วงเสวนา ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ถอดสลักราชการรวมศูนย์

วงเสวนา ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ถอดสลักราชการรวมศูนย์

หมายเหตุคณะก้าวหน้า จัดกิจกรรม “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนาและเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการกระจายอำนาจ

  • บรรยง พงษ์พานิช
    ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
    บรรยายหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับการยกเครื่องทางเศรษฐกิจ”

ขอออกตัวว่า ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหรือฝ่ายการเมืองใดๆ แต่ยึดคติว่าใครก็ตามที่ผมเห็นว่าเป็นแนวทางที่ประโยชน์ จะใช้ศักยภาพที่มีเพื่อช่วยรับใช้ การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ผมสนับสนุนมาก และจะขอเป็น 1 ใน 50,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ ในหมาวด 14 เพราะการกระจายอำนาจเป็นยาสำคัญขนานหนึ่งที่จะช่วยปลดล็อกฉายาที่บอกว่า ไทยคือคนป่วยแห่งเอเชีย และเป็นคนที่ติดกับดักการพัฒนา

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเพิ่มรายได้ของประชากร เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจจากยุคประเทศด้อยพัฒนา มาเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประสบความสำเร็จได้ตามสมควร

Advertisement

โดยเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจมี 3 เป้าหมาย คือ มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าไทยจะประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่กลับรวยกระจุก จนกระจาย นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยยังพบกับปัญหาอัตราการฟื้นตัวต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา สัดส่วนคนจนก่อนเกิดโควิด-19 ถือว่าลดลงมากเหลือเพียง 6-7% แต่พอเกิดวิกฤตขึ้นอัตราคนจนเพิ่มขึ้นอย่าง
มีนัยยะ และอัตราคนไร้บ้านกำลังเพิ่มอย่างน่าเป็นห่วง

เมื่อลองดูภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยามค่ำคืนโดยวัดจากแสงสว่างของไฟ จะพบว่าไทยมีอัตราความเจริญค่อนข้างกระจุกตัว ส่วนเกาหลีใต้ มีแสงไฟกระจายทั่วประเทศ เพราะมีการกระจายอำนาจ และทรัพยากร

ประเทศไทยเป็นรัฐใหญ่ ข้าราชการกว่า 2 ล้านคนอยู่ที่ส่วนกลางถึง 60% ส่วนข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ถูกควบคุมจากส่วนกลาง 21% และที่เหลืออีก 18% หรือเพียง 2 แสนคนอยู่ที่ส่วนท้องถิ่น ตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่น 2 ล้านคน และมีข้าราชการส่วนกลางเพียง 5 แสนคน ส่งผลให้ความเจริญกระจายตัว

Advertisement

ทำให้รายได้ต่อคนโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 4.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 7.8 พันเหรียญสหรัฐ แม้จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ชื่อว่าฉบับปราบโกง แต่ดัชนีการโกงกลับถดถอยเรื่อยมา เพราะมีอัตราการโกงที่สูงมาก ทั้งนี้ การกระจายอำนาจและทรัพยากร ได้รับการพิสูจน์ว่าช่วยลดอัตราการคอร์รัปชั่น เพราะเมื่อกระจายทรัพยากรลงไป คนในท้องถิ่นจะรู้สึกเป็นเจ้าของ จึงมีแรงจูงใจเฝ้าดูแลเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการกระจายอำนาจ และการปฏิรูประบบจะเกิดผู้เสียประโยชน์เสมอ ดังนั้น จึงต้องทำอย่างเข้าใจ และทำให้ผู้ที่สูญเสียยอมรับ และไม่ปฏิเสธ วิธีการกระจายอำนาจข้อหนึ่งที่สำคัญคือ การลดขนาดของรัฐ เพราะจะทำให้อัตราการกระจายความมั่งคั่งมากขึ้น การกระจายอำนาจ ต้องทำควบคู่กับการบังคับให้โปร่งใส ซึ่งไทยยังทำเรื่องนี้น้อยมาก คือต้องเปิดเผยทุกอย่าง ให้ชาวบ้านรู้รายจ่ายเท่าไหร่ และใครเป็นคนจัดการ

ส่วนการจะทำให้การกระจายอำนาจเกิดได้จริงนั้น ผมเชื่อในพลังของประชาชน ดังนั้น ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้สังคมเข้าใจถึงความสำคัญ และประโยชน์ ยิ่งทำให้เข้าใจในวงกว้างมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดแรงกดดัน ทั้งนี้ หากจะแก้รัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจเลย

——————

  • วีระศักดิ์ เครือเทพ
    อาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    บรรยายหัวข้อ “8 ปีกับ 8 ตราบาป ที่รัฐกระทำต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

ตราบาป 8 ประการที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่น ตราบาปที่ 1 คือ การทำลายกลไกประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ทำให้ทิศทางการพัฒนาในระดับพื้นที่สะดุด และขาดตอน เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 2557 ที่มีคำสั่งแขวน และปลดผู้บริหารท้องถิ่น ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ก่อนจะแต่งตั้งข้าราชการที่ไม่มีความเข้าใจในพื้นที่ และความต้องการของประชาชน เข้าไปบริหารงานแทน เป็นหลักคิดที่ผู้มีอำนาจเชื่อว่ามีเสียงเหนือกว่าประชาชน

ตราบาปที่ 2 คือ บิดเบือนกลไกการตรวจสอบ และนำกลไก
เหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือลงโทษนักการเมืองท้องถิ่นฝ่ายตรงข้าม

ตราบาปที่ 3 คือ การเตะตัดขาการทำงาน และบอนไซท้องถิ่น เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างจำกัด ส่วนท้องถิ่นจะทำดีเกินหน้าไม่ได้ แม้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ตาม

ตราบาปที่ 4 คือวางยาท้องถิ่น ใครเชื่องเป็นลูกรัก ใครดื้อกลายเป็นแพะ เช่น การปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่ จ.เชียงใหม่ ในการรับมือวิกฤตโควิด-19 ที่ส่วนท้องถิ่นนั้นถูกกล่าวหาว่าใช้เงินซื้ออุปกรณ์ยังชีพให้ครัวเรือนด้วยราคาแพง ทั้งที่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ทำตามคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดทุกประการ

ตราบาปที่ 5 คือ การปล้นเงิน และผลงานอย่างถูกกฎหมาย เช่น รัฐบาลได้ผลงานจาการลดการเก็บภาษีจากประชาชน และผู้ประกอบการ เป็นภาษีที่มาจากท้องถิ่น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประมาณ 7 หมื่นล้าน ทำให้ท้องถิ่นสูญเสียรายได้ แต่รัฐบาลได้ผลงานไป ทั้งที่การเก็บภาษีของท้องถิ่นถือเป็นการกระจายอำนาจทางการคลัง เพื่อระดมเงินมาจัดทำสิ่งที่ท้องถิ่นต้องการ

ตราบาปที่ 6 คือ การสร้างมายาคติว่าท้องถิ่นคดโกง ไม่พร้อม เอาแต่หาเสียง ทำให้คนเข้าใจผิด และไม่หนุนเสริมท้องถิ่น หนักมากขึ้นในช่วงหลัง คือ หากท้องถิ่นทุจริต จะตีข่าวยาว แต่การทุจริตของส่วนกลาง จะจบใน 1-2 วัน ทั้งนี้ ท้องถิ่นเป็นองค์กรที่เข้าถึงและตรวจสอบได้ง่าย ดังนั้น ถ้าใครโกงก็จับ สิ่งต่างๆ จะดีขึ้น

ตราบาปที่ 7 คือ การรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคมากขึ้น ทั้งเรื่องงาน เงิน คน และความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การทำโครงสร้างระบบให้อ่อนแอ แต่เมื่อรวมอำนาจไปที่ส่วนกลางจริง ทำให้เกิดระบบคอขวด ข้าราชการหนึ่งคนรับผิดชอบในทุกเรื่อง จนกระทบกลไกตรวจสอบภายใน

และ ตราบาปที่ 8 คือ รัฐบริหารงานแบบ one-man show ทำให้ขาดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน ทำงานให้เสร็จ เบิกงบประมาณให้ครบ และคะแนนเคพีไอดีก็พอ ส่วนจะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ความจริงท้องถิ่นไทย เจ๋งและไปได้ไกลกว่าที่คิด ยกตัวอย่างการให้ผู้นำท้องถิ่นนั้น เป็นเหมือนผู้จัดการเศรษฐกิจ สร้างระบบเชื่อมต่อ เช่น การพัฒนาทำถนนคนเดินในชนบท ที่สร้างมูลค่าและรายได้ให้ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ปลดล็อก ไม่หนุนเสริมให้ท้องถิ่นทำงานได้อย่างอิสระ ประเทศไทยจะย่ำอยู่กับที่ไปอีกนาน

———————-

  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
    อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
    บรรยายหัวข้อ “ไม่เอาแล้วอีก 130 ปี ได้เวลาปลดล็อกท้องถิ่น”

หัวข้อนี้ คือการพูดถึงอนาคต และต้องการหยุดไม่ให้เกิดขึ้นอีกเหมือน 130 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2435 สิ่งที่พร่ำสอนกันมาตลอดคือ คนไทยไม่เหมือนใครในโลก เป็นวาทกรรมที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจว่าไม่เหมือนใคร แต่เมื่อมองออกไปจึงพบว่า ประเทศไทยเหมือนใครในโลกนี้แน่ๆ ย้อนกลับไปในอาณาจักร
โชซอน ยุคเดียวกับอาณาจักรอยุธยาฯ ปัจจุบันคือ ประเทศเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ที่ต่อมาถูกยึดครองจากญี่ปุ่น และยกเลิกระบบการปกครองแบบจักรพรรดิ

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกาหลีเป็นอิสระ แต่เป็นอิสระภายใต้การแข่งขันของการจัดขั้วใหม่ทางการเมือง คือคอมมิวนิสต์ และโลกเสรี ทำให้เกิดสงครามเกาหลีขึ้น จนแบ่งแยกเป็นเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เมื่อพิจารณาแสงสว่างของไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ จะพบว่า ในเกาหลีเหนือ มีแสงสว่างใหญ่กระจุกตัวแต่ในเมืองเปียงยาง เมืองหลวงของประเทศเท่านั้น ส่วนเกาหลีใต้ มีแสงสว่างจ้าทั้งประเทศ ชี้ให้เห็นว่าระบอบทางการเมือง ส่งผลต่อชีวิตของคนในสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ

ระบอบเผด็จการ คือระบอบที่จะแช่นิ่งชีวิตอยู่กับที่ ทั้งความคิด ความรู้ ของคน รวมถึงเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมือง ทั้งนี้ เมื่อเกาหลีใต้ออกจากรัฐเผด็จการทหารเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย และมุ่งไปสู่การกระจายอำนาจ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ด้านญี่ปุ่นในสมัยเมจิ มีการกระจายอำนาจเบื้องต้น

และเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา กระจายอำนาจเต็มพื้นที่ แบ่งงบท้องถิ่น 60% และส่วนกลาง 40% สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แสงสว่างของไฟฟ้าตั้งแต่นางาซากิ จนถึงฮอกไกโด สว่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนก็ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ตรงข้ามกับไทยที่หากเรียนที่โคกอีแร้ง ก็จะไม่ได้เรียนเหมือนที่ กทม. ระบบการศึกษาทำให้คนไทยแตกต่างกันตั้งแต่เกิด

ที่ผ่านมามักจะมีการบอกว่าไทยไม่เหมาะสมกับการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นของตะวันตก ถ้าไม่เหมาะสมกับคนไทย ก็ต้องไม่เหมาะสมกับคนญี่ปุ่น เพราะไทยกับญี่ปุ่นปกครองประเทศด้วยรูปแบบเดียวกัน คือระบบศักดินา ความจริงญี่ปุ่นมีระบบศักดินาที่เข้มข้นกว่าไทยด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยแล้วแต่ไทยยังไม่ไปถึงไหนเสียที

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 เป็นวันที่น่าจดจำของการสถาปนาการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง

อย่างไรก็ตาม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ อยู่ได้เพียง 40 ปีเท่านั้น เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร ที่มองเรื่องสิทธิเสมอภาค เสรีภาพ การสร้างเศรษฐกิจ และการศึกษา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไทยมีความฝันในการสร้างประชาธิปไตย แต่ความเป็นจริงคือ ถูกตัดมาตลอด 90 ปี โดยการรัฐประหาร 13 ครั้ง คืออัตราเฉลี่ยทุก 6 ปีครึ่ง

กระบวนการรวบอำนาจทำให้ได้คนแบบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำประเทศ พอตายก็พบว่ามีมรดกกว่า 2,874 ล้านบาท เท่ากับ 1 ใน 4 ของงบประมาณแผนดิน พ.ศ.2506 เพราะระบบทางการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจจะทำให้การคอร์รัปชั่นไม่สามารถรับรู้ได้เลย โดยเมื่อ พ.ศ.2561 กระทรวงกลาโหม ได้งบ 2.22 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้งบ 1.36 แสนล้านบาท แต่ถ้าสลับงบกัน จะทำให้พี่ตูนไม่ต้องวิ่งระดมทุน และจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อไทยเป็นประชาธิปไตยและกระจายอำนาจ

ตลอด 130 ปีที่ผ่านมา สามารถสรุปภาพการเปลี่ยนแปลงได้ 2 แนวทาง คือ การเริ่มต้นด้วยการกระจายอำนาจ และการกลับมารวมศูนย์อำนาจ ผ่านการทำรัฐประหาร เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญ 15 ฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการรัฐประหาร และอีก 5 ฉบับเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากพลังของประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงต้องสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อปลดล็อก และสร้างประชาธิปไตย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image