สภาพ ลิ้นพันกัน ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อกรณี ‘จะนะ’

คอลัมน์หน้า 3 : สภาพ ลิ้นพันกัน ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อกรณี ‘จะนะ’

ยิ่งมีความพยายามจะปัดในเรื่อง “สลาย” การชุมนุม และเรื่องข้อตกลงกับชาวบ้าน “จะนะ” ให้ออกห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากเพียงใด

ยิ่งทำให้เกิดอาการ “ย้อนกลับ” แบบ “บูมเมอแรง” เพียงนั้น

เป็นไปได้หรือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจะตัดสินใจเอง โดยไม่ได้ “ไฟเขียว” จากใคร

เป็นการตัดสินใจของ สน.ปทุมวัน กระนั้นหรือ

Advertisement

ต้องยอมรับว่า การชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลดำเนินไปอย่างเป็น “การเมือง” ในเรื่องทางการเมืองแต่ไหนแต่ไรมาก็ต้องมี “ธง”

ไม่ว่าธงจาก “ตึกไทยคู่ฟ้า” ไม่ว่าธงจาก “ความมั่นคง”

เช่นเดียวกับการมาจากจะนะ สงขลา ของชาวบ้าน หากไม่มี “ความเชื่อมั่น” จากพื้นฐานการตกลงเมื่อเดือนธันวาคม 2563

เป็นไปได้หรือที่จะขนทั้ง “ครอบครัว” มากัน

ต้องยอมรับว่าการมาของชาวจะนะเป็นการมาบนฐานทางความคิดที่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะยอมรับฟังและปฏิบัติตามที่เคยตกลง

เพราะเป็นข้อตกลงเมื่อเดือนธันวาคม 2563

เป็นการตกลงโดยมีบุคคลระดับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนาม

เป็นไปได้หรือที่จะลงนามไปเองโดยอัตโนมัติ

เป็นไปตามคำแถลงล่าสุดที่เป็นการลงนามโดยไม่ได้ผ่านความรับรู้จาก ครม.อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยัน

อันเท่ากับ “ลอยแพ” ต่อ “ข้อตกลง”

อันเท่ากับการเดินทางมาของชาวจะนะมาอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2564 เป็นการมาบนฐานความเชื่ออันว่างเปล่า เลื่อนลอย

ทั้งที่เป็นการตกลงกันหน้า “ทำเนียบรัฐบาล”

คล้อยหลังคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดปฏิเสธความรับผิดชอบต่อข้อตกลงเมื่อเดือนธันวาคม 2563 อย่างสิ้นเชิง

ก็ปรากฏ “เอกสาร” และ “หลักฐาน”

เป็นเอกสารว่าสถานการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เป็นไปตามแนวทางที่เสนอโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

อันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รับผิดชอบรับผิดชอบในฐานะประธาน

รับผิดชอบในฐานะเป็นผู้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นผู้ดำเนินการ

และต่อมายังนำเสนอต่อ ครม.ในวันที่ 15 ธันวาคม 2563

จากนั้นก็ปรากฏคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานดำเนินงาน

คำสั่งนี้ออกมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564

จึงมีความจำเป็นอย่างรีบด่วนไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จักต้องมีการทบทวน

ทบทวน “คำสั่ง” ทบทวน “คำพูด”

ไม่ว่าจะเป็นคำพูดในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าจะเป็นคำพูดในฐานะ “รองนายกรัฐมนตรี” ว่ามีความผูกพันมากน้อยเพียงใด

เป็นความผูกพันอย่าง “เตะถ่วง”หรือ “รับผิดชอบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image