ภาพสะท้อน ‘ก๊วนธรรมนัส’ เซลล์อิสระ ขย่ม ‘บิ๊กตู่’

รายงานหน้า 2 : ภาพสะท้อน ‘ก๊วนธรรมนัส’ เซลล์อิสระ ขย่ม ‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ขอเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ผมไม่เชื่อว่าการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่ม 21 ส.ส.เพราะวันนี้สิ่งที่ ร.อ.ธรรมนัสต้องการคือการเดินเกมล้มนายกฯ เหมือนกับช่วงปลายปี 2564 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อเวลานี้กลุ่มของธรรมนัสเป็นเหมือนกับเซลล์อิสระ การเคลื่อนไหวไปสู่จุดใด ประเด็นใดในทางการเมือง ทำให้สมการทางการเมืองต้องได้รับผลกระทบกระเทือน หรืออาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเช่น เซลล์อิสระกลุ่มนี้สนับสนุนรัฐบาลต่อ รัฐบาลก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าเซลล์อิสระกลุ่มนี้อยู่ในประเด็นเป็นกรณีๆ ก็จะขึ้นอยู่กับเรื่องนั้นๆ เช่น กรณีนี้ที่เราเห็น การพูดถึงตำแหน่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถ้าเซลล์อิสระกลุ่มนี้ไปอยู่ในฐานะของการเป็นฝ่ายค้านอิสระ นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะอาจทำให้รัฐบาลกลับสู่ภาวะเสียงปริ่มน้ำอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่คุณธรรมนัสต้องการเขย่าบัลลังก์ของกลุ่ม 3 ป.

Advertisement

ที่ว่าเช่นนี้ เพราะ 3 ป. คือแกนยุทธศาสตร์ คือหัวใจหลักที่สำคัญของอำนาจ คสช. ก็ว่าได้ ซึ่งครอบคลุมมากกว่ารัฐบาลชุดนี้ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเก้าอี้ที่ไม่เคยเปลี่ยน หนึ่งในนั้นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อยู่มา 7 ปี เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยเปลี่ยน แม้ผ่านการเลือกตั้งปี 2562 ก็ตาม

ดังนั้น เมื่อคุณธรรมนัสต้องการเดินเกมล้มนายกฯ ก็ต้องพุ่งเข้าสู่ใจกลางกล่องดวงใจที่สำคัญคือ ตำแหน่งของกลุ่ม 3 ป. วันนี้เราได้เห็นการพูดถึงประเด็นเก้าอี้ มท.1 ให้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะว่าไปแล้วคุณธรรมนัส ณ วันนี้ก็ไม่ได้อยู่ในพลังประชารัฐด้วยซ้ำไป แล้วทำไมจึงไปเรียกร้องพรรคพลังประชารัฐ ผมเชื่อว่าหลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ยังมีอีกหลายประเด็นที่คุณธรรมนัสจะหยิบยกขึ้นมา

กรณีการโดดประชุมของ ส.ส.ก็มีส่วน แน่นอนว่าเหตุการณ์สภาล่ม เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่เราต้องให้น้ำหนักกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่า เพราะคือผู้ที่ถือเสียงข้างมากในสภา ปัญหาสภาล่ม หลายฝ่ายอาจจับจ้องไปเฉพาะการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย แต่อันที่จริงไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นอยู่ที่เรื่องของความแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนหลัก

Advertisement

ยิ่งวันนี้สัญญาณของการเลือกตั้งชัดขึ้นเท่าไหร่ ความถี่เรื่องสภาล่ม จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นมากขึ้นตามไปด้วย การปรับยุทธศาสตร์ของแต่ละกลุ่ม แต่ละมุ้งการเมือง หรือแม้แต่นักการเมืองแต่ละคน จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป การเตรียมย้ายขั้ว ย้ายค่าย ย้ายพรรคจะมีอยู่ตลอด ปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญในการเมืองไทย คือ คนละพรรคพวกเดียวกัน ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้ง่าย เช่น กลุ่มของคุณธรรมนัสแม้ว่าจะแตกออกมาเป็นพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ว่าแตกออกมาได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร เพราะมีคนไปร้อง กกต.อยู่

อีกขาหนึ่งของกลุ่มคุณธรรมนัสก็ยังอยู่ในพลังประชารัฐ คนที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับคุณธรรมนัสก็ไม่ได้ออกตามมาด้วย สะท้อนให้เห็นภาพว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคุณธรรมนัสจะส่งผลต่อการเมืองภายในพลังประชารัฐ เช่นเดียวกัน วันนี้ต้องบอกว่า กลุ่มสามมิตร ก็เป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ในพลังประชารัฐ ซึ่งจะเคลื่อนไหวอะไรต่อไปหรือไม่ ยิ่งผนวกกับการเคลื่อนไหวของคุณธรรมนัสด้วย ก็จะมีส่วนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและเหตุการณ์สภาล่มต่อเนื่องไปหลังจากนี้

โอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2565 เป็นไปได้สูง ไม่ว่าจะในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อย่างการที่นายกฯต้องลาออก การยุบสภา คำวินิจฉัยเรื่องนายกฯ 8 ปี ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการรัฐประหาร มีโอกาสเกิดขึ้นได้หมด ยิ่งอยู่ในสภาวะที่ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติไปด้วยกันไม่ได้ เพราะมีเหตุการณ์สภาล่ม โดยหลักการของระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารจะอยู่ได้ก็ด้วยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งออกมาได้ในหลายรูปแบบ เช่น จากการพิจารณางบประมาณ, การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์สภาล่มก็ตาม สะท้อนภาพความขัดแย้งความเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือการที่ฝ่ายบริหารไม่ได้รับความไว้วางใจ ท้ายที่สุด หากสภาล่มไปเรื่อยๆ ต้องมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งจากท่านนายกฯ ก่อนที่จะทำให้วิกฤตลุกลาม บานปลายมากไปกว่านี้

แต่นี่คือเรื่องเฉพาะการเมืองในสภา ส่วนการเมืองนอกสภา ก็ยังมีเรื่องของความเดือดร้อนต่างๆ ทางสังคมเกิดขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มรถบรรทุก กลุ่มเกษตรกร ความเดือดร้อนของประชาชนในทางเศรษฐกิจ ราคาข้าวของแพง ซึ่งอาจจะมีม็อบการเมืองกลับมาอีก มากมายหลากหลายปัจจัย หากกลไกการเมืองในระบบตอบสนองต่อการแก้ปัญหาไม่ได้แล้วนั้น ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินต่อของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมไม่เห็นว่าพลังประชารัฐจะมีโอกาสได้ ส.ส.ถึง 150 เสียง เพราะลำพังเพียงการเลือกตั้งปี 2562 ในเวลานั้นพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์ยังขายได้อยู่ ก็ยังได้ ส.ส.ไม่ถึง 150 ยิ่งวันนี้เราเห็นกลุ่มคุณธรรมนัสแตกตัวออกไป มี ส.ส.ที่ลาออกไปอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทย ของกลุ่ม 4 กุมารที่ตั้งขึ้นใหม่ ในอนาคตมีโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคขนาดเล็กลง ดีไม่ดี เราอาจไม่เห็นพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า

——————

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ภาควิชาการรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ภาพการต่อรองของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสเชื่อมโยงกับภาพสภาล่ม เป็นภาพตัวแทนของการเมืองน้ำเน่า นำสภาในฐานะที่ ส.ส.ที่กินเงินเดือนภาษีประชาชนมาใช้ในเรื่องการเมือง เพียงเพื่อต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับฝั่งตัวเอง ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับพรรคพวกตัวเอง กดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นี่คือภาพตัวแทนที่ชัดเจนของการเมืองน้ำเน่าที่สังคมต้องร่วมกันประณาม สถานการณ์ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะไปต่อหรือไม่ ถ้าการเมืองน้ำเน่านี้ยังดำรงอยู่ และ พล.อ.ประยุทธ์อยากจะไปต่อ อาจต้องประนีประนอมเพื่อให้รัฐบาลไปต่อได้ แต่ความสัมพันธ์ 3 ป. อาจจะไม่เหมือนเดิม บุคคลทั้ง 3 ยังจำเป็นจะต้องพึ่งพากอบเกี่ยวอาศัยกัน นอกเสียจาก พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจจากปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นจากปัญหาสภาล่มก็ดี จากปัญหาการเล่นเกมการเมืองของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล จากปัญหาต่อรองขอตำแหน่ง แล้วก็บวกกับเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของท่านนายกฯ ถ้าถอดใจอาจจะนำไปสู่การยุบสภาก็ได้ ความสัมพันธ์แตกสลายของกลุ่ม 3 ป. ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมรับเงื่อนไขและพร้อมที่จะก้าวลงจากตำแหน่ง ล้างมือในอ่างทองคำ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากอยู่ต่อ ก็ต้องเล่นเกมนี้ อาจจะต้องจัดสรรตำแหน่งผลประโยชน์ทางการเมืองให้กับกลุ่มการเมืองเหล่านี้ เพื่อให้กลุ่มการเมืองเหล่านี้กลับมาเป็นเสียงข้างมาก กลับมาค้ำยันรัฐบาลชุดนี้อีกต่อไป

สัญญาณชัดเจนจากที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตรถึงขนาดยกมือไหว้ขอให้ ส.ส.ในพรรคเข้าร่วมประชุม ส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร ยังต้องร่วมรัฐนาวาเดียวกัน แต่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์จัดสรรผลประโยชน์ คือให้ความสัมพันธ์ด้านอำนาจ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไหวตัวทันให้นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปตั้งพรรคใหม่ก็คือพยายามจะสร้างดุลอำนาจสำรองเช่นเดียวกัน ถ้าประเมินจากสถานการณ์ตอนนี้ ไทม์ไลน์ของรัฐนาวาชุดนี้คงไปได้อีกครึ่งปี

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประวิตรประกาศว่าจะกวาด 150 ส.ส.นั้น ถือว่าเป็นไปได้ยากกับภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของรัฐบาล ผลงานที่ไม่มีประสิทธิผล งานที่เคยหาเสียงเอาไว้ของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ทำอะไรเลย งานไม่มีและภาพลักษณ์ของนักการเมืองในพรรคก็ตกต่ำ นอกเสียจากจะต้องรีโนเวทพรรคใหม่ คือทำนโยบายอย่างจริงจัง หาเสียงแล้วต้องทำ และต้องหาคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีภาพลักษณ์ทางการเมืองแบบเก่าๆ และต้องสร้างนโยบายใหม่ๆ ที่ตอบสนองประชาชนออกมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image