บทนำวันศุกร์ที่14มกราคม2565 : โกงเลือกตั้ง

การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 ชุมพร เขต 1 และ กทม.เขต 9 ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในแต่ละสนามมีเสียงสะท้อนจากพรรคที่ส่งผู้สมัครว่า มีการซื้อเสียง อาทิ ที่สงขลา เขต 6 มีการร้องเรียน กกต. เพื่อให้ตรวจสอบแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ที่ชุมพรพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีทหารนอกพื้นที่เข้าไปกดดันการหาเสียงของ ปชป. นอกจากนี้ ยังมีพรรคกล้าระบุว่าที่สงขลาและชุมพร ซื้อเสียงกันแล้ว หัวละ 2,000-3,000 บาท ส่วนที่เขต 9 กทม. พรรคเพื่อไทยระบุว่า มีผู้ซื้อเสียงรายละ 1,500 บาท โดยเก็บบัตรประชาชนไปด้วย และชี้นำทหารให้ลงคะแนนให้บางพรรค

การดูแลมิให้ทุจริตเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ได้แจ้งข้อห้ามความผิดเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ว่าห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ด้วยวิธีการ 1.จัดทำให้ เสนอให้สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ 2.ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด 3.ทำโฆษณาหาเสียงด้วยมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ 4.เลี้ยงหรือรับจัดเลี้ยง และ 5.หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

น่าสนใจอย่างมากว่า ระยะหลัง กกต.ไม่ได้มีบทบาทในการป้องกัน หรือตรวจสอบการซื้อเสียงเท่าที่ควร ขณะที่กระแสข่าวการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งยังแพร่สะพัดทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2565 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง เฉพาะเดือน ม.ค.ก็มีถึง 3 ครั้งแล้ว ที่รออยู่คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายกเมืองพัทยา และอื่นๆ ซึ่งอาจจะรวมถึงการเลือกตั้งทั่วไป ที่ผ่านมา การซื้อเสียงเลือกตั้ง มักถูกผู้ไม่หวังดีนำไปกล่าวอ้าง เพื่อเป็นเงื่อนไขหรือเหตุในระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น กกต.จึงต้องให้ความสำคัญกับการสกัดซื้อเสียง มิให้วาทกรรมซื้อเสียง กลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image