ทางออก ‘ลดความรุนแรง’ คฝ.สลาย ‘ม็อบจะนะ’

รายงานหน้า 2 : ทางออก ‘ลดความรุนแรง’ คฝ.สลาย ‘ม็อบจะนะ’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีตำรวจควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา บริเวณทำเนียบรัฐบาล ที่ทวงถามความคืบหน้ารัฐบาลให้ยุติโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ ทั้งหมด โดยต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตำรวจจำเป็นต้องทำเพราะมีข่าวคนจะมามั่วสุมเพิ่มเติม ส่วนเอ็มโอยูที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรฯ เคยทำไว้กับกลุ่มเครือข่ายเมื่อปีที่แล้ว ก็ไม่ได้ผ่านที่ประชุม ครม.

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

หากยึดในหลักการสันติวิธี ต้องหาทางออกด้วยการคุยหลายรอบ ทุกฝ่ายต้องฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน อย่าตั้งธงไว้ก่อน การคุยกันได้อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้สำเร็จคือความไว้วางใจ แต่ปรากฏว่าขณะนี้ความไว้วางใจอยู่ที่จุดต่ำมาก ดังนั้นขั้นต้นหากต้องการหาทางออกที่อาจจะไม่พอใจเท่ากันทุกฝ่าย แต่จะพอใจในระดับหนึ่งของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องเร่งหาทางฟื้นฟูความไว้วางใจ

แต่การพูดอะไรออกมาที่ทำให้คนขัดแย้งกัน ก็ทำให้ปัญหาบานปลายไปอีก ต้องระวังให้มากทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมนุมก็พูดเหมือนเอาตัวรอดอีกฝ่ายผิดหมด นายกรัฐมนตรีพูดว่าทำอะไรไม่รอบคอบ แต่คนที่ไปทำงานขณะนั้นก็ไปทำงานในนามของรัฐบาล จากนั้นก็ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปติดตาม แล้วตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก มี ร.อ.ธรรมนัส รับผิดชอบ หลังการชุมนุมของชาวจะนะ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 แต่ขณะนี้ ร.อ.ธรรมนัส บอกว่าไม่เกี่ยวข้องแล้ว

Advertisement

ผู้ชุมนุมก็บอกว่าสัญญาแล้วไม่เป็นสัญญา ไม่ทำผังเมืองให้นิคมฯแต่จะเปลี่ยนสีให้หรือไม่ การพูดในบางครั้งของแต่ละฝ่าย ก็รู้สึกว่ายังมีอะไรบางอย่างที่ฝืนความจริง และการพูดของแต่ละฝ่าย สามารถแปลความหมายถึงความจริงใจได้ ดังนั้นหากใครติดตามเรื่องนี้ก็พบว่ายังวนอยู่ที่เก่า เหมือนการเต้นรำพร้อมกันแต่ไม่เข้าจังหวะ เพราะเรื่องนี้เชื่อว่ามีธงไว้แล้ว แต่การทำให้สำเร็จคงยาก หรือรัฐบาลคิดว่ามีอำนาจก็อาจใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่เบื้องต้นก็ต้องพูดในแง่ดีไว้ก่อน ประชาชนที่เกี่ยวข้องฟังแล้วก็อาจจะรู้สึกเจ็บใจ

แต่คนที่เชียร์รัฐบาลก็อาจจะรู้สึกสะใจกับกลุ่มคนที่ชอบประท้วง เรื่องนี้มีตัวละครหลายฝ่าย ส่วนตัวยังเชื่อว่าคุยกันได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความไว้วางใจ และเชื่อว่าฝ่ายตนเองทำดีแล้ว ฝ่ายอื่นมีข้อบกพร่อง ดังนั้น หากทุกฝ่ายยึดตามคำกล่าวของคานธี บอกว่า รู้หรือไม่ว่าไม่มีทางที่จะไม่ให้คนอื่นวิจารณ์เรา ไม่ให้ตำหนิเรา สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราต้องดูปฏิกิริยาของเราต่อสิ่งเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงเมื่อฝ่ายอื่นวิจารณ์เข้ามาเราก็จะโต้ทันที เพราะฉะนั้นควรนิ่งไว้บ้างอย่าคิดจะสวนกันตลอดเวลา

สำหรับแนวทางที่จะไม่นำไปสู่ความรุนแรง ขณะนี้มีเหตุปัจจัยที่ยุ่งเหยิงซับซ้อน แต่การทำให้ง่ายก็ทำได้ เพียงแต่อย่าคิดว่าเรื่องนี้จะต้องมีแค่ฝ่ายเทพกับฝ่ายมาร ดังนั้นจึงควรกลับไปดูข้อตกลงภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส มีบันทึกข้อตกลงกับชาวบ้าน ผู้เกี่ยวข้องอย่าเพิ่งปฏิเสธบันทึก เพราะได้ทำไว้ในนามของรัฐบาล อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ผ่าน ครม.ตามที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ ก็ควรเอาจุดนี้มาทำตามที่ทำได้ไปก่อน อะไรที่ทำไม่ได้ก็ต้องมาคุยกัน เรียก ร.อ.ธรรมนัส มาถามว่าทำไมทำไม่ได้ ทุกอย่างก็อาจเดินหน้าไปได้

ต้องดูว่าคณะทำงานหลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากรัฐมนตรีจะมีใครเข้ามาทำแทน ที่น่าแปลกใจ ศอ.บต.ทำไมต้องออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะต้องดูความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่ามีผู้ก่อความไม่สงบมาร่วมชุมนุมด้วย ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นตำรวจควรตามให้สุดว่ามีอะไรเป็นเหตุจูงใจ แล้วถ้ามาจริงเขามาร่วมชุมนุมทำไม

การทำโครงการนี้ต้องนำข้อมูลทุกด้านออกมาตีแผ่ให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบ เพราะบอกว่าจะทำนิคมอุตสาหกรรม มีท่าเรือ โรงไฟฟ้า การทำโครงการนี้ในภาคใต้ตอบโจทย์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ลดภาวะโลกร้อน การใช้พลังงานหมุนเวียน หรือไม่ ต้องเอาสิ่งที่อยู่ในโครงการออกมาให้ดูว่าสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนหรือไม่อย่างไร

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

การลดความขัดแย้งจากกรณีจะนะ สำหรับภาครัฐหากต้องการสันติวิธีจะต้องปรับตัว อย่าทำให้เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก หรือทำให้ดูเหมือนว่ารัฐจะเดินหน้าโครงการต่อไป แต่ต้องศึกษาและทบทวนโครงการในพื้นที่ โดยร่วมกับภาคประชาชนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย รัฐต้องรีบขยับออกมาจากจุดที่มีความขัดแย้ง จากนั้นมีพื้นที่กลางเป็นเวทีแสดงความเห็นและควรหลีกเลี่ยงใช้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ในขณะนี้ เพราะหากให้ ศอ.บต.หรือฝ่ายความมั่นคงเข้าไปยุ่งเกี่ยว อาจทำให้การเจรจาทำได้ยาก ดังนั้นควรมีองค์กรที่เป็นกลางทั้งตัวแทนมหาวิทยาลัย นักวิชาการเข้าไปช่วย ที่สำคัญบุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ

ปัญหาโครงการนี้ไม่จบ เพราะมีรัฐมนตรีบางคนไปสัญญา หรือรับปากกับชาวบ้านว่าจะเลิก แต่ส่วนตัวคาดว่าหลังจากนั้นน่าจะมีการทบทวนแนวทางบางอย่างในการทำโครงการ แต่สุดท้ายคงไม่ลงตัวในส่วนของภาครัฐเอง เพราะยังมีอะไรที่อยู่ข้างหลัง รัฐจึงต้องมาเดินหน้าต่อไปและทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ข้อเท็จจริงฝ่ายการเมืองก็ต้องพูดคุยกับประชาชน เชื่อว่าขณะนั้นภาครัฐคงต้องการคลี่คลายปัญหา จึงทำให้มีการตกลงกัน ต่อมาภาครัฐด้วยกันเองไม่เห็นด้วยหรือความเห็นไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้เห็นว่าต่อไป ควรมีการทบทวนหากมีการประสานงานแบบนี้อีก เพราะตัวแทนที่ไปพูดคุยต้องเป็นตัวจริง เป็นบุคคลที่ ครม.และนายกรัฐมนตรีเชื่อใจได้

วันนี้ความไว้วางใจที่ชาวบ้านมีให้ภาครัฐคงน้อยลงมาก แต่รัฐต้องใช้ความพยายามทำให้ปัญหาสงบ แต่สิ่งที่รัฐบอกว่าจะทบทวนโครงการแล้วไม่ทำจริง ก็ทำให้การแก้ไขปัญหายุ่งยาก แต่สามารถกลับทบทวนใหม่ได้ ตั้งโจทย์ตั้งประเด็นใหม่ให้ได้ ทำให้ประชาชนเชื่อว่ามีการทบทวนจริงๆ อย่างถูกต้องตามหลักการ

แต่การทบทวนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเดินหน้าต่อไป ดังนั้นต้องนำทุกฝ่ายไปพูดคุยหาข้อสรุป หากจะเดินหน้าโครงการแล้วจะทำอย่างไรต่อไป หรือหากทำโครงการนี้ไม่ได้จะมีปัญหาอย่างไร เชื่อว่าทั้งฝ่ายที่มีผลประโยชน์และฝ่ายที่คัดค้านแนวทางที่ไม่เชื่ออีกฝ่ายที่บอกว่าเป็นการพัฒนา ก็ต้องร่วมกันหาทางออกทั้งการประเมินต้นทุน โอกาส การใช้ทรัพยากรต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง

เรื่องเหล่านี้นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญช่วยได้ว่าจะทำอย่างไรให้การพัฒนาทำได้ควบคู่กับการักษาสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าทุกปัญหาจะต้องมีทางออก หรือมีแนวทางในการพัฒนาทางเลือกที่จะต้องมีความชัดเจน แต่หากมีคำถามเรื่องการเริ่มต้นโครงการว่ามี ความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลจริงหรือไม่ ก็คงมีปัญหาต่อไปอีก แต่ถ้าเริ่มทำด้วยความโปร่งใส รอบด้าน ก็จะทำให้โครงการได้รับการยอมรับมากขึ้น

โครงการนี้ยังไม่ถือว่าเสียโอกาส แต่ฝ่ายการเมืองต้องทบทวนใหม่ให้ดี อย่าให้มีความสูญเสียจากต้นทุนทางสังคมในท้องถิ่น ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงจากความขัดแย้ง อย่าปล่อยให้มีปัญหาเรื้อรังแล้วฝืนเดินไปข้างหน้าให้มีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นไปอีก

ส่วนการสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ผู้มีอำนาจต้องยอมรับว่ามีความผิดพลาดในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องก็ต้องรับฟัง เพราะเป็นการเรียกร้องตามสิทธิของประชาชนจริงๆ ไม่มีเรื่องฝักฝ่าย หรือการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว ที่สำคัญภาครัฐก็มักจะมองว่าชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องแบบนี้มักจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่มีการมองอย่างหวาดระแวงมากเกินไป

ดังนั้น รัฐควรจะระวังในเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นที่ชาวบ้านออกมาทักท้วงเรื่องสิทธิชุมชน เป็นเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบกับการประกอบอาชีพในพื้นที่จริงๆ นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนงำต่างๆ ที่อาจจะยังไม่เปิดเผย เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายก็ต้องทำให้มีความชัดเจน ทุกฝ่ายต้องตอบคำถามของคนในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา เชื่อว่าแนวทางสันติวิธียังพูดคุยกันได้ ยังไม่สายเกินไป แต่ขอย้ำว่าต้องมีคนกลาง มีพื้นที่กลางที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมจริงๆ หรือควรจะถอยไปคนละก้าวแล้วมาทบทวนใหม่ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะหาทางออก

บรรจง นะแส
ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย

ความขัดแย้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กรณีที่ ร.อ.ธรรมนัสได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อ 14 ธันวาคม 2563 ที่กลายเป็นที่มาของการเดินทางมาทวงสัญญาหน้าทำเนียบรัฐบาลจนถูกสลายการชุมนุมนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธาน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีก็รับรู้ในเรื่องนี้ด้วย การที่บอกว่าไม่รู้ ไม่รับทราบ คงไม่ได้ หลายคนมองว่าเป็นความขัดแย้งการเมือง เรื่องความขัดแย้งจะมีหรือไม่มี นั้นไม่ทราบ แต่จะนำมาเป็นปัญหากับการทำงานไม่ได้

เพราะเมื่อมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้วก็ควรจะดำเนินการไปตามนั้น มองว่างานนี้
นายกฯพลาด เพราะเป็นการสะท้อนการใช้อำนาจจนเพลิน ไม่สนใจประเด็นปัญหาคนเล็กคนน้อย
ทางออกในเรื่องนี้นั้น นายกฯควรจะขอโทษชาวบ้าน เพราะสิ่งที่ทำไป สลายการชุมนุมไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข เพราะเป็นการชุมนุมสงบ รวมถึงการถอนคดีความที่ผูกยึดโยงชาวบ้านเอาไว้ หรือหากนายกฯบอกว่าไม่ได้เป็นคนสั่งการ ก็ควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับคนสั่งการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ที่สำคัญควรจะถอยออกมาแล้วกลับไปตั้งต้นใหม่ ตามข้อตกลงเอ็มโอยูฉบับเดิมที่ ร.อ.ธรรมนัส ลงนามเอาไว้

เพราะข้อเสนอของชาวบ้านที่ให้เริ่มการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วมนั้นเป็นกระบวนการเป็นหลักคิดที่ทันสมัย และเป็นการใช้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ขออย่าเห็นแก่กลุ่มทุนจนเกินไป ให้รับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ เรื่องนี้คงจะจบได้ยาก จะนำไปสู่ความรุนแรงทางสังคมในอนาคต เป็นสิ่งหนึ่งที่จะวัดใจนายกฯว่าเป็นคนใจกว้างและอยู่ในครรลองคลองธรรมหรือไม่ แต่ถ้าหากดึงดันไปก็จะเกิดปัญหามากขึ้น

บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ
ผู้อำนวยสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การลงนามในเอ็มโอยูของกลุ่มจะนะ กับ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เหมือนเป็นการซื้อเวลามากกว่า ถือเป็นเทคนิคในทางการเมือง โดยมองว่าจากเอ็มโอยู แล้วขั้นตอนหลังจากนั้น จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ เพราะทราบว่า จะมีการชงเรื่องโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เข้าสู่ ครม. เมื่อมีการทำเอ็มโอยูโดย ร.อ.ธรรมนัส ขณะเป็น รมช.เกษตรฯ และมีหนังสือแต่งตั้ง เพราะฉะนั้น นายกฯจะบอกว่าไม่ทราบเรื่องคงไม่ได้ เป็นสิ่งที่ยึดโยงอยู่กับรัฐบาล

เมื่อมีการทำข้อตกลงก็ควรจะปฏิบัติตาม ข้อเรียกร้องของชาวบ้านก็ไม่ได้ทำให้โครงการล่าช้าออกไป หรือส่งผล กระทบอะไร แต่กลับเป็นการสร้างความถูกต้องชอบธรรม หากสามารถเกิดโครงการขึ้นมาได้

ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ อ.จะนะ มีทั้งกลุ่มที่คัดค้านโครงการ กลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มกึ่งสนับสนุนที่อยู่ระหว่างการต่อรองในเรื่องของผลประโยชน์ การที่รัฐบาลจะรับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่เป็นทิศทางที่ถูกต้อง ผมเห็นด้วยกับการที่ชาวบ้านเดินทางทวงสัญญา เพราะมีการลงนามร่วมกันจริงๆ โดยที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับทราบว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการหลังลงนามอย่างไรหรือไม่

ในขณะเดียวกัน การที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็เข้าใจได้ เพราะอยู่ในช่วงเปราะบาง ทั้งในเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งในเรื่องของการควบคุมโรคและความละเอียดอ่อนในทางการเมือง เจ้าหน้าที่ก็อาศัยจังหวัดในการทำเร็ว แต่จริงๆ ก็มีแนวทาง มีวิธีการอื่นๆ ที่รัฐควรจะทำมากกว่าการสลายการชุมนุมเช่นนี้ ทำให้เสรีภาพในการชุมนุม ทำให้สิทธิต่างๆ ของประชาชนหายไป อย่าลืมว่าในขณะนี้ไม่ใช่รัฐบาล คสช. แต่เป็นรัฐบาลที่ใช้กฎหมายปกติ

เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการปล่อยปละของการเรียกร้องในพื้นที่ จนชาวบ้านต้องเดินทางไปชุมนุมในส่วนกลาง ขณะเดียวกันก็มีแต่การซื้อเวลาโดยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ควรจะใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจในพื้นที่มากกว่าการให้ชาวบ้านต้องเดินทางไปส่วนกลาง

ขณะที่ส่วนกลางก็ไม่ได้เข้าใจในบริบทปัญหาที่เกิดขึ้นมากนัก การทำประชาพิจารณ์ในโครงการนี้ก็เคยทำมาครั้งหนึ่ง แต่ก็มีการกีดกันไม่ให้คนที่ไม่เห็นด้วยเข้าร่วม ไม่ใช่กระบวนการที่ถูกต้อง ข้าราชการในพื้นที่ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นดี เพราะในโครงการนี้นั้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายครั้ง หากไล่เรียงไทม์ไลน์ก็จะทราบดี ควรจะนำปัญหาเหล่านั้นมาถอดบทเรียนได้แล้ว

ทางออกที่ดีคือ การรับฟังปัญหา รับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ต่อโครงการ การถอยออกมาแล้วทำตามข้อตกลงที่เคยทำกันเอาไว้ ในขณะที่ ศอ.บต.แม้จะเป็นส่วนราชการ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลักดันโครงการ ทำให้กลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ จึงควรจะที่ถอยออกไป หากจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลาง ก็ควรจะหาหน่วยงานที่เป็นกลางอย่างแท้จริงเข้ามา ร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image