จับตาศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.ปัจจัยชี้ขาดผลแพ้-ชนะ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการมองศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 2565 หลังการเปิดตัวของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในนามอิสระ และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดี สจล. ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่วนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคก้าวไกลรอเปิดตัวผู้สมัคร

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ทำให้ได้รับความสนใจ ทั้งที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ควรเกิดขึ้นนานแล้ว ที่สำคัญนโยบายของแต่ละว่าที่ผู้สมัคร ยังน่าสงสัยว่าแต่ละเรื่องผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจหน้าที่ทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการดูแลงานจราจรยังอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการไฟฟ้านครหลวงดูแลการใช้ไฟฟ้าของคน กทม.ดังนั้นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงไม่ควรไปเทียบกับการบริหารมหานครในประเทศพัฒนาแล้ว มีกระจายอำนาจอย่างเต็มที่

Advertisement

วันนี้ว่าที่ผู้สมัครจะเห็นปัญหาตรงกันแทบทั้งหมด ทั้งน้ำท่วม การจราจร การรักษาความสะอาด แต่ใครจะทำได้จริงหรือไม่ต้องรอ เพราะรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เคาะวันเลือกตั้ง ดังนั้นการเปิดตัวแต่เนิ่นๆ ก็สามารถเรียกความสนใจได้ เพราะได้แสดงถึงความมั่นใจ มีความพร้อมเต็มที่ แต่บางค่ายในพรรครัฐบาลที่ยังไม่กล้าเปิดตัวผู้สมัคร ก็อาจจะถูกมองว่าภายในองค์กร หรือทีมงานยังไม่เป็นเอกภาพ หลังจากนี้เป็นต้นไป ถ้ากระแสการเปิดตัวร้อนแรงปลุกชาว กทม.ให้คึกคักมากขึ้น ปัญหาจะอยู่ที่รัฐบาลจะต้องมีเหตุผล มีความชัดเจนว่าจะเลือกตั้งก่อนมิถุนายน 2565 ได้หรือไม่

สำหรับการเปิดตัวของผู้สมัครรายล่าสุดของพรรค ปชป. อีกไม่นานก็คงคล้ายกับการเปิดตัวของนายชัชชาติ ที่ออกมาบอกสังคมนานแล้วจนกระทั่งเกิดความเคยชิน แต่ส่วนตัวยังเห็นว่าการเปิดตัวผู้สมัครหน้าใหม่ๆ เป็นการสร้างสีสันให้ทันกับยุคสมัย เป็นทางเลือกของตัวบุคคลในอาชีพอื่นๆ ที่น่าจะมีอะไรมากกว่าความเป็นข้าราชการเก่า

การเปิดตัวนาน เปิดตัวก่อน ไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก่อนมีรัฐประหารในปี 2557 สนามเลือกตั้งกทม.ก็ชี้ขาดด้วยเกมการเมือง มากกว่าจะตัดสินใจเลือกผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ด้วยนโยบาย ช่วงนี้มีวาทกรรมไม่เลือกเรา เขามาแน่ หรือมีการเผยแพร่ภาพห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งถูกไฟไหม้ก่อนไปลงคะแนนเลือกตั้งไม่กี่วัน แม้ว่าผลการสำรวจจากทุกโพลบอกชัดเจนว่าใครจะชนะเลือกตั้ง หรือหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในยุคที่รัฐบาลตกเป็นจำเลยสังคมหลายเรื่องก็อาจจะมีปัญหาสำหรับคนของพรรครัฐบาลที่ลงสมัครเลือกตั้ง

Advertisement

ส่วนตัวมองว่าการลงคะแนนของคนกรุงเทพฯ ยังทำให้ใครไว้วางใจไม่ได้ อย่าแน่ใจว่านอนมา แต่ขอให้ระวังอย่าให้มีความผิดพลาด เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตมีแกนนำพรรคการเมืองเก่าแก่บางคน พลาดง่ายๆ แค่คำว่า อย่าเลือกแบกะดิน เพราะพรรคส่งคนในระดับห้างสรรพสินค้าไปลงแข่ง ด้วยคำพูดไม่กี่พยางค์ทำให้ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ชนะเลือกตั้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่จะถึง คงไม่มีอะไรรุนแรง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีความขัดแย้ง เพราะหากจะมีปัญหาก็ควรมีตั้งแต่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เพราะประชาธิปัตย์แพ้ในบ้านตัวเองที่ภาคใต้ หลังจากนั้นก็ไม่เห็นแกนนำพรรคมีปัญหาอะไร สำหรับกระแสในขณะนี้แม้ว่าบางพรรคจะมีการสร้างวาทกรรมเรื่องมารยาททางการเมืองในการส่งผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้ 2 เขต ก็เป็นเรื่องปกติ คนรู้ทันหมดแล้วว่าพูดเพื่อไม่ต้องการให้พรรคอื่นไปลงแข่งในพื้นที่ที่เคยมี ส.ส.ของพรรค แต่คงจะปรามยาก เพราะทุกพรรคก็เห็นโอกาสที่จะมีต้องมี ส.ส.เพิ่มเพื่อการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังยืนยันว่าทุกกระแสทุกโพล หรือจะมีพรรคไหนออกมาสนับสนุนใคร สุดท้ายแล้วยังเชื่อถือไม่ได้ จนกว่าจะนับคะแนนถึงใบสุดท้าย เพราะนอกจากนโยบาย ความไว้เนื้อเชื่อใจ คนรุ่นใหม่ยังต้องการเห็นกรุงเทพฯเป็นเมืองทันสมัย ต้องการเห็นบุคคลที่เสนอตัวมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่พยายามหยั่งกระแสว่าจะเอาข้าราชการเก่ามาลงสมัคร จากนั้นต้องลุ้นว่าจะมีโอกาสที่ประชาชนได้เห็นภาพทันสมัยจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

อย่าลืมว่า ที่ผ่านมาพรรค ปชป.ถือเป็นเจ้าของสนามเดิมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ภาพวันนี้อาจถูกมองว่าพรรคได้สูญเสียในโอกาสที่เคยเป็นขวัญใจคนกรุงเทพฯไปมากแล้ว ขณะนี้พรรคไม่มี ส.ส.ในกรุงเทพฯ และในอดีตว่าเหตุที่พรรคชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากช่วงนั้นพรรคนี้ทำงานเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่น่าสนใจการที่พรรคเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.โดยที่ไม่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค มาร่วม เพราะพรรคอาจไม่เห็นความสำคัญแล้วหรือไม่

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.

สําหรับว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งนายชัชชาติและนายสุชัชวีร์ ส่วนตัวมองว่าน่าสนใจทั้งคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภูมิหลังเรื่องการศึกษาที่จบวิศวกรรมมาทั้งคู่ แต่นายชัชชาติน่าจะได้เปรียบตรงที่มีประสบการณ์ด้านการเมืองแล้ว เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยเสนอโครงการที่ทำให้คนกรุงเทพฯ รู้สึกตื่นเต้นอยากให้มีโครงการแบบนั้นเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการเมืองเป็นปัญหา นายชัชชาติไม่ทันได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เสนอสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน

ในขณะที่เมื่อดูภูมิหลังการศึกษาของนายสุชัชวีร์ก็เป็นคนเก่งมาก จบปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และมาเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ก็เห็นว่ามาช่วยทำให้สถาบันฟื้นตัวขึ้นมาจากปัญหาก่อนหน้า ซึ่งมีการกล่าวหากันในเรื่องการคอร์รัปชั่น ทำให้ชื่อเสียงกลับมาและเจริญก้าวหน้ากว่าเมื่อก่อน และแม้จะอยู่ฝ่ายการศึกษาแต่ก็มีประสบการณ์ที่ได้ช่วยงานต่างๆ เช่น กรณีรถไฟฟ้า และอื่นๆโดยบอกว่าจะแก้ปัญหาการจราจรได้ ซึ่งข้อนี้ท้าทายพอสมควรว่าจะสามารถทำได้จริงแค่ไหน

ที่สำคัญคิดว่าอยู่ที่ประเด็นทางการเมืองด้วย อย่างนายสุชัชวีร์ประกาศตัวแน่ชัดแล้วว่าลงในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในทางการเมืองจากการเลือกตั้งใหญ่คราวที่แล้วก็สูญเสียพื้นที่ในกรุงเทพฯเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าคิดว่าจะสามารถฟื้นกลับคืนมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะฐานเสียงเดิมเคยมีอยู่และในที่สุดมาถูกแย่งไปโดยพรรคอื่น ตรงนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าความเชื่อมั่นของคนกรุงเทพฯที่มีต่อพรรค ปชป.ที่มีอยู่ในอดีตที่เลือกผู้ว่าฯ กทม.กี่คนก็มาจากพรรค ปชป.หมด ส่งนายสุชัชวีร์มาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป คงขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ ด้วยว่าคู่แข่งที่มาลงแข่งกันจะมีใครน่าเชื่อถือได้มากที่สุด ในแง่ที่จะทำงานให้เกิดผลสำเร็จตามที่มีการหาเสียงไว้คนกรุงเทพฯค่อนข้างจะมองโลกในแง่ของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ เป็นพวกปฏิบัตินิยม นิยมคนที่เชื่อว่าสามารถทำงานแล้วเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติได้จริง

ส่วนนโยบายของนายชัชชาติอาจจะโดนใจคนกรุงเทพฯ เพราะเราอย่าลืมว่าเรามีชุมชนคนยากไร้เยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้ามุ่งแก้ปัญหาคนกรุงเทพฯในระดับชุมชนก็น่าจะเข้าถึงใจของประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามารถทำได้จริงฐานเสียงซึ่งเป็นคนในระดับรากหญ้าในกรุงเทพฯเองเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากทีเดียว นอกจากนั้น ต้องดูอีกด้วยว่านายชัชชาติน่าจะมีผู้สนับสนุนอย่างไรหรือไม่ในทางการเมือง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าที่จริงแล้วเป็นแคนดิเดตคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อออกจากพรรคเพื่อไทยและประกาศว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.แบบอิสระ คำถามคือ คนกรุงเทพฯที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมองประเด็นนี้อย่างไร

ถ้าคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบอกว่าถึงอย่างไรก็เลือกนายชัชชาติ เชื่อว่าย่อมได้เปรียบมหาศาล เพราะถึงอย่างไรเพื่อไทยก็ยังมีพื้นที่ของเขาอยู่เท่าเดิม เพราะฉะนั้นที่เป็นอิสระก็เท่ากับไปหาเสียงเพิ่มจากฐานเดิมที่ตัวเองมีอยู่แล้วจากพรรคเพื่อไทย

ปัจจัยที่จะชี้ผลแพ้ชนะ คิดว่าอันดับแรกคือ นโยบายที่นำมาหาเสียงว่าจะสามารถโน้มน้าวให้คนกรุงเทพฯเห็นคล้อยตามได้มากน้อยแค่ไหน

ปัจจัยที่สองคือ ปัจจัยทางด้านการเมืองที่คงต้องถามคนกรุงเทพฯว่าระหว่างพรรค ปชป.กับพรรค พท. สำหรับคนที่เคยสนับสนุนพรรค ปชป.มาก่อนเขาจะยังคงสนับสนุนอยู่หรือไม่ พรรค ปชป.เลือกนายสุชัชวีร์มาซึ่งเก่งมากๆ อาจจะมีคนซึ่งกลับมาเลือกในฐานะที่เป็นพรรค ปชป.อีกก็ได้ แต่ไม่ทราบว่าจะมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือ คนอื่นที่ประกาศตัวลงแข่งด้วยจะมาตัดคะแนนใคร อย่างเช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันอย่างน้อยสุดก็ต้องมีคะแนนของท่านพอสมควร ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ตัดสินใจลง และอีกคนหนึ่งซึ่งก็คือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ถ้าเป็นจริงอย่างที่เป็นข่าวว่าจะลงในนามของพรรค พปชร. เราก็อย่าลืมว่าขณะนี้พรรค พปชร.เป็นพรรครัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ต้องมีหลายอย่างพร้อมพอสมควร ปัจจัยที่สำคัญในการเลือกตั้งมีครบถ้วนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ ส.ส.กรุงเทพฯเองเป็นของพรรค พปชร.หลายเขตทีเดียว ถ้าหากยังรักษาฐานตรงนี้ได้และนายณรงค์ศักดิ์สวมเสื้อ พปชร.ลงแข่ง โอกาสที่จะได้คะแนนก็ค่อนข้างเยอะ

สำหรับประเด็นที่ทั้งพรรค ปชป.และพรรค พปชร.ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะส่งผลให้เกิดการแตกร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น คิดว่า ถ้าคุยกันเข้าใจกันก็ไม่น่าจะเป็นความแตกร้าวอะไร ดูจากตอนเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรค ปชป.เองก็พยายามขอร้องไม่ให้พรรค พปชร.ส่งแต่สุดท้ายเขาก็ส่ง และในที่สุดก็ยังไม่แตกกัน

ส่วนตัวคิดว่าจากสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว พรรค ปชป.ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะขอร้องอะไรได้มากนัก ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด คือ ถนัดที่จะอยู่ร่วมกับพรรครัฐบาลมากกว่า

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นการจุดกระแสเชิงนโยบายที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจาก กทม.ไม่ถูกเสนอนโยบายจากฝ่ายการเมืองมานานกว่า 8 ปีแต่หลังจากนี้ การเสนอนโยบายจะทำให้เห็นได้ว่าสภาพปัญหาของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญของประเทศอยู่ตรงไหน เพราะการเลือกตั้งทำให้เกิดการพัฒนาตามแนวทางที่ประชาชนให้ความสนใจ การเปิดตัวของผู้สมัครจะทำให้เห็นโอกาส เห็นอนาคตของกรุงเทพฯในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ขณะนี้นอกจากจะได้เห็นนโยบายของผู้สมัครแล้ว จะได้เห็นความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองที่เคยเสนอนโยบายในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หลายพรรคการเมืองได้ร่วมรัฐบาล แต่ไม่ได้ผลักดันนโยบายของตัวเองให้เป็นจริง ก็กลายเป็นปมในการสร้างความเชื่อมั่น หากที่ผ่านมาและก่อนเลือกตั้งได้เสนอนโยบายในการพัฒนากรุงเทพฯแล้ว จะมีคำถามตามมาว่าช่วงที่พรรคเป็นรัฐบาลในการเมืองระดับชาติ 2 ปี ยังทำไม่ได้ เมื่อมีบุคคลมาเสนอตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค เพื่อทำงานการเมืองท้องถิ่น บุคคลนั้นจะทำได้จริงตามที่พูดนำเสนอหรือไม่

เมื่อพิจารณาสนามเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ผู้ที่มีโอกาสไปลงคะแนน จะเห็นภาพของคนชั้นกลาง ผู้ที่ประกอบอาชีพ ผู้ใช้แรงงานที่อาศัยในชุมชน การเลือกตั้งในกรุงเทพฯ จะต้องมีนโยบายสำคัญที่จะสร้างความฝันร่วมให้คนกรุงเทพฯ มองไปข้างหน้าว่าอะไรคือ เมือง หรือมหานครที่น่าอยู่อาศัย ต้องตอบโจทย์กับมวลชนในกรุงเทพฯว่าอะไรคือชีวิตที่ดีขึ้นของตนเองที่ใช้ชีวิตในชุมชนเมือง ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องที่เกี่ยวกับความสะดวกสบายในการใช้ถนนหนทางให้มีความปลอดภัย จะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ในสนามเลือกตั้งคงไม่ใช่โอกาสในการอธิบายเรื่องเศรษฐกิจ การหารายได้ แต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ดี ในการหาเสียงน่าจะมีผู้สมัครแข่งขันกันบอกประชาชนว่าจะทำอย่างไรกับฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว

การลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม ถือเป็นนโยบายในภาพรวมของรัฐบาล แต่กรุงเทพฯการลดความเหลื่อมล้ำทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ เช่น การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ค่าขนส่ง หรือระบบการศึกษาจากโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพฯ แต่ที่ผ่านมาต้องทราบด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ หรือผู้บริหารกรุงเทพฯ เพราะมีหลายหน่วยในระบบราชการส่วนกลางเข้าไปกำกับดูแล ดังนั้นกรุงเทพฯควรทำให้โรงเรียนในสังกัดมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ตอบสนองกับประชาชนให้ดีกว่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทุกชุมชนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

การบริหารงานในกรุงเทพฯมีงบประมาณราวปีละ 8 หมื่นล้านบาท จึงทำให้พรรคการเมืองมีความสนใจ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์การสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 หากไม่สามารถนำพื้นที่กรุงเทพฯกลับคืนมาได้พรรคนี้อาจจะมีทิศทางการเมืองขาลงจนขาสั่น ส่วนพรรคพปชร.การที่แช่แข็งการเลือกตั้งในกรุงเทพฯมาอย่างยาวนาน หลังจากก่อนหน้านี้มีการใช้อำนาจ คสช.แต่งตั้งผู้ว่าฯ กทม.แทนคนเดิมของพรรค ปชป. ทำให้รัฐบาลนี้ยังสามารถรักษาสถานภาพทางการเมืองและควบคุมสถานการณ์การเมือง การเคลื่อนไหวของมวลชนในกรุงเทพฯไว้ได้ ดังนั้นการยึดกุมกรุงเทพฯของ พปชร.จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่ทำให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจของ คสช.วางเป้าหมายรักษาสถานะทางการเมืองในกรุงเทพฯไว้ให้นานที่สุด

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯมีผลโดยตรงจากสถานการณ์การเมืองในระดับชาติ หากดูการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 จะเห็นว่ายากมากที่พรรค ปชป.จะมีโอกาสกลับมายึดครองพื้นที่เดิมได้อีก ภายใต้กระแสของการแสดงตนเป็นฝ่ายขวามากกว่าการแสดงตนเป็นผู้ต่อต้านการทำรัฐประหาร หรือไม่เข้าร่วมกับกลุ่มที่ทำลายประชาธิปไตย เชื่อว่าจากปัญหานี้ทำให้คะแนนเสียงบางส่วนจะหายไป แม้ว่าคนในกรุงเทพฯจำนวนมากยังความนิยมในพรรค แต่เมื่อดูลึกลงไปในพื้นที่ภาคใต้ฐานใหญ่ของพรรคที่บริบทการเมืองไม่ซับซ้อน ยังโดนพรรคอื่นเข้าไปเจาะในการเลือกตั้งซ่อมหลายครั้งที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image