหากพรรค พปชร.ในฐานะพรรคแกนนำจะประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะต้องหาตัวผู้สมัครให้ได้ก่อน จึงจะนำไปสู่การประกาศวันเลือกตั้ง แต่ตัวผู้สมัครดังกล่าวก็ต้องดูว่ามีการเปิดเผยชัดเจนในนามพรรคหรือไม่ หรือจะมีการสนับสนุนทางอ้อม ซึ่งอาจประกาศได้ว่าหนุนใคร แต่บุคคลนั้นไม่ได้ลงในนามพรรค

Advertisement

ดังนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สรุปว่าจะเร็ว หรือช้า อยู่ที่ความพร้อมของพรรค พปชร.และรัฐบาล

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สาเหตุหลักที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ล่าช้า มาจากการสรรหาตัวผู้สมัครของพรรค พปชร.ยังไม่ลงตัว หาบุคคลที่มีความเหมาะสมได้ยากมาก ขณะที่มีว่าที่ผู้สมัครรายอื่นออกตัวไปก่อนนานแล้ว เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีความชัดเจนในระยะเวลายาวนาน มีผลสำรวจของโพลที่ออกมาก็ยิ่งทำให้พรรค พปชร.รู้สึกว่า หากมีการเลือกตั้งในจังหวะแบบนี้โอกาสแพ้มีค่อนข้างสูงหลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ถอนตัว จากนั้นก็มีเสนอชื่อผู้ว่าฯหมูป่า หรือบุคคลอื่น แต่ความชัดเจนของจริงยังไม่มี ขณะที่การดึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้ล่าช้าก็ไม่ควรอ้างเหตุจากความไม่สงบ เพราะน่าจะไม่เกี่ยวข้อง

น่าสนใจว่า ขณะนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก เข้ามาดูแลพื้นที่ กทม.มากขึ้น หลังจากผู้ดูแลเดิมที่เป็น 2 อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ เป็นอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ดึง ส.ก.มาอยู่กับพรรคพปชร.พ้นจากหน้าที่จากคำสั่งศาล ประกอบกับ ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ใน กทม.ก็ดูเหมือนจะลดบทบาท บวกรวมกับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาโควิด-19 การจัดหาวัคซีน ยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีมากนัก ขณะที่การเลือกตั้งใน กทม.จะต้องมีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะตัวบุคคลในพรรคพลังประชารัฐที่เข้าไปดูแลการบริหารจัดการภายในพรรค ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะต้องมีความสงบ มีความนิ่งเกิดขึ้นในพรรค พปชร.ต้องทำให้ทุกองคาพยพลงตัวทั้งหมด เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเมืองใน กทม.และต้องรอดูการคลี่คลายปัญหาของรัฐบาลในภาพรวม ทุกปัญหาจะคลี่คลายได้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกหรือไม่

มองเข้าไปในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ยังไม่เปิดตัวผู้สมัคร ยังหาบุคคลที่เหมาะสมไม่ได้ จึงไม่ออกมากดดันให้มีการเลือกตั้งให้เร็ว เพราะอยู่ระหว่างการประเมินว่าจะมีแนวทางในการส่งตัวผู้สมัคร แต่ไม่เปิดตัวในนามพรรค แต่จะสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และพรรค ปชป.จะต้องหาผู้สมัคร ส.ก.ไปซ่อมไปเสริมในจุดที่ถูกพรรค พปชร.ดึงออกไปทำงานการเมือง

ขณะที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็ยังไม่มีความชัดเจนในสนามผู้ว่าฯ กทม.เพราะมีปัญหาระหว่างคณะก้าวหน้าที่ส่งบุคคลไปลงการเมืองท้องถิ่นจำนวนมาก หากจะไปลงเลือกตั้งในสนาม กทม.พรรค ก.ก.จะว่าอย่างไร หรือพรรคก้าวไกลจะเคาะส่งตัวบุคคลลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ไม่รีบ เพราะไม่ทราบว่าจะส่งผู้สมัครนามพรรคไปแข่งกับนายชัชชาติหรือไม่ ยังไม่นับพรรคไทยสร้างไทย ที่แยกไปจากเพื่อไทยแต่มีฐานการเมืองอยู่ใน กทม.ค่อนข้างสูง ที่สำคัญทุกพรรคต้องประเมินว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ หากส่งผู้สมัครในนามพรรค แล้วผลคะแนนพ่ายแพ้

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.น่าจะเกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพรรค พปชร. หากกำหนดวันเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปลายปี 2563 หรือจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลังเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 เพราะช่วงนั้นพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ใน กทม.จำนวนมาก ก็จะไม่มีปัญหาเหมือนทุกวันนี้

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ถ้าให้เดาเหมือนคนดูการเมืองทั่วไป เชื่อว่าผู้มีอำนาจในขณะนี้ ไม่กล้าเคาะวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะยังไม่ไว้ใจคน กทม. เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะไปลงคะแนนเลือกตัวบุคคลตามที่ผู้มีอำนาจต้องการหรือไม่ ที่สำคัญต้องยอมรับว่าสนามเลือกตั้งใน กทม. ไม่มีอะไรแน่นอน ฉีกหน้าคนทำโพลมาเยอะแล้ว เพราะ 3 วันก่อนการลงคะแนนเลือกตั้งก็สามารถพลิกเกมได้ เนื่องจากเหตุผลในการลงคะแนนมีความหลากหลาย ไว้วางใจได้ยากจากกระแสการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนล่าสุด ก่อนรัฐประหารในปี 2557 มีผู้สมัครบางรายคิดว่าตัวเองลอยลำแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ ดังนั้นกรณีที่รัฐบาลอาจจะคิดว่าตัวเองทำงานดีมีผลงาน ก็เชื่อว่าประชาชนจะต้องไปเลือกบุคคลในฝ่ายรัฐบาล ใครก็คิดเช่นนั้นได้ แต่ผลจะเป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่ อย่างไร ต้องไปดูคะแนนในหีบบัตร

วันนี้อำนาจในการเคาะวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อยู่ที่พรรค พปชร.ที่มี มท.1 คุมมหาดไทย แต่ต้องประเมินว่าขณะนี้ในพรรคมีเอกภาพหรือไม่ ทั้งที่สนามเลือกตั้ง กทม.เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษควรจะมีการเลือกตั้งได้ก่อน อบจ. เทศบาล และ อบต. หรือเมืองพัทยา เพราะประชาชนในชุมชนเมืองขนาดใหญ่ถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด แต่พรรค พปชร.ประเมินแล้ว เนื่องจากไม่ไว้ใจประชาชนที่จะไปลงคะแนน นอกจากนั้นคงทราบว่าสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาชนผู้ลงคะแนนอาจจะมีเป้าหมายในการเลือกตั้ง เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง มากกว่าการนิยมรูปแบบการปกครอง หรือนโยบายการบริหารงานท้องถิ่น

จากการติดตามว่าที่ผู้สมัครที่เปิดตัวมานานพอสมควร พบว่ามีผู้สมัครอิสระบางรายมีคะแนนนำแทบทุกโพลอย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้เชื่อว่ารัฐบาลคงจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือหากไม่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้วมีอุบัติเหตุการเมืองจะต้องเลือกตั้งส.ส.ก่อน รัฐบาลจะตอบคำถามได้หรือไม่ว่า จะยื้อเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปเพื่ออะไร ดังนั้น หากไม่มีใครดึงเกมคาดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คงเป็นช่วงต้นปี2565 ขณะที่คนกรุงเทพฯก็ยังไม่รู้สึกอะไรมากนักกับการมีผู้ว่าฯ กทม.มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เพราะอาจจะเชื่อว่าทุกวันนี้ได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากการใช้นโยบายของรัฐบาลมากกว่า ไม่คิดว่าผู้ว่าฯ กทม.จะเป็นผู้บริหารหลักที่จะอำนวยความสุข ความสะดวกสบาย หรืออาจจะเห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีลงมาดูปัญหาน้ำท่วม ก็ต้องเชื่อในฝีมือของนายกฯมากกว่าผู้ว่าฯ กทม.

การประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่เหมาะสมคงจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน ดังนั้นรัฐบาลอย่าพยายามทำให้ประชาชนมองว่า มีการถ่วงเวลาเลือกตั้งล่าช้าไปหรือไม่ รัฐบาลควรประกาศวันเลือกตั้งให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคน กทม.ภายในสัปดาห์แรกเดือนมกราคม 2565 หรือหากเลือกตั้ง อบต.แล้วยังเงียบ ตั้งใจจะยื้อออกไปให้นานกว่า 3 เดือน รัฐบาลอาจจะตกเป็นจำเลย ถือเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประชาชนไม่ได้ไปเลือกตั้ง

แต่ก็น่าเห็นใจพรรค พปชร.เพราะในพรรคก็ยังไม่ทราบว่าจะวางตัวบุคคลไปลงแข่ง ในพรรคยังไร้เอกภาพ ดังนั้น พรรคอาจจะตัดสินใจลอยตัว ไม่ประกาศหนุนใครแบบตรงๆ อาจจะมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่รัฐบาลแอบเชียร์มากกว่า 1 คนก็ได้ จากนั้นก็ไปยักคิ้วหลิ่วตาพอให้รู้ว่าใครคือ เป้าหมาย ส.ส.ของพรรคใน กทม.ควรหนุนใคร

ถ้าให้ฟันธงระหว่างพรรค พปชร.จะประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือจะประกาศรายชื่อบุคคลที่พรรคส่งลงสมัคร คงประเมินยากเชื่อว่าพรรคคงไม่ผลีผลามตามกระแส แต่จะยื้อการประกาศแบบเนียนๆไปก่อน ส่วนว่าที่ผู้สมัครทั้งหลายก็ให้เด็กในพรรคออกมาเสนอตัวบุคคลเหมือนโยนหินถามทาง ส่วนผู้ที่จะลงสมัครในนามพรรค ก็ต้องการให้นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนให้ชัดเจน แม้ว่าประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนใน กทม.ก็อาจจะตัดสินใจไปอีกแบบ

พรรคการเมืองแทบทุกพรรคทราบดีว่า หากส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ก็ต้องทำงานหนัก เหมือนที่ยุคหนึ่งเคยมีคนพูดว่า คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล แต่คน กทม.จะถ่วงดุลเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image