บทนำวันศุกร์ที่11กุมภาพันธ์2565 : เสียโอกาส

สำนักข่าวซินหัวของสาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานเมื่อวันจันทร์ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ศุลกากรนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน หรือยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยการรองรับรถไฟสินค้า ทั้งขาเข้าและขาออก ผ่านทางรถไฟจีน-ลาว รวม 42 ขบวน ในช่วงหยุดยาวเจ็ดวันเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ว่า รถไฟสินค้าได้บรรทุกสินค้า 20,300 ตัน มูลค่ารวม 217 ล้านหยวน หรือราว 1.1 พันล้านบาท ระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-6 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นสินค้าส่งออกจากจีนมากกว่า 100 ประเภท ครอบคลุมตู้โดยสารรถไฟขนาดมาตรฐาน สายไฟ และเซิร์ฟเวอร์ ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ ยางธรรมชาติ แป้งมันสำปะหลัง และแร่เหล็กจีนได้รองรับรถไฟสินค้าระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและออก ผ่านทางรถไฟจีน-ลาว มากกว่า 300 ขบวน ซึ่งบรรทุกสินค้ารวม 126,600 ตัน เมื่อนับถึงวันอาทิตย์ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา

รถไฟความเร็วสูงลาวจีนดังกล่าว มีกระแสข่าวระบุว่าสร้างผลดีทางเศรษฐกิจให้กับประเทศลาวอย่างต่อเนื่อง และมีการกล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยว่า หลังจากที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันโครงการ “สร้างอนาคตประเทศไทย 2020” เพื่อก่อสร้างระบบรางที่จะมีรถไฟสมัยใหม่หลายประเภท โดยเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ร่าง พ.ร.บ.ผ่านรัฐสภาจนให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมีเสียงโต้แย้งจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญชี้ในปี 2557 ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทำให้โครงการล้มลงไป

ประโยชน์ของระบบรางได้เคยมีการพูดถึงไปมาก และเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยว่าจำเป็นต้องเกิดขึ้น แม้โครงการระบบรางของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยล้มลงไป แต่ในช่วงรัฐบาล คสช. ได้มีการรื้อฟื้นผลักดัน โครงการรถไฟไฮสปีดกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กม. ขึ้นมาอีกครั้ง แต่การก่อสร้างล่าช้า เดิมกำหนดเปิดบริการในปี 2566 แต่เลื่อนมาเรื่อยๆ ความสำเร็จของรถไฟฟ้าความเร็วสูงในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแนวทางที่ประเทศไทยน่าจะเร่งผลักดัน เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศที่เสียหายอย่างมากจากช่วงการระบาดของโควิดและอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image