นักวิชาการส่อง ศึกเลือกซ่อม ชิงเดือด 2 เขตใต้-1 กทม.

นักวิชาการส่อง ศึกเลือกซ่อม ชิงเดือด2เขตใต้-1กทม. หมายเหตุ - นักวิชาการ

รายงานหน้า 2 : นักวิชาการส่อง ศึกเลือกซ่อม ชิงเดือด 2 เขตใต้-1 กทม.

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 3 เขต คือ เขต 1 ชุมพร เขต 6สงขลา และเขต 9 กทม. โดยเฉพาะการแข่งขันของผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะส่งผลอย่างไรต่อเอกภาพของรัฐบาลและการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อม หรือบางครั้งมีการแข่งขันกันเองของพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร ก็ต้องระดมสรรพกำลังลงไปสาดสีกันเต็มที่ในเขตเลือกตั้งซ่อมที่มีพื้นที่เฉพาะ ให้มีภาพดูเหมือนว่ามีการแข่งกันจริง ทำให้มีสีสันให้คนคิดไปอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้นการกระทบกระทั่งก็จะมีมาก การใช้พลังของพรรคเรื่องการลงทุนก็ต้องทำเต็มที่ จะต้องลงทุนสูงกว่าการเลือกตั้งทั่วไปตามปกติ

Advertisement

แต่เชื่อว่าหลังเลือกตั้งเสร็จรู้ผลแพ้ชนะ พรรคร่วมรัฐบาลที่ส่งคนแข่งกันเองก็กลับมาคุยกันได้เหมือนเดิม ไม่มีอะไรรุนแรงถึงขั้นที่จะต้องแตกหัก เพราะแต่ละฝ่ายก็ทราบกันดี รู้กันอยู่แก่ใจว่าจะเดินเกม วางหมากมาต่อสู้กันอย่างไรเพื่อหวังชัยชนะ ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาพูดดักคอที่สนามเลือกซ่อมชุมพร มีบางพรรคเอาทหารมาช่วย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็สวนกลับมาว่าบางพรรคเอา อสม.มาช่วย ก็เป็นปกติที่จะหาจุดอ่อนไปเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าทั้ง 2 พรรคทันเกม เข้าข่ายปากด่า ขาเกี่ยว เพราะเรื่องแบบนี้หากถือสาหรือเอาความกันจริงนักการเมืองจะคบกันไม่ได้อีกเลย และในการประชุม ครม. ไม่เห็นรัฐมนตรีของแต่ละพรรคออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เล่นการเมือง” ถ้าถามว่าวันนี้การเมืองได้พัฒนาขึ้นแล้วหรือไม่ ก็คงจะเห็นได้ว่ายังมีการใช้วิธีการเก่าๆ ทั้งอำนาจ อิทธิพลและเงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง

สำหรับรัฐมนตรีที่พรรคพลังประชารัฐส่งลงไปคุมการเลือกตั้งซ่อมใน 2 จังหวัดภาคใต้ เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าไปคุยกันเพื่อหาทางกำจัดเลขาธิการพรรค ดังนั้น ต้องรอดูผลงานของรัฐมนตรีที่ถูกส่งลงไปคุมเลือกตั้งซ่อม ถ้าไม่ชนะก็อาจถูกด้อยค่าลงไป แต่เชื่อว่าผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์คะแนนคงทิ้งห่างกันไม่มากตามฐานความนิยมของแต่ละฝ่าย แต่บางพื้นที่ใน จ.สงขลา พบว่ามีฐานคะแนนเดียวกัน เมื่อพบว่าผู้สมัครของทั้ง 2 พรรคมีหัวคะแนนคนเดียวกัน

Advertisement

หลังการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ชุมพร และ จ.สงขลา ถ้าบางพรรคชนะก็ต้องบอกว่าประชาชนยังให้ความศรัทธาเชื่อมั่นกับแนวทางและนโยบายของพรรค แต่ถ้าแพ้ก็คงบอกว่าสู้เงิน สู้อำนาจไม่ได้ ทั้งที่มีอำนาจรัฐด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็คงจะพูดให้เห็นภาพว่าอีกฝ่ายคงต้องใช้มากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าไปมองว่าการเลือกตั้งซ่อมจะตอบโจทย์ในการปฏิรูปการเมือง แต่ประชาชนต้องทราบว่าการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งจะต้องใช้ทุกวิถีทาง ทั้งบนดิน ใต้ดิน เนื่องจากทุกฝ่ายต้องการชัยชนะ

ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้จะมีผลกับการทำหน้าที่ของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ (นายเดชอิศม์ ขาวทอง) แกนนำพรรคก็บอกแล้วว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะพลิกฟื้นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ให้ประสบผลสำเร็จหรือไม่ในฐานคะแนนนิยมของพรรคแต่เดิมในอดีต ล่าสุดมีผลโพลยกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นเลขาฯพรรคประชาธิปัตย์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน)ประสบความสำเร็จสูงสุดในบรรดารัฐมนตรีของรัฐบาลนี้ ก็สามารถนำไปใช้เป็นจุดขายได้ เช่นเดียวกับราคายางหรือราคาปาล์มก็เริ่มขยับ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกับพรรค แต่ถ้าผลเลือกตั้งคะแนนที่หวัง ไม่มาตามเป้าจะทำอย่างไร

ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็คงจะสู้เต็มที่ ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะต้องลงไปช่วย เพื่อทำให้เห็นว่ายังมีส่วนร่วมในการสร้างชัยชนะ แต่ถ้าแพ้ก็คงจะต้องเล่นบทตัวใครตัวมันหรือไม่

สำหรับสนามเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ส่งใครลงไปสู้ เพราะประเมินแล้วอาจไม่มีตัวบุคคลที่เหมาะสม แต่น่าสงสัยและจะมีคำถามว่าที่ผ่านมาเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.มีกระแสร้อนแรงมาก แต่ทำไมไม่ส่งเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ ส่วนตัวเข้าใจว่าเลือกตั้งทั่วไปเมื่อมีนาคม 2562 พรรคไม่มีที่นั่งใน กทม. อาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญวันนี้พรรคยังไม่ทราบว่าจะมีจุดขายอะไรให้คนกรุงเทพฯก็ต้องไปหาจุดเด่นมาเป็นจุดขายให้ได้ก่อนในการเมืองสนามใหญ่ หลังจากส่ง ดร.เอ้ (ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็ได้รับความสนใจในระดับหนึ่ง ถือว่ามีผลดีกับพรรคพอสมควร

——-

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

หากติดตามกระแสการโจมตีของพรรคการเมืองในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะรักษาสัมพันธภาพในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้ แต่ต่อมาพรรคพลังประชารัฐหักหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ จ.ชุมพร ทำให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ให้ราคากับพรรคประชาธิปัตย์มากนัก แล้วดูเหมือนว่าหากไม่ให้ราคาแบบนี้ ส่วนตัวประเมินว่าถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคพลังประชารัฐเชื่อว่าตัวเองจะมีคะแนนนิยมมากพอสมควร เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องไปให้ราคาพรรคประชาธิปัตย์มากเท่าใดนักในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

หรืออาจจะมองว่าสถานะของพรรคประชาธิปัตย์หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะมีจำนวน ส.ส.ลดน้อยกว่าปัจจุบัน เพราะปัจจัยทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐในภาคใต้ยังมีตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ ที่มีฐานคะแนนนิยมส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ บวกกับกระแสของพรรคภูมิใจไทยในภาคใต้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่ให้ราคาพรรคประชาธิปัตย์ และมองว่าการทำงานในรัฐบาลคงอยู่ได้ไม่เกินปีนี้ ดังนั้น สัมพันธภาพเดิมของพรรคร่วมจึงไม่น่าจะมีความหมายอีกต่อไป

มองท่าทีของพรรคพลังประชารัฐในการต่อสู้สนามเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สงขลา ในแง่ความสัมพันธ์ส่วนตัวค่อนข้างมากทำให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ รู้สึกสบายใจ เนื่องจากผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะมีความใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัสทำให้เป็นโอกาสดีที่ถอยออกมาจากการคุมสนามเลือกตั้งซ่อม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ติดตามการเมืองในภาคใต้จะทราบดีว่า ร.อ.ธรรมนัส จะเข้าไปประสานกับชนชั้นนำทางการเมืองโดยเฉพาะบรรดานายก อบจ.ในหลายจังหวัด

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐมีตัวละครตัวใหม่ไปวางยุทธศาสตร์เลือกตั้งในภาคใต้ที่ จ.สงขลา มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าไปรับผิดชอบผู้สมัครที่เป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหญ่ของพรรคในภาคใต้ แต่ถูกมองว่าผิดวิสัยทางการเมือง สะท้อนกลับไปถึงลักษณะการช่วงชิงพื้นที่ในพรรคพลังประชารัฐ

หรือในกรณี จ.ชุมพร แทนที่จะเป็น ร.อ.ธรรมนัส แต่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไปดูแล บุคคลเหล่านี้ก่อนหน้านี้ล้วนแต่อยู่ในกลุ่มที่ต้องการจะโค่น ร.อ.ธรรมนัส จึงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเป็นเอกภาพภายในพรรคอย่างชัดเจน

แต่ถึงที่สุด ประเมินว่าสนามเลือกตั้งซ่อมทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์จะต่อสู้กันอย่างเข้มข้น เป็นสนามเลือกตั้งที่จะพิสูจน์ว่าบรรดาคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จะทำงานสำเร็จในพื้นที่ภาคใต้ได้จริงหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาภายในพรรคยังมีปัญหาความขัดแย้งในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ส.ส.ในภาคใต้

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้พิสูจน์บทบาทรองหัวหน้าพรรคภาคใต้คนใหม่ (นายเดชอิศม์ ขาวทอง) จะมีเครือข่าย มีศักยภาพเป็นผู้นำการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ในอนาคตหรือไม่ ถือเป็นสนามทดสอบบารมีที่มีใน จ.สงขลา จะแผ่ไปถึง จ.ชุมพรได้หรือไม่ หากพรรคชนะใน 2 จังหวัด ก็จะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานว่าจะทำให้พรรคมีความมั่นใจกับการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่อย่าลืมว่าในภาคใต้พรรคพลังประชารัฐยังมีฐานของทุนขนาดใหญ่ให้การสนับสนุน มีกลไกของระบบราชการที่สามารถให้คุณให้โทษหรือสร้างโอกาสความได้เปรียบทางการเมืองได้ตลอดเวลา

ส่วนการเลือกตั้ง กทม.เขตหลักสี่ น่าแปลกใจและอาจถูกมองเป็นเรื่องตลก กรณีพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงสมัคร ทั้งที่พรรคต้องการชัยชนะจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่ไม่กล้าส่งผู้สมัครลงในเขตหลักสี่ คาดว่าพรรคน่าจะประเมินฐานคะแนนแล้วอาจไม่ผ่าน แนวโน้มจะชนะมีไม่มากขณะที่พรรคการเมืองอื่นต้องการหยั่งเสียงเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image