ความเห็นนักวิชาการ ชี้ปมวาระ ‘ประธานศาลรธน.’

ความเห็นนักวิชาการ ปมวาระประธานศาลรธน.

ความเห็นนักวิชาการ ปมวาระประธานศาลรธน.

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการถึงกรณีที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะพ้นตำแหน่งเมื่ออายุ 70 ปี (วาระ 9 ปี) ตามรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดอายุที่ 75 ปี (วาระ 7 ปี)

จรัญ ภักดีธนากุล
ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 273 วรรคหนึ่ง เขียนระบุไว้ว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญเขียนระบุว่าให้ดำรงตำแหน่งอย่างไร กี่ปี อายุเท่าไรทุกอย่างจะจบ แต่เขียนไม่ได้เพราะว่ามันเยอะมาก

ดังนั้น จึงเขียนกำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และเมื่อดูตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 79 ที่ระบุว่า “ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550” ซึ่งข้อความตรงนี้ชัดเจน ต้องใช้วาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 คือ 9 ปี ไม่ใช่วาระตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ 7 ปี

Advertisement

เพราะฉะนั้น นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน ท่านยังดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระ 9 ปี นี่คือจุดแรก

ส่วนข้อความที่ระบุว่า “หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 เว้นแต่กรณีตาม (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8” นี่คือปัญหา จะพ้นตำแหน่งเมื่ออายุเท่าไร ไม่ได้เขียนไว้ ถ้าตามรัฐธรรมนูญ 2550 จะพ้นเมื่ออายุ 70 แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 พ้นเมื่ออายุ 75 ปี

ดังนั้น ต้องย้อนไปดูมาตรา 18 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ระบุว่า นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระ ตุลาการพ้นจากตําแหน่งเมื่อ (1) ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 8 หรือมาตรา 9 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 (2) ตาย (3) ลาออก (4) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี (5) ศาลมีมติให้พ้นจากตําแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการทั้งหมด เท่าที่มีอยู่เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ (6) ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

Advertisement

ต้องไฮไลต์เฉพาะวรรคหนึ่ง (4) คือ มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปีดังนั้น พอจะเห็นคำตอบหรือไม่ว่าท่านจะต้องดำรงตำแหน่งจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 ไม่ใช่ อายุ 70 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550

ผมจะชี้ให้เห็นว่ากฎหมายบัญญัติไว้ 3 ช่วง รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 วรรคหนึ่ง โยนมาให้ไปดูตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว บัญญัติไว้ในมาตรา 79 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติชัดเจน เฉพาะวาระการดำรงตำแหน่ง แต่การจะพ้นจากตำแหน่งอายุเท่าใด ไม่ได้บัญญัติไว้ โยนไปให้ใช้มาตรา 18 เว้นแต่ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (1) จากนั้นต้องย้อนกลับไปมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงกรณีพ้นจากแหน่งก่อนวาระ 9 ปีไว้ 6 กรณี

แต่กรณีที่ตรงที่สุดในเรื่องของอายุคือตาม (4) คือ มีอายุครบ 75 ปี ดังนั้น อยู่ได้จนถึงอายุ 75 ปี แต่ใครจะการันตีได้ว่าความเห็นทางกฎหมายแบบนี้ถูกต้องแน่นอน เพราะความเห็นของคนไม่ใช่ความถูกต้องตามหลักฎหมายเสมอไป อาจจะถูกหรืออาจจะผิด แต่การทำงานไม่ใช่ปัญหาในห้องสอบหรืองานสัมมนา แต่คือปัญหาที่จะต้องใช้ในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องหาข้อยุติเพื่อจะได้เกิดความแน่นอนว่าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด เพราะกฎหมายมันไม่ชัดเจน

ส่วนจะทำอย่างไรหรือมีช่องทางใดที่ทำให้ปัญหาข้อนี้มีข้อยุติ มันก็มีกลไกในรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ที่ มาตรา 208 ดูเฉพาะวรรคสี่ ที่ระบุว่ากรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งกรณีนี้รวมถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วย ผู้ใดพ้นจากตําแหน่งตาม (1) หรือ (3) หรือไม่นั้น ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 เป็นผู้วินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

ไฮไลต์ตรงคำว่าคณะกรรมการสรรหาและให้เป็นที่สุด ถ้าไปดูองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาจะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือได้ ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย เพราะคำวินิจฉัยจะเป็นที่สุด ไม่มีใครมาล้มล้างคัดค้านได้ และใช้เป็นหลักปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

แต่ปัญหาอยู่ที่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาในประเด็นเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำกัดอยู่เฉพาะกรณีตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) สองกรณีเท่านั้น แต่มาตรา 208 บัญญัติไว้ถึง 6 กรณี ซึ่งตรงกับมาตรา 18 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แสดงว่าคณะกรรมการสรรหาจะมีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยให้ได้เฉพาะกรณีตามวรรคหนึ่ง (1) และ (3) เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ (4) คือ มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี เพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา

เท่ากับว่าปัญหาจะพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุเท่าใดจึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาที่จะให้คำวินิจฉัยเป็นที่สุดได้ ซึ่งนี่ก็เป็นความเห็นอีกเช่นกัน เมื่อเป็นแบบนี้ จึงควรทำความเห็นให้เป็นความจริง ด้วยการส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาวินิจฉัยว่าจะมีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยหรือไม่

โดยวิธีการคือ ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 18 (1) หรือ (3) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

เมื่อมีผู้เสนอเรื่องไปที่เลขาธิการวุฒิสภา ทางเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องรีบส่งเรื่องไปยังประธานคณะกรรมการสรรหาภายใน 5 วัน เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาจะได้พิจารณาอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ระหว่างนี้ควรรอฟังคำวินิฉัยของคณะกรรมการสรรหา จะได้รู้ว่าสิ่งที่จะใช้เป็นหลักได้อย่างมั่นคงเป็นอย่างไร หากคณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยว่าไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยประเด็นตาม (4) เรื่องอายุครบเจ็ดสิบห้าปี ถ้าวินิจฉัยแบบนี้ก็จะส่งเรื่องกลับหรือตีตก หมายความว่าเป็นที่ยุติได้อย่างมั่นคงแล้วว่าประเด็นอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 208 วรรคหนึ่ง (4) เมื่อมีอายุครบ 75 ปี ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4)

———————

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรณีนี้คงจะต้องดูรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (2560) เพราะรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (2550) ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบันนี้ คือคุณวรวิทย์ กังศศิเทียม ท่านได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2557 ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยอาศัยรัฐธรรมนูญปี 2550

ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ในวาระได้ไม่เกิน 9 ปี ถ้านับจากปี 2557 มาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็จะครบ 8 ปี แต่ถ้าถือตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะมีวาระได้เพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น นี่จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอีกว่า กฎหมายนี้ย้อนหลังหรือไม่ จะตัดวาระที่ 9 ปีหรือ 7 ปี จะย้อนหลังไปมีผลทำให้ท่านเสียประโยชน์หรือไม่ เพราะการที่กฎหมายบังคับใช้ย้อนหลังแล้วไปทำให้เสียประโยชน์นั้น ตามหลักกฎหมายได้ห้ามไว้ ย้อนหลังไปเป็นโทษแก่เขาไม่ได้

ประเด็นอยู่ที่ตรงนี้มากกว่าว่าอันที่จริง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ครบวาระ 7 ปีแล้ว ยังอยู่ต่อไปได้อีกจนครบวาระ 9 ปี ได้หรือไม่ เพราะอายุก็อีกเรื่องหนึ่ง ท่านยังอายุไม่ถึง 75 ปี แต่อายุ 70 ปีพอดี ถ้าหากว่าท่านอยู่โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ 2550 ดำรงตำแหน่งได้ 9 ปีนั้น คำถามคือ 1.วาระของท่านจะครบเมื่อไร ครบตามรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ 2.หากว่าท่านอายุถึง 70 ปีก่อน ท่านจะพ้นจากตำแหน่งเลยหรือไม่ ทั้งที่ยังไม่ครบวาระ 9 ปี

กล่าวคือรัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งที่เป็นโทษและเป็นประโยชน์ เพราะสามารถขยายได้ถึงอายุ 75 ปี จาก 70 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แค่อายุ 70 ปี เป็นปัญหาว่าถ้าจะเอาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่ออายุครบ 70 ปีแล้ว ก็อยู่จนครบวาระ 9 ปีไม่ได้ แต่ถ้าหากเอาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังอายุไม่ถึง 75 ปีก็น่าจะอยู่ต่อไปได้ ปรากฏว่าไปติดตรงวาระไม่เกิน 7 ปีอีก ปัญหาอยู่ตรงนี้ว่าจะตัดสินอย่างไร ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า ไปๆ มาๆ ท่านไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ

ถามว่า ใครจะเป็นคนวินิจฉัยกรณีดังกล่าว ตามข่าว ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านใดเห็นว่า น่าจะขาดจากการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพราะครบวาระ หรืออายุเกินแล้ว ก็ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ก็จะเป็นการวินิจฉัยกันเอง

ผมคิดว่าคงไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านใดไปยื่น เพราะอยู่ด้วยกัน คำถามคือ ถ้าเป็นคนอื่นไปยื่นได้หรือไม่ ตามข่าวคือไม่ได้ แต่ให้คณะกรรมการสรรหา เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องนี้ ซึ่งกรรมการสรรหาก็คือผู้ที่อยู่ในวุฒิสภา ในนั้นจะมีประธานทั้ง 3 ศาล ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญก็เป็น 1 ในนั้น ดังนั้น ท่านคงทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาไม่ได้อยู่แล้ว

สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าประเด็นนี้วุฒิสภาน่าจะต้องเป็นผู้วินิจฉัย เพราะเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมา ก็อาจจะให้กรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่นั้น ชี้ก่อน ถ้าผลออกมาอย่างไร ในที่สุดก็คงต้องเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาอีกที ทั้งนี้ เป็นการเดาของผมทั้งสิ้น เพราะในกฎหมายไม่มีเขียนไว้ คาดไม่ถึงว่าจะเกิดกรณีลักษณะนี้

ส่วนจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะได้ข้อสรุป ขึ้นอยู่ที่จะมีใครเคลื่อนเรื่องนี้หรือไม่ ไปยื่นให้วุฒิสภาวินิจฉัย เพราะตุลาการท่านอาจจะเกรงใจกัน ไม่มีใครกล้าไปยื่น คำถามคือวุฒิสภา จะสามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาว่าเองได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าวุฒิสภาน่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้เนื่องจากอยู่ในความรับผิดชอบ เมื่อมีหน้าที่ในการแต่งตั้งมา ก็ควรจะมีหน้าที่ในการพิจารณาว่าในกรณีนี้ ถือว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วหรือยัง

แต่ข้อเสนอของผมคือท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นคนเริ่มเรื่องนี้เอง เพื่อความสง่างามของท่านในการดำรงตำแหน่ง โดยเสนอไปที่กรรมการสรรหา ให้วินิจฉัยว่าตัวท่านเองอยู่ในวาระครบแล้วหรือไม่ จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด บังคับใช้ในกรณีนี้

แต่ไม่ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด ผมคิดว่าท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะได้ประโยชน์อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เพื่อความชัดเจนกระจ่างชัด ผมคิดว่าท่านควรจะเสนอ น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image