‘จุรินทร์’ แถลง-กราบขอโทษ ไม่ปกป้อง ‘ปริญญ์’ -รื้อคัดสมาชิก

‘จุรินทร์’ แถลง-กราบขอโทษ ไม่ปกป้อง ‘ปริญญ์’ -รื้อคัดสมาชิก

หมายเหตุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ร่วมแถลงขอโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อกรณี นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป.ถูกกล่าวหากระทำความผิดอนาจารและข่มขืนหญิงสาวหลายราย ที่พรรค ปชป.

รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอใช้โอกาสนี้ กราบขอโทษต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีที่เกี่ยวข้องมาถึงบุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ผมมีส่วนสำคัญในการนำคุณปริญญ์เข้าพรรค แม้กระบวนการจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารพรรค และการดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคจะต้องผ่านการลงคะแนนให้ความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคก็ตาม หรือแม้แต่กรณีที่เราไม่อาจทราบการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาในยุคที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ก็หนีไม่พ้นที่ผมจะต้องรับผิดชอบ

นอกจากนั้น หนีไม่พ้นที่ผมจะต้องร่วมรับผิดชอบกับคณะกรรมการบริหารพรรค ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด สิ่งที่เป็นจุดยืนของพรรค มีดังนี้ 1.พรรคมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านการคุกคามทางเพศ 2.พรรคมีความชัดเจนต่อการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเด็กสตรีและบุคคลในครอบครัว รวมทั้งในการต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างระหว่างเพศ

สำหรับกรณีของนายปริญญ์ ขอเรียนให้ทราบว่าพรรคจะไม่เข้าไปปกป้อง และขอเรียนให้สังคมได้รับความสบายใจว่า พรรคจะไม่เข้าไปแทรกแซงใดๆ ในกระบวนการยุติธรรม เพราะถือว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับได้ของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่สำคัญ คือ พรรคจะไม่เพิกเฉยดูดายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

Advertisement

สิ่งที่จะดำเนินการคือ พรรคจะดำเนินการในเรื่องนี้ดังนี้ 1.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น แม้ว่านายปริญญ์จะลาออกจากพรรค รวมทั้งสมาชิกพรรคแล้วก็ตาม โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กำหนดมาตรการป้องกัน มาตรการในการแก้ไขปัญหา และมาตรการในการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายต่อไป มาตรการป้องกันที่ว่านี้รวมถึงมาตรการในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้ามาทำหน้าที่ในพรรคนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ 21 ข้อ ที่มีอยู่แล้วในการต้องตรวจสอบก่อนการรับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค โดยได้มอบหมายให้ ดร.รัชดา ธนาดิเรก คณะกรรมการบริหารพรรค ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการในเรื่องนี้ 2.พรรคจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกรณีการโพสต์ในไลน์ของพรรค โดยจะมอบให้รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ นายนราพัฒน์ แก้วทอง เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

สำหรับกรณีที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ 2 ชุดในรัฐบาล คือ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ผมขอลาออกจากประธานคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ต่อไป และต้องขออภัยท่านนายกฯ ด้วยที่ยังไม่ได้แจ้งให้ท่านทราบก่อนแถลงข่าว

Advertisement

⦁ตั้งแต่เป็นหัวหน้าพรรค พูดได้หรือไม่ว่า กรณีนายปริญญ์ทำให้พรรคได้รับผลกระทบมาก

ขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต้องถือว่าทำให้พรรคได้รับผลกระทบ และส่งผลกระทบความเสียหายมากทีเดียว ส่วนกรณีการตรวจสอบการโพสต์เรื่องชู้สาวในกลุ่มไลน์ของพรรคจะดำเนินการอย่างไรนั้น กรณีดังกล่าวขอให้คณะกรรมการชุดของนายนราพัฒน์ ได้ทำหน้าที่สอบสวนก่อน

⦁ทำไมถึงเพิ่งออกมาชี้แจง

ผมได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้หลายครั้งแล้วตั้งแต่ต้น แต่อาจจะไม่เป็นประเด็นใหญ่ และอยู่ในช่วงไปปฏิบัติภารกิจในต่างจังหวัด แต่ก็ได้มอบหมายบุคลากรของพรรคออกมาแถลงข่าวหลายครั้งก่อนหน้านี้

⦁มีการพูดคุยกับนายศุภชัย พาณิชภักดิ์ บิดาของนายปริญญ์บ้างหรือไม่

ไม่ได้คุยกับนายศุภชัย เพราะท่านไม่สะดวกรับโทรศัพท์ ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่านายศุภชัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ใช่คนที่จะไปใช้อำนาจหรืออิทธิพลแทรกแซงใดๆ

⦁ปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปโดยลำบากหรือไม่

ไม่สามารถตอบได้ แต่ตราบใดที่เป็นหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ ต้องผลักดันให้พรรคเดินต่อไปข้างหน้า และเมื่อมีอุปสรรค ก็ต้องแก้ปัญหา เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เราจะต้องทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ และหวังว่าในอนาคตจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีขึ้นจากคนไทยทั้งประเทศ แต่สถานการณ์นี้อาจจะทำให้พรรคได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผมที่จะต้องผ่านมันไปให้ได้ โดยจะขับเคลื่อนพรรคไปในทิศทางที่ดีที่สุด

⦁มีกระแสสังคมเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคแสดงความรับผิดชอบ

เราได้ไตร่ตรอง 2 แนวทาง แต่สุดท้ายก็มี 2 มุมหากอยู่ๆ ก็ลาออกแล้วทิ้งปัญหาไว้ ก็จะเป็นการหนีปัญหา นั่นคือความไม่รับผิดชอบ เราต้องแก้ปัญหาให้ลุล่วง ไม่ใช่ทิ้งปัญหาให้คนรุ่นหลัง

⦁ทราบว่ามีการเตือนว่าไม่ควรรับนายปริญญ์เข้าพรรค ทำไมยังรับเข้ามา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามีพฤติกรรมอย่างไร

ไม่ขอย้อนไปพูดในเรื่องนี้ จะไปพาดพิงถึงใครก็ตามแต่ขอเรียนว่าผมมีส่วนสำคัญในการพานายปริญญ์เข้ามาในพรรค ผมต้องรับผิดชอบ และเป็นบทเรียนในการคัดคนเข้าพรรคในอนาคต ควรจะแก้ไขอย่างไรบ้าง นอกเหนือจากข้อบังคับพรรค 21 ข้อตามที่กฎหมายกำหนด ต่อไปพรรคต้องเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจสอบคุณสมบัติ และคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพรรค เพราะพรรคเป็นเอกภาพ การถกเถียงกันก็เป็นเรื่องปกติ ภายในพรรคประชาธิปัตย์และจะได้ข้อสรุปตามมติพรรคทุกครั้ง

⦁ผลกระทบต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พรรคจะแก้สถานการณ์อย่างไร

เป็นหน้าที่รองผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ของพรรค ตัวผู้สมัคร และทีมงาน ในการดำเนินการส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคจะเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ตามข้อห้ามของกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. ไปหาเสียง ช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ได้ แม้จะลงรับสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ปชป.ก็ตาม

ขณะนี้รองผู้อำนวยการเลือกตั้งและตัวผู้สมัคร ทำงานอย่างเข้มแข็ง ส่วนผลจะออกมาอย่างไร มั่นใจว่าทุกคนทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนผลโพลที่ออกมานั้นมีทั้งบวกและลบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

⦁คิดว่าเก้าอี้หัวหน้าพรรคสั่นคลอนเพราะเรื่องนายปริญญ์หรือไม่

หลักของผมคือเน้นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เมื่อได้ทำหน้าที่ ส่วนเก้าอี้สั่นคลอนหรือไม่ ไม่ขอตอบ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเกมการเมืองหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง แต่ผมไม่ขอให้ความเห็นกับคำถามนี้

 

ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ.2561

กำหนด “มาตรฐานจริยธรรม” ไว้ใน 2 ส่วน

ส่วนแรกในหมวดที่ 4 มาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค อาทิ
ข้อ 24 กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 25 กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงยืนหยัดทําในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม การปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับพรรค ระเบียบพรรค และประกาศพรรค โดยเคร่งครัด

ข้อ 26 กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรมและวางตนเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน เคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แสดงกริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้ายหรือเสียดสีบุคคลใดและเป็นแบบอย่างที่ดีในการรู้รักสามัคคี และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเสริมสร้างสถาบันครอบครัว

ส่วนที่ 2 “มาตรฐานทางจริยธรรม” ของนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์

1.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตอย่างเคร่งครัด

2.ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น จนนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาสู่พรรค ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

3.ไม่ยินยอม รู้เห็นเป็นใจ หรือสั่งการให้ผู้อื่นแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ โดยมิชอบ

4.ห้ามรับเงินหรือประโยชน์อันมิชอบอื่นใดจากพรรค

5.ห้ามดำเนินการที่มิชอบในประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการของรัฐสภาหรือคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร จนนำมาซึ่งความเสื่อมเสียมาสู่พรรค

6.ห้ามดำเนินการอื่นใดอันอาจนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคอาจออกระเบียบกำหนดแนวปฏิบัติเพิ่มเติมตามหลักธรรมาภิบาลได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image