รายงานหน้า2 : เสียงครวญธุรกิจ‘ผับ-บาร์’ ศบค.ยังไม่ปลดล็อก

โอไมครอนป่วนท่องเที่ยว ยกเลิก‘ระบบไม่กักตัว’ หมายเหตุ - ความเห็นของนักธุรกิจ

หมายเหตุความเห็นผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิง ผับ บาร์ กรณีศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ไม่มีการพิจารณาข้อเสนอผ่อนผันให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ให้ปิดต่อทุกจังหวัดอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากยังเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

สง่า เรืองวัฒนกุล
นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร

กรณีที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ไม่นำเรื่องการผ่อนคลายเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ เข้าหารือ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความเสี่ยงสูงนั้น มองว่ากลุ่มที่กระทบหลักๆ จากการให้หยุดดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงชั่วคราว จะเป็นกลุ่มที่เรียกว่าดิสโก้ ที่เป็นสถานบันเทิงจริงๆ ส่วนกลุ่มที่เป็นสถานบันเทิงกึ่งผับ ปัจจุบันปรับตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ยังเป็นปัญหาของผู้ประกอบการกลุ่มนี้คือเรื่องเวลาการเปิดให้บริการ ที่ ศบค.กำหนดให้ขายถึง 23.00 น. แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็พร้อมใจกลับมาเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การที่รัฐบาลยังไม่คลายล็อกให้กับผับ บาร์ นอกจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในถนนข้าวสารแล้ว ยังกระทบกับกลุ่มธุรกิจที่เป็นร้านคาราโอเกะ และกลุ่มที่เป็นบาร์ดิสโก้ ส่วนใหญ่จะเปิดธุรกิจอยู่ในย่านเอกมัย หรือมีประมาณ 10 ร้านค้าโดยตรงอีกด้วย หลังจากนี้ จะหารือกันภายในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวต่อไป หรืออาจทำจดหมายถึงรัฐบาลเพื่อส่งสัญญาณว่าถึงเวลาให้ธุรกิจเหล่านี้กลับมาดำเนินการได้แล้ว

Advertisement

ที่ผ่านมาการเยียวยาให้กับกลุ่มอาชีพเหล่านี้ไม่มีความชัดเจน ถึงแม้จะเยียวยาก็แค่นิดหน่อย ไม่เพียงพอและไม่สามารถชดเชยรายได้ที่เคยมีมาได้เลย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องนำเรื่องการคลายล็อกสถานบันเทิงเข้าที่ประชุม ศบค.เสียที

ส่วนเรื่องการผ่อนคลายจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถ้ารัฐบาลผ่อนปรนให้จัดก็ไม่ควรห้ามเล่นน้ำสาดน้ำในที่สาธารณะ นักท่องเที่ยวรับรู้ว่ามาเที่ยวงานสงกรานต์จะได้รับความผ่อนคลายและสนุกสนานกับการเล่นน้ำสาดน้ำ หากสถานที่นั้นโฆษณาว่าจะจัดสงกรานต์แบบไหว้พระสรงน้ำพระ แม้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้วถึง 23.00 น. ก็ตาม แต่เชื่อว่าจะคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาน้อย

ในเบื้องต้นผู้ประกอบการบนถนนข้าวสารจะทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งเพราะเชื่อว่าสงกรานต์ไม่มีการเล่นน้ำ บรรยากาศก็น่าจะกร่อยแน่นอน ส่วนมาตรการดูแลในเรื่องของสาธารณสุขค่อยไปประชุมหารือร่วมกันว่าควรเป็นแบบไหน จากมติในที่ประชุม ศบค.ระบุให้จัดกิจกรรมและเล่นน้ำได้ในสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรม ลักษณะดังกล่าวจะยืนยันได้อย่างไรว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สมาคมจะทำหนังสือแย้งถึงเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลทบทวนอีกครั้ง

Advertisement

ธนากร คุปตจิตต์
อดีตนายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในส่วนเรื่องของสถาบันเทิง ผับ และบาร์ ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แม้รัฐบาลได้เยียวยาในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก รวมถึงมีผลกระทบโดยรวม ไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจอาหาร พ่อครัว นักดนตรี นักแสดง และบริการรถโดยสารสาธารณะต่างๆ ด้วย เช่น แท็กซี่ เป็นต้น

ถ้านับจากวันนี้ไปอีก 103 วัน ที่รัฐบาลประกาศว่า โรคโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
คงเป็นโอกาศของการเปิดประเทศอย่างชัดเจน ธุรกิจโดยเฉพาะสถานบันเทิงจะได้โอกาสกลับมาเปิดเป็นปกติ เมื่อไม่นานมานี้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อม 16 องค์กรภาคบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่งได้ข้อสรุปสำหรับเสนอต่อรัฐบาลให้ทบทวนกฎหมาย ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ผ่านคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของรัฐ ล่าสุด รัฐบาล โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แล้วว่ารับทราบเรื่องไว้ แต่มีความเห็นว่า ยังไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบยกมาพิจารณาทันที ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ไม่ได้มีการปฏิเสธ แต่ต้องติดตามต่อไป

การแก้ไขข้อกฎหมายนี้จะช่วยกระตุ้นการหมุนของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในภาคบริการต่างๆ ในช่วงเวลาที่ห้ามขาย 14.00-17.00 น. ส่วนข้อเสนอนี้ไม่ได้ขอให้ยกเลิกการขายในเวลาเช้า แต่ให้ยกเลิกในเวลาบ่าย เพื่อช่วยการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าในช่วงสงกรานต์จะไม่มีการจัดงานเต็มรูปแบบในการให้เล่นน้ำ แต่ถ้าคนได้เดินทางกลับบ้าน หรือท่องเที่ยว ก็จะช่วยได้เยอะมาก

ในความเป็นจริง ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับประโยชน์ในทางอ้อมเท่านั้น แต่ในทางตรงคือการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ส่วนเวลาที่ห้ามขาย 14.00-17.00 น. สังคมได้รับประโยชน์สาธารณะอะไร ถามว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุบนถนนหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่เกิดในเวลากลางคืนหลังจากสังสรรค์ ต่อมาช่วยให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงน้อยลงไหม ก็อาจช่วย แต่ก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ขายกับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีอยู่แล้ว และสุดท้าย คนที่ดื่มจริงๆ มีการซื้อตุนในเวลาที่ให้ขายได้อยู่แล้ว ดังนั้น ห้ามจำหน่ายก็ไม่ได้หมายความว่าจะห้ามการดื่มได้

การที่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 16 องค์กร ยื่นข้อเสนอทบทวนกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รัฐบาลพิจารณานั้น มีการยื่นให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายของรัฐพิจารณาตั้งแต่ กลางปี 2563 ซึ่งไม่ใช่การร้องเรียน หรือการเรียกร้อง แต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ลำพึง (ลิซ่า) แฮมิลตัน
ประธานชมรมผู้ประกอบการจอมเทียน พัทยา

การที่ ศบค.ยังมีคำสั่งให้ปิดผับ บาร์เบียร์ ไม่ยอมให้เปิดบริการนักท่องเที่ยว ไม่รู้เหมือนกันว่าจะรออะไร รัฐบาลต้องการอะไร ทั้งที่ได้มีการเตรียมการประกาศแล้วว่าโรคโควิด-19 จะเป็นโรคท้องถิ่น ผู้ป่วยก็เหมือนคนเป็นไข้หวัด อยากให้ปลดล็อกผู้ประกอบการผับ บาร์เบียร์จะได้ทำมาหากินกันได้บ้าง ทุกวันนี้พัทยาซบเซา เหงาเหมือนป่าช้า ไม่มีเงินหมุนเวียน หวาดผวา

ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศจะเปิดเมืองพัทยาให้คนมาท่องเที่ยว ผู้ประกอบการก็เตรียมการโปรโมตร้านค้า รับพนักงานเข้ามาทำงาน ปรากฏว่ารัฐบาลห้าม ผู้ประกอบการเดือดร้อนมากต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้มาช่วยเหลือเยียวยาเลย บอกได้เลยว่าเงินเยียวยา 5,000 บาท ใช้ไม่นานก็หมดแล้ว หากให้ผับ บาร์เบียร์เปิดบริการได้ ผู้ประกอบการพร้อมดำเนินการตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด ยังเกิดผลดี มีการจ้างงานเกิดขึ้น ทุกคนมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว อยากจะเสนอว่าขณะนี้ ผับ บาร์เบียร์ในพัทยาปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกอย่าง การฉีดวัคซีนครบโดส มาตรการทั้งผู้ประกอบการ ผู้เข้ารับบริการ หรือนักท่องเที่ยวจะต้องตรวจ ATK ภาครัฐควรฟื้นฟูแบบบูรณาการร่วมกัน

ที่สำคัญนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะออกมาเที่ยวตอนดึก แต่รัฐบาลให้ปิดผับ บาร์เบียร์ ช่วงเวลา 5 ทุ่ม ถือว่าไม่ตอบโจทย์ ควรจะปิดเที่ยงคืน เพราะบางคนยังไม่ทันได้รับประทานอาหาร ร้านก็ปิดแล้ว อยากให้รัฐบาลรับฟังปัญหา จะได้แก้ไขปัญหาและเดินไปด้วยกันได้ แม้กระทั่งไปร้องเรียนที่รัฐสภานานเกือบ 3 เดือนแล้ว เพิ่งได้รับคำตอบว่าเรื่องไปถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความช่วยเหลือ อย่างนี้จะอยู่กันอย่างไร

หวังว่ารัฐบาลจะช่วยผ่อนปรนให้เปิดบริการได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะได้กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเหมือนดังเดิม หรืออย่างน้อยให้เกิดความคึกคึกบ้างก็ดี พัทยาเงียบมานานแล้ว

ธนิต ชุมแสง
นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่

ที่ผ่านมา ศบค.ได้ผ่อนผันให้เปิดร้านอาหารจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้จนถึง 23.00 น. ภายใต้การควบคุมตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ต้องปรับเปลี่ยนกิจการมาเป็นร้านอาหารแทน ถ้าไม่ปรับตัวต้องปิดกิจการชั่วคราว หรือเลิกกิจการไปเลย เนื่องจากแบกรับต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายไม่ไหว

เชียงใหม่มีร้านอาหารและสถานบันเทิงกว่า 10,000 แห่ง มีพนักงานและลูกจ้างกว่า 60,000 คน หลังโควิดระบาดเหลือเปิดกิจการ 3,000-4,000 แห่งเท่านั้น ลดลงกว่า 60-70% หากปรับเชียงใหม่ให้เป็นพื้นที่สีฟ้า หรือเป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เชื่อว่าผู้ประกอบการเปิดสถานบริการเพิ่มขึ้น 10-20% และมีแนวโน้มจ้างพนักงานเพิ่ม 2,000-3,000 คน โดยเฉพาะโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร รถเช่า โฮมสเตย์ และแหล่งท่องเที่ยว 25 อำเภอ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ในช่วงงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือสงกรานต์ด้วย

หากยกระดับเชียงใหม่เป็นพื้นที่สีฟ้า มั่นใจกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะเชียงใหม่เป็นเป้าหมายท่องเที่ยว 1 ใน 5 จังหวัดของประเทศ ประกอบกับช่วงสงกรานต์ เดินทางกลับภูมิลำเนาอยู่แล้ว กระจายไปทุกอำเภอ จึงเป็นช่วงสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น

อยากเรียกร้องรัฐบาล สนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้กับสถานบริการ ที่เปิดบริการรองรับพื้นที่สีฟ้า เพื่อตรวจพนักงานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนลูกค้า หรือผู้ใช้บริการ ต้องแสดงผลการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือผลตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเข้าใช้บริการเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน และเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุขและตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้วย

ภาคิน เพชรพล
ผู้จัดการร้านตะวันแดงโคราช จ.นครราชสีมา

รัฐบาล และ ศบค.น่าจะนำเรื่องการผ่อนคลายเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ เข้ามาหารือบ้าง เพื่อหาทางออกช่วยเหลือผู้ประกอบการเพราะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปิดร้านเป็นเวลานาน บางแห่งถึงขั้นต้องปิดกิจการ ขณะร้านตะวันแดงโคราชพยายามปรับเปลี่ยนทุกอย่าง ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ มีลูกจ้างกว่า 150 ชีวิต เมื่อโควิด-19 ระบาด ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ต้องปิดให้บริการระยะหนึ่ง จนต้องลงทุนปรับเปลี่ยนสภาพ ทุบกำแพงร้านที่ปิดทึบออก ทำเป็นร้านอาหารโอเพ่นแอร์ และขออนุญาตเปิดบริการอีกครั้งมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ลูกค้าที่มาใช้บริการยังน้อย ผลประกอบการลดลง

ทางร้านยังคงเปิดบริการเกือบเต็มรูปแบบเพื่อช่วยพยุงลูกน้อง และนักดนตรีนักร้องมีรายได้มาใช้จ่าย จะตัดแค่แดนเซอร์กับการแสดงโชว์อื่นๆ ออกไป ดิ้นรนกันเต็มที่ภายใต้กรอบมาตรการที่สาธารณสุขกำหนด ทั้งเรื่องการจัดโต๊ะบริการแบบเว้นระยะห่าง ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิผู้เข้าใช้บริการก่อนเข้าร้าน รวมถึงดูประวัติการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ตรวจ ATK พนักงานทุกๆ 3 วัน และจะมีเจ้าพนักงานควบคุมโรคมาสุ่มตรวจเป็นระยะๆ แต่ผลประกอบการก็ยังไม่เต็ม 100% จะมีแค่ช่วงวันศุกร์และเสาร์ที่ลูกค้าจะมาก ประมาณ 60-70%

ทางร้านทำได้แค่ประคองตัว อยากเสนอให้รัฐบาล ศบค. และทางจังหวัดพิจารณาขยายเวลาปิดบริการจาก 23.00 น. ไปเป็น 24.00 น. เพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าได้นั่งรับประทานอาหารได้นานขึ้น ทางร้านอาหารก็จะจำหน่ายอาหารได้มากขึ้น แม้จะไม่มาก แต่ก็น่าจะดีกว่าเดิม

ปุณยนุช วรนุช
ประธานชมรมสตรีหรรษาบาร์เบียร์ เทศบาลเมืองหัวหิน

กรณีผลประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ไร้ข้อเสนอผ่อนคลายเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ทุกจังหวัดยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการโดยไม่มีกำหนด ยอมรับว่ากังวลใจต่อมาตรการของรัฐ แม้ว่าขณะนี้ อ.หัวหิน จะได้รับอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงได้ 2 ตำบล คือ ต.หัวหิน และ ต.หนองแก เนื่องจากเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวในโครงการหัวหินรีชาร์จ เปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 23.00 น. แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศยังน้อยมาก แต่ละวันมีลูกค้าแค่ 1-2 โต๊ะ เท่านั้น แต่จำเป็นต้องเปิดให้บริการเพื่อพยุงธุรกิจและดูแลพนักงานในร้าน

สำหรับซอยบิณฑบาตร ที่ตั้งของสถานบันเทิง ใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เหลือเพียง 30-40% เท่านั้น ที่พยายามเปิดร้าน บางวันไม่มีลูกค้า ต้องสั่งอาหารเครื่องดื่มกินกันเอง หรือหมุนเวียนไปใช้บริการร้าน อื่นๆ ในชมรมเพื่อช่วยเหลือกัน แต่ละร้านมีต้นทุนทั้งค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าลูกน้อง ที่ต้องดูแล แม้ว่าเปิดให้บริการก็ยังขาดทุนเกือบทุกวัน แต่จำเป็นต้องเปิดเพื่อให้เงินหมุนเวียนได้บ้าง

อยากวิงวอนรัฐบาลช่วยหันมาดูแลกลุ่มธุรกิจสถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้อาชีพอื่น ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มธุรกิจทำรายได้เข้าประเทศอย่างมาก หากปรับได้ ควรพิจารณาอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงได้ทุกพื้นที่ เพราะธุรกิจด้านท่องเที่ยวจะช่วยพยุงเศรษฐกิจภาพรวมให้กลับมาฟื้นได้เร็วขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image