บทนำวันพุธที่9กุมภาพันธ์2565 : เปราะบาง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศ 400 เขตเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมเปิดตัวผู้สมัครอย่างคึกคัก ขณะที่วงการเมืองและผู้สนใจการเมืองต่างคาดหมายว่าการยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประเด็นล่าสุดที่น่าสนใจก็คือ การปรากฏขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะเป็นพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกพรรคหนึ่ง ตอกย้ำความเป็นไปได้ที่จะเกิดการยุบสภา และทำให้เห็นชัดว่าความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลยังแก้ไม่ตก หลังจากที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เสนอให้พรรคพลังประชารัฐ ขับตนเองและพวกไปหาพรรคใหม่สังกัด คือพรรคเศรษฐกิจไทย

ขณะเดียวกัน พรรคเศรษฐกิจไทย ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และกลุ่ม ส.ส.ที่ถูกขับพ้นออกจากพรรคพลังประชารัฐ ได้หารือสรุปจะต่อรองเก้าอี้ รมว.มหาดไทย เพื่อแลกกับการที่พรรคเศรษฐกิจไทยจะสนับสนุนรัฐบาล โดยจะให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีศักยภาพ ตอบสนอง ส.ส.ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และขยายฐานรองรับการเลือกตั้งอีกด้วย ทั้งนี้ โมเดลที่จะให้ พล.อ.ประวิตร ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั้น เคยพูดถึงตั้งแต่ช่วงที่ ร.อ.ธรรมนัสยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นคุณกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยอดีต รมต.ที่เคยสนับสนุนพรรค ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เองประกาศว่าจะไม่ยุบสภา หรือลาออก จะทำหน้าที่จนครบวาระ แต่คำประกาศของนายกฯถูกท้าทายมาตลอดจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ข้อเสนอเปลี่ยนตัว รมว.มหาดไทย และนำเอา ร.อ.ธรรมนัส เป็น รมช.มหาดไทย อาจเป็นไพ่อีกใบที่ทิ้งลงมาเพื่อบีบให้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ขณะที่รัฐบาลกำลังมีปัญหาเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำ เกิดสภาล่มครั้งแล้วครั้งเล่า การเมืองจากนี้ไปจึงมีความล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลง โดยพรรคที่มีปัญหามากที่สุดคือพรรคแกนนำรัฐบาล ที่สืบทอดจากกลุ่มอำนาจที่เคยประกาศต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image