นักวิชาการอ่านเกม ขับ ‘ธรรมนัส-20ส.ส.’

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นกรณีที่กรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรค พปชร. พร้อม ส.ส.อีก 20 คน พ้นพรรค พปชร. โดยมองว่าน่าจะเป็นเกมการเมืองมากกว่าจะมีเหตุมาจากความขัดแย้งกันอย่างหนักภายในพรรค

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างนายสุชาติ ชมกลิ่น กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มองว่าเป็นละครฉากหนึ่งทางการเมืองเท่านั้น ผมอาจจะมองต่างมุมกับคนอื่นๆ เนื่องจากมองดูแล้ว ไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงกันอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะการพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐนั้น ยังเบากว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาการเลือกเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐเสียอีก แต่ทำไมช่วงนั้นไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนในขณะนี้

Advertisement

ถือเป็นเรื่องการจัดฉากทางการเมืองเสียมากกว่า เหมือนกับมีการเตรียมตัวมาอย่างดี ทั้งที่การแก้ไขปัญหาควรจะใช้เวลานาน แต่จบภายในไม่กี่ชั่วโมง

หลังจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ภาคใต้แล้ว มีไลน์หลุดออกมา ข่าวการต่อรองในเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี ทำไมถึงเหมาะเจาะในเวลาเดียวกัน เหมือนกับมีการเตี๊ยมกันมา ทั้งที่ความเป็นจริงการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้จะต้องชนะอย่างเดียว ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งก็ตาม ทั้งนายสุชาติ หรือ ร.อ.ธรรมนัส พรรคประชาธิปัตย์ต้องสู้อย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นฐานการเมืองของภาคใต้ จะแพ้ไม่ได้

ส่วนข่าวที่ออกมาว่า ร.อ.ธรรมนัสจะย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ดูแล้วเป็นฐานการเมืองหรือนอมินีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. อีกด้วย เปรียบเสมือนแบ่งแยกเพื่อปกครอง รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวในภายหลัง

Advertisement

นอกจากนี้ กรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ นายสิระ เจนจาคะ ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส ที่มีปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ภาพพจน์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดดเด่นอีกด้วย และยังเชื่อมั่นว่ากลุ่ม 3 ป. จะมีการยึดอำนาจทางการเมืองให้ยาวนานอีกต่อไป โดยมองนักการเมืองเป็นทหารเลวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองไปที่ ร.อ.ธรรมนัสหากย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย แสดงว่าเป็นการแบ่งแยกเพื่อปกครอง และสืบทอดอำนาจกันต่อไป โดยมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อีก 250 เสียง

แต่หาก ร.อ.ธรรมนัส แยกตัวออกไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย ผมมองว่าเป็นเรื่องที่แตกแยกกันจริง ก็ต้องจับตาดูว่าทิศทางของ ร.อ.ธรรมนัส จะไปทางไหนมากกว่า หลังจากออกจากพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์ การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พร้อม ส.ส.รวม 21 คน ออกจากพรรคไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือแปลกแต่อย่างใด เพราะ ร.อ.ธรรมนัสอยากออกจาก พปชร.อยู่แล้ว เนื่องจากมีความขัดแย้งภายในมานาน อีกทั้งเตรียมการย้ายพรรคมากว่า 1 ปีแล้ว ก่อนนำตนเองและ ส.ส.อีก 20 คนไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งเพิ่งตั้งใหม่ เมื่อปี 2561

การย้ายพรรคของ ร.อ.ธรรมนัส และทีม ได้วางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อหารังใหม่ที่ควบคุมได้และอบอุ่นกว่าส่วนประเด็นที่ พปชร.ขับออกจากพรรคเนื่องจากพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส. 2 เขตภาคใต้นั้น เป็นเพียงข้ออ้าง เพื่อหาแพะรับบาปเท่านั้น เพราะภาคใต้เป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ มายาวนานแล้ว แม้ พปชร.จะใช้อำนาจและกลไกรัฐช่วยแต่ไม่สำเร็จ จึงไม่ใช่ความผิดของ ร.อ.ธรรมนัส

สาเหตุที่ ร.อ.ธรรมนัส พร้อมแตกหักกับ พปชร.ตลอดเวลา เพราะมีเป้าหมายอย่างอื่นที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ในสมัยหน้าอีก แต่มีแนวโน้มสนับสนุน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้า พปชร.อายุมากและมีปัญหาด้านสุขภาพด้วย

การออกจาก พปชร.ของ ร.อ.ธรรมนัส อาจนำไปสู่เสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรน้อยลง หากพรรคฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาจตกที่นั่งลำบาก ที่เสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ จนต้องนำไปสู่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ อาจส่งผลให้ พปชร.ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยหน้าได้ เนื่องจากประชาชนไม่ไว้วางใจให้กลับมาทำหน้าที่ดังกล่าวอีก

แนวโน้มและทิศทางการเมือง หลัง ร.อ.ธรรมนัส ถูกขับออกจาก พปชร. และไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ที่นำไปสู่เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า จำนวน ส.ส.พรรคใหญ่จะลดลง เพื่อย้ายไปสังกัดพรรคเล็กมากขึ้น หรือเป็นพรรคประจำท้องถิ่นแทน เพื่อกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง ถือเป็นการกระจายอำนาจ และส่งเสริมประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่ ที่ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะไม่ได้รวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่กระจายไปยังทุกภูมิภาค ตามฐานเสียงแต่ละพรรคด้วย

สังเกตการเลือกตั้งของอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประธานาธิบดี หรือนายกฯ ไม่ได้มาจากพรรคส่วนกลาง แต่มาจากพรรคท้องถิ่น ดังนั้นแนวโน้มการเลือกตั้งในเอเชีย จะได้ผู้นำประเทศมาจากพรรคท้องถิ่นมากขึ้น และนำไปสู่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเต็มรูปแบบ หากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ยังไม่ปรับตัว อาจแพ้เลือกตั้งสมัยหน้าได้ เป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้พรรคการเมืองมีขนาดเล็กลง

การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจเป็นตัวชี้วัดความนิยมแต่ละพรรคได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะการตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้โหวตนายกฯ อีก

ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปรากฏการณ์นี้ ดูน่าตกใจ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้น่าตกใจขนาดนั้น แต่มันส่งผลสะเทือนอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกเลย คือ ตัวรัฐบาล การย้ายไปของ ร.อ.ธรรมนัส และ ส.ส.กลุ่ม 20 รายนี้ ไม่ได้ย้ายไปฝ่ายอื่น แต่ย้ายไปอยู่ฝ่ายรัฐบาลเอง กลุ่มนี้ก็ยังอยู่กับรัฐบาลอยู่ดี หรือถ้าย้ายไปพรรคใหม่ ก็เป็นพรรคสำรองที่บิ๊กป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรค พปชร.) ตั้งเอาไว้ ไม่ว่าอย่างไร ก็ยังคงช่วยเหลือรัฐบาล

แต่จุดเปลี่ยน คือ จากแต่ก่อนคนกลุ่มนี้เป็นสมาชิกพรรค พปชร. หรือลูกพรรคแกนนำรัฐบาล แต่เมื่อกลุ่มนี้ออกไป จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแทน เหมือนกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา

พอกลายเป็นพรรคอื่นไปแล้ว การต่อรองในรัฐบาลน้ำหนักอาจจะสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พรรคประชาธิปปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย 2 พรรคนี้จริงๆ ส.ส.ไม่ได้มีสัดส่วนที่มากนัก แต่ได้กระทรวงเกรดเอไปมาก อย่างพรรคประชาธิปปัตย์ก็ได้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ พรรคภูมิใจไทยได้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขไป ดังนั้น 21 ส.ส.ที่ไป เขาจะได้อะไรในการต่อรองกับรัฐบาลครั้งนี้ แม้จะยังมีความยึดโยงกันอยู่ แต่อาจทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้

ส่วนเรื่องที่ 2 เรื่องสภา คือ จุดเปลี่ยน เมื่อเราเป็นส.ส.ในพรรคการเมือง จะมีวิปของพรรค และวิปของรัฐบาล ที่คอยควบคุมเสียงในพรรคไม่ให้แตกแถว ซึ่งกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสบางทีแตกแถวบ้าง บางทีไม่แตกแถวบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดเขายังอยู่ พปชร. ถ้าต้องโหวตกฎหมาย เขายังสามารถร่วมโหวตไปด้วยกันได้ แต่คราวนี้ที่ 21 ส.ส.ออกมาแล้ว ทำให้กลุ่มนี้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย หรืออะไรก็ตามที่ต้องโหวตในสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มนี้สามารถต่อรอง และกำหนดทิศทางได้ว่าจะให้เรื่องใดผ่าน หรือเรื่องใดล่ม

ดังนั้น ในรัฐบาลจะได้อำนาจต่อรองฝ่ายบริหารมากขึ้นในเรื่องของตำแหน่ง และในสภาพวกเขาสามารถคุมเกมในเรื่องของกติกาได้ สามารถคุมเกมในการโหวตได้ เรียกได้ว่ามีราคามากขึ้น

ประเด็นที่ 3 คือ พรรคการเมือง กลุ่ม 21 ส.ส.นี้จะยังไปด้วยกัน และเหนียวแน่นขึ้น แต่ทำให้คนในพรรค พปชร.หวั่นไหว และรู้สึกว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจหรือเปล่า ถ้าไม่มี ร.อ.ธรรมนัส ที่เมื่อก่อนเขาบอกว่าเป็นหัวใจของ พปชร. แต่ขณะนี้ไม่ได้อยู่แล้ว จะทำอย่างไรต่อ มันอาจจะส่งผลถึงตัวพรรค พปชร. อาจมีการย้ายพรรคของ ส.ส. หรือบางคนพูดไปถึงว่าพรรคจะแตก เพราะพรรคนี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักเลือกตั้ง เพื่อช่วยกันชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อความเป็นเฉพาะกิจของมันหายไปแล้ว ทำให้ พปชร.ขาดความเข้มแข็ง อาจเกิดการย้ายพรรค และอาจมีปัญหาอะไรมากขึ้น

ทั้งนี้ 3 ประการ ทั้งเรื่องสภา เรื่องพรรคการเมือง และเรื่องรัฐบาล จะทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ได้เปรียบ แม้ว่าจะไปแพ้การเลือกตั้งที่ภาคใต้มา แต่กลับกันการออกมาจากพรรคตอนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเกมการเมืองที่ค่อนข้างชาญฉลาดมากๆ ของ ร.อ.ธรรมนัส

ส่วนจะเป็นไงต่อนั้น ยังเหลือการเลือกตั้งอีกครั้งนึงคือการเลือกตั้งซ่อมของ กทม. เขตหลักสี่ ซึ่งไม่ใช่แค่กทม. ไม่ใช่แค่หลักสี่ แต่เป็นการเลือกตั้งเพื่อวัดกระแสทางพรรคการเมือง ถ้ารอบนี้ พปชร.พ่ายแพ้อีก ผมว่าพรรค พปชร.มีโอกาสที่จะสั่นคลอนสูงมากกว่านี้อีก อาจต้องมองเกมไปไกลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าเลย

แนวทางที่จะจัดการเรื่องนี้ มีไพ่ใบเดียว นั่นคือ การยุบสภา ซึ่งเป็นไพ่ที่รัฐบาลจะเอามาขู่ได้เรื่อยๆ ต้องรอดูว่ากฎหมายลูก 2 ฉบับ เรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.และเรื่องพรรคการเมืองจะแก้เสร็จตอนไหน แต่เมื่อไหร่ที่แก้เสร็จ แนวโน้มรัฐบาลนี้อาจอยู่ไม่ถึงปี 2566 เพราะไพ่เรื่องยุบสภาอาจนำออกมาพูดถึงบ่อยขึ้น เพื่อใช้เจรจาต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

ลักษณะดังกล่าว ไม่เชิงเป็นการไปบีบให้นายกฯ ลาออก เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดนายกฯ ยังสามารถรักษาพรรคร่วมรัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง แม้จะเกิดการสั่นคลอน และพรรคร่วมไม่มีใครอยากจะหาคนมาขึ้นแทน หากจะหาใครมาแทนในระยะ 1 ปี ก็ต้องทบทวนดูว่าจะให้เข้ามามีปัญหาทำไม ดังนั้นถ้าจะเกิดการลาออกของนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถอยสุดสุด จริงๆ ซึ่งผมคิดว่าอาจไม่ถึงตรงนั้นเพราะนายกฯ ยังมีทางสู้อยู่ แต่มันทำให้เห็นว่าทิศทางต่อไปของการเมืองไทยมันอยู่ภายใต้การเจรจาต่อรองของกลุ่มพรรคที่อยู่ภายใต้พรรคร่วมของรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image