รายงานหน้า 2 : มอง 7 วัน ‘รัสเซีย’ บุก ‘ยูเครน’ โจทย์ใหญ่ท่าที ‘ไทย’
หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศสงครามสั่งบุกยูเครนเข้าสู่วันที่ 7 นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กับการวางท่าทีของไทย และผลกระทบที่จะตามมา
ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช
รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
สถานการณ์ตอนนี้ ไม่เหมือนตอนที่สหรัฐอเมริกา บุกอิรัก อัฟกานิสถาน ที่บุกและครอบครองพื้นที่แต่เพียงเจ้าเดียว จีนกับรัสเซียก็ไม่ได้เข้ามาต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด
แต่ว่ากรณีของรัสเซียกับยูเครนนั้น เห็นแรงสนับสนุนจากตะวันตกที่ชัดเจน กล่าวคือ อาจจะยังปฏิเสธการที่ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก อียู หรือปฏิเสธที่นาโตจะส่งกองกำลังเข้ามาช่วย แต่การช่วยแบบไม่เป็นทางการ เช่น จัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ หรือส่งทหารรบพิเศษจากชาติตะวันตกแบบแฝงเร้นเข้าไป เพื่อช่วยทหารยูเครนรบ ผมว่ามันเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็จะค่อนข้างยืดเยื้อและสร้างความระส่ำระสายให้กับดุลอำนาจในยุโรป ยูเรเซีย
ถ้าดูจากเจตนารมณ์ของปูติน คิดว่า หากการยุทธบุกสำเร็จ เขาคงอยากจะยึดยูเครนและล้มระบอบการปกครอง เปลี่ยนตัวผู้นำไปด้วย ในระหว่างภาวะอลหม่านนี้ ถ้าดูจากข่าว มีแรงยุจากทางปูตินให้ทหารบางขั้วยึดอำนาจประธานาธิบดียูเครนด้วยซ้ำไป ตรงนี้จะมีความปั่นป่วน และถ้าตะวันตกเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องคิดถึงการ “ผ่ายูเครน” ว่าจะแบ่งออกอย่างไร เพราะประเทศนี้มีเส้นรอยเลื่อนที่ถูกผ่าเป็นส่วนๆ อยู่แล้ว โดยเฉพาะส่วนที่โปรตะวันตก กับโปรรัสเซีย ซึ่งเห็นได้ในฐานคะแนนการเลือกตั้ง และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ฉะนั้นจึงเสี่ยง
การที่รัสเซียเข้ามาพยายามจะยึดอิทธิพลและครอบครองจุดยุทธศาสตร์ในยูเครนตะวันออก อย่างน้อยรัสเซียต้องแผ่อิทธิพลได้ค่อนข้างจะเต็มที่มากกว่าตะวันตกอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะยึดกรุงเคียฟได้ทั้งเมือง หรือถ้าตะวันตกเข้าแทรก จะผ่า “เคียฟ” ออกเป็น 2 ส่วนหรือไม่ ระเบียบของยุโรปการผ่าประเทศรบออกจากแผนที่โลก และผ่าเมืองออกเป็น 2 ปีก คือ ปีกรัสเซีย กับปีกตะวันตก เคยเกิดขึ้นแล้ว
ถ้าปล่อยให้ยูเครนถูกรัสเซียยึดครองทั้งประเทศ โปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย อดีตประเทศเชกโกสโลวาเกียระส่ำระสายแน่นอน เพราะประเทศเหล่านี้ในยุคสงครามเย็น เคยเจอกองทัพแดงของโซเวียตยึด อยู่ภายใต้ร่มของม่านเหล็กมาก่อน ถ้ารัสเซียยึดยูเครนได้ ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัสเซียจะไม่คุกคามรัฐยุโรปอื่นๆ หรือรัฐแถบทะเลบอลติก
ฉะนั้น ผมคิดว่าจะมีความพยายามช่วยเหลือจากรัฐในยุโรป ส่งอาสาสมัครแทรกซึมเข้ามาช่วย แต่ว่ามีปริมาณพอเพียงที่จะทำให้ยูเครนชนะศึกรัสเซียได้ ก็ยังพูดยากอยู่ อาจจะเป็นในลักษณะยื้อ หรือป้องกันได้สำเร็จในบางยุทธภูมิ ต้องจับตาดูกันต่อไป
การศึกครั้งนี้มี “ความตึงเครียดจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์” อันเป็นผลจากการขยายอำนาจกันไปมา รัสเซียก็กลัว ยุโรปก็กลัว หวาดระแวงกันหมด สหรัฐเองก็เช่นกัน เพราะเคยโดนรัสเซียรังแกสมัยวิกฤตการณ์คิวบา ที่มีขีปนาวุธเข้ามาตั้งฐานยิงจ่อรัฐฟลอริดา ถ้ารัสเซียไม่ทำการยึด หรือผ่ายูเครนบางส่วนเอาไว้ก่อน ก็จะถูกบีบคั้นทางยุทธศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและตะวันตกอย่างรุนแรง
เรื่องนี้เป็น “เกมทางภูมิรัฐศาสตร์” ผมคิดว่าใครก็ไม่ยอมใคร ต้องเฝ้าระวังว่าจะคุกคาม บานปลายหรือไม่ เพราะเป็นเกมที่วัดผลประโยชน์แห่งชาติ และปูตินก็บอกแล้วว่า ผลประโยชน์รัสเซียต่อรองไม่ได้
ผู้นำที่ฝันอยากฟื้นคืนสหภาพโซเวียตให้เกรียงไกร จากรัฐที่ยิ่งใหญ่แล้วล่มสลาย แต่พอมาหลังๆ ยุโรป กับนาโตไปปักธงและไปแย่ง
รัฐที่เคยผูกพันกับรัสเซียก็เปลี่ยนไปหาค่ายตะวันตกหมด ผมว่าเขาน้อยอกน้อยใจ และพยายามฟื้นคืนความฝันขึ้นมาให้ได้ ก็ต้องใช้การรบอย่างเต็มกำลัง อย่างน้อยต้องชนะในสมรภูมิ เพราะถ้ารบพ่ายแพ้ ปูตินจะตอบคนรัสเซียสายชาตินิยมอย่างไร ตรงนี้น่าคิดเหมือนกัน
สงครามจะยืดเยื้อแค่ไหน อยู่ที่ว่าจะยึดกรุงเคียฟได้เมื่อไหร่ สงครามเพิ่งเริ่ม ระหว่างนี้ก็มีต้นทุนค่าเสียหายต่างๆ เกิดขึ้น ปูตินต้องระวัง เพราะการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโซเวียตไปลากยาวในสงครามอัฟกานิสถาน ช่วงสงครามเย็นนานเกินไป จนทำให้หมดพลัง ถูกดึงลากมาเอเชียกลางและใต้เสียเยอะ
ปูตินเองก็อยากจะเผด็จศึกอย่างรวดเร็ว แต่ปฏิบัติการจริงไม่ได้ง่ายดั่งใจฝัน ที่สำคัญยูเครนไม่ใช่จอร์เจีย หรือรัฐบอลติก แต่เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีพลังอำนาจของตะวันตกแทรกเข้ามาอีก ผมว่าเกมอาจจะยาว ยึดยูเครนได้ก็จะมีแรงกระด้างกระเดื่องอีกเยอะ คนที่ตัดสินใจในการทำสงครามคิดมาดีแล้วว่าจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ปูตินไม่ใช่คนที่ไม่รู้เรื่องสงคราม หรือคุมกองทัพไม่ได้ อย่างน้อยก็ในระยะแรก ใครแตกแถวคงจะเห็นได้ยาก
ฉะนั้น จะเห็นพลังของรัสเซียที่จะถูกเติมจากฝั่งเบลารุสขึ้นมาอีก และมีพลังจากจีนในฐานะมหาอำนาจใหญ่ของเอเชีย คอยประคับประคอง หรือไม่ต่อต้านรัสเซียแบบออกนอกหน้า เขาจะช่วยกันอยู่ลับๆ ถ้ามีพลังจากตรงนี้เข้ามาก็ไปต่อได้อีกสักระยะหนึ่ง อยู่ที่ว่าตะวันตกจะเดินเกมโต้อย่างไร ปูตินพยายามจะรุกคืบเรื่อยๆ แต่เขาก็เริ่มมีแผลแล้ว ถูกตีโต้ บาดเจ็บ ทหารรัสเซียเสียชีวิตไปพอสมควร ลุ้นว่าถ้าบุกไปได้สักระยะ พอจะได้เปรียบสักประมาณ ก็อาจจะมีการเจรจาแบ่งสันปันส่วน จัดระเบียบอำนาจใหม่ในยูเครน อย่างไรรัสเซียตัดสินใจคนเดียวเองไม่ได้ “เกมการเมืองระหว่างประเทศ” จำลองเข้าไปในสนามรบยูเครนมากอยู่เหมือนกัน ต้องระมัดระวังใน “ดุลอำนาจ”
กรณีนี้เป็นเรื่องที่คนไทยต้องให้ความสนใจ สงครามเกิดได้ในทุกภูมิภาค รอบโลก ซึ่งเราต้องช่วยกันกำหนดว่าประเทศไทยจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ หรือจะมีท่าทีอย่างไรในวิกฤตนี้ เวทีอาเซียนก็ใกล้ตัว สิงคโปร์ประกาศแล้ว ประณามการบุกของรัสเซีย แต่พม่า, ลาว, เวียดนาม ยังทรงๆ และดูแนวโน้ม 3 ประเทศนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียด้วยซ้ำไป แค่ประเทศเพื่อนบ้าน
ยังเสียงแตก
รัฐบาลไทยจะแสดงท่าทีอย่างไรในสถานการณ์นับจากนี้ที่อาจจะมีการแยกตัวกันมากขึ้น จะอยู่ในขั้วตะวันตก หรือขั้วรัสเซีย ซึ่งไทยอาจจะต้องเฝ้าดูระวังไปก่อน ไม่ออกท่าทีที่รวดเร็ว อาจจะเน้นสนับสนุนให้มีการเจรจา แก้ปัญหาแบบสันติวิธีทั้ง 2 ฝ่าย ออกท่าทีแบบนี้ไว้ก่อนก็จะดี และเป็นไปตามมารยาททางการทูต
แต่ถ้าอนาคตถูกบีบมากขึ้นว่าจะต้องเทไปทางไหน ค่อยมาปรับท่าทีกันอีกที แต่ผมคิดว่าไทยจะไปออกในลักษณะ “อุ้มยูเครนมากไม่ได้” เพราะเราก็มีความสัมพันธ์กับรัสเซีย มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ชัดมาก คนไทยก็ไปเรียนต่อที่รัสเซียกันเยอะ เข้าใจรัสเซียไม่ใช่น้อย มีหลักสูตรที่
ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษารัสเซียศึกษา ผมคิดว่าเรามีความสัมพันธ์กับรัสเซียที่ซับซ้อน และมีผลประโยชน์พอประมาณ การที่จะไปเลือกยูเครนกับตะวันตก และตัดรัสเซียไปเสียดื้อๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ขนาดนั้น
รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติภัทร พูนขำ
สาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
การรุกรานยูเครนรอบนี้ อาจไม่ได้นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกขนาดนั้น แต่อาจเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจของโลก และเปลี่ยนวิธีการที่ระเบียบโลกที่จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนในเรื่องท่าทีของประเทศไทยอาจต้องถอยกลับมาคิดว่าตกลงไทยจะเล่นเกมแบบไหน คือ
1.ต้องตั้งโจทย์ว่าเราอยู่ตรงไหน แล้วการประกาศตัวเป็นกลางของเราเป็นจุดยืนแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นจุดยืนที่กลาง แบบฟินแลนด์ หรือประเทศต่างๆ หรือความเป็นกลางที่เลือกข้างหนึ่งในคู่ความขัดแย้งกันแน่ นี่คือคำถามที่เราต้องคิดต้องตอบ
2.คือเราต้องทำอะไรได้มากกว่านั้นไหม ในเชิงนโยบายในเชิงของยุทธศาสตร์ ในแง่หนึ่งความเป็นกลางก็สำคัญ แต่เป็นความเป็นกลางที่มีจุดยืนบางอย่างที่อยู่กับองค์การสหประชาชาติ ยืนอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การไม่เห็นด้วยกับสงคราม การเรียกร้องให้ใช้วิธีแบบสันติ เป็นต้น พิจารณาโดยมองจากฐานผลประโยชน์แห่งชาติของไทย ไม่ใช่อุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ว่าจะเป็นระบอบการเมืองแบบไหน เราอยู่ในระบบกฎหมายระหว่างประเทศ ผมคิดว่าเราสามารถบอกได้ว่า เราไม่เห็นด้วยกับสงครามที่ไม่ชอบธรรม ความเป็นกลางแบบนี้เป็นความเป็นกลางที่สง่างามในเวทีระหว่างประเทศ
จากการเจรจาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ บริเวณพรมแดนของเบลารุสมีการพบกันของผู้นำยูเครน-รัสเซีย ยังไม่มีข้อยุติ และทั้ง 2 ฝ่ายกลับไปปรึกษาหารือกับรัฐบาลของตัวเองก่อนและอีกวันสองวันจะกลับมาเจรจากันใหม่ ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร ว่า 1.รัสเซียจะดึงประเด็นการเป็นสมาชิกนาโต 2.ประเด็นยุติการเข้ามาในยูเครนภาคตะวันออก ในขณะเดียวกันยูเครนมีประเด็นที่สำคัญของเขาคือรัสเซียต้องถอนกำลังออกไป
แต่รัสเซียจะถอนทหารก็ต่อเมื่อรัสเซียบรรลุเป้าหมายทางการทหารในระดับหนึ่ง และยูเครนนั้นจะต้องเป็นกลางและไม่เข้าเป็นสมาชิกของ นาโต
ตรงนี้ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี มีการพูดถึงว่าเขาพร้อมคุยเรื่องความเป็นกลาง นอกจากเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต และการเป็นสมาชิกของอียู ซึ่งเพิ่งสมัครเข้าไป คงใช้เวลาพอสมควรความลังเลของฝั่ง อียู ก็คงมี แม้ความนิยมสนับสนุนยูเครนจะสูงก็ตาม
อย่าง 8 ประเทศก็ออกมาสนับสนุนที่จะรับยูเครนเข้ามา ถ้าเทียบระหว่าง นาโต และอียู รัสเซียมีท่าทีที่มอง อียู ในสายตาที่มองว่าไม่ได้เป็นภัยคุกคาม ถ้าเทียบกับนาโต ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องของการทหาร มองแบบนี้ยูเครนมีสิทธิที่จะถูกเลือกองค์กรระหว่างประเทศอะไรก็ได้
แต่ปัญหาโจทย์ใหญ่คือ รัสเซียมองในมิติของความมั่นคง แล้วจะไปกันอย่างไรทั้ง 2 ฝ่าย มองไปคนละทิศคนละทาง
ในส่วนของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ อียู มีการเซ็นเอกสารส่งไปให้ทาง อียู ตรงนี้เป็นการแสดงภาพของความเป็นเอกภาพว่ายูเครนเลือกที่จะอยู่ข้าง อียู ต้องการกำหนดชะตาตัวเองอยู่กับโลกตะวันตกมากกว่า
คราวนี้ต้องมาดูทางฝั่งรัสเซียว่าการทำแบบนี้จะยิ่งไปเติมเชื้อไฟที่มีอยู่หรือไม่ และยิ่งทำให้รัสเซียส่งกำลังทหารเข้ามาเพื่อจะปิดเกม
ซึ่งล่าสุดจะเห็นว่าภาพถ่ายดาวเทียมที่เห็นขบวนทหารของรัสเซียยาวเหยียดเข้ามาใกล้ประชิดกับเคียฟเมืองหลวงของยูเครนมากขึ้น ผมคิดว่าตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะหาทางอย่างไรต่อ