ส่องอาฟเตอร์ช็อกศึก ‘รัสเซีย-ยูเครน’ กระทบ ‘ไทย’-ป่วนโลก

รายงานหน้า 2 : ส่องอาฟเตอร์ช็อก ศึก‘รัสเซีย-ยูเครน’ กระทบ ‘ไทย’-ป่วนโลก

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ เอกชน กรณีนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามรับรองเอกราชของแคว้นโดเนตสค์และลูฮานสค์ พื้นที่สู้รบของกองทัพรัฐบาลยูเครน กับกลุ่มกบฏที่ภักดีกับรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่อย่างเปิดเผย จนเกิดความห่วงกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่อาจส่งผลกระทบทั่วโลกขึ้นได้นั้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย

ประเด็นที่ภาคเอกชนและทุกฝ่ายกำลังติดตามถึงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนในขณะนี้ มีหลายประเด็นที่จะเป็นผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเด็นคือเมื่อยังไม่เห็นความชัดเจนและกระแสข่าวเรื่องการโจมตีหรืออาจเกิดการสู้รบได้ทุกขณะ ก็จะทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดหุ้น ที่เห็นว่าหุ้นตกลงมากแล้ว สวนทางกับราคาน้ำมันทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งยิ่งสถานการณ์มีความตึงเครียด ยิ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนที่สูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตาม

อย่างสหรัฐเงินเฟ้อสูงถึง 7% ทำสถิติในรอบ 40 ปี ในยุโรปเงินเฟ้อก็สูงเช่นกัน อย่างในไทย กองทุนน้ำมันที่ต้องพยุงดีเซลไม่เกิน 30 บาทจนขาดทุน หากสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นอีก ดันราคาน้ำมัน อาจต้องกู้เงินมาชดเชยก็จะเป็นภาระหนี้รัฐต่อไป

Advertisement

ประเด็นต่อมา คือ ระดับที่รัสเซียจะถูกสหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปคว่ำบาตร หรือแซงก์ชั่น ทางเศรษฐกิจ เป็นเฉพาะประเทศคู่กรณี หรือยกระดับแซงก์ชั่นไปถึงบริษัทหรือประเทศอื่นๆ ที่ทำการค้ากับรัสเซียด้วย ซึ่งจะยกระดับความรุนแรง ทำให้การค้าไทย-รัสเซีย มีอุปสรรคในเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการหาธนาคารรับรอง การเปิดบัญชีธุรกิจข้ามชาติ (แอล/ซี) การชำระเงิน การโอนเงินต่างๆ เหมือนที่รัสเซียเคยถูกแซงก์ชั่นมาแล้วในอดีต

หากจะคงค้าขายก็ต้องปรับตัวโยกไปทำธุรกรรมกับประเทศกลาง อย่างดูไบ หรือบาห์เรน ก็ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามเพราะกระทบเป็นวงกว้างได้

อีกประเด็นคือ ระดับการทำสงครามคือเกิดสงครามเฉพาะพื้นที่ และไม่ได้มีการใช้กำลังหรือโจมตีในยูเครน จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมาก ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะบุกโจมตีและเสียชีวิตถึงระดับ 5 หมื่นคนนั้น หากเกิดขึ้นจริง ก็อาจลุกลามจนเป็นสงครามโลกได้

แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่ได้กลายเป็นสงครามโลก แต่น่าจะเป็นลักษณะไฮบริดวอร์ หรือสงครามลูกผสม ที่ผสมการใช้วิธีการผสมผสานทั้งการใช้กองกำลังทหารปกติ และสงครามข้อมูลข่าวสารคู่กับสงครามเศรษฐกิจ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อ ต้นทุนแพง อาจเป็นเรื่องกดดันเศรษฐกิจในแต่ละประเทศสูง จึงเชื่อว่าใช้แบบไฮบริดวอร์จะยืดเยื้อ

ที่กังวลกันทั่วโลก เพราะหากรัสเซียบุกยูเครนจริง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ชะลอตัวลง หากมีหลายประเทศเข้าร่วมเหตุการณ์และเกิดความรุนแรงบานปลายขยายวง จะกระทบการค้าไทย-รัสเซีย และการค้าไทย-ยูเครน ชะลอตัวลงได้

ทั้งนี้ จากที่ประชุมของสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านระบบทางไกล มีการมองกันว่าราคาน้ำมันไต่ระดับเกิน 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเจพี มอร์แกน คาดว่าอาจแตะระดับสูงสุดที่ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากเกิดเหตุปะทะรุนแรง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อครึ่งปีแรกของเราสูงถึง 7.2%

โดยปี 2564 ไทยส่งออกไปรัสเซีย มีมูลค่า 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.68% ไทยนำเข้าจากรัสเซีย 1,752 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.8% ขณะที่ไทยส่งออกไปยูเครน 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 35.72% ส่วนไทยนำเข้าจากยูเครน 251.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.72% ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าหากมีการสู้รบเกิดขึ้นจะทำให้ชาติตะวันตกไม่ยอมรับรัสเซียและคว่ำบาตรทางการค้าเพิ่มเติม อาจเป็นโอกาสดีต่อไทย

หากกล่าวถึงการค้าโลก ตอนนี้เอกชนเกิดความกังวลแรกคือ เงินเฟ้อ จากราคาพลังงานพุ่ง ทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อโลกชะลอตัวลง ส่วนปัจจัยการสู้รบยูเครนยังเป็นปัจจัยรอง แต่เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด และมองว่าอาจยืดเยื้อกันไปอีกนาน แต่ยังมีโอกาสที่ส่งออกไทยปีนี้โดยรวมขยายตัว 3.5-5%

———–

วิบูลพงศ์ พูลประสิทธิ์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย

สาเหตุของการคว่ำบาตร แน่นอนอยู่แล้วว่าเกิดจากการที่รัสเซียใช้กองกำลังทหารบุกเข้าไปเพื่อยึดดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

ฉะนั้น เมื่อทำแบบนี้ สิ่งที่ประเทศตะวันตกทำได้คือ “การคว่ำบาตร” (sanction) เพื่อเป็นการลงโทษในฐานะที่รัสเซียไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ

นี่คือหลักใหญ่!?

ถามว่าผลกระทบต่อรัสเซีย และต่อโลกคืออะไร รัสเซียและปูตินทราบอยู่แล้วว่าจะมีการคว่ำบาตร และจะมีอะไรบ้าง หลักใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสินค้า การ “บอยคอต” ไม่ให้มีการส่งของให้รัสเซีย ซึ่งรัสเซียคิดว่ารับได้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะลึกขนาดไหน การคว่ำบาตรนี้ค่อนข้างได้รับการยอมรับในประเทศตะวันตก พูดง่ายๆ ว่ารวมหัวกัน ก็จะมีผลกระทบทั้งต่อรัสเซีย และประเทศที่คว่ำบาตรด้วย เพราะการคว่ำบาตรหมายถึง เราไม่ให้เขาเข้ามาขายของ แต่เราก็ขายของไม่ได้ จึงมีผลกระทบอย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีท่อส่งน้ำมันนอร์ด สตรีมซึ่งส่งก๊าซมาที่ประเทศยุโรป ถ้าคว่ำบาตร นั่นหมายความว่าไม่รับก๊าซจากรัสเซีย รัสเซียก็ขายก๊าซไม่ได้ แต่ที่สำคัญคือยุโรปเป็นเมืองหนาว ต้องใช้ก๊าซกระทำการต่างๆ ก็ต้องลำบากไปหาก๊าซจากที่อื่นมาแทน ซึ่งในระยะสั้นๆ อาจจะพอทำได้ แต่ในระยะยาวจะมีปัญหา เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่มีก๊าซมากที่สุด และยุโรปรับก๊าซจากรัสเซียเป็นหลัก
ในส่วนของอเมริกา การคว่ำบาตรจะเน้นไปที่เรื่องของธุรกิจการเงิน ซึ่งรัสเซียต้องทำงานธุรกิจการเงินกับโลกตะวันตก อเมริกาก็ปิดตรงนี้ ไม่ให้การเงินของรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องกับแบงก์ตะวันตกหรือของอเมริกา เป็นต้น

ซึ่งเงินของรัสเซีย อาจจะเป็นเงินของรัฐ หรือบุคคลสำคัญของรัสเซียก็ตาม จะถูกแช่แข็ง (ฟรีซ) ไว้ไม่ให้ดำเนินการใดๆ ได้ พูดง่ายๆ ถ้ามีเงินส่วนตัวของปูติน ก็จะถูกฟรีซไว้ เพราะรัสเซียจะมีเงินไปฝากในแบงก์ใหญ่ๆ ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือของตะวันตก ไม่ว่าจะของอเมริกาหรืออังกฤษก็ตาม กล่าวคือ อเมริกาสามารถเข้าไปแช่แข็งไว้ได้

สำหรับประเทศไทย อาจจะได้รับผลกระทบในทางอ้อม ที่ชัดเจนคือในเรื่อง “ราคาน้ำมัน” ที่จะต้องขึ้นตาม

จะกระทบไปทั่วทั้งหมดแล้ว ในแง่ของธุรกิจ เป็นจุดพีคจุดหนึ่งที่จะเกิดขึ้น ที่น่าเป็นไปได้อีกอย่างคือ “เรายังไม่รู้บทบาทของจีน” ว่าจะออกมาในรูปไหน ตอนนี้จีนยังเก็บเงียบอยู่ ไม่พูดอะไร แต่ผมเชื่อว่าจีนกับรัสเซีย น่าจะมีการพูดคุยกันลับๆ แล้วว่า จะมีการดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนที่รัสเซียไปเปิดโอลิมปิก อะไรที่จีนช่วยได้ก็อาจจะช่วย เช่น ก๊าซ ถ้ารัสเซียต้องการ จีนก็อาจจะช่วยได้

โดยสรุป เป็นผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนของประเทศไทยจะโดนผลกระทบในทางอ้อมมากกว่า เช่น ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ที่ปรับขึ้นตามสถานการณ์ของโลก เมื่อสถานการณ์ของโลกเป็นแบบนี้ กลไกตลาดก็ต้องปรับขึ้น เหมือนการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะส่งผลกระทบไปทั้งหมด เพราะไม่มีใครกล้าลงทุนในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเกิดสงครามใหญ่หรือไม่ แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดระดับสงครามระหว่างประเทศ แบบอเมริกา-รัสเซีย รบกัน ไม่น่าถึงตรงนั้น
อย่างไรก็ดี การมีสงคราม ไม่ว่าจะระหว่างยูเครน กับรัสเซียย่อยๆ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน ถ้าเราย้อนไปดูปี 2014 ที่รัสเซียบุกเข้าไปในไครเมีย แล้วยึดเอาไครเมียไปจากสงครามยูเครน เป็นสงครามที่เราไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่ได้อินว่ามีสงคราม แต่กระทบไปทางนั้น เมื่อกระทบไปที่ยุโรป ก็กระทบไปที่ทวีปอื่นด้วย ลามไปในลักษณะลูกโซ่เช่นนี้ แต่ไม่ถึงกับสงครามโดยตรง อย่างสงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามโลกครั้งที่ 2

ถามว่าการเจรจาจะสามารถหยุดยั้งกรณีนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน สรุปคือ รัสเซียมีความรู้สึกว่า “ตะวันตก” โดยเฉพาะนาโต (Nato) ได้คืบคลานเข้าไปในบริเวณที่เคยเป็นอิทธิพลของเขาสมัยที่เป็นสหภาพโซเวียต (Soviet Union) อยู่

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ในปี 1997 ปรากฏว่าประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ก็หันไปหาทางตะวันตก หลายเผ่าพันธุ์ก็แยกตัวออกไปเป็นประเทศเล็กๆ ของเขา และได้รับการยอมรับจากตะวันตก

ตะวันตกก็ดึงเข้าไปในนาโต (เศรษฐกิจก็เปลี่ยนเป็นเสรีนิยม ระบบการปกครอง ก็เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตรงข้ามกับความต้องการของรัสเซียอย่างมาก โดยเฉพาะปูติน ที่มองว่า “ประชาธิปไตย” กับ “นาโต” กำลังเข้าไปรุกรานเขา ถ้าประเทศอย่างยูเครน เบลารุส ซึ่งอยู่ติดพรมแดนรัสเซีย กลายเป็นประเทศที่นิยมตะวันตกไปด้วย ก็จะยิ่งเป็นภัยต่อเขาอย่างยิ่ง

ฉะนั้น เขาจึงยอมไม่ได้ จุดนี้เป็นจุดสุดท้าย ถ้าประเทศเหล่านี้กลายไปเป็นสมาชิกนาโต แถมจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตย แบบอเมริกา หรือยุโรป ตะวันตกด้วย ก็จะยิ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบอบคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต หรือของรัสเซียในปัจจุบัน รัสเซียมองว่าตรงนี้เป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน เขาคิดว่าจุดสุดท้ายมาถึงแล้ว

เหตุผลของเรื่องนี้คือ รัสเซียต้องการชี้ให้เห็นว่า ถ้าทางตะวันตกสัญญาได้ว่า “จะไม่มีการรับยูเครนเข้าไปเป็นสมาชิกนาโต” เขาก็จะถอย แต่ตะวันตกก็ทำไม่ได้ที่จะสัญญาอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าคงไม่รับตอนนี้หรอก เพราะรับไปก็จะมีแต่ปัญหา

ปัญหาคือรัสเซียต้องการมากกว่านั้น “ต้องการเป็นสัญญา” ซึ่งตรงนี้ก็ขัดกับความต้องการของยูเครนเอง ที่อยากไปเป็นสมาชิกนาโต และตะวันตกเองก็บอกว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเอกราช ไม่ได้ขึ้นกับรัสเซีย ก็น่าจะมีสิทธิตัดสินใจเอง แต่รัสเซียบอกว่า “ไม่ได้” ต้องถือว่าประเทศเหล่านี้เป็นบริวารของเขา น่าจะอยู่ในการเคารพความคิด และการตัดสินใจของรัสเซียบ้าง จุดนี้ทำให้ไม่สามารถที่จะลงเอยกันได้ ตะวันตกเอง ก็คงมองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย

ที่ยุ่งยากมากขึ้นอีก ถามว่าทำไมรัสเซียถึงทำตอนนี้ ทำไมไม่ทำก่อนหน้านี้ หรือวันพรุ่งนี้ คำตอบคือ เพราะรัสเซียมองว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ที่สำคัญที่สุดคือ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ก็เห็นด้วยกับรัสเซียที่จะกระทำการเช่นนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะมีความหวังว่าจะได้กลับไปเป็นประธานาธิบดี 2024 ก็ได้ หรือไม่เช่นนั้น เขามีเงินทุนสนับสนุนคนที่จะมาเป็นประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ในปี 2024 ให้อยู่ภายใต้อาณัติของเขา และนโยบายก็จะเปลี่ยน

ขณะที่เกิดเหตุอยู่นี้ ทรัมป์ก็ออกมาชื่นชมปูติน ฉะนั้น ถือเป็นจังหวะดีของปูตินในตอนนี้ เพราะเขารู้ดีว่า ถ้ายื้ออีก 2-3 ปี ก็น่าจะไม่เลวร้ายลง อาจจะโอเคเลยก็ได้ เพราะอเมริกาคงไม่เข้าไปยุ่งยากในปัญหาของโลกมากอีกแล้ว ในความเห็นของปูติน สะท้อนผ่านสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ พูดถึงคือ “อเมริกาที่ไม่ไปยุ่งกับโลก” America first, America alone แยกเป็นส่วนตัวในความเห็นของทรัมป์ ซึ่งอเมริกาภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ก็รับได้ ในกรณีที่รัสเซียจะเอายุโรป หรือตะวันออกออกไป ก็ไม่เกี่ยวกับอเมริกา อย่ามายุ่งกับอเมริกา นี่คือความคิดแบบทรัมป์

ต้องวิเคราะห์ลึกมาก เพราะมีปัญหาภายในอเมริกา ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจเต็มที่ อเมริกามีอำนาจ “คำสั่งประธานาธิบดี” (Executive order) แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องผูกพันประเทศ ต้องขอสภาคองเกรส ซึ่งต้องผ่านทั้งสองสภา และคาดว่าไม่น่าจะผ่านอะไรได้ เพราะถูกดองด้วยสภาสูง รัสเซียรู้เกมตรงนี้ดี ว่าสหรัฐคงไม่สามารถออกมาเหมือนกับที่เคยเป็น 1 ได้

1 กับ 2 อยู่ด้วยกัน ไม่สามารถออกมาเป็นแนวคิดเดียวกันได้ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ให้ท้ายเอาไว้ด้วย

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ปูตินไม่ตกใจเท่าไหร่ เพราะคิดว่า “อเมริกาแซงก์ชั่น ลำบากหน่อย แต่ก็รับได้นะ” นำไปสู่จุดมุ่งหมายสุดท้าย ไม่ให้ตะวันตกภายใต้นาโต ขยายตัวเข้ามาใกล้รัสเซียมากไปกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image