รายงานหน้า2 : ‘อัยการ’ไขข้อข้องใจ กม.ยาเสพติดฉบับใหม่

หมายเหตุนายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้สรุปสาระสำคัญ ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ดังนี้

ตามประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 และให้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 นั้น มีเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด อันเนื่องมาจากกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ แต่ละฉบับเป็นอำนาจหน้าที่ของหลายองค์กร ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สอดคล้องกัน จึงได้รวบรวมกฎหมายดังกล่าวจัดทำเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้รวมอยู่ในฉบับเดียวกัน ทำให้การอ้างอิงและการบังคับใช้กฎหมายเป็นระบบ ประชาชนเข้าถึงบทบัญญัติกฎหมายได้สะดวก เข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายได้ง่าย อีกทั้งบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดบางประการไม่เหมาะกับสภาพปัจจุบัน ไม่เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณากำหนดโทษที่เหมาะกับความผิด และอัตราโทษในบางฐานความผิดไม่เหมาะกับระดับความร้ายแรงในการกระทำความผิด รวมทั้งการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ได้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งสิ้น 24 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ กฎหมายป้องกันการใช้สารระเหย พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประกาศ คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. และกำหนดบทเฉพาะกาลในเรื่องต่างๆ เพื่อรองรับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย (มาตรา 4)

สำหรับประมวลกฎหมายยาเสพติดนั้น แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาค 1 การป้องกัน ปราบปรามและควบคุมยาเสพติด ภาค 2 การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด และภาค 3 บทกำหนดโทษ

Advertisement

ประมวลกฎหมายยาเสพติดได้กำหนดให้มีคณะกรรมการดังต่อไปนี้

ก.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา
ยาเสพติด ติดตาม ดูแล เร่งรัด ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติ (มาตรา 4 และมาตรา 5)

ข.คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานและเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการ ควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์และสารระเหย ทำให้การควบคุมยาเสพติดอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดเดียว แตกต่างจากกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดฉบับเดิมกำหนดให้การควบคุมยาเสพติด อยู่ภายใต้คณะกรรมการหลายชุด ได้แก่ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และคณะกรรมการป้องกันการใช้สารระเหย (มาตรา 25 และมาตรา 26)

Advertisement

ค.คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และยึด หรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าว (มาตรา 63 และมาตรา 64)

ง.คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและวางแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นและเหมาะสม การประกอบอาชีพ การศึกษา และการให้การสงเคราะห์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา (มาตรา 109 และมาตรา 111)

สาระสำคัญโดยย่อของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่น่าสนใจ มีดังนี้

1.พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ได้ยกเลิกบทสันนิษฐานเพื่อจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบทสันนิษฐานเพื่อขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 คงมีแต่เพียงบทสันนิษฐานครอบครองเพื่อเสพ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 วรรคสอง เท่านั้น

2.ประมวลกฎหมายยาเสพติดได้กำหนดคำนิยามของ “ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับ ยาเสพติด” ไว้ว่า หมายความถึง ความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติด เว้นแต่มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย ความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมี
ยาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ จึงไม่เป็นความผิด ร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด

3.กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด และเมื่อประกาศใช้นโยบายและแผนระดับ
ชาติฯแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติฯ (มาตรา 3)

4.กำหนดการแบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษเป็น 5 ประเภท โดยการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่า ยาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใด และการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อ หรือประเภทของยาเสพติดให้โทษ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกำหนด (มาตรา 5 (4) และ มาตรา 29 วรรคสอง) และกำหนดการแบ่งประเภทของวัตถุออกฤทธิ์เป็น 4 ประเภท (มาตรา 30)

5.กำหนดกรณีของยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ต้องขออนุญาต ได้แก่ การผลิต นำเข้าส่งออก จำหน่าย หรือครอบครอง เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด กรณีของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวตามคำสั่งแพทย์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และกรณีของยานพาหนะขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ที่จำเป็นต้องใช้ปฐมพยาบาล หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา 32 ถึงมาตรา 48)

6.เปลี่ยนแปลงบทลงโทษผู้รับอนุญาตที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎกระทรวงหรือประกาศ จากเดิมเป็นโทษทางอาญา มาเป็นการใช้มาตรการลงโทษทางปกครอง ด้วยการว่ากล่าวตักเตือน สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามสมควรแก่กรณี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 47) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม บัญญัติให้กำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

7.จัดตั้งกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อประโยชน์ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ทรัพย์สินของกองทุนส่วนหนึ่งได้มาจากทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ริบและบังคับคดี รวมทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยการบริหารและการดำเนินการของกองทุนเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนด (มาตรา 87 ถึงมาตรา 89)

8.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และมาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สิน (มาตรา 63 ถึงมาตรา 86)

8.1.คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และกรณีจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอำนาจสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปก่อนแล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบในภายหลังได้

8.2.ในการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจตามมาตรา 73 สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้จนกว่าศาลจะยกคำร้องขอให้ริบทรัพย์สิน หรือจนกว่าคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด

8.3.กรณีศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สิน ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด และกรณีต้องคืนทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากเงินให้แก่เจ้าของแต่ไม่อาจคืนได้ ให้ใช้ราคาทรัพย์สินแทนจากกองทุนตามราคาที่ประเมินได้ในวันยึด หรืออายัดทรัพย์สิน

8.4.กำหนดหลักเกณฑ์การริบทรัพย์สินไม่ผูกพันกับผลในคดีอาญา กรณีไม่อาจดำเนินคดีได้ เพราะไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ หรือเพราะผู้ต้องหาหรือจำเลย รายใดถึงแก่ความตาย หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง พนักงานอัยการยังคงมีอำนาจตามมาตรา 77 ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด

8.5.กำหนดหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการ กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมูลค่าของทรัพย์สิน และให้อำนาจศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมูลค่านั้น

9.ยึดหลักผู้เสพ คือผู้ป่วยควรได้รับการช่วยเหลือให้เข้าบำบัดรักษา หากสมัครใจเข้าบำบัดรักษาจนครบถ้วนน่าพอใจแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่มีความผิด ดังนี้

9.1.ผู้กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ สามารถสมัครใจขอเข้ารับการบำบัดรักษาก่อนที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจจะตรวจพบ และเมื่อผ่านการบำบัดรักษาจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่มีความผิด (มาตรา 113)

9.2.กรณีเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตรวจพบผู้มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และผู้นั้นสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปเข้าบำบัดรักษา และเมื่อผ่านการบำบัดรักษาจนน่าพอใจแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่มีความผิด (มาตรา 114)

9.3.ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจส่งตัวจำเลยเข้ารับการบำบัดรักษาได้ กรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลว่าบุคคลใดกระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หากศาลเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรลงโทษจำเลย และจำเลยสำนึกในการกระทำ
ความผิดโดยตกลงเข้ารับการบำบัดรักษา ศาลมีอำนาจส่งตัวจำเลยไปสถานพยาบาลยาเสพติดเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาต่อไป และเมื่อจำเลยเข้ารับการบำบัดรักษาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์จนน่าพอใจแล้ว ศาลมีอำนาจสั่งยุติคดีได้ และให้ผู้นั้นพ้นจากความผิด (มาตรา 168 และมาตรา 169)

9.4.การพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้จำเลยเลิกเสพยาเสพติดโดยการบำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ (มาตรา 163)

10.ปรับปรุงบทกำหนดโทษในคดียาเสพติดให้เหมาะสม และได้สัดส่วนกับระดับความร้ายแรงในการ กระทำความผิด

10.1.การพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ศาลมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) หากศาลจะลงโทษจำเลย ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจปรับบทลงโทษให้เหมาะสมกับจำเลยแต่ละคน แม้จำเลยจะได้กระทำผิดร่วมกัน โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลร้ายแรงตามประเภทและปริมาณของยาเสพติด และข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับผู้กระทำความผิด เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ ภาระการเลี้ยงดูครอบครัว สาเหตุในการเสพ เป็นต้น (มาตรา 165 วรรคหนึ่ง)

(2) การลงโทษจำเลย ให้ศาลคำนึงถึงชนิดและจำนวนของยาเสพติดที่เสพ หรือครอบครองเพื่อเสพ การเสพยาเสพติดเป็นครั้งคราวหรือประจำ หรือเสพยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานบางอย่างด้วย (มาตรา 165 วรรคสอง)

(3) ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการอื่นแทนการลงโทษ ศาลมีอำนาจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา หรือนำเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้แทนการลงโทษ ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่า 2 ปี
(มาตรา 166)

10.2.สำหรับความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และถ้าศาลเห็นว่าเมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะราย ศาลจะลงโทษจำคุกหรือปรับน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ (มาตรา 152)

11.กำหนดหลักเกณฑ์ในการฟื้นฟูสภาพทางสังคม กำหนดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน ป.ป.ส. สนับสนุนและช่วยในส่วนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา การติดตามดูแลปัญหาด้านสุขภาพ และการให้การสงเคราะห์อื่นๆ (มาตรา 118 ถึงมาตรา 120)

12.ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลมีอำนาจลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ (มาตรา 153)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image