นักวิชาการส่องการเมือง ชี้ 260 เสียงหนุน ‘บิ๊กตู่’ เกมต่อรองเก้าอี้รมต.-นายกอยู่ยาว

นักวิชาการส่องการเมือง ปม 260 เสียงหนุน‘บิ๊กตู่’ เกมต่อรองเก้าอี้รมต.-นายกอยู่ยาว

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการถึงสถานการณ์การเมืองกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกมาพูดว่ามี ส.ส. 260 เสียงหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่ ร.อ.
ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ระบุว่าไม่มี ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ใน 260 เสียงนั้น แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
ยืนยันว่า ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ยังหนุน พล.อ.ประยุทธ์


พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมมีความรู้สึกว่ามีความอึมครึมในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาพูดครั้งแรกว่ามี 260 เสียงหนุนนายกฯ แล้วมาปฏิเสธว่าไม่ได้พูด ในความเข้าใจของผมคือ นายอนุทินถือไพ่ที่อย่างน้อยที่สุดเขาเป็นคนทิ้งไพ่เกมนี้ เป็นคนหนึ่งที่จะมองข้ามเขาไม่ได้ การที่เขาบอกว่ามี 260 เสียงสนับสนุน เท่ากับเป็นการบอก พล.อ.ประยุทธ์ว่า ถ้าอยากเป็นนายกฯต่อไป ต้องมีเขาอยู่ไว้ และที่มี ส.ส.สนับสนุนถึง 260 เสียง เขาสามารถจัดได้

แต่ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกมาตอบในลักษณะแบบนั้น เป็นการยืนยันว่า ถึงอย่างไรพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคของเขา เป็นการหยั่งเชิงกัน โดย ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ที่แยกออกมาจากพรรคพลังประชารัฐเป็นเพียงการแก้ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ถึงอย่างไรก็ยังสนับสนุนพรรครัฐบาลอยู่

Advertisement

นี่เป็นเรื่องน่าคิดว่าเรื่องการแปรขบวนที่เกิดขึ้น มีปัญหาระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ ขณะนี้ยังเป็นเนื้อเดียวกันอยู่หรือไม่ หรือว่าแตกกันไปแล้ว

แต่คำถามคือ ถ้าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เขาจะเอาใครขึ้นมา เพราะ พล.อ.ประวิตร ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ และถ้านำคนนอกเข้ามาจะเป็นเรื่องใหญ่ ผมเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรไม่คิดจะขึ้นเป็นด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เขาต่อรองกันอยู่ ถ้าการต่อรองลงตัวได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถึงแม้จะบอกว่าไม่สนับสนุน แต่ถ้าเกิดยกมือให้จริง เขาก็มีเหตุอ้างได้ว่าเพื่อชาติ เพื่อบ้านเมือง ก็ว่ากันไป

เมื่อมีลักษณะแบบนี้แล้ว โครงสร้าง ครม.จะต้องเปลี่ยนแปลงไป โควต้าจะต้องเปลี่ยนไปมาก สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯต่อก็อาจไม่มีอำนาจอะไรเลย มีลักษณะเหมือนตัวเชิดเท่านั้น

Advertisement

ยิ่งมีการต่อรองตำแหน่ง ครม. ตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญต่างๆ ที่อยู่ในมือ ไหนจะพรรคภูมิใจไทย ไหนจะพรรคประชาธิปัตย์อีก เพราะฉะนั้นผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ถึงจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ต้องผ่านด่านการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน เริ่มเจรจากันใหม่ว่าจะยกมือให้ไหม เมื่อไปขอเขาแล้วให้ยกมือผ่านไว้วางใจ ก็ต้องตอบแทน

ถ้าหากมีเลือกตั้งใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาอีก ผมคิดว่าโอกาสน้อยมาก เพราะฉะนั้นแผนของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะอยู่ต่อไป เขาคงคิดแค่ว่าขอให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ได้ก่อน เขาอาจจะมีไพ่ใบอื่นที่สำคัญเหลืออยู่อีกก็ได้

เรื่องที่มีเสียงร่ำลือว่าสุดท้ายเขาอาจขู่ว่า หากไม่ตกลงตามที่เขาต้องการเขาจะยึดอำนาจอีก เกมมันเป็นไปได้ทั้งนั้น

สรุปง่ายๆ คือ ต้องมีการซื้อหนัก ผมว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความคิดในทุกเรื่อง ทุกอย่างเป็นไปได้หมด สิ่งที่ผมอ่านตอนนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพยายามทำทุกอย่าง อาจยอมให้กับการต่อรองและอาจยอมที่จะเสียด้วย เพียงเพื่อให้พ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้ให้ได้ จากนั้นก็หาทางแก้ต่อไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์


สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทางฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คงอยากจะต่อรอง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ไปเอาของเขาง่ายๆ เขาเป็นพรรคขนาดกลางๆ เป็นอิสระเหมือนกับที่ได้ประกาศไว้ แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็พยายามยืนยันว่า กลุ่มนี้ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่
260 เสียง เป็นตัวเลขโดยประมาณ ผมว่าท่านนายกฯคงไม่ได้คิดอะไรมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสต้องคิดคือ ไม่ใช่ว่านายกฯต้องมี 260 เสียง ฝ่ายค้านต่างหากที่จะล้มรัฐบาลได้ต้องมีเสียงถึงขนาดนั้น

ในการโหวต ถ้าหากว่าที่ประชุมโหวตให้รัฐบาลแพ้คะแนน ก็อาจทำได้ แต่ถ้าคะแนนโหวตไม่ไว้วางใจไม่ถึงครึ่ง ล้มรัฐบาลไม่ได้ ต่อให้คะแนนชนะ ฉะนั้น เรื่องการขวนขวายตัวเลขที่เกินครึ่งนั้น ต้องเป็นตัวเลขของฝ่ายค้านที่พยายาม ถ้าไม่ถึงครึ่งก็ไม่สำเร็จ สะท้อนว่ากลุ่มของ ร.อ. ธรรมนัสไม่ใช่พวกที่ยอมรัฐบาลแบบไม่มีเงื่อนไข ใครจะรับประกันแทนเขาอะไรก็แล้วแต่ เขายังยืนยันว่าเขาอิสระ

แล้วผมเชื่อ การที่บอกว่าไม่ขอร่วมรัฐบาล นั่นคือการเปิดทางบอกว่า “จะให้เข้าร่วม ก็ต้องรีบทำซะ จวนจะหมดความอดทนแล้ว” ความหมายตรงกันข้ามในความรู้สึกผม

การที่ ร.อ.ธรรมนัสประกาศไม่ขอรับตำแหน่งใน ครม.ชุดนี้ก็เป็นไปได้ จริงๆ เป้าหมายของ ร.อ.ธรรมนัสอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของคุณป๊อก (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) พี่ป้อม (พล.อ.ประวิตร)ไม่แย่งอยู่แล้ว แต่พี่น้อย (พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ไม่เกี่ยวนะ เป็นการต่อรองทางการเมืองตำแหน่งรัฐมนตรี ตราบใดที่ยังไม่ตั้ง ก็ยังมีความหวังอยู่

รอยร้าวนี้จะนำไปสู่ขั้นยุบสภาหรือไม่ ผมว่านายกฯท่านมองเรื่องการยุบสภาเป็นเรื่องการแพ้ ไม่ยุบอยู่แล้ว ตอนนี้ที่น่าห่วงคือท่านมองเรื่องการปรับ ครม.เป็นเรื่องแพ้ด้วย จะเห็นว่าพอใครพูดเรื่องการปรับ ครม. ท่านหันขวับ “ใครปรับ?”

ท่านนายกฯเชื่อมั่นว่าเสียงของท่านพอ ถึงจะปริ่มน้ำก็พอ การคิดแบบทหารเขาไม่เดินเอง เขามองเป้าหมาย ส่วนใครจะช่วย จะสนับสนุนตอนไหน อะไร อย่างไร ก็ไปทำกันมา “แต่ผมจะอยู่ให้ถึงหมดวาระ”

ถ้าประชุมสภาไม่ได้ ท่านก็ไม่เกี่ยว ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้ประชุมก็ไม่ได้ออกกฎหมาย ก็จบ ปัญหาคือจะล้มรัฐบาลให้ได้ ฝ่ายค้านต้องหาเสียงให้เกินครึ่ง ส่วนฝ่ายรัฐบาล ถ้าหาเสียงได้ก็มาบอกนายกฯว่าคนนี้ทำงานใช้ได้ ก็แค่นั้น เพราะท่านบอกเป้าหมายแล้ว

คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เลยให้ดูว่า “ผมหาได้แล้วนะ” ส่วนจะมีชื่อใครบ้างอยู่ในนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เด็กฝากก็เยอะเหมือนกัน แต่อาจจะยังไม่แสดงตัว เว้นแต่ถึงคราวได้-เสีย

บรรยากาศมันชวนให้เห็นว่ารัฐบาลง่อนแง่น แต่ถ้าดูให้ดีแล้วโอกาสที่ฝ่ายค้านจะรวมเสียงให้เกินครึ่งนั้นยาก รัฐบาลยังได้เปรียบอยู่ในจุดนี้


ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ที่ ร.อ.ธรรมนัสระบุว่า เสียงสนับสนุนนายกฯ 260 เสียง ไม่รวมกับเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยนั้น คิดว่าเป็นความเห็นส่วนตัว และเป็นการแสดงให้เห็นว่าตัวเองแสดงจุดยืนที่ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ แต่องคาพยพต่างๆ ที่ตาม ร.อ.ธรรมนัสมาด้วย ไม่ได้ปฏิเสธ หรือมีระยะห่างกับ พล.อ.ประวิตร เพราะฉะนั้นถ้าหาก พล.อ.ประวิตรร้องขอ อาจจะมีการเจรจาต่อรอง คิดว่าท้ายที่สุดอาจเป็นเสียงกลุ่ม ส.ส.เด็กที่จะต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ดี แต่ในขณะนั้นต้องดูด้วยว่าสถานการณ์ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างไร

เข้าใจว่า ร.อ.ธรรมนัสเล่นการเมืองกับสถานการณ์ทางการเมืองตลอดเวลา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มีความนิยมระดับสูงและเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลแน่นเป็นปึกแผ่น ก็คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะผ่านศึกซักฟอกไปได้อย่างสบาย

260 เสียง การันตีมาจากไหน ทุกคนทราบว่ามาจากเสียงที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รวบรวมมา ซึ่งเสียงตรงนี้มาจากคะแนนการอภิปรายไว้วางใจนายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยมาก่อน เพราะอำนาจต่อรองนั้น พรรคภูมิใจไทย มีบทบาทในการการันตีอนาคตของรัฐบาลไปในตัวด้วย ขณะเดียวกันก็จะสร้างอำนาจการต่อรองความเกรงใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีต่อพรรคภูมิใจไทยมากขึ้น

ดังนั้น น้ำหนักเสียงตรงนี้เท่ากับลดทอนความความแข็งแกร่งของ ร.อ.ธรรมนัสไปโดยปริยาย เพราะอย่างน้อย 3 เสียงที่เคยจะย้ายตาม ร.อ.ธรรมนัส อย่างพ่อลูกตระกูลช่างเหลา ก็ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย ดังนั้น คิดว่ามันมีสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคของ ร.อ.ธรรมนัสอีกชุดหนึ่ง

ส่วนกรณีหากไม่นับรวมกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสจะไม่ถึง 260 เสียง มองว่าจะต้องไปหาเสียงจากพรรคร่วมฝ่ายค้านแน่นอน แต่ที่ยังไม่เปิดตัวเพราะห้วงเวลายังไม่สุกงอมพอ แน่นอนว่ากลุ่มพรรคเล็ก ฝ่ายค้าน และสมาชิกบางคนจากพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย ที่จะไปทำงานการเมืองไปอยู่ในทั้งพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคเกิดใหม่ ถามว่าเสียงของบางคนที่อยู่พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมจะย้ายไปทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคเกิดใหม่หรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ยังออกแบบให้ ส.ว.เลือกนายกฯได้ ก็เท่ากับว่าจะการันตีว่า พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสจะกลับมาอีก

เพราะฉะนั้นถ้าฝ่ายค้านยังยึดมั่นในอุดมการณ์แบบเดิมก็ต้องยอมรับสภาพความเป็นฝ่ายค้านต่อไป ดังนั้น ความเชื่อที่ว่ามีการเพาะเลี้ยงงูเห่า หรือบางคนที่พร้อมย้ายไปเป็นหนึ่งใน 260 เสียง จึงมีความเป็นไปได้

ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลต้องเจอศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 แน่นอนว่ารัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลดภาวะอาการลอยตัวทางการเมือง ต้องเข้ามาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น โดยเฉพาะ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนตนเองตลอดเวลา ทำให้แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันต้องให้เกียรติ และสร้างความเป็นเอกภาพกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องระมัดระวังด้วย เพราะในเวลา 1 ปีสุดท้ายนั้น ภาวะอาการเกรงใจของแต่ละพรรคอาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องบริหารสภาวะอารมณ์ความเป็นผู้นำให้ดีด้วย

เสียงของรัฐบาลขณะนี้ และท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัสจะส่งผลให้รัฐบาลอยู่จนครบวาระถึงปี 2566 หรือไม่นั้น คิดว่าเรื่องของเสียงอย่างไรก็เกินครึ่งอยู่แล้ว แต่ได้เท่าไร ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะว่าเป้าหมายคือการให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบเทอม เรื่องของเสียงอาจจะมีมากกว่าที่คาด หรือน้อยกว่าที่ตั้งไว้ไม่มากนัก แต่จุดหนึ่งมันชี้ให้เห็นว่า ร.อ.ธรรมนัส และ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถร่วมงานทางการเมืองได้ในอนาคต แต่เครือข่ายรอบตัว ร.อ.ธรรมนัสต่างหาก ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของ พล.อ.ประวิตร ที่คาดว่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยนั้น อาจจะแบกรับแรงเสียดทานหรือเป็นกาวใจที่จะเชื่อมการทำงาน

แต่เรื่องความขัดแย้งเฉพาะตัวของ ร.อ.ธรรมนัส และ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ยังคงมีต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image