รายงานหน้า2 : แนะทำ‘ไพรมารีโหวต’ แก้ให้ง่ายขึ้น-ไม่ยุ่งยาก

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีการพิจารณา พ.ร.ป.พรรคการเมือง เกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตที่ยังมีข้อถกเถียงว่าจะออกมารูปแบบไหนความเห็นหนึ่งระบุต้องทำตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และอีกความเห็นควรต้องปรับวิธีการไพรมารีโหวตให้ง่ายขึ้น

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การทำไพรมารีโหวตที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีแนวโน้มจะบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ส่วนตัวไม่ต้องการให้ยกเลิก ขอให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขเพื่อนำไปใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งต่อไป สำหรับไพรมารีโหวต หรือเลือกตั้งขั้นต้นโดยให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัคร ส.ส. มีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. คือสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง เป็นพื้นฐานในระบบพรรคการเมืองของประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็ง

สำหรับพรรคการเมืองในประเทศไทยเชื่อว่ายังไม่มีประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดตัวผู้สมัคร ส.ส. ดังนั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเขียนไว้ในมาตรา 45 วรรคสองเป็นหลักการว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกําหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต่อมา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับ 2560 ก็กำหนดเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 50 และมาตรา 51 ต้องมีการประชุมสาขาพรรค โดยมีสมาชิกพรรคของสาขานั้นๆ มาประชุมอย่างน้อยจำนวน 100 คน หรือหากไม่มีสาขาพรรคก็ให้ประชุมตัวแทนจังหวัด ต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 50 คนมาประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกรายชื่อผู้สมัครที่กรรมการสรรหาได้สรรหาไว้

Advertisement

ความจริงแล้วการดำเนินการ ยังไม่ใช่ไพรมารีโหวตจริง เพราะผู้ตัดสินใจจริงๆ ยังเป็นกรรมการบริหารพรรค การมีสาขาพรรคประชุมกันอย่างน้อย 100 คน หรือตัวแทนจังหวัดอย่างน้อย 50 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะพรรคใหม่และพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ผ่านมาอาจจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ทำไม่ทันในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2562 คสช.จึงออกคำสั่งโดยใช้มาตรา 44 ยกเว้นการเลือกตั้งครั้งแรก ไม่ต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในการทำไพรมารีโหวตแบบไทยๆ

ไม่แน่ใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ทำไพรมารีโหวตหรือไม่ ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองแทบทั้งหมดไม่ต้องการทำ หรือต้องการแต่ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เนื่องจากในเขตเลือกตั้งต่างๆ จะให้สมาชิกพรรคมาประชุมสาขาพรรค หรือตัวแทนจังหวัดมาประชุม ขณะที่เขตเลือกตั้งเพิ่มจาก 350 เขตเป็น 400 เขต พรรคส่วนใหญ่คงมีปัญหา ถามว่าในอนาคตควรทำไพรมารีโหวต หรือให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครหรือไม่ ยืนยันว่าต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วม แต่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แนวทางการปฏิบัติค่อนข้างยุ่งยาก จึงเสนอให้ปรับแก้ให้ง่ายขึ้น อาจจะใช้วิธีการให้ผู้สมัครไปหารายชื่อ
ประชาชนในเขตเลือกตั้ง หรือสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งมาสนับสนุน จะจำนวนเท่าใดก็ต้องตกลงกัน

หรือจะวิธีอื่นใดที่ทำได้จริงไม่ยุ่งยากเกินไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image